ธนาคารกลางหลายประเทศในกลุ่มแอฟริกาตะวันออก กำลังเผชิญกับการที่ต้องใช้นโยบายการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายหลายครั้งในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา อันเนื่องมาจากแรงกดดันจากสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจจากภาวะเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในภูมิภาค ที่เกิดจากค่าขนส่งและการประกันภัยการส่งสินค้าที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องจากผลกระทบจากสงครามในยูเครนและในอิสราเอล ทำให้ปัจจุบันเรือส่งสินค้าที่เปลี่ยนเส้นทางเพื่อหลีกเลี่ยงเส้นทางขนส่งผ่านคลองซุเอซ อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากความขัดแย้งในตะวันออกกลาง ยังคงเป็นอุปสรรคสำคัญของการขนส่งสินค้าผ่านทะเลแดง และการขนส่งสินค้าในทวีปแอฟริกา
ยูกันดา เป็นหนึ่งในประเทศที่เพิ่งปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายหลายครั้งจนปัจจุบันมาอยู่ที่ระดับร้อยละ 10 เพื่อรับมือกับเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้นครั้งใหม่ ถือเป็นการส่งสัญญาณว่า อาจจะต้องมีแนวโน้มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกในอนาคต ในเคนยาและแทนซาเนียดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ร้อยละ 15 และร้อยละ 10 ตามลำดับ ขณะเดียวกันนักเศรษฐศาสตร์ยูกันดามีมุมมองว่า ความเสี่ยงต่อแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อยังคงขึ้นอยู่กับการเปลี่ยนแปลงของราคาสินค้าโภคภัณฑ์โลกและการพัฒนาตลาดการเงินโลก และความไม่แน่นอนในตะวันออกกลางตลอดจนภูมิรัฐศาสตร์โลกในปัจจุบัน กำลังทำให้เกิดการหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทานใหม่และจากราคาน้ำมันที่สูงขึ้น จนทำให้รัฐบาลของประเทศในแอฟริกาตะวันออกมีปัญหาในการควบคุมเงินเฟ้อที่เหมาะสมได้
จากข้อมูลการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา หรือ UNCTAD เห็นว่าความเสี่ยงต่อแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อสูงดังกล่าว ยังคงขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมทั่วโลกและสภาพแวดล้อมของแต่ละประเทศเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ปรับตัวสูงขึ้นทั่วโลก ส่วนหนึ่งมาจากความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์และต้นทุนการขนส่งที่เพิ่มขึ้น อันเป็นผลมาจากความขัดแย้งในตะวันออกกลาง รวมถึงสภาวะตลาดการเงินโลกที่เข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น อาจส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อในประเทศสูงขึ้น
