สหรัฐฯ ต่ออายุ ข้อตกลง AGOA กับแอฟริกาไปจนถึงปี พ.ศ. 2584 (ค.ศ. 2025-2041)

สภาคองเกรสของสหรัฐอเมริกาได้ยื่นข้อเสนอที่จะขยายระเวลาของพระราชบัญญัติการเติบโตและโอกาสของแอฟริกา (AGOA) ครอบคลุม 54 ประเทศ ไปจนถึงปี พ.ศ. 2584 (พระราชบัญญัติ AGOA ที่ประกาศใช้เมื่อปี 2543 จะหมดอายุลงในปีหน้า) การขยายเวลานี้คาดว่า จะรวมเนื้อหาของพระราชบัญญัติฯ เข้ากับข้อตกลงเขตการค้าเสรีทวีปแอฟริกา (AfCFTA) เพื่อสนับสนุนการพัฒนาห่วงโซ่อุปทานภายในแอฟริกา

 

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ของสหรัฐอเมริกาได้กล่าวว่า ระหว่างการประชุมสุดยอดธุรกิจการค้ากับสภาหอการค้าอเมริกาประจำเคนยา (AmCham) ครั้งที่ 4 ว่าการขยายแผน AGOA กำลังอยู่ในระหว่างดำเนินการ และจะเป็นการผลักดันให้ประเทศผู้ได้รับประโยชน์จากพระราชบัญญัติฯ เพิ่มการส่งออกภายใต้ข้อตกลงโดยเพิ่มความโปร่งใสในกระบวนการค้า

 

ปัจจุบันกำหนดให้ผู้รับประโยชน์จาก พ.ร.บ. AGOA ต้องมี “Textile Visa” วีซ่าสิ่งทอนี้ทำหน้าที่เป็นการรับรองในรูปแบบของตราประทับ ซึ่งอยู่ในใบแจ้งหนี้หรือใบอนุญาตควบคุมการส่งออก วีซ่านี้ดำเนินการโดยเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจของรัฐบาลต่างประเทศ ใช้เพื่อควบคุมการส่งออกสิ่งทอและผลิตภัณฑ์ไปยังสหรัฐอเมริกา และป้องกันการนำเข้าสิ่งทอควบคุมไปยังสหรัฐอเมริกาโดยไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งร่างกฎหมายใหม่จะยกเลิกข้อกำหนดสำหรับวีซ่าสิ่งทอซึ่งจะช่วยส่งเสริมการส่งออกเครื่องแต่งกายและเสื้อผ้าของเคนยาและประเทศในแอฟริกาอื่นๆ ไปยังสหรัฐอเมริกา

 

ความจำเป็นในการต่ออายุและปรับปรุงเนื้อหาของ AGAO มีขึ้นเพื่อสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องในทวีปแอฟริกา ในขณะเดียวกันก็เพื่อกระชับความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐอเมริกาและประเทศในแอฟริกา ทั้งนื้ทางภาคเอกชนของเคนยามีความยินดีกับข้อเสนอใหม่นี้และหวังว่าจะกระตุ้นการส่งออกไปยังสหรัฐอเมริกาได้มากขึ้น

 

ภายใต้ร่างกฎหมาย AGOA ฉบับใหม่ การดำเนินการนี้จะมอบหมายให้คณะกรรมาธิการการค้าระหว่างประเทศของสหรัฐอเมริกาจัดทำการศึกษาผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการเพิ่มรายการผลิตภัณฑ์ลงในรายการสินค้าให้ครอบคลุม ในขณะเดียวกันหากประเทศใดๆ ต้องการได้รับผลประโยชน์ทางการค้าภายใต้ พ.ร.บ. นี้จะต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดคุณสมบัติที่เกี่ยวข้องกับหลักธรรมาภิบาล สิทธิมนุษยชน และนโยบายต่างประเทศ

 

การปรับเนื้อหาของ พ.ร.บ. AGOA ซึ่งมีผลกับประเทศแอฟริกตอนใต้ทะเลทรายซาฮาราห์และ AfCFTA เชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงนี้จะช่วยสนับสนุนการพัฒนาห่วงโซ่อุปทานภายในแอฟริกา อีกทั้งทางสมาชิกสภานิติบัญญัติของสหรัฐอเมริกาเชื่อว่า AGOA จะจัดหาธุรกิจในสหรัฐฯ ที่สนใจสินค้าจากแอฟริกาหรือลงทุนในการรับประกันห่วงโซ่อุปทานว่าภูมิภาคนี้มีศักยภาพทางการค้าในระยะยาว ร่างกฎหมายนี้จะรับประกันว่าประเทศต่างๆ จะไม่สูญเสียสิทธิ์จนกว่าพวกเขาจะรักษาสถานะ “รายได้สูง” ไว้

 

