fb
เวียดนามปรับโครงสร้าง 34 จังหวัด เดินหน้าพัฒนาเศรษฐกิจภูมิภาค–ดึงดูดการลงทุน
โดย
Trann@ditp.go.th
ลงเมื่อ 16 กรกฎาคม 2568 19:22
22
  1. เนื้อข่าว 

    การปรับใช้รูปแบบการปกครองท้องถิ่นแบบสองระดับใน 34 จังหวัดและนครทั่วเวียดนาม ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2568 ไม่ได้เป็นเพียงการปรับโครงสร้างการบริหารงาน แต่ยังเป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนผ่านครั้งสำคัญในเชิงเศรษฐกิจ โดยมีเป้าหมายเพื่อปรับยุทธศาสตร์การพัฒนาให้เหมาะสมกับพื้นที่ใหม่ที่เกิดจากการควบรวม ตลอดจนสร้างความเชื่อมโยงระหว่างภูมิภาคให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ผู้เชี่ยวชาญชี้ว่าการควบรวมจังหวัดจากเดิม 63 เหลือ 34 แห่ง ได้เปิดโอกาสให้หลายท้องถิ่นผสานจุดแข็งทางภูมิประเทศ โครงสร้างพื้นฐาน และภาคเศรษฐกิจหลักเข้าด้วยกันอย่างลงตัว เพื่อสร้างพื้นที่เศรษฐกิจที่มีความหลากหลายและศักยภาพสูงกว่าเดิม

    ตัวอย่างที่ชัดเจนคือ จังหวัดกว๋างหงาย (Quang Ngai Province) ที่เกิดจากการควบรวมจังหวัดกว๋างหงายและจังหวัดกอนตูม (Kon Tum Province) ครอบคลุมพื้นที่เกือบ 15,000 ตารางกิโลเมตร มีประชากรกว่า 2.1 ล้านคน และเชื่อมโยงระหว่างชายฝั่งทะเลซาหวิน (Sa Huynh coastline) กับป่ากว้างใหญ่ของที่ราบสูงตอนกลาง จังหวัดกว๋างหงายตั้งเป้าใช้จุดเด่นทางภูมิศาสตร์ผลักดันการท่องเที่ยวให้เป็นเสาหลักของเศรษฐกิจ ด้วยการพัฒนาแนวระเบียงหลี่เซิน–มังเด็น (Ly Son Mang Den Corridor) ที่เชื่อมชายฝั่งทะเลยาว 129 กิโลเมตรกับพื้นที่สูงอากาศเย็น พร้อมสร้างเมืองนิเวศน์ รีสอร์ต และศูนย์วัฒนธรรมเชิงประสบการณ์

    ในขณะที่ จังหวัดด่งนาย (Dong Nai Province) ที่รวมจังหวัดบิ่นห์เฟือก (Binh Phuoc Province) เข้าไว้ด้วยกัน ครอบคลุมพื้นที่กว่า 12,700 ตารางกิโลเมตร มีจำนวนประชากรและแรงงานจำนวนมาก ก็ได้ตั้งเป้าเติบโตทางเศรษฐกิจที่ร้อยละ 10 ในปี 2568 โดยเน้นการเบิกจ่ายงบลงทุนภาครัฐ ปรับปรุงประสิทธิภาพราชการ และระดมทรัพยากรเพื่อรักษาโมเมนตัมการเติบโต ในช่วงครึ่งปีแรก จังหวัดมีอัตราเติบโตที่ร้อยละ 8.23 ติดอันดับที่ 13 ของประเทศ และยังคงยืนยันเป้าหมายเดิม ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนอย่างจริงจัง ขณะเดียวกัน จังหวัดยังคงเดินหน้าขยายการลงทุน โดยมีนิคมอุตสาหกรรมกว่า 52 แห่งที่ดำเนินการอยู่แล้ว และสามารถดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศกว่า 1,400 ล้านเหรียญสหรัฐ ในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2568 พร้อมตั้งเป้าสร้างนิคมอุตสาหกรรมใหม่เพื่อขยายการผลิตและสร้างแรงขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจเพิ่มเติม

