อัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯ พุ่งสูงขึ้นในเดือนมิถุนายน 2025 ซึ่งอาจบ่งชี้ว่าภาคธุรกิจกำลังเริ่มผลักภาระภาษีศุลกากรไปยังผู้บริโภค กระทรวงแรงงานสหรัฐฯ รายงานเมื่อวันอังคารที่ 15 ก.ค. 2025 ว่าดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เดือนมิถุนายนเพิ่มขึ้น 2.7% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และเป็นไปตามที่นักเศรษฐศาสตร์จาก The Wall Street Journal คาดการณ์ไว้ อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (Core Inflation) ซึ่งไม่รวมราคาอาหารและพลังงานอยู่ที่ 2.9% ซึ่งสอดคล้องกับการคาดการณ์เช่นกัน
ราคาสินค้าในหมวดของใช้ในบ้านและอุปกรณ์ต่างๆ ปรับเพิ่มขึ้น 1% จากเดือนก่อนหน้า ราคาสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ประเภทเครื่องเล่นวิดีโอและเครื่องเสียงเพิ่มขึ้น 1.1% ราคาของเล่นเพิ่มขึ้น 1.8% และราคาสินค้าเครื่องแต่งกายเพิ่มขึ้น 0.4% ซึ่งสินค้าทั้ง 4 หมวดนี้มีแนวโน้มที่จะอ่อนไหวต่อการเปลี่ยนแปลงของภาษีศุลกากร ในทางตรงกันข้าม ราคารถยนต์ใหม่ลดลง 0.3%
เมื่อเทียบเป็นรายเดือน ดัชนีราคาผู้บริโภคเพิ่มขึ้น 0.3% ในเดือนมิถุนายน ซึ่งเป็นไปตามการคาดการณ์ ขณะที่ดัชนีราคาพื้นฐานเพิ่มขึ้น 0.2% ต่ำกว่าที่นักเศรษฐศาสตร์คาดการณ์ไว้เล็กน้อยที่ 0.3%
โดยทั่วไปนักเศรษฐศาสตร์เห็นพ้องกันว่าภาษีศุลกากรทำให้ราคาสินค้าสูงขึ้นและส่งผลกระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ แต่กลับมีความเห็นไม่ตรงกันว่าภาษีศุลกากรของสหรัฐฯ จะส่งผลกระทบมากน้อยเพียงใด หรือราคาสินค้าจะเริ่มเพิ่มขึ้นเมื่อใด หลายๆ บริษัทต่างเร่งซื้อสินค้าให้เต็มคลังก่อนที่ภาษีศุลกากรจะมีผลบังคับใช้ ทำให้สามารถชะลอการขึ้นราคาสินค้าในช่วงฤดูใบไม้ผลินี้ได้ง่ายขึ้น
ฝ่ายบริหารของประธานาธิบดีทรัมป์ได้ยกระดับคำขู่ด้านภาษีต่อประเทศคู่ค้ารายใหญ่ของสหรัฐฯ อย่างต่อเนื่อง โดยเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา ประธานาธิบดีทรัมป์ประกาศว่าตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2025 สหรัฐฯ จะเริ่มเรียกเก็บภาษีนำเข้า 30% กับสินค้าจากเม็กซิโกและสหภาพยุโรป ขณะที่วันจันทร์ ประธานาธิบดีทรัมป์ขู่จะเก็บภาษีนำเข้า 100% กับรัสเซีย หากไม่มีความคืบหน้าในการเจรจาสันติภาพกับยูเครน
แม้ประกาศดังกล่าวยังไม่ส่งผลต่ออัตราเงินเฟ้อในเดือนมิถุนายนโดยตรง แต่ความไม่แน่นอนทางการค้าที่ยืดเยื้ออาจสร้างแรงกดดันต่อราคาสินค้าในระยะข้างหน้า
นักเศรษฐศาสตร์จาก Goldman Sachs ประเมินว่าผู้บริโภคในสหรัฐฯ จะเป็นผู้รับภาระภาษีศุลกากรถึง 70% ของต้นทุนทั้งหมด โดยในเดือนพฤษภาคม 2025 Walmart ระบุว่าบริษัทจำเป็นต้องขึ้นราคาสินค้าเพื่อตอบสนองต่อมาตรการภาษี ขณะที่แบรนด์เสื้อผ้า Ralph Lauren ก็เปิดเผยว่าอาจพิจารณาขึ้นราคาสินค้าเช่นกัน
ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ สาขาชิคาโก นายออสตัน กูลสบี กล่าวเมื่อวันศุกร์ว่า คำขู่ขึ้นภาษีที่มีมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้การประเมินทิศทางเงินเฟ้อเป็นเรื่องยาก ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ยังคงระมัดระวังในการปรับลดอัตราดอกเบี้ย ส่วนหนึ่งเป็นเพราะกังวลว่าภาษีศุลกากรอาจสร้างแรงกดดันต่อเงินเฟ้อ ขณะที่ประธานาธิบดีทรัมป์ยังคงกดดันให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ ลดดอกเบี้ยอย่างรวดเร็วมากขึ้น
ผลสำรวจล่าสุดชี้ว่าทั้งภาคธุรกิจและผู้บริโภคมีความกังวลเรื่องเงินเฟ้อน้อยลงในเดือนมิถุนายน เมื่อเทียบกับช่วง 2-3 เดือนก่อนหน้านั้น ซึ่งเป็นช่วงที่รัฐบาลประกาศนโยบายภาษีที่กลับไปกลับมาหลายครั้งอย่างรวดเร็ว โดยในจากผลสำรวจธุรกิจขนาดเล็กโดยสหพันธ์ธุรกิจอิสระแห่งชาติ (National Federation of Independent Business) พบว่ามีเพียง 11% ของผู้ตอบแบบสอบถามที่ระบุว่าเงินเฟ้อเป็นความกังวลสูงสุด ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนกันยายน 2021 ในขณะเดียวกัน สัดส่วนของผู้ตอบแบบสอบถามที่ระบุว่ามีแผนจะขึ้นราคาสินค้ากลับเพิ่มขึ้นแตะระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนมีนาคม 2024
เศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังคงทรงตัวได้ค่อนข้างดี แม้จะมีความตึงเครียดทางการค้า โดยในเดือนมิถุนายน 2025 นายจ้างสหรัฐฯ เพิ่มการจ้างงานถึง 147,000 ตำแหน่ง มากกว่าที่นักเศรษฐศาสตร์คาดการณ์ไว้ อย่างไรก็ตาม การจ้างงานส่วนใหญ่เกิดขึ้นในภาครัฐระดับมลรัฐและท้องถิ่น ขณะที่การจ้างงานโดยภาคเอกชนลดลงแตะระดับต่ำสุดในรอบ8 เดือน.
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครนิวยอร์ก
ข้อมูลอ้างอิง The Wall Street Journal