ทางด้านธนาคารแห่งชาติรวันดาคาดว่า จะทบทวนจุดยืนนโยบายทางการเงินในการประชุมในเดือนพฤษภาคม 2567 ที่จะถึงนี้ โดยกล่าวเตือนว่า ความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นหลายประการรวมถึงวิกฤตทะเลแดงที่อาจส่งผลกระทบต่อแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อสูงต่อเนื่อง และยังมีแนวคิดเช่นเดียวกับ UNCTAD ในด้านความตึงเครียดด้านภูมิรัฐศาสตร์ เช่น สงครามที่กำลังดำเนินอยู่ในยูเครนและตะวันออกกลาง ทั้งยังกังวลว่า การหยุดชะงักของการขนส่งผ่านทะเลแดงจะยิ่งส่งผลต่อราคาสินค้าโภคภัณฑ์ระหว่างประเทศให้ยิ่งปรับตัวสูงขึ้น และความท้าทายเกี่ยวกับสภาพอากาศซึ่งอาจส่งผลต่อประสิทธิภาพของผลผลิตภาคเกษตรกรรมของประเทศในอนาคต
สำหรับธนาคารกลางเคนยาคาดว่า อาจจะทบทวนจุดยืนนโยบายทางการเงินของประเทศ โดยคำนึงถึงภัยคุกคามเงินเฟ้อสูงครั้งใหม่นี้ ในวันที่ 3 เมษายน 2567 นี้ ที่ผ่านมาธนาคารกลางเคนยาได้เพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 50 จุด เป็นร้อยละ 13 จากเดิมร้อยละ 12.5 เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2567 ที่ผ่านมา ซึ่งถือเป็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่มีอัตราสูงสุดในรอบ 12 ปี โดยอ้างถึงการคาดการณ์ด้านเงินเฟ้อ และการกำหนดราคาทั่วไปของสินค้าและบริการ จากการที่ธนาคารกลางเคนยาได้ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 15 – 19 มกราคม 2567 แสดงให้เห็นว่า ชาวเคนยายังมีความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบที่อาจเกิดจากสภาพความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์โลก ซึ่งอาจส่งผลทำลายห่วงโซ่อุปทานที่จะทำให้สินค้ามีราคาสูงมากขึ้น และส่งผลให้ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่อาจเพิ่มขึ้นอีกด้วย
อีกหนึ่งประเทศในแอฟริกาตะวันออกอย่าง ประเทศแทนซาเนียเอง ได้มีการประชุมของธนาคารกลางแทนซาเนียเมื่อเดือนมกราคม 2567 ที่ผ่านมา โดยคณะกรรมการนโยบายการเงินได้ดำเนินนโยบายทางการเงินโดยใช้อัตราดอกเบี้ยเดิม และยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 5.5 โดยเป็นการเปลี่ยนจากการกำหนดเป้าหมายทางการเงินไปเป็นกรอบนโยบายการเงินที่อิงอัตราดอกเบี้ย (หรือราคา) ถือเป็นก้าวสำคัญในการเปลี่ยนแปลงนโยบายการเงินในประเทศของแทนซาเนียที่แตกต่างกับประเทศอื่น การตัดสินใจนี้พิจารณาถึงความจำเป็นในการควบคุมอัตราเงินเฟ้อให้คงตามเป้าหมายที่ร้อยละ 5 ในขณะเดียวกันก็สนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจให้สูงถึงร้อยละ 5.5 หรือมากกว่านั้นในปี 2567 และรับประกันเสถียรภาพของอัตราแลกเปลี่ยน