    การควบรวมและปรับโครงสร้างการบริหารในจังหวัดที่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจสูง ยังถูกมองว่าเป็นโอกาสทองในการเร่งพัฒนาเพื่อยกระดับความสามารถในการแข่งขันทั้งในระดับประเทศและระดับภูมิภาค รายงานดัชนีศักยภาพทางเศรษฐกิจระดับจังหวัด (Provincial Economic Position Index: PEPI) ปี 2568 ซึ่งจัดทำโดย Vietstats ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญอิสระ ระบุว่านครโฮจิมินห์ ซึ่งควบรวมกับจังหวัดบิ่นห์เยือง (Binh Duong Province) และจังหวัดบ่าเหรี่ยะ-หวุงเต่า (Ba Ria – Vung Tau Province) ยังคงแสดงบทบาทผู้นำทางเศรษฐกิจของประเทศด้วยคะแนนเต็ม 70 คะแนน ตามมาด้วยเมืองเศรษฐกิจสำคัญอย่างนครไฮฟอง (Hai PhongCity) จังหวัดกว๋างนินห์ (Quang Ninh Province) กรุงฮานอย และจังหวัดด่งนาย ซึ่งล้วนมีโครงสร้างพื้นฐานที่ทันสมัย เช่น ท่าเรือน้ำลึก สนามบินนานาชาติ และเครือข่ายโลจิสติกส์ครบวงจร รวมถึงศักยภาพในการดึงดูด FDI สูง ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางการเติบโต (growth nuclei) ของภูมิภาคตนเอง

    อย่างไรก็ตาม การแปลงศักยภาพให้เป็นผลลัพธ์ที่จับต้องได้ในเชิงเศรษฐกิจยังคงเป็นความท้าทาย หลายจังหวัดแม้มีจุดเด่นชัดเจนแต่ยังไม่สามารถต่อยอดให้กลายเป็นความได้เปรียบในการแข่งขัน เช่น จังหวัดคั้ญฮหว่า (Khanh Hoa Province) (ซึ่งรวมจังหวัดนินห์ถ่วน (Ninh Thuan Province)) แม้จะมีท่าเรือน้ำลึกวานฟอง (Deep-water Van Phong Port) สนามบินนานาชาติแคมรานห์ (Cam Ranh International Airport) และตั้งอยู่ใจกลางชายฝั่งภาคใต้ตอนกลาง แต่ระบบโลจิสติกส์ยังแยกส่วน ขาดการเชื่อมโยง และบทบาทในฐานะศูนย์กลางอุตสาหกรรมบริการ (industrial–service hub) ยังไม่ชัดเจน หรือจังหวัดหล่างเซิน (Lang Son Province) ซึ่งมีด่านชายแดนสำคัญระดับประเทศ แต่ยังคงพึ่งพาการค้าชายแดนแบบดั้งเดิม และไม่มีบริการโลจิสติกส์ที่มีมูลค่าสูง

    ในขณะที่บางจังหวัดที่มีการควบรวมอย่างลงตัวกลับกำลังเริ่มแสดงศักยภาพทางเศรษฐกิจได้อย่างชัดเจน เช่น จังหวัดบั๊กนินห์ (Bac Ninh) (รวมกับจังหวัดบั๊กซาง (Bac Giang)), จังหวัดเตย์นินห์ (Tay Ninh) (รวมกับจังหวัดลองอาน (Long An), จังหวัดท้ายเงวียน (Thai Nguyen) (รวมกับจังหวัดบั๊กกั่น (Bac Can) และจังหวัดฟู้เถาะ (Phu Tho) (รวมกับจังหวัดหว่าบิ่นห์ (Hoa Binh) และจังหวัดหวิงฟุก (Vinh Phuc) โดยอาศัยความได้เปรียบจากการเชื่อมต่อกับระเบียงเศรษฐกิจ และแนวทางพัฒนาที่มุ่งสู่อุตสาหกรรมและบริการยุคใหม่ ผู้เชี่ยวชาญเน้นว่า แม้จังหวัดจะมี GRDP ต่ำ แต่หากอยู่ในจุดเชื่อมต่อของห่วงโซ่คุณค่าระดับภูมิภาค และมีการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานอย่างเหมาะสม ก็สามารถกลายเป็นศูนย์กลางการเติบโตใหม่ได้เช่นกัน

