EAC ตีตกข้อเสนอของเคนยาในการเรียกเก็บภาษีนำเข้า LPG CYLINDER (35%)

เมื่อปลายเดือนมีนาคม 2568 ที่ผ่านมา ที่ประชุมของสภารัฐมนตรีแห่งประชาคมแอฟริกาตะวันออก (EAC Council of Ministers) ได้ตีตกคำขอของรัฐบาลเคนยาที่จะเรียกเก็บภาษีกับสินค้า LPG CYLINDER ที่นำเข้ามาในภูมิภาค จากเดิม 0% เป็น 35% ตามที่เคนยาเสนอ

(คำอธิบาย สภารัฐมนตรีแห่งประชาคมแอฟริกาตะวันออก (EAC Council of Ministers) เป็นองค์กรที่มีบทบาทในการกำหนดนโยบายของประชาคมแอฟริกาตะวันออก (EAC) และมีหน้าที่กำกับดูแลการดำเนินงานตามมติที่ประชุมสุดยอดของผู้นำประเทศสมาชิก โดยประกอบด้วยรัฐมนตรีจากแต่ละประเทศสมาชิกที่รับผิดชอบด้านความร่วมมือและการบูรณาการระดับภูมิภาคของ EAC)

 

โดยที่ประชุมได้แถลงและแจ้งเหตุผลการตีตกข้อเสนอของเคนยาดังกล่าวว่า การเรียกเก็บภาษีดังกล่าวนั้น ไม่ได้ก่อนให้เกิดประโยชน์ในการสนับสนุนการใช้งานของ ก๊าซ LPG ที่เป็นพลังงานสะอาดในกลุ่มประเทศสมาชิก EAC ที่ประกอบด้วย 7 ประเทศ เคนยา ยูกานดา แทนซาเนีย รวันดา บูรันดี สป.คองโก และซูดานใต้

 

โดยข้อเสนอของรัฐบาลเคนยา ได้เสนอให้มีการเรียกเก็บภาษีนำเข้า LPG CYLINDER จากประเทศนอกกลุ่มในอัตราร้อยละ 35 แทนการยกเว้นภาษีนำเข้าในปัจจุบัน ซึ่งมีสาเหตุหลักจากการที่เคนยาต้องการเพิ่มรายได้ในการจัดเก็บภาษีของรัฐบาลในสินค้าดังกล่าว เพื่อลดช่องว่างการขาดคุลงบประมาณของเคนยาในปี 2025 ตามนโยบายด้านการเงินของรัฐบาลที่มีการนำเข้าผ่านรัฐสภาเคนยาในเดือน ธันวาคม 2567 ที่ผ่านมา อย่างไรก็ดี สภารัฐมนตรี EAC เกือบทุกประเทศยกเว้น เคนยา และยูกานดา ต่างให้ความเห็นคัดค้านในเรื่องดังกล่าว จากประชุมในเมือง Arusha แทนซาเนีย ที่ได้มีการนำเรืองนี้เข้าพิจารณา และมีมติออกมาในเดือน มี.ค. 2568 ว่า ขอตีตกและไม่พิจารณาในเรื่องดังกล่าว ตามคำขอของเคนยา

 

ทั้งนี้ ที่ประชุมได้แจ้งเหตุผลเพิ่มเติมว่า การจะเรียกเก็บภาษีนำเข้าที่กล่าวมานั้น จะไม่ทำให้ประชาชนของประเทศนั้นๆ ได้ประโยชน์ แต่ผู้จะได้รับประโยชน์จะเป็นแค่ผู้ผลิต LPG CYLINDER ในประเทศ โดยเขาจะได้รับประโยชน์ 2 ต่อที่มีต่อการนำเข้าวัตถุดิบในการผลิต เช่น เหล็ก เป็นต้น ที่ได้รับยกเว้นภาษี แล้วเมื่อเก็บภาษีนำเข้าดังกล่าว ก็จะทำให้ราคาก๊าซที่บรรจุถังนั้น มีราคาถูกว่า ก๊าซทีบรรจุถังสำเร็จรูปที่มีการนำเข้ามาจากต่างประเทศอีกต่อหนึ่ง ทำให้ไม่เห็นประโยชน์ต่อประชาชนที่จะได้รับดังกล่าว โดยข้อมูลดังกล่าวอ้างอิง รายงานวิจัยที่มีการจัดทำในเรื่องนี้ระหว่างปี 2020-2023 ที่ยืนยันในข้อมูลดังกล่าว ซึ่งกล่าวว่า การขึ้นภาษีนำเข้านี้ นอกจากจะทำให้ราคาขายของ ก๊าซ LPG สูงอย่างไม่จำเป็นแล้ว การที่ในประเทศต่างๆ ใน EAC มีผู้ผลิตถังก๊าซ LPG หรือ LPG CYLINDER มากขึ้น จากเดิมที่ผลิตได้ 768 ตันในปี 2020 เป็น 3,709 ตันในปี 2023 แม้ในข้อเท็จจริงยังไม่เพียงพอกับความต้องการของตลาดทั้งหมดและต้องมีการนำเข้าถังจากต่างประเทศ เช่น ไทย อียิปต์ หรือ ตุรกี นั้น การนำเข้ามีแนวโน้มค่อยๆ ลดลง เนื่องจากเริ่มมีการผลิตในประเทศมากขึ้น แต่ราคา ก๊าซ LPG ที่มีจำหน่ายระหว่างถังที่มีการผลิตในประเทศ กับที่มีการนำเข้า ยังมีส่วนต่างที่ไม่มากนัก กล่าวคือมีราคาใกล้เคียงกัน โดยถังที่ผลิตในประเทศมีราคาต่ำกว่าร้อยละ 3-7 ส่งผลให้หากมีการใช้ภาษีนำเข้า LPG CYLINDER จะไม่เกิดประโยชน์กับผู้บริโภคมากเท่ากับที่เป็นประโยชน์ 2 ต่อกับผู้ผลิตดังกล่าวในข้างต้น

