- ภาพรวมตลาดเครื่องสำอางในอียิปต์
อียิปต์เป็นประเทศที่มีจำนวนประชากรมากที่สุดในภูมิภาคตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ โดยมีประชากรประมาณ 110 ล้านคน และกว่าครึ่งหนึ่งของประชากรทั้งหมดมีอายุต่ำกว่า 30 ปี โครงสร้างประชากรที่เน้นกลุ่มวัยรุ่นและวัยทำงานนี้ เป็นปัจจัยสนับสนุนการเติบโตของตลาดสินค้าอุปโภคบริโภค โดยเฉพาะสินค้าเพื่อความงาม เช่น เครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์ดูแลส่วนบุคคล ซึ่งมีมูลค่าประมาณ 2.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2566 และคาดว่าจะขยายตัวเฉลี่ย 8-10% ต่อปีในช่วง 2567-2070 (Statista, 2024)
พฤติกรรมผู้บริโภคในอียิปต์เริ่มให้ความสำคัญกับการดูแลตัวเองมากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มผู้หญิงวัยรุ่นและวัยทำงาน ซึ่งมีการเข้าถึงโซเชียลมีเดียอย่างกว้างขวาง ทำให้เทรนด์ความงามจากต่างประเทศสามารถเข้าถึงผู้บริโภคได้ง่าย การเปลี่ยนแปลงนี้เปิดโอกาสให้ผู้ส่งออกไทยสามารถนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ มีเอกลักษณ์ เช่น เครื่องสำอางจากสมุนไพรไทย หรือผลิตภัณฑ์ที่อ่อนโยนต่อผิว ซึ่งตอบโจทย์กลุ่มผู้บริโภคที่ใส่ใจสุขภาพและส่วนผสมจากธรรมชาติ
อย่างไรก็ตาม ตลาดเครื่องสำอางในอียิปต์ก็เผชิญกับการแข่งขันที่เข้มข้น จากทั้งผู้ผลิตภายในประเทศและการนำเข้าจากต่างประเทศ โดยแบรนด์ท้องถิ่นของอียิปต์มักมีราคาที่ถูกกว่า และปรับสูตรให้เหมาะกับสภาพอากาศหรือผิวของผู้บริโภคในประเทศ ขณะที่แบรนด์ต่างชาติ เช่น จากยุโรป ตุรกี เกาหลีใต้ และจีน ก็มีส่วนแบ่งตลาดที่เพิ่มขึ้น ด้วยกลยุทธ์ด้านการตลาดที่เข้มแข็ง และความสามารถในการปรับตัวเข้ากับความต้องการของผู้บริโภคอียิปต์ได้อย่างรวดเร็ว
ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยควรมองหาแนวทางสร้างความแตกต่าง เช่น การเน้นส่วนผสมจากธรรมชาติ การรับรองฮาลาล (Halal) เพื่อเข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคชาวมุสลิม และการทำการตลาดผ่านอินฟลูเอนเซอร์ในโลกออนไลน์ นอกจากนี้ การสร้างพันธมิตรทางธุรกิจกับผู้นำเข้าและตัวแทนจำหน่ายในท้องถิ่น จะช่วยให้สินค้าไทยสามารถแข่งขันในตลาดอียิปต์ได้อย่างยั่งยืน
- ผู้เล่นสำคัญในตลาดเครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์ความงามในอียิปต์
ตลาดเครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์ความงามในอียิปต์มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยได้รับอิทธิพลจากปัจจัยต่าง ๆ เช่น โครงสร้างประชากรที่หนุ่มสาว การเข้าถึงอินเทอร์เน็ต และความสนใจในผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพและราคาจับต้องได้ ผู้เล่นหลักในตลาดนี้ประกอบด้วยแบรนด์ระดับโลกและแบรนด์ท้องถิ่นที่มีบทบาทสำคัญในการกำหนดแนวโน้มและส่วนแบ่งตลาด