    เมื่อรูปแบบการปกครองใหม่เข้าสู่ช่วงเริ่มต้นปฏิบัติจริง ภาคธุรกิจจำนวนมากต่างคาดหวังว่าระบบราชการจะมีความชัดเจน เสถียร และมีขั้นตอนที่เรียบง่ายมากขึ้น เพื่อลดต้นทุนในการปฏิบัติตามกฎหมายและเปิดทางให้สามารถใช้ประโยชน์จากกลไกเชิงนโยบายใหม่ได้เต็มที่ โดยเฉพาะในนครโฮจิมินห์ ซึ่งมีธุรกิจจดทะเบียนมากกว่า 270,000 แห่ง คิดเป็นกว่าร้อยละ 30 ของทั้งประเทศ ทางการได้วางแผนพัฒนาระยะยาวด้วยแนวคิดใหม่ที่มุ่งเป็น 1 ใน 100 เมืองที่น่าอยู่อันดับต้น ๆ ของโลก

    ในช่วงครึ่งแรกของปี 2568 GRDP ของนครโฮจิมินห์เติบโตประมาณร้อยละ 7.49 เมื่อรวมข้อมูลจากการควบรวมกับจังหวัดบิ่นห์เยืองและบ่าเหรี่ยะ-หวุงเต่า อย่างไรก็ตาม หากต้องการบรรลุเป้าหมายการเติบโตทั้งปีที่ร้อยละ 8.5 เมืองจะต้องรักษาอัตราเติบโตไว้เหนือร้อยละ 10 ในช่วงที่เหลือของปี ซึ่งถือเป็นความท้าทายไม่น้อย

    นาย Truong Minh Huy Vu ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนานครโฮจิมินห์ (The Ho Chi Minh City Institute for Development Studies) กล่าวว่า การควบรวมพื้นที่นี้ไม่ใช่เพียงการปรับเขตปกครอง แต่คือยุทธศาสตร์สร้างมหานครใหม่ที่มีขีดความสามารถทางเศรษฐกิจครบวงจร โดยตั้งเป้าสู่การเป็นเมืองระดับโลกของเวียดนามในอาเซียน เมืองใหม่นี้จำเป็นต้องมีแผนแม่บทแบบบูรณาการที่มีวิสัยทัศน์ระยะยาว เพื่อกำหนดทิศทางการพัฒนาเมืองแบบหลายศูนย์กลาง รักษาความต่อเนื่องของการลงทุนภาครัฐและกิจกรรมทางเศรษฐกิจ – สังคม และหลีกเลี่ยงการวางแผนที่แยกส่วน

    นครโฮจิมินห์ได้กำหนดเสาหลักการเติบโต 3 ด้าน ได้แก่ อุตสาหกรรมไฮเทคและการผลิตอัจฉริยะ บริการทางการเงินและเทคโนโลยีระดับนานาชาติ และเศรษฐกิจทางทะเลที่เน้นท่าเรือน้ำลึกและโลจิสติกส์ทันสมัย ทั้งนี้ ปัจจัยผลักดันเหล่านี้จะต้องได้รับการสนับสนุนด้วยโครงสร้างพื้นฐานทั้งด้านกายภาพและดิจิทัล เพื่อวางรากฐานสู่เศรษฐกิจสีเขียวและดิจิทัลในอนาคต