 

โดยปัจจุบันประเทศที่มีโรงงานผลิต LPG CYLINDER ได้แก่ เคนยา แทนซาเนีย ยูกานดา รวันดา และบูรันดี ซึ่งมีแนวโน้มขยายกำลังผลิตได้ทุกปี ทำให้มีความเชื่อว่า ตลาดของการนำเข้าถัง LPG CYLINDER น่าจะค่อยๆลดลง จนไม่มีการนำเข้าได้ในอนาคต ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 15-20 ปี

 

ความเห็นของ สคต.

 

จากรายงานดังกล่าว แสดงให้เห็นว่า รัฐบาลเคนยามีปัญหาเรืองการจัดเก็บรายได้ที่จะมาลดการขาดดุลงบประมาณค่อนข้างมาก จะเห็นได้จาก นโยบายด้านภาษีนำเข้าที่มีการเพิ่มอัตราภาษีในสินค้าหลายรายการจากเดิมร้อยละ 25 เป็น ร้อยละ 35 เช่น นโยบายที่จะใช้เก็บกับการนำเข้า LPG CYLINDER ข้างต้น

 

อย่างไรก็ตาม สคต.เห็นว่า มาตรการเหล่านี้ล้วนแต่ทำให้ค่าครองชีพและผู้มีรายได้น้อยได้รับผลกระทบมากกว่า ซึ่งประชาชนโดยทั่วไป มีความไม่พอใจกับรัฐบาลเคนยาที่นำโดย ปธน. William Ruto ค่อนข้างมาก เนื่องจาก ราคาสินค้าต่างๆ ทั้งอุปโภคบริโภคมีการเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 25-30% ตั้งแต่มีรัฐบาลชุดนี้เข้ามาบริหารงาน ซึ่งนโยบายเรื่องนี้ หากมีการใช้จริง ประโยชน์ก็จะไปตกกับผู้ผลิตมากกว่าประชาชนทั่วไป

 

สำหรับประเทศไทยนั้น นักธุรกิจส่งออกที่มีการทำธุรกิจเกี่ยวกับ การผลิตถัง  LPG CYLINDER ซึ่งเคนยาเคยเป็นตลาดส่งออกอันดับต้นของไทย ที่ส่งออกสินค้าดังกล่าวมาในอตีด ประมาณ 5-10 ที่ผ่านมา จนในปัจจุบันเริ่มมีการแข่งขันที่รุนแรงมากขึ้นจาก ตุรกี และอียิปต์ ทำให้ยอดการส่งออกลดลงตามลำดับ (จากเดิมไทยครองตลาดกว่า 80% จนเหลือเพียง 3-5% ในปัจจุบัน) มันอาจจะถึงเวลาแล้วที่ ผู้ประกอบรายดังกล่าว ควรหันมาลงทุนในตลาดแอฟริกาในอนาคต เพื่อลดต้นทุนหรือให้สามารถรักษาตลาดในแอฟริกาตะวันออกหรือ EAC ของ สินค้า LPG  CYLINDER ได้มากขึ้นต่อไป ทั้งนี้ แนวโน้มการแข่งขันในตลาดแอฟริกาที่มีคู่แข่ง เช่น ตุรกี หรือ อียิปต์ นั้นนับวันจะมีความรุนแรงมากขึ้นตามลำดับ แสดงให้เห็นว่า ไทยกำลังค่อยๆ เสียส่วนแบ่งการตลาดของหลายสินค้าที่มีผลิต จาก 2 ประเทศที่เป็นคู่แข่งตามตัวอย่างข้างต้น ทำให้ สคต.มองว่า อาจจะถึงเวลาที่ไทยควรมีการลงทุนในแอฟริกาในอนาคตอันใกล้ต่อไป เช่นในกรณีสินค้าดังกล่าวเป็นต้น

 

ผู้ส่งออกที่สนใจข้อมูลเพิ่มเติมด้านการค้าและการลงทุนต่าง ๆ เกี่ยวประเทศเคนยา และประเทศในแอฟริกาตะวันออก ท่านสามารถติดต่อสอบถามได้ที่ E-mail: ของสำนักงานฯ ที่ info@ocanairobi.co.ke

 

ที่มา : https://www.theeastafrican.co.ke

thThai