ในเนื้อหาเกี่ยวกับการห้ามนำเข้าสินค้าที่ทำด้วยแรงงานที่ถูกเกณฑ์หรือถูกบังคับให้ทำงานโดยมิได้สมัครใจ (Forced Labor)  กฎหมายปัจจุบันห้ามมิให้นำเข้าสินค้าใด ๆ ที่ทำทั้งหมดหรือบางส่วนโดยใช้แรงงานบังคับ ดังจะเห็นได้จากพระราชบัญญํติป้องกันแรงงานถูกเกณฑ์ชาวอุยกูร์นับเป็นการสนับสนุนการบังคับใช้ข้อห้ามดังกล่าวกับสินค้าที่ผลิตในประเทศจีนโดยเฉพาะสินค้าจากซินเจียง ร่างพระราชบัญญัตินี้เน้นย้ำข้อห้ามดังกล่าวอีกครั้งและเรียกร้องให้รัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์ส่งรายงานเกี่ยวกับขั้นตอนที่ใช้เพื่อให้แน่ใจว่าการนำเข้าภายใต้ AGOA เป็นไปตามกฎหมายของสหรัฐอเมริกา

 

ทั้งนี้ พระราชบัญญัติการเติบโตและโอกาสของแอฟริกา (AGOA) เป็นข้อตกลง ที่ให้สิทธิประโยชน์ในการส่งออกสินค้าไปยังสหรัฐฯ ของประเทศในแอฟริกาโดยไม่ต้องเสียภาษี ซึ่งครอบคลุมสินค้ากว่า 5,000 รายการ โดยสินค้าที่มีการใช้ประโยชน์มากในปัจจุบัน อาทิ สิ่งทอ ชา กาแฟ สินค้าเกษตรผักและผลไม้ เป็นต้น ซึ่งที่ผ่านมา ประเทศในแอฟริกาได้รับประโยชน์จากการลงทุนในอุตสาหกรรมเหล่านี้เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะประเทศในแอฟริกาตะวันออก เช่น เคนยา แทนซาเนีย เอธิโอเปียในการที่มีการลงทุนอย่างก้าวกระโดดในอตุสาหกรรมสิ่งทอในประเทศดังกล่าว อย่างไรก็ดี ปัจจุบันสหรัฐฯ ได้ระงับสิทธิข้อตกลงดังกล่าว กับ ยูกานดาโดยอ้างเหตุเรื่องสิทธิมนุษย์ชนเรื่องการออกกฎหมายเรื่องเกย์ในยูกานดา และเอธิโอเปีย ที่ยังมีปัญหาด้านการค้ามนุษย์และใช้แรงงานเด็ก รวมถึงสงครามกลางเมืองที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน

 

ความเห็นของ สคต.

สคต. มีความเห็นว่า แอฟริกาจะเป็นภูมิภาคหนึ่งที่ สหรัฐฯ หรือกลุ่มทุนในอุตสาหกรรมต่างๆ จะเข้ามาลงทุนมากขึ้นในอนาคต เพื่อใช้สิทธิประโยชน์จากทรัพยากรและแรงงานถูกของแอฟริกา โดยยังมีอุตสาหกรรมที่สามารถใช้ข้อตกลงดังกล่าวให้เป็นประโยชน์ในการผลิตและส่งออกสินค้าไปยังตลาดสหรัฐที่อาจยังไม่ได้ใช้ประโยชน์เต็มที่มากนัก เช่น อาหารแปรรูป เม็ดพลาสติกและผลิตภัณฑ์ อุตสาหกรรมเหล็ก เคมีภัณฑ์ เฟอรนิเจอร์ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ เป็นต้น

 

ยังไม่สาย ที่ประเทศไทยจะเข้ามาลงทุนเพื่อสร้างโอกาสให้กับธุรกิจตนเอง ในการผลิตเพื่อการส่งออกไปสหรัฐฯ และตลาดแอฟริกาภายใต้ข้อตกลงเขตการค้าเสรีทวีปแอฟริกาทีมีตลาดขนาดใหญ่กว่า 1,500 ล้านคน เพราะนอกจากจะส่งออกไปสหรัฐ ฯ ได้โดยไม่มีภาษีแล้ว ยังจะสามารถส่งออกไปยุโรปโดยไม่มีเงื่อนไขและภาษีมากอีกตลาดหนึ่งด้วย โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่ไทยมีความถนัด อาทิ ผลิตภัณฑ์ยาง ชิ้นส่วนยานยนต์ อาหารแปรรูป การเกษตร เป็นต้น ดังนั้น ถึงเวลาไทยควรมองตลาดแอฟริกามากกว่าเป็นตลาดในการส่งออกหรือยัง

 

ผู้ส่งออกที่สนใจข้อมูลเพิ่มเติมด้านการค้าและการลงทุนต่าง ๆ เกี่ยวประเทศเคนยา และประเทศในแอฟริกาตะวันออก ท่านสามารถติดต่อสอบถามได้ที่ E-mail: ของสำนักงานฯ ที่ info@ocanairobi.co.ke

 

ที่มา : The EastAfrican

thThai