ภาพรวมตลาดและแนวโน้มการเติบโต
จากข้อมูลของ iiMedia Research พบว่า อุตสาหกรรมเครื่องปรุงรสของจีนกำลังเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2567 มีมูลค่าตลาดรวม 6,871,000 ล้านบาท และคาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 10,028,000 ล้านบาทภายในปี 2570 โดยเฉพาะตลาดเครื่องปรุงแบบสูตรสำเร็จ ซึ่งเป็นที่นิยมมากขึ้นตามแนวโน้มการใช้ชีวิตที่สะดวกสบายและเน้นความรวดเร็ว คาดว่าจะเติบโตจาก 522,000 ล้านบาทในปี 2567 เป็น 1,033,000 ล้านบาทภายในปี 2570
แหล่งที่มา: https://www.iimedia.cn/c400/106508.html
ปัจจัยขับเคลื่อนตลาด
การเติบโตของอุตสาหกรรมเครื่องปรุงรสได้รับการสนับสนุนจากหลายปัจจัย โดยเฉพาะการเพิ่มขึ้นของรายได้ผู้บริโภค ความต้องการอาหารเพื่อสุขภาพ และความสะดวกในการบริโภค รวมถึงการขยายตัวของ " stay-at-home economy " หรือเศรษฐกิจแบบอยู่บ้าน ซึ่งผู้บริโภคหันมาทำอาหารทานเองที่บ้านมากขึ้น นำไปสู่ความต้องการเครื่องปรุงรสที่หลากหลาย ทั้งในแง่ของรสชาติ บรรจุภัณฑ์ และการใช้งาน
ถั่วเหลืองเป็นวัตถุดิบหลักในการผลิตซอสถั่วเหลืองและเครื่องปรุงรสอื่นๆ ซึ่งราคาของมันมีผลโดยตรงต่ออัตรากำไรของผู้ผลิตเครื่องปรุงรส จากข้อมูลในเดือนเมษายน 2568 ราคาตลาดถั่วเหลืองในจีนได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยมาอยู่ที่ 7.19 หยวน/กิโลกรัม นักวิเคราะห์จาก iiMedia Research เชื่อว่า ความอุดมสมบูรณ์ของการผลิตถั่วเหลืองในประเทศจีนและการมีซัพพลายที่เพียงพอจะช่วยลดการผันผวนของราคาถั่วเหลืองในระยะยาว แม้ว่าจะยังคงมีการเปลี่ยนแปลงในระดับราคาที่ค่อนข้างสูงก็ตาม
แหล่งที่มา: https://www.iimedia.cn/c400/106508.html
นอกจากนี้ ถั่วเหลืองยังเป็นปัจจัยสำคัญในการผลิตเครื่องปรุงรส เช่น ซอสถั่วเหลือง โดยเฉพาะในช่วงที่การผลิตเครื่องปรุงรสในจีนกำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงจาก “การขยายขนาด” ไปสู่ “การปรับปรุงคุณภาพ”ซึ่งหมายความว่าผู้ผลิตเครื่องปรุงรสจะต้องหาวิธีการที่สามารถลดผลกระทบจากการผันผวนของราคาวัตถุดิบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการลดต้นทุนในการผลิตถั่วเหลืองให้ได้
แหล่งที่มา: https://www.iimedia.cn/c400/106508.html
แนวโน้มสำคัญของผลิตภัณฑ์และความท้าทายของอุตสาหกรรมเครื่องปรุงรสในจีน
แนวโน้มสำคัญในตลาดเครื่องปรุงรสของจีนคือการเติบโตของผลิตภัณฑ์เครื่องปรุงรสผสมหลายชนิด ซึ่งตอบโจทย์ผู้บริโภคที่ต้องการความสะดวกในการทำอาหาร โดยคาดว่าจะเติบโตจาก 2,301,000 ล้านบาทในปี 2567เป็น 3,367,000 ล้านบาทภายในปี 2570 ขณะเดียวกัน รัฐบาลจีนได้ออกมาตรการควบคุมที่เข้มงวดเกี่ยวกับการแสดงข้อมูลผลิตภัณฑ์ เช่น การบังคับให้ผู้ประกอบการระบุว่าอาหารนั้นเป็น “Pre-prepared meals” หรืออาหารกึ่งสำเร็จรูป รวมถึงการห้ามใช้คำว่า “No added additives” หรือไม่เติมสารปรุงแต่ง บนฉลากบรรจุภัณฑ์ เพื่อป้องกันการสื่อสารที่อาจทำให้ผู้บริโภคเข้าใจผิด โดยกฎหมายดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้ในเดือนมีนาคม 2570
แม้อุตสาหกรรมเครื่องปรุงรสจะมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง แต่ยังคงเผชิญกับความท้าทายหลายประการ เช่น การมุ่งเน้นการตลาดมากเกินไปจนละเลยการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ส่งผลให้ยอดขายในระยะยาวลดลง นอกจากนี้ การแข่งขันในตลาดที่สูงยังผลักดันให้ผู้ผลิตต้องลงทุนด้านนวัตกรรมอย่างต่อเนื่อง เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ที่สามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้อย่างแท้จริง
ตัวอย่างแบรนด์ที่ประสบความสำเร็จ
ตัวอย่างที่เด่นชัดคือแบรนด์ “Songxianxian” (松鲜鲜) ซึ่งเน้นการใช้วัตถุดิบจากธรรมชาติลดโซเดียม ไม่ใส่สารเติมแต่ง และเจาะตลาดคนรุ่นใหม่ที่ใส่ใจสุขภาพ รวมถึงการพัฒนาเครื่องปรุงขนาดเล็กเหมาะกับพฤติกรรมการบริโภคแบบ “single-person meals” หรืออาหารสำหรับคนเดียว ซึ่งได้รับความนิยมอย่างสูง
แหล่งที่มา: https://www.iimedia.cn/c400/106508.html
อีกกรณีศึกษาที่สำคัญคือ “Baixing Foods” (百兴食品) ซึ่งเชี่ยวชาญด้านผลิตภัณฑ์จากเห็ด โดยใช้วัตถุดิบธรรมชาติ ไม่ใส่สารแต่งกลิ่น และดำเนินการผลิตในระบบอัตโนมัติที่ปลอดภัย ส่งออกสินค้าสู่กว่า 30 ประเทศทั่วโลก ถือเป็นตัวอย่างของความสำเร็จจากกลยุทธ์การผลิตที่ยั่งยืนและตอบโจทย์ตลาดสากล
แหล่งที่มา: https://www.iimedia.cn/c400/106508.html
“Zhongjing Foods” (仲景食品) เป็นอีกบริษัทหนึ่งที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาเครื่องปรุงเพื่อสุขภาพ โดยนำเสนอผลิตภัณฑ์แบบ “ซอสปรุงรสและเครื่องปรุงรสผสมหลายชนิดในรูปแบบผสมผสาน” และได้รับการรับรองให้เป็นโรงงานสีเขียวและบริษัทเทคโนโลยีชั้นสูง นับเป็นตัวอย่างของการลงทุนในนวัตกรรมเพื่อสร้างความแตกต่างในตลาดที่มีการแข่งขันสูง
สุดท้าย “Liubiju” (六必居) แบรนด์เก่าแก่ของจีนซึ่งยังคงรักษากระบวนการหมักแบบดั้งเดิมควบคู่ไปกับการใช้เทคโนโลยีการผลิตอัตโนมัติ ผลิตภัณฑ์ลดโซเดียมของแบรนด์นี้ตอบโจทย์กระแสสุขภาพของผู้บริโภครุ่นใหม่ และเป็นต้นแบบของการปรับตัวบนพื้นฐานของมรดกทางวัฒนธรรม
อุตสาหกรรมเครื่องปรุงรสในจีนปี 2568 มีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่องด้วยแรงสนับสนุนจากการเปลี่ยนแปลงด้านพฤติกรรมผู้บริโภคและมาตรการภาครัฐ ผู้ประกอบการไทยควรเตรียมความพร้อมทั้งด้านสินค้า มาตรฐาน และกลยุทธ์ทางการตลาด เพื่อใช้โอกาสนี้ในการขยายธุรกิจไปยังตลาดขนาดใหญ่ที่กำลังเติบโตอย่างมั่นคง
ความคิดเห็นของ สคต. เซี่ยงไฮ้
ผู้ประกอบการไทยที่สนใจตลาดจีนควรมุ่งเน้นการพัฒนาผลิตภัณฑ์เครื่องปรุงรสที่ตอบสนองความต้องการด้านสุขภาพและความสะดวกสบายของผู้บริโภคในจีน เช่น ลดโซเดียม และใช้ส่วนผสมที่เป็นธรรมชาติ เพื่อตอบโจทย์แนวโน้มการบริโภคที่ใส่ใจในสุขภาพ นอกจากนี้ ควรสร้างแบรนด์ที่มีเอกลักษณ์ และปฏิบัติตามมาตรฐานการควบคุมคุณภาพและกฎระเบียบของจีนเพื่อสร้างความเชื่อมั่นในผลิตภัณฑ์
แหล่งที่มา
https://www.iimedia.cn/c400/106508.html
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครเซี่ยงไฮ้
กรกฎาคม 2568