จากรายงานต่าง ๆ พบว่า L’Oréal, Unilever, Procter & Gamble (P&G), Estée Lauder, Beiersdorf, Shiseido, Coty, Kao Corporation, Johnson & Johnson, Avon, และ Oriflame เป็นผู้เล่นหลักในตลาดความงามและการดูแลส่วนบุคคลในตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ โดยมีการดำเนินการในตลาดอียิปต์ด้วยเช่นกัน[1]
แม้ว่าจะไม่มีข้อมูลเฉพาะเจาะจงเกี่ยวกับส่วนแบ่งตลาดของแต่ละแบรนด์ในอียิปต์ แต่จากแนวโน้มในภูมิภาคตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ พบว่า (1) ผลิตภัณฑ์ดูแลผิว: ครองส่วนแบ่งการตลาดสูงสุด คิดเป็น 48.3% ของรายได้ทั้งหมดในปี 2567[2] และ (2) เครื่องสำอาง: มีอัตราการเติบโตที่สำคัญ โดยเฉพาะในกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่มีคุณสมบัติพิเศษ เช่น กันน้ำ กันเหงื่อ หรือมีส่วนผสมจากธรรมชาติ
- จุดแข็งและความท้าทายของเครื่องสำอางไทย
3.1 จุดแข็ง
- ไทยมีชื่อเสียงในด้านเครื่องสำอางจากสมุนไพรและธรรมชาติ
- ราคาสินค้าไทยแข่งขันได้เมื่อเทียบกับยุโรปและอเมริกา
- คุณภาพดี มีมาตรฐานสากล
- มีผลิตภัณฑ์ที่สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภคอียิปต์ เช่น ผลิตภัณฑ์ออร์แกนิก, ปราศจากแอลกอฮอล์, เครื่องสำอางฮาลาล
- โอกาสสำคัญ
- ความต้องการเครื่องสำอางฮาลาลสูงจากประชากรมุสลิม
- กระแส K-beauty และ J-beauty ทำให้ผู้บริโภคเปิดรับผลิตภัณฑ์เอเชียมากขึ้น
- ความต้องการสินค้านำเข้าจากประเทศใหม่ ๆ ที่แตกต่างจากจีนและยุโรป
- การขยายช่องทางจำหน่ายผ่านออนไลน์และแพลตฟอร์ม E-marketplace เช่น Jumia, AmazonEG
3.2 ความท้าทาย
- แบรนด์ที่มีชื่อเสียงในตลาดอียิปต์ แม้จะมีผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ แต่เครื่องสำอางไทยยังขาดแบรนด์ที่เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายในอียิปต์ ทำให้เกิดข้อจำกัดในด้านการสร้างความเชื่อมั่นของผู้บริโภค
- การรับรองฮาลาล (Halal Certification) อียิปต์เป็นประเทศที่มีประชากรชาวมุสลิมเป็นส่วนใหญ่ การขาดใบรับรองฮาลาลอาจเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการเข้าสู่ตลาดของบางผลิตภัณฑ์ โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าที่เกี่ยวข้องกับผิวหนังหรือส่วนผสมจากสัตว์
- การเข้าถึงช่องทางจัดจำหน่าย เครื่องสำอางไทยยังมีข้อจำกัดในด้านการจัดจำหน่ายและการทำตลาดในอียิปต์ เช่น การไม่มีพันธมิตรท้องถิ่นที่แข็งแกร่ง หรือการขาดกลยุทธ์ด้านการสื่อสารที่เหมาะกับพฤติกรรมผู้บริโภคในท้องถิ่น
- การแข่งขันจากประเทศอื่น ตลาดอียิปต์มีการแข่งขันสูง โดยเฉพาะจากแบรนด์นำเข้าจากจีน เกาหลีใต้ และยุโรป ซึ่งมีทั้งแบรนด์พรีเมียมและแบรนด์ราคาประหยัดที่สร้างแบรนด์มานานและมีเครือข่ายจัดจำหน่ายที่มั่นคง
- 4. อุปสรรคและความท้าทาย
- ระบบการขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์ที่เข้มงวด เครื่องสำอางทุกชนิดที่นำเข้าไปยังอียิปต์จะต้องผ่านกระบวนการจดทะเบียนกับ National Food Safety Authority (NFSA) หรือ Egyptian Drug Authority (EDA) ขึ้นอยู่กับประเภทของผลิตภัณฑ์ หากเป็นเครื่องสำอางทั่วไปจะต้องผ่านการขึ้นทะเบียนกับ NFSA แต่หากเป็นผลิตภัณฑ์ที่อ้างคุณสมบัติทางการรักษา อาจต้องอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ EDA ซึ่งมีกฎเกณฑ์คล้ายกับผลิตภัณฑ์ยา ทั้งนี้กระบวนการจดทะเบียนอาจใช้เวลาหลายเดือน และหากเอกสารไม่ครบถ้วน อาจถูกปฏิเสธหรือเลื่อนการอนุมัติ ทำให้เกิดความล่าช้าในการวางขายสินค้า
- ความจำเป็นของใบรับรองฮาลาล เนื่องจากประชากรชาวมุสลิมในอียิปต์มีสัดส่วนสูงมาก ผู้บริโภคจำนวนไม่น้อยให้ความสำคัญกับการเลือกใช้เครื่องสำอางที่ผ่านการรับรอง ฮาลาล โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ที่ใช้กับผิวโดยตรง เช่น ครีม โลชั่น หรือลิปสติก หากสินค้าไม่มีใบรับรองฮาลาลจากสถาบันที่ได้รับการยอมรับ อาจทำให้ขาดความน่าเชื่อถือในตลาด หรือจำกัดช่องทางการจัดจำหน่าย
- ภาษีและขั้นตอนศุลกากร แม้ว่าอียิปต์จะมีข้อตกลงการค้าเสรีบางส่วนกับประเทศในเอเชีย แต่สินค้านำเข้าโดยเฉพาะเครื่องสำอาง ยังต้องเผชิญกับภาษีนำเข้าสูง (ประมาณ 30-40% ของมูลค่าสินค้า) รวมถึงค่าใช้จ่ายแฝง เช่น ค่าทดสอบในห้องแล็บของรัฐบาล และค่าธรรมเนียมอื่น ๆ ที่อาจทำให้ราคาสินค้าในตลาดปลายทางสูงขึ้นจนเสียเปรียบคู่แข่ง
- ความซับซ้อนของระบบราชการและภาษา การดำเนินธุรกรรมหรือประสานงานกับหน่วยงานรัฐในอียิปต์มักต้องใช้เอกสารภาษาอาหรับ และต้องอาศัยตัวแทนท้องถิ่นที่มีประสบการณ์ในการดำเนินการทางกฎหมายหรือโลจิสติกส์ หากผู้ส่งออกไทยไม่สามารถหาพันธมิตรที่เชื่อถือได้ อาจต้องเผชิญกับปัญหาความล่าช้า หรือเอกสารไม่สมบูรณ์ตามที่กฎหมายอียิปต์กำหนด
- ความเข้าใจพฤติกรรมผู้บริโภคและการตลาดในท้องถิ่น แม้ว่าเครื่องสำอางไทยจะมีคุณภาพดี แต่หากไม่มีการปรับกลยุทธ์ทางการตลาดให้เหมาะกับผู้บริโภคอียิปต์ เช่น การใช้ภาษาอาหรับในโฆษณา การร่วมมือกับผู้มีอิทธิพล (influencer) ท้องถิ่น หรือการขายผ่านช่องทางที่ผู้บริโภคนิยม อาจทำให้สินค้าไม่เป็นที่รู้จัก หรือไม่สามารถสร้างแบรนด์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
- การแข่งขันในตลาด โดยเฉพาะแบรนด์ยุโรป (L’Oréal, Nivea) และตุรกีมีส่วนแบ่งตลาดสูง สินค้าจีนราคาถูกเข้ามาแข่งขัน และผู้บริโภคยังให้ความสำคัญกับแบรนด์ที่มีชื่อเสียงและมีตัวแทนจำหน่ายในท้องถิ่น
- 5. ขั้นตอนการส่งออกเครื่องสำอางจากไทยไปยังอียิปต์
5.1 การขึ้นทะเบียนโรงงานกับ GOEIC
โรงงานต้องจดทะเบียนกับ GOEIC ก่อน (เพื่อให้โรงงาน/บริษัทไทยอยู่ในบัญชีที่ได้รับอนุญาตส่งออกสินค้าไปอียิปต์) ตามประกาศกระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมอียิปต์ ฉบับที่ 43/2016 (Ministerial Decree No. 43/2016) ผู้ส่งออกไทยที่ต้องการส่งออกสินค้าบางประเภทไปยังอียิปต์ จำเป็นต้องดำเนินการขึ้นทะเบียนโรงงานหรือบริษัทเจ้าของเครื่องหมายการค้ากับหน่วยงาน General Organization for Export and Import Control (GOEIC) ของอียิปต์ สินค้าที่ต้องขึ้นทะเบียนครอบคลุม 25 หมวดหมู่ เช่น เครื่องสำอาง เสื้อผ้า รองเท้า อาหารและเครื่องดื่ม ของใช้ในบ้าน และอุปกรณ์ไฟฟ้า เป็นต้น สินค้าที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนจะไม่สามารถผ่านพิธีการศุลกากรเพื่อจำหน่ายในอียิปต์ได้ (ซึ่งการขึ้นทะเบียนใช้ระยะเวลาประมาณ 6 เดือน – 2 ปี)
การค้าที่ต้องการส่งออกผลิตภัณฑ์บางประเภทไปยังอียิปต์ต้องขึ้นทะเบียนกับ GOEIC โดยต้องยื่นเอกสารดังนี้:
- ใบรับรองการปฏิบัติการผลิตที่ดี (GMP) หรือ ISO 22716
- หนังสือรับรองการจำหน่าย ( Certificate of free sales : CFS )
- หนังสือมอบอำนาจให้กับตัวแทนในอียิปต์
- เอกสารอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
- เอกสารทั้งหมดต้องได้รับการรับรองจากกระทรวงการต่างประเทศของประเทศไทยและสถานทูตอียิปต์ในประเทศไทย
5.2 การจดทะเบียนผลิตภัณฑ์กับ EDA
ผู้นำเข้าหรือคู่ค้าในอียิปต์ต้องจดทะเบียนผลิตภัณฑ์กับ EDA (เพื่อขอใบอนุญาตนำเข้าเครื่องสำอางแต่ละรายการ) ก่อนที่จะนำเข้าเครื่องสำอางเข้าสู่อียิปต์ ผู้ส่งออกต้องดำเนินการจดทะเบียนผลิตภัณฑ์กับ EDA ผ่านแพลตฟอร์มอิเล็กทรอนิกส์ของหน่วยงาน โดยมีขั้นตอนดังนี้:
- สร้างบัญชีบริษัท ในระบบของ EDA และขอรับชื่อผู้ใช้และรหัสผ่าน
- ยื่นคำขอจดแจ้งผลิตภัณฑ์ พร้อมเอกสารที่จำเป็น ได้แก่:
- ชื่อการค้าและชื่อบริษัท
- สูตรส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์
- ภาพบรรจุภัณฑ์
- ใบรับรองการขาย (Free Sale Certificate) จากประเทศไทย ซึ่งต้องได้รับการรับรองจากสถานทูตอียิปต์ในประเทศไทย
- หนังสือมอบอำนาจจากเจ้าของผลิตภัณฑ์ให้กับตัวแทนในอียิปต์
- สัญญาการผลิต (หากมี)
หลังจากยื่นคำขอและชำระค่าธรรมเนียมแล้ว หมายเลขการจดแจ้งจะถูกออกภายใน 10 วันทำการสำหรับเส้นทางปกติ และภายใน 3 วันทำการสำหรับเส้นทางเร่งด่วน (ข้อมูลจากทาง EDA Egypt)
5.3 การเตรียมเอกสารสำหรับการนำเข้า
สำหรับการนำเข้าสินค้าไปยังอียิปต์ ผู้นำเข้าจำเป็นต้องมีเอกสารดังต่อไปนี้:
- ใบแจ้งหนี้การค้า (Commercial Invoice)
- ใบรับรองแหล่งกำเนิดสินค้า (Certificate of Origin)
- รายการบรรจุภัณฑ์ (Packing List)
- ใบตราส่งสินค้า (Bill of Lading)
- ใบแจ้งราคาสินค้า (Pro Forma Invoice)
- หนังสือเครดิต (Letter of Credit)
เอกสารเหล่านี้ส่วนใหญ่ต้องได้รับการรับรองจากสถานทูตอียิปต์ในประเทศต้นทาง
5.4 ข้อกำหนดด้านการติดฉลาก
สินค้าที่นำเข้าเพื่อจำหน่ายในอียิปต์ต้องมีฉลากภาษาอาหรับที่ระบุข้อมูล ดังนี้ต่อไปนี้ ทั้งนี้ ฉลากต้องติดอยู่บนผลิตภัณฑ์ก่อนการนำเข้า และไม่สามารถติดฉลากหลังจากนำเข้าแล้ว
- ชื่อและที่อยู่ของผู้ผลิต
- ประเทศต้นกำเนิด
- ชื่อผลิตภัณฑ์
- วันที่ผลิตและวันหมดอายุ
- ส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์
- คำแนะนำในการใช้ (ถ้ามี)
ข้อควรระวัง คำกล่าวอ้างบนผลิตภัณฑ์: คำกล่าวอ้างบางประเภท เช่น “ลดน้ำหนัก” หรือ “รักษาสิว” ไม่ได้รับอนุญาตให้ใช้บนผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางในอียิปต์
การตรวจสอบคุณภาพ: แม้ว่าผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางบางประเภทอาจไม่ต้องมีใบรับรองการตรวจสอบ (Certificate of Inspection – CoI) แต่ผลิตภัณฑ์น้ำหอมบางประเภทยังคงต้องมี CoI สำหรับการผ่านพิธีการศุลกากร
5.5 ระบบ ACI (Advance Cargo Information System) คืออะไร?
ACI เป็นระบบที่รัฐบาลอียิปต์ (ผ่าน Egyptian Customs Authority) ใช้ในการ แจ้งข้อมูลล่วงหน้าเกี่ยวกับสินค้าที่จะนำเข้า ก่อนสินค้าจะมาถึงอียิปต์ ระบบนี้บังคับใช้ผ่าน แพลตฟอร์มอิเล็กทรอนิกส์ NAFEZA (National Single Window for Foreign Trade Facilitation) และใช้ร่วมกับระบบ CargoX ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มส่งเอกสารแบบบล็อกเชนสำหรับผู้ส่งออก
การนำเข้าทางเรือ: ระบบ ACI ได้เริ่มบังคับใช้อย่างเป็นทางการสำหรับการนำเข้าสินค้าทางเรือตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2021 ตามกฎหมายศุลกากรฉบับที่ 207/2020 และคำสั่งที่เกี่ยวข้อง
การนำเข้าทางอากาศ: การทดลองใช้ระบบ ACI สำหรับการนำเข้าสินค้าทางอากาศเริ่มตั้งแต่วันที่ 15 พฤษภาคม 2022 โดยมีแผนจะบังคับใช้อย่างเป็นทางการในวันที่ 1 ตุลาคม 2022 แต่ถูกเลื่อนออกไปอย่างไม่มีกำหนดตามคำสั่งของคณะรัฐมนตรีอียิปต์เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2022
บทบาทของแต่ละฝ่าย
ฝ่าย | หน้าที่ในระบบ ACI |
ผู้นำเข้าในอียิปต์ | ลงทะเบียนใน NAFEZA และสร้าง ACI Request |
ผู้ส่งออกจากไทย | ส่งเอกสารผ่านระบบ CargoX เพื่อจับคู่กับเลข ACI |
ศุลกากรอียิปต์ (Egypt Customs) | ตรวจสอบข้อมูลก่อนสินค้ามาถึงท่าเรือ |
บริษัทขนส่ง | ต้องมี ACI Number บน B/L มิฉะนั้นจะไม่สามารถนำเข้าสินค้าได้ |
ขั้นตอนการส่งออกผ่านระบบ ACI (ฝั่งผู้ส่งออกไทย)
ขั้นตอนที่ 1: ผู้นำเข้าในอียิปต์ลงทะเบียน ACI ผ่าน NAFEZA
- ผู้นำเข้าอียิปต์ลงทะเบียนบัญชีในระบบ NAFEZA
- สร้างคำขอ ACI Request
- อัปโหลดเอกสารต่อไปนี้:
- Commercial Invoice
- Packing List
- Proforma Invoice
- ระบบจะสร้าง ACI Number (รหัส 19 หลัก)
ขั้นตอนที่ 2: ผู้ส่งออกไทยเตรียมบัญชีในระบบ CargoX
- ลงทะเบียนบัญชีใน https://www.cargox.io
- ผ่านการยืนยันตัวตน (KYC: Know Your Customer)
- เตรียมเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ (ในรูปแบบ PDF) เพื่อส่งเข้า NAFEZA เช่น:
- Commercial Invoice
- Bill of Lading (Draft)
- Certificate of Origin
- Packing List
- Export Declaration
- ส่งเอกสารผ่านระบบ CargoX ไปยัง ACI Number ที่ผู้นำเข้าแจ้งมา
ขั้นตอนที่ 3: ศุลกากรอียิปต์ตรวจสอบเอกสาร
- เอกสารที่ส่งผ่าน CargoX จะถูกรับโดยระบบ NAFEZA
- ศุลกากรอียิปต์ตรวจสอบและจับคู่ข้อมูล
- เมื่อเอกสารถูกต้อง จะได้รับการอนุมัติล่วงหน้า
- ผู้นำเข้าได้รับ QR Code ยืนยันการอนุมัติ
ขั้นตอนที่ 4: การขนส่งสินค้า
- บริษัทขนส่ง (Shipping Line) ต้องใส่ ACI Number บน Bill of Lading
- หากไม่มี ACI Number ที่ผ่านการอนุมัติ สินค้าจะไม่สามารถนำเข้าท่าเรืออียิปต์ได้
- ผู้นำเข้าทำพิธีการศุลกรหลังสินค้าเข้าประเทศ
เอกสารที่ผู้ส่งออกต้องจัดเตรียม (สำหรับส่งผ่าน CargoX)
เอกสาร | รูปแบบ | หมายเหตุ |
Commercial Invoice | ต้องตรงกับที่ผู้นำเข้าใช้ใน NAFEZA | |
Packing List | ต้องแสดงรายละเอียดสินค้า | |
Certificate of Origin | ใช้รูปแบบที่ผ่านการรับรอง | |
Bill of Lading (Draft) | ต้องมี ACI Number | |
Export Declaration | จากระบบ Thai Customs | |
ใบอนุญาต (ถ้ามี) | สำหรับสินค้าเฉพาะทาง เช่น เครื่องสำอาง |
หมายเหตุ
- ACI ใช้เฉพาะสำหรับสินค้าที่นำเข้าโดยทางเรือ (Sea Freight) เท่านั้น
- ระบบ CargoX มีค่าธรรมเนียมต่อครั้ง
- ผู้ส่งออกไม่สามารถสร้าง ACI Number เองได้ ต้องได้รับจากผู้นำเข้า
——————————————
แหล่งอ้างอิงข้อมูล
- [Statista: Cosmetics market Egypt 2024](https://www.statista.com/outlook/cmo/beauty-personal-care/egypt)
- [World Bank: Egypt Population 2024](https://data.worldbank.org/country/egypt-arab-rep)
- [สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงไคโร: รายงานตลาดเครื่องสำอาง 2566] (https://www.ditp.go.th/)
- [ITC Trade Map: Export of cosmetics to Egypt](https://www.trademap.org/)
- [Egyptian Drug Authority (EDA)](https://edaegypt.gov.eg/)
- [Jumia Egypt E-commerce] (https://www.jumia.com.eg/)
- [CargoX] (https://cargox.help/hc/en-us)
[1] https://univdatos.com/news/middle-east-beauty-and-personal-care-market
[2] https://thereporter.asia/2025/02/beauty-pharmaceutical-market/