อย่างไรตาม วิกฤตการณ์ด้านความปลอดภัยที่กำลังดำเนินอยู่ในคลองสุเอซส่งผลให้การขนส่งทางน้ำลดลงร้อยละ 42 ในเดือนมกราคมและเดือนกุมภาพันธ์ 2567 เนื่องจากเรือบรรทุกน้ำมันเปลี่ยนเส้นทางเดินเรือไปรอบๆ แหลมกู๊ดโฮปซึ่งเป็นระยะทางที่ไกลกว่ามาก ส่งผลให้การส่งมอบสินค้าล่าช้า ต้นทุนเพิ่มขึ้น และเพิ่มแรงกดด้นด้านเงินเฟ้อสูงในแอฟริกาตามที่กล่าวข้างต้น นอกจากนั้น เราต้องไม่ลืมว่าความขัดแย้งทางทหารระหว่างอิสราเอลและกลุ่มติดอาวุธปาเลสไตน์ที่นำโดยกลุ่มฮามาสบริเวณฉนวนกาซานั้น ยังส่งผลให้ยิ่งเพิ่มความไม่มั่นคงในทะเลแดง ซึ่งเป็นช่องทางการเดินเรือระหว่างแอฟริกาและเอเชีย สิ่งนี้ทำให้เรือขนส่งสินค้าต่างๆ ต้องมองหาเส้นทางอื่นเพื่อหลีกเลี่ยงสถานการณ์ความไม่ปลอดภัยดังกล่าว ซึ่งเพิ่มระยะทางเดินเรือมากขึ้นและมีราคาแพงตามไปด้วย
ทั้งนี้ การค้าระหว่างประเทศของเคนยาที่ต้องใช้เส้นทางเดินเรือผ่านคลองสุเอซประกอบด้วยการส่งออกร้อยละ 12 และการนำเข้ามากกว่าร้อยละ 15 ส่วนการค้าระหว่างประเทศของแทนซาเนียผ่านคลองสุเอซประกอบด้วยการส่งออกร้อยละ 8 และการนำเข้าร้อยละ 11 และแน่นอนว่าเมื่อระยะทางเพิ่มขึ้น วันเดินทางเพิ่มขึ้นย่อมแปลงเป็นต้นทุนเพิ่มขึ้น เช่น น้ำมันเชื้อเพลิงในการเดินเรือ และมูลค่าที่สูญเสียไปของสินค้าที่ต้องคำนึงถึงเวลาหรือ shelf-life ของสินค้า เป็นต้น ซึ่งถือเป็นการสูญเสียทั้งโอกาสทางการค้าและเพิ่มต้นทุนของสินค้า จนนำไปสู่ภาวะเงินเฟ้อที่อาจยากแก่การควบคุมตามไปด้วย
ความเห็นของ สคต.
จากข่าวดังกล่าว หลายประเทศในแอฟริกาตะวันออกยังมีนโยบายที่คงการใช้ดอกเบี้ยสูง มีเพียงแทนซาเนียประเทศเดียวที่เริ่มเปลี่ยนมาตรการทางการเงินที่ไม่ได้มุ่งแต่ควบคุมเงินเฟ้อโดยการปรับอัตราดอกเบี้ย แต่ได้ใช้นโยบายแบบผสมผสาน เช่น การปรับตะกร้าเงินสำรอง การลดต้นทุนของธุรกิจในด้านอื่น เป็นต้น เพื่อประคับประดองค่าครองชีพและเงินเฟ้อไม่ให้สูงเกินไป จนส่งผลต่อการดำรงชีวิตของผู้มีรายได้น้อย ซึ่งก็หวังว่า นโยบายนี้ จะทำให้ควบคุมเงินเฟ้อได้ในระดับนึง จนไม่ส่งผลต่อความเดือนร้อนของประชาชน
สคต. มีความเห็นว่า สถานการณ์ไม่สงบในตะวันออกกลางและการเดินเรือที่ไม่สามารถทำได้ตามปกติ เป็นส่วนหนึ่งที่อาจมองให้เป็นโอกาสที่ ผู้นำเข้าบางส่วนจะหันมานำเข้าสินค้าจากเอเชียหรือจากไทยมากขึ้น เพราะเส้นทางการเดินเรือของแอฟริกาและเอเชีย ยังได้รับผลกระทบในเรื่องดังกล่าวน้อยกว่า สินค้าที่มาจากยุโรป ดังนั้น ไทยควรหาโอกาสของปัญหาในเรื่องนี้ได้ โดยสินค้าที่ไทยมีโอกาสส่งออกมากขึ้น เช่น อาหารแปรรูป เม็ดพลาสติก เป็นต้น ซึ่งเราควรติดตามสถานการณ์ในเรืองนี้อย่างใกล้ชิดต่อไป เพราะหากเกิดปัญหาเงินเฟ้อรุนแรงก็จะกระทบต่อกำลังชื้อของคนและการนำเข้าสินค้าทำได้ยากขึ้น และมีต้นทุนสูงมากขึ้นต่อไป
ผู้ส่งออกที่สนใจข้อมูลเพิ่มเติมด้านการค้าและการลงทุนต่าง ๆ เกี่ยวประเทศเคนยา และประเทศในแอฟริกาตะวันออก ท่านสามารถติดต่อสอบถามได้ที่ E-mail: ของสำนักงานฯ ที่ info@ocanairobi.co.ke
ที่มา : The EastAfrican