เนื้อข่าว
การขนส่งสินค้าทางรถไฟระหว่างประเทศจีนและเวียดนามที่เติบโตอย่างรวดเร็วในช่วงที่ผ่านมา ได้กลายเป็นแรงผลักดันสำคัญต่อการส่งเสริมการค้าระหว่างสองประเทศ โดยเฉพาะการขนส่งข้ามพรมแดนผ่านเขตปกครองตนเองกว่างซี ซึ่งในช่วงครึ่งแรกของปี 2568 เพียงอย่างเดียว ขบวนรถไฟระหว่างประเทศจากกว่างซีสามารถขนส่งตู้คอนเทนเนอร์สินค้าส่งออกได้มากถึง 18,870 ตู้ เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 283 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ถือเป็นการเติบโตที่โดดเด่นอย่างยิ่ง
สินค้าหลักที่มีการส่งออกผ่านระบบราง ได้แก่ ชิ้นส่วนยานยนต์และแผ่นไม้สังเคราะห์ที่ผลิตจากเส้นใยไม้ขนาดเล็ก (Medium Density Fiberboard: MDF) ซึ่งในช่วงเวลาเดียวกัน มีปริมาณการขนส่งรวม ถึง 2,528 TEU และ 4,580 TEU ตามลำดับ เพิ่มขึ้นจากปีก่อนถึงร้อยละ 100 และร้อยละ 398 สินค้าเหล่านี้ส่วนใหญ่มาจากมณฑลเจียงซู กวางตุ้ง และพื้นที่อื่น ๆ โดยมีการลำเลียงมายังท่าเรือนานาชาติหนานหนิง ก่อนถ่ายโอนสู่เวียดนามผ่านขบวนรถไฟระหว่างประเทศ ซึ่งกำลังกลายเป็นจุดเติบโตใหม่ของระบบขนส่งทางราง และสะท้อนให้เห็นถึงศักยภาพในการขยายตัวของโครงข่ายโลจิสติกส์ระหว่างสองประเทศ
เพื่อรองรับความต้องการขนส่งที่เพิ่มขึ้น การรถไฟหนานหนิง (Nanning Bureau) ได้ร่วมมือกับการรถไฟเวียดนาม (Vietnam Railways) ปรับเพิ่มสมรรถนะของระบบขนส่ง โดยเพิ่มความสามารถลากจูงของขบวนรถไฟจาก 1,000 ตันเป็น 1,300 ตันต่อขบวน หรือคิดเป็นเพิ่มขึ้นร้อยละ 30 พร้อมทั้งเพิ่มความถี่ของขบวนรถไฟเส้นทางประจำระหว่างจีน-เวียดนามจาก 5 เที่ยวต่อสัปดาห์เป็น 14 เที่ยวต่อสัปดาห์ หรือเกือบ 3 เท่า ซึ่งช่วยให้การเดินทางจากหนานหนิงมายังสถานีเยนเวียนในเวียดนามใช้เวลาสูงสุดเพียง 14 ชั่วโมงเท่านั้น นอกจากนี้ ยังมีการปรับปรุงกระบวนการให้บริการ โดยนำระบบวางแผน – ชั่งน้ำหนัก – ออกตั๋ว แบบครบวงจร (A one-stop planning - weighing - ticketing model) มาใช้ ซึ่งสามารถลดระยะเวลาการดำเนินการคำสั่งซื้อระหว่างประเทศให้เหลือไม่ถึง 5 นาที ส่งผลให้การให้บริการมีความรวดเร็ว สะดวก และตรงเวลามากยิ่งขึ้น
ระบบขนส่งทางรถไฟเวียดนาม-จีนที่มีประสิทธิภาพดังกล่าว ช่วยให้ผู้ประกอบการในภูมิภาคสามารถขยายตลาดไปยังระดับสากลได้ง่ายขึ้น และดึงดูดลูกค้าให้หันมาใช้การขนส่งทางรางมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ปัจจุบัน สินค้าส่งออกจากกว่างซีผ่านขบวนรถไฟระหว่างประเทศมีมากกว่า 380 ประเภท ครอบคลุมแหล่งสินค้าจาก 25 มณฑลและเมืองทั่วจีน โดยเส้นทางการขนส่งได้ขยายครอบคลุมถึงเวียดนาม ลาว ไทย และประเทศอาเซียนอื่น ๆ ส่งผลให้เกิดเครือข่ายทางด่วนการค้าที่เชื่อมโยงจีนกับอาเซียนอย่างเป็นรูปธรรมและมีพลวัตมากขึ้น
(แหล่งที่มา https://thesaigontimes.vn/ ฉบับวันที่ 13 กรกฎาคม 2568)
วิเคราะห์ผลกระทบ
ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างจีนและเวียดนามมีพัฒนาการอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะด้านการค้าข้ามพรมแดน ซึ่งเติบโตอย่างมั่นคงท่ามกลางสภาพแวดล้อมทางการค้าโลกที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ข้อมูลในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2568 ระบุว่ามูลค่าการค้าระหว่างสองประเทศสูงถึง 88,359 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.7 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน สะท้อนถึงความใกล้ชิดทางเศรษฐกิจและการเสริมสร้างความเชื่อมโยงในระดับภูมิภาค ปัจจัยสำคัญประการหนึ่งที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จนี้ คือระบบการขนส่งทางรางที่มีความปลอดภัย ตรงต่อเวลา และประหยัดต้นทุน โดยเฉพาะเครือข่ายรถไฟระหว่างประเทศที่เชื่อมต่อระหว่างเวียดนามและจีนผ่านศูนย์กลางหลักคือเมืองหนานหนิง เขตปกครองตนเองกวางสีจ้วง ซึ่งทำหน้าที่เป็นประตูโลจิสติกส์สู่ภูมิภาคอาเซียน
การพัฒนาระบบขนส่งทางรถไฟระหว่างสองประเทศมีความก้าวหน้าอย่างชัดเจนในปี 2568 โดยในช่วงครึ่งปีแรก ขบวนรถไฟร่วมเวียดนาม–จีนสามารถขนส่งตู้คอนเทนเนอร์สินค้าได้เกือบ 19,000 ตู้ เพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 283 เมื่อเทียบกับปีก่อน อีกทั้งยังมีการปรับเพิ่มความถี่ของการเดินรถจาก 5 เที่ยวต่อสัปดาห์เป็น 14 เที่ยวต่อสัปดาห์ ช่วยลดระยะเวลาขนส่งจากหนานหนิงไปยังสถานีเยนเวียนในกรุงฮานอยให้เหลือไม่เกิน 14 ชั่วโมง ซึ่งไม่เพียงช่วยเร่งกระบวนการโลจิสติกส์ แต่ยังเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการสามารถวางแผนส่งออกได้อย่างยืดหยุ่นและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ หนานหนิงยังได้พัฒนาระบบบริการแบบเบ็ดเสร็จ (One-stop Service) ครอบคลุมการวางแผน ชั่งน้ำหนัก และออกเอกสารภายในเวลาไม่เกิน 5 นาที เพิ่มความสะดวกในการดำเนินพิธีการศุลกากร และลดต้นทุนด้านเวลาให้แก่ผู้ส่งออก
การพัฒนาดังกล่าวไม่เพียงอำนวยความสะดวกแก่ผู้ประกอบการจีน แต่ยังเปิดโอกาสให้เวียดนามใช้ประโยชน์ในการส่งออกสินค้าเกษตร โดยเฉพาะผลไม้สด เช่น แก้วมังกร มะม่วง และทุเรียน ผ่านระบบ รถไฟด่วนที่สามารถขนส่งถึงมือลูกค้าในจีนภายใน 48 ชั่วโมง ช่วยรักษาคุณภาพของผลผลิตและเพิ่มความสามารถในการแข่งขันในตลาดจีนอย่างมีนัยสำคัญ ส่งผลให้ปริมาณคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 150 นอกจากนี้ สินค้ากลุ่มอื่น ๆ อย่างอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ชิ้นส่วนยานยนต์ และวัสดุก่อสร้างก็ได้รับประโยชน์จากการขยายตัวของเครือข่ายขนส่งทางรางเช่นกัน ทำให้เวียดนามกลายเป็นศูนย์กลางการขนส่งที่สำคัญของภูมิภาค ทั้งในด้านการกระจายสินค้าเข้าสู่ตลาดจีน และเชื่อมโยงต่อไปยังประเทศในอาเซียน
แนวโน้มการเติบโตของรถไฟข้ามพรมแดนเวียดนาม–จีนจึงไม่ใช่เพียงการขยายตัวด้านปริมาณ แต่ยังเป็นสัญญาณของการเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์ด้านโลจิสติกส์ของภูมิภาคอาเซียน ที่เน้นความรวดเร็ว ประสิทธิภาพ และการเชื่อมโยงไร้รอยต่อ ผู้ประกอบการไทยควรติดตามพัฒนาการเหล่านี้อย่างใกล้ชิด และเตรียมความพร้อมในการวางกลยุทธ์ทางการค้าเพื่อใช้ประโยชน์จากเส้นทางโลจิสติกส์ใหม่ที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะในช่วงที่จีนเดินหน้าขยายบทบาทสู่ตลาดอาเซียนผ่านเครือข่ายขนส่งทางราง ซึ่งอาจกลายเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจภูมิภาคในระยะยาว
นำเสนอโอกาส/แนวทาง
ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา การขนส่งสินค้าทางรถไฟระหว่างเวียดนามและจีนมีพัฒนาการอย่างโดดเด่น โดยเฉพาะในช่วงครึ่งแรกของปี 2568 ที่ปริมาณตู้คอนเทนเนอร์สินค้าพุ่งสูงขึ้นกว่าร้อยละ 280 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สะท้อนถึงบทบาทที่เพิ่มขึ้นของระบบรางในฐานะกลไกหลักในการเชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทานในระดับภูมิภาค เส้นทางสำคัญของระบบนี้คือรถไฟระหว่างกรุงฮานอยกับเมืองหนานหนิง เขตปกครองตนเองกว่างซีของจีน ซึ่งหนานหนิงได้เร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบโลจิสติกส์ให้เป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงการค้าระหว่างจีนกับประเทศสมาชิก RCEP เอเชียกลาง และยุโรป ทั้งยังมีจุดเปลี่ยนถ่ายสินค้าที่ท่าสถานีรถไฟระหว่างประเทศผิงเสียง ซึ่งเป็นประตูหลักสำหรับการขนส่งสินค้าข้ามแดนระหว่างจีนกับเวียดนาม
ภายใต้บริบทใหม่นี้ ผู้ประกอบการไทยมีโอกาสสำคัญในการใช้เส้นทางรถไฟระหว่างเวียดนาม–จีนเพื่อขยายตลาดสู่จีนอย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะการส่งออกผลไม้สด เช่น ทุเรียน มะม่วง และลำไย ซึ่งต้องการระบบขนส่งที่รวดเร็ว ปลอดภัย และควบคุมอุณหภูมิได้ดี การขนส่งผ่านหนานหนิงช่วยลดระยะเวลาการเดินทางจากเดิมหลายวันเหลือเพียง 48 ชั่วโมง และลดความแออัดของด่านโหย่วอี้กวานที่เป็นเส้นทางถนนหลัก ขณะเดียวกัน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย เช่น หนองคาย มุกดาหาร และอุบลราชธานี ยังสามารถใช้เส้นทางรถไฟเข้าสู่เวียดนามผ่านสะพานมิตรภาพไทย–ลาว แล้วเชื่อมต่อไปยังสถานีเยนเวียนในกรุงฮานอย ก่อนเข้าสู่ระบบรางของจีนโดยตรง ซึ่งเป็นทางเลือกที่มีศักยภาพในการลดต้นทุนโลจิสติกส์ เพิ่มความยืดหยุ่น และขยายเครือข่ายการค้าใหม่ในระยะยาว
นอกจากนี้ ผู้ประกอบการไทยยังสามารถต่อยอดโอกาสเชิงกลยุทธ์ ด้วยการลงทุนในรูปแบบศูนย์กระจายสินค้า คลังสินค้าอุณหภูมิควบคุม หรือศูนย์แปรรูปผลไม้และสินค้าเกษตรร่วมกับพันธมิตรเวียดนามหรือจีน ในพื้นที่ใกล้สถานีรถไฟเยนเวียนหรือด่านผิงเสียง เพื่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานรองรับการส่งออกในระยะยาว พร้อมตอบโจทย์มาตรฐานด้านความปลอดภัยและสุขอนามัยที่ตลาดจีนให้ความสำคัญมากขึ้น การปรับตัวเชิงรุกเช่นนี้จะไม่เพียงช่วยยกระดับความสามารถในการแข่งขันของสินค้าไทยในตลาดจีน แต่ยังเป็นการวางรากฐานให้ภาคการค้าชายแดนไทยสามารถก้าวเข้าสู่ยุคโลจิสติกส์ภูมิภาคแบบใหม่ ที่เน้นความเชื่อมโยงไร้รอยต่อและการเติบโตอย่างยั่งยืนในระดับภูมิภาค