IMF คาดการณ์เศรษฐกิจกัมพูชาจะเติบโตอยู่ที่ร้อยละ 6.1 ในปี 2567

  • กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คาดการณ์ว่า การเติบโตทางเศรษฐกิจของกัมพูชาในปี 2567 จะอยู่ที่ร้อยละ 6.1 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 5.3 ในปี 2566 ซึ่ง ได้แรงหนุนจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในระดับภูมิภาคและระดับโลก โดยเฉพาะจีนและสหรัฐอเมริกา
  • การคาดการณ์ล่าสุดของ IMF นี้ ระบุว่า การเติบโตทางเศรษฐกิจของกัมพูชาในปี 2567 จะอยู่ที่ร้อยละ 6.1 ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อในปีนี้จะอยู่ที่ร้อยละ 3 ซึ่งสอดคล้องกับการคาดการณ์ของธนาคารแห่งชาติกัมพูชาที่คาดการณ์ไว้อยู่ที่ร้อยละ 6.4
  • นาย Krishna Srinivasan หัวหน้าแผนกเอเชียแปซิฟิกของ IMF เปิดเผยว่า เศรษฐกิจโลก คาดว่า จะเติบโตอยู่ที่ร้อยละ 3.1 ในปี 2567 และในปี 2568 จะเติบโตเล็กน้อยประมาณร้อยละ 3.2 อัตราเงินเฟ้อจะชะลอตัวลงจากร้อยละ 6.8 ในปี 2566 เหลือร้อยละ 5.8 ในปี 2567 และเป็นร้อยละ 4.4 ในปี 2568
  • สำหรับเอเชีย IMF ได้ปรับอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ ในปี 2567 โดยคาดการณ์ระดับภูมิภาคสำหรับปี 2567 เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 4.5 ​​จากร้อยละ 4.2 ทั้งนี้ เนื่องจากปัจจัยภายนอกมีแนวโน้มดีขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเติบโตทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งขึ้นในสหรัฐอเมริกา ในเวลาเดียวกัน ความต้องการทางเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ อิเล็กทรอนิกส์ และผลิตภัณฑ์ๆ ในตลาดโลก ได้เพิ่มขึ้นในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา โดยรวมแล้ว เอเชียจะกลับมาอยู่ในเส้นทางการเติบโตทางเศรษฐกิจโลกในปี 2567

โอกาส อุปสรรคและความเห็นของสำนักงานฯ

1) ภาพรวมทิศทางเศรษฐกิจของกัมพูชาในปี 2567 ยังมีแนวโน้มที่ดี โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวที่กลับมาฟื้นตัวดีขึ้น อย่างก็ตาม เศรษฐกิจกัมพูชายังคงเผชิญกับปัจจัยภายนอกและความไม่แน่นอนหลายประการ รวมถึงความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์และความเสี่ยงจากสงครามทางภูมิรัฐศาสตร์ที่อาจส่งผลให้กระแสการค้าระหว่างประเทศ การลงทุน การท่องเที่ยว มีความไม่แน่นอน ทั้งนี้ แม้ว่าจะมีความท้าทายเหล่านี้ แต่เศรษฐกิจกัมพูชาคาดว่ายังจะเติบโตอยู่ที่ประมาณร้อยละ 6.1-6.4 ในปี 2567 โดยมีสาเหตุหลักจากการเติบโตอย่างต่อเนื่องของภาคบริการ โดยเฉพาะการท่องเที่ยวและการฟื้นตัวของภาคการผลิต ในขณะที่ภาคเกษตรกรