ผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์นม (Dairy Products)ของสหรัฐอเมริกาได้ออกมาเรียกร้องให้แคนาดาแก้ไขกฎระเบียบเกี่ยวกับการนำเข้าชีส นม และผลิตภัณฑ์นมอื่นๆ หรือที่เรียกว่า Supply Management ในขณะที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ขู่ว่าจะใช้มาตรการทางภาษีโดยกำหนดอัตราภาษีนำเข้าสินค้าจากแคนาดาสูงถึง ร้อยละ 35 โดยมีผลในวันที่ 1 สิงหาคม 2568 นี้ หากสองฝ่ายไม่สามารถทำข้อตกลงที่อยู่ระหว่างการเจรจากันได้
นอกจากการขู่ขึ้นภาษีนำเข้ากับแคนาดา ประธานาธิบดีทรัมป์ ยังแสดงความไม่พอใจต่อมาตรการปกป้องทางการค้าของแคนาดา โดยเฉพาะระบบ Supply Management ซึ่งแคนาดาใช้ในการควบคุมการผลิตในประเทศและปกป้องสินค้านำเข้าโดยใช้กำแพงภาษี กับสินค้าการเกษตร 5 สินค้าหลัก ได้แก่ นม ชีส ไข่ ไก่ และ
ไก่งวง
ผู้ส่งออกของสหรัฐฯ เรียกร้องให้รัฐบาลแคนาดาเปิดโอกาสให้ ผู้ค้าปลีก (retailers) และ ธุรกิจบริการอาหาร (food-service companies) ของแคนาดาเอง สามารถนำเข้าผลิตภัณฑ์นมจากสหรัฐฯ ได้โดยปลอดภาษี โดยกฎของแคนาดาในปัจจุบันกำหนดให้มีเพียงผู้แปรรูป (Processors) และผู้จัดจำหน่าย (Distributors) เท่านั้นที่สามารถนำเข้าสินค้านมจากสหรัฐฯ ได้โดยไม่ต้องเสียภาษีนำเข้า หากนำเข้าไม่เกินโควตาที่กำหนด ซึ่งหากเกินโควตาภาษีอาจสูงกว่า ร้อยละ 250
ในระบบปัจจุบัน สินค้านมบางรายการสามารถนำเข้าได้ในปริมาณจำกัดภายใต้ระบบโควตาภาษี (Tariff Rate Quota – TRQ) ฝ่ายสหรัฐฯ เห็นว่า Supply Management ของแคนาดาขัดต่อความตกลง USMCA เพราะไม่ได้เปิดตลาดตามเงื่อนไขที่ตกลงไว้ตั้งแต่ปี 2561 โดยสหรัฐฯ ยื่นเรื่องร้องเรียนต่อแคนาดาเมื่อปี 2564 และ 2565 แต่ต่อมาได้ถูกตัดสินว่า แคนาดาไม่ได้ละเมิดความตกลง USMCA เพราะความตกลงฯ ให้สิทธิแคนาดาในการใช้ดุลยพินิจในการจัดสรรโควตาตามกรอบที่ตกลงไว้
ผู้แทนสภาผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์นมสหรัฐฯ (U.S. Dairy Export Council) มองว่าการที่แคนาดาจัดสรรใบอนุญาตนำเข้าภายใต้ระบบโควตากับผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมภายในประเทศส่วนใหญ่ถือเป็นการปิดกั้นการแข่งขัน และยังอ้างว่า ผู้ค้าปลีกและผู้จัดจำหน่ายในแคนาดาเองก็เห็นตรงกันว่า ระบบปัจจุบันเอื้อประโยชน์ต่อผู้ผลิตภายในประเทศแคนาดาและจำกัดความหลากหลายของผลิตภัณฑ์จากสหรัฐฯ ที่สามารถเข้าถึงผู้บริโภคในแคนาดา
นาย Santo Ligotti โฆษกของสภาผู้ค้าปลีกของแคนาดา (Retail Council of Canada – RCC) กล่าวว่า ระบบการออกใบอนุญาตโควตาภาษีในปัจจุบันนั้น ไม่ให้ความสำคัญกับผู้ค้าปลีกและผู้บริโภค โดยเห็นว่ารัฐบาลแคนาดามักให้ความสำคัญกับผู้ผลิตมากกว่าผู้บริโภคเสมอ
อย่างไรก็ตาม โฆษกกระทรวงการต่างประเทศของแคนาดา (Global Affairs Canada) ระบุว่า รัฐบาลแคนาดายึดมั่นในการคงไว้ ปกป้อง และสนับสนุนระบบ Supply Management รวมถึงจะยืนหยัดเพื่อเกษตรกร อุตสาหกรรม แรงงาน และชุมชนที่เกี่ยวข้อง
ปัจจุบันความตกลง USMCA ทำให้สหรัฐฯ สามารถขยายการเข้าถึงตลาดผลิตภัณฑ์นมของแคนาดาได้ราวร้อยละ 3.5 ของตลาดภายในประเทศ และมีมูลค่าการส่งออกมาแคนาดา 1.18 พันล้านเหรียญสหรัฐในปี 2567 แต่ผู้ส่งออกสหรัฐฯ เห็นว่า ยังไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มที่ตามที่ตกลงไว้ ซึ่งข้อจำกัดที่เกิดขึ้นในทางปฏิบัติ นอกจากนี้ พบว่าแม้ว่าสินค้าบางประเภท เช่น เนยและชีส จะมีอัตราการใช้โควตาสูงเนื่องจากมีอุปสงค์สูง แต่สินค้าบางชนิดยังคงนำเข้าต่ำกว่าเพดานที่อนุญาตมาก เช่น นม ไอศกรีม และโยเกิร์ต ซึ่งสหรัฐฯ มองว่าสาเหตุเกิดจากการที่ Processor ซึ่งเป็นผู้มีสิทธิในการนำเข้าไม่ต้องการนำเข้าสินค้าที่จะมาแข่งขันกับสินค้าที่ตนผลิต ซึ่งเป็นผลจากกฎเกณฑ์ของแคนาดาเอง ที่ออกแบบมาให้ผู้แปรรูปหรือผู้จัดจำหน่ายมีอำนาจควบคุมการนำเข้า
ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรและอาหารของแคนาดา (Agri-Food Canada) ระบุว่าตั้งแต่ความตกลง USMCA มีผลบังคับใช้ แคนาดาสูญเสียตลาดผลิตภัณฑ์นมภายในประเทศให้กับการนำเข้าจากต่างประเทศ ประมาณร้อยละ 10 ของปริมาณการผลิตภายในประเทศ ขณะที่ Dairy Farmers of Canada ประเมินว่าสัดส่วนที่สูญเสียจริงใกล้เคียงกับร้อยละ 18 ของการผลิตทั้งหมดในประเทศ โดย นาย David Wiens ประธานสมาคมเกษตรกรนมแห่งแคนาดา (Dairy Farmers of Canada)
ความคิดเห็น สคต.
แคนาดาและสหรัฐฯ อยู่ระหว่างเจรจาเพื่อบรรลุข้อตกลงทางการค้า โดยแคนาดาหวังเป็นอย่างยิ่งว่าผลการเจรจาจะทำให้สหรัฐฯ ยกเลิกภาษีนำเข้าที่ใช้กับแคนาดาในที่สุด และก่อนหน้านี้แคนาดาก็ได้ยอมยกเลิกการเก็บภาษี Digital Sales Tax กับบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ เช่น Amazon Alphabet Meta ที่เข้ามาให้บริการในแคนาดา เพื่อทำให้การเจรจาการกับสหรัฐฯ ดำเนินต่อไป อย่างไรก็ดี ล่าสุด นายกรัฐมนตรีแคนาดา นายมาร์ค คาร์นีย์ ได้ออกมายอมรับกับสื่อว่ามีความเป็นไปได้น้อยที่สหรัฐฯ จะยกเลิกภาษีนำเข้าโดยสิ้นเชิง และแคนาดาจะต้องถูกเก็บภาษีนำเข้าต่อไป แต่จะอยู่ในอัตราเท่าใดขึ้นกับผลการเจรจา ซึ่งมาตรการ Supply Management ของแคนาดาเป็นอีกหนึ่งประเด็นที่สหรัฐฯ ผลักดันให้แคนาดายกเลิก ซึ่งเป็นไปได้ยากเพราะแคนาดาเพิ่งผ่านกฎหมายที่ห้ามรัฐบาลในการนำมาตรการ Supply Management ไปแลกเปลี่ยนในการเจรจาความตกลงการค้าใดๆ และรัฐบาลแคนาดายืนยันว่าจะยังคงรักษามาตรการนี้ไว้เพื่อปกป้องอุตสาหกรรมและเกษตรกรในประเทศ อย่างไรก็ดี รัฐบาลแคนาดาอาจต้องหาจุดสมดุล โดยการปรับปรุงระบบจัดสรรโควตาให้โปร่งใสขึ้น ซึ่งไทยอาจใช้กรณีนี้เป็นกรณีศึกษาในการรับมือกับการเจรจาสหรัฐฯ ซึ่งมุ่งผลักดันการเปิดตลาดของคู่ค้าทั้งการลดอุปสรรคทั้งที่เป็นภาษีและไม่ใช่ภาษี และติดตามผลการเจรจาของสหรัฐฯ กับประเทศต่างๆ ก่อนการมีผลบังคับใช้ของภาษีใหม่ที่ทรัมป์ประกาศในวันที่ 1 สิงหาคม 2568
โปรดติดตามความเคลื่อนไหวในการค้าระหว่างประเทศผ่าน ช่องทางต่างๆ ของกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ www.ditp.go.th และ www.thaitrade.com หรือโทรปรึกษาเรื่องการค้าระหว่างประเทศที่กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ โทร. 1169 (หากโทรจากต่างประเทศ โปรดติดต่อที่ โทร. +66 2792 6900)
*****************************************