    ผู้เชี่ยวชาญระดับชาติยังเน้นว่า หากต้องการใช้ประโยชน์จากพื้นที่พัฒนาใหม่นี้ให้ได้เต็มที่ จังหวัดต่าง ๆ จำเป็นต้องกำหนดลำดับความสำคัญของการลงทุนให้ชัดเจน มุ่งเน้นภาคเศรษฐกิจที่มีมูลค่าเพิ่มสูง สร้างกลไกความร่วมมือระดับภูมิภาคให้มีประสิทธิภาพ และยกระดับโครงสร้างพื้นฐานให้ทันสมัย พร้อมกันนี้ยังต้องให้ความสำคัญกับการวางแผนที่รอบคอบ พัฒนาคุณภาพทุนมนุษย์ และเร่งการเปลี่ยนผ่านสู่ระบบเศรษฐกิจดิจิทัล เพื่อเปลี่ยนศักยภาพที่มีอยู่ให้กลายเป็นความได้เปรียบทางเศรษฐกิจอย่างแท้จริง

(แหล่งที่มา https://vietnamnews.vn/ ฉบับวันที่ 12 กรกฎาคม 2568)

  1. วิเคราะห์ผลกระทบ

เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2568 หน่วยงานท้องถิ่นทั่วประเทศเวียดนามได้จัดพิธีประกาศการควบรวมหน่วยงานบริหารระดับจังหวัด และเปิดตัวโมเดลรัฐบาลท้องถิ่นแบบสองระดับซึ่งจะมีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2568 เป็นต้นไป ภายใต้โครงสร้างใหม่นี้ จำนวนหน่วยบริหารระดับจังหวัดในเวียดนามจะลดลงจากเดิม 63 แห่ง เหลือเพียง 34 แห่ง ประกอบด้วย 28 จังหวัดและ 6 นครภายใต้การปกครองส่วนกลาง โดยยกเลิกระบบการบริหารในระดับเขต ซึ่งนับเป็นการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างที่สำคัญและมีนัยสำคัญทางยุทธศาสตร์อย่างยิ่ง

ตลอดประวัติศาสตร์การพัฒนาทางการเมืองและการบริหาร เวียดนามได้มีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างเขตปกครองหลายครั้ง โดยเริ่มจาก 38 จังหวัดหลังปี 2518 และเพิ่มขึ้นเป็น 44 จังหวัด จนกระทั่งกลายเป็น 63 จังหวัดและเมืองในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา การปรับโครงสร้างในครั้งนี้จึงถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่จะช่วยให้การจัดการภาครัฐมีความคล่องตัวมากขึ้น ลดความซ้ำซ้อนในการบริหาร และเอื้อต่อการปรับใช้กลไกนโยบายใหม่ ๆ ที่สอดคล้องกับบริบทของเศรษฐกิจสมัยใหม่และการพัฒนาเชิงพื้นที่อย่างยั่งยืน

ในบริบทดังกล่าว ดัชนีศักยภาพทางเศรษฐกิจระดับจังหวัด (Provincial Economic Position Index: PEPI) ได้กลายเป็นเครื่องมือเชิงยุทธศาสตร์ที่สำคัญยิ่งในการประเมินศักยภาพของแต่ละพื้นที่ โดย PEPI วัดจาก 3 เสาหลัก ได้แก่ ความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจ ตำแหน่งเชิงพื้นที่ในการพัฒนา และขนาดของเศรษฐกิจ โดยใช้ตัวชี้วัดเชิงปริมาณรวม 8 ด้าน คิดคะแนนเต็ม 70 คะแนน ดัชนีนี้สะท้อนให้เห็นถึงระดับโครงสร้างพื้นฐาน ทำเลทางยุทธศาสตร์ ความสามารถในการบูรณาการเข้ากับห่วงโซ่มูลค่าทั้งในระดับประเทศและภูมิภาค ตลอดจนศักยภาพในการดึงดูดการลงทุนและพัฒนาธุรกิจอย่างยั่งยืน

ผลการจัดอันดับ PEPI ล่าสุดได้เน้นย้ำว่าบทบาททางเศรษฐกิจของจังหวัดไม่ควรถูกกำหนดโดยเพียงเส้นเขตปกครองแบบเดิมอีกต่อไป แต่ควรพิจารณาจากศักยภาพในการเชื่อมโยงและขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจในภาพรวม โดยเฉพาะเมืองขนาดใหญ่ เช่น นครโฮจิมินห์ กรุงฮานอย และนครไฮฟอง ซึ่งมีโครงสร้างพื้นฐานและกำลังการผลิตสูง ควรทำหน้าที่เป็นกลไกถ่ายทอดความเจริญไปสู่พื้นที่รอบข้างอย่างมีประสิทธิภาพ ขณะเดียวกัน รัฐบาลกลางยังควรสนับสนุนการพัฒนาศูนย์กลางภูมิภาค หรือ regional hubs เช่น นครเกิ่นเทอ นครดานัง จังหวัดบั๊กนินห์ และจังหวัดลามด่ง ให้กลายเป็นแหล่งลงทุนใหม่ ด้วยการเร่งขยายเครือข่ายโลจิสติกส์ ลงทุนในระบบสาธารณูปโภคหลัก และผลักดันการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในกระบวนการผลิตและบริการ

การควบรวมพื้นที่ปกครองจึงไม่ควรเป็นเพียงการจัดการโครงสร้างทางการเมืองเท่านั้น หากแต่ต้องผนวกเข้ากับการวางแผนพัฒนาเศรษฐกิจในระยะยาวอย่างเป็นระบบ ภายใต้แนวคิดบูรณาการและเชื่อมโยง โดยใช้ดัชนี PEPI เป็นแนวทางกำหนดพื้นที่ยุทธศาสตร์สำหรับการลงทุน การจัดสรรทรัพยากร และการสร้างศูนย์กลางเศรษฐกิจแห่งใหม่ที่มีขนาดเพียงพอ แข่งขันได้ และพร้อมเชื่อมโยงกับห่วงโซ่มูลค่าทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ โดยเฉพาะในยุคที่เศรษฐกิจโลกเน้นความยืดหยุ่น การกระจายศูนย์กลาง และการใช้เทคโนโลยีเป็นตัวเร่ง

ในเชิงนโยบาย การควบรวมจังหวัดยังสอดคล้องกับเป้าหมายของเวียดนามในการยกระดับการให้บริการสาธารณะ ลดต้นทุนการดำเนินงานของภาครัฐ เพิ่มประสิทธิภาพการจัดการทรัพยากร และเปิดโอกาสให้รัฐบาลสามารถออกแบบนโยบายเศรษฐกิจแบบเฉพาะพื้นที่ได้ดีขึ้น ส่งเสริมการพัฒนาแบบพหุศูนย์กลาง (multi-centric development) ซึ่งเหมาะสมกับบริบทของประเทศที่มีความหลากหลายทั้งด้านภูมิศาสตร์ วัฒนธรรม และโครงสร้างเศรษฐกิจ

การควบรวมจังหวัดภายใต้โมเดลรัฐบาลท้องถิ่นสองระดับนี้ ถือเป็นนโยบายเชิงโครงสร้างขนาดใหญ่ที่มาพร้อมทั้งโอกาสและความท้าทาย หากดำเนินการด้วยแนวทางที่เป็นวิทยาศาสตร์ มีความโปร่งใส และยึดมั่นในวิสัยทัศน์ระยะยาว กระบวนการนี้จะไม่เพียงแต่เพิ่มประสิทธิภาพของระบบราชการ แต่ยังสามารถสร้างศูนย์กลางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง กระจายการเติบโตอย่างทั่วถึง ยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน และเพิ่มขีดความสามารถของประเทศในการเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจโลกอย่างมั่นคงและยั่งยืน

  1. นำเสนอโอกาส/แนวทาง

การควบรวมจังหวัดของเวียดนามจาก 63 เหลือ 34 แห่ง ซึ่งมีผลตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2568 ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการปกครองครั้งใหญ่ที่สุดในรอบหลายทศวรรษ โดยเวียดนามได้ปรับมาใช้ ระบบรัฐบาลท้องถิ่นแบบสองระดับ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหาร ลดความซ้ำซ้อน และเร่งการกระจายการพัฒนาเชิงพื้นที่อย่างเป็นระบบ การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ไม่เพียงส่งผลต่อโครงสร้างราชการ แต่ยังส่งแรงสั่นสะเทือนไปยังภูมิทัศน์เศรษฐกิจระดับภูมิภาคและระดับประเทศ ซึ่งผู้ประกอบการไทยควรติดตามอย่างใกล้ชิด

การควบรวมจังหวัดเปิดพื้นที่การพัฒนาใหม่ทั้งในเชิงกายภาพ นโยบาย และเศรษฐกิจ ทำให้เวียดนามสามารถกำหนดยุทธศาสตร์การลงทุนในระดับภูมิภาคได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยเฉพาะจังหวัดที่มีศักยภาพสูง เช่น จังหวัดด่งนาย จังหวัดคั้ญฮหว่า และพื้นที่ตะวันออกของนครโฮจิมินห์ รัฐบาลเวียดนามได้วางแผนจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ในพื้นที่เหล่านี้ เพื่อรองรับการลงทุนจากต่างประเทศในสาขายุทธศาสตร์ เช่น อุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร ชิ้นส่วนยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ โลจิสติกส์สมัยใหม่ และอุตสาหกรรมสนับสนุน ซึ่งล้วนเป็นอุตสาหกรรมที่ผู้ประกอบการไทยมีความเชี่ยวชาญและมีศักยภาพในการแข่งขัน

ในบริบทนี้ ผู้ประกอบการไทยสามารถเข้าร่วมในระยะแรกของการพัฒนาพื้นที่ใหม่ ซึ่งมักมีแรงจูงใจด้านภาษีและต้นทุนที่แข่งขันได้ โดยเฉพาะแรงงานท้องถิ่นที่มีค่าแรงต่ำ และโครงสร้างพื้นฐานด้านโลจิสติกส์ที่กำลังขยายตัวเชื่อมโยงสู่ท่าเรือน้ำลึก สนามบิน และเครือข่ายการคมนาคมระหว่างภูมิภาค ซึ่งช่วยลดต้นทุนการขนส่งและเพิ่มความยืดหยุ่นในห่วงโซ่อุปทาน

นอกจากโอกาสในภาคการผลิตแล้ว การเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างนี้ยังนำมาซึ่งการขยายตัวของเมืองและรายได้ประชากร ส่งผลให้ความต้องการบริการในภาคการบริโภคเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะบริการด้านสุขภาพ การศึกษา การท่องเที่ยวเชิงคุณภาพ และอาหารแปรรูปที่มีมาตรฐานความปลอดภัยสูง ผู้ประกอบการไทยในกลุ่มโรงพยาบาลเอกชน โรงเรียนนานาชาติ สปาและรีสอร์ตระดับพรีเมียม รวมถึงร้านอาหารแบรนด์ไทยที่มีชื่อเสียงในระดับภูมิภาค จึงมีโอกาสเข้าสู่ตลาดเวียดนามได้อย่างมั่นใจ โดยอาศัยจุดแข็งด้านแบรนด์ ประสบการณ์ และการดำเนินธุรกิจในต่างประเทศ

                    อย่างไรก็ตาม เพื่อให้สามารถวางกลยุทธ์ได้อย่างแม่นยำ ผู้ประกอบการไทยควรติดตามอย่างใกล้ชิดต่อแผนแม่บทจังหวัดใหม่ ซึ่งรัฐบาลเวียดนามกำลังอยู่ระหว่างการจัดทำหลังการควบรวมจังหวัด เนื่องจากแผนดังกล่าวจะเป็นกรอบนโยบายสำคัญสำหรับการลงทุน การใช้ที่ดิน การเชื่อมโยงโครงข่ายโลจิสติกส์ และการพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมาย นอกจากนี้ การสร้างเครือข่ายกับภาคธุรกิจท้องถิ่น หน่วยงานรัฐ และองค์กรพัฒนาในพื้นที่ จะช่วยให้ผู้ประกอบการไทยเข้าใจลักษณะเฉพาะของแต่ละพื้นที่ และปรับโมเดลธุรกิจให้สอดคล้องกับบริบททางเศรษฐกิจและสังคมได้ดียิ่งขึ้น

News 14 - 18 July - The economic potential of provinces after merger.-Edit.pdf
Share :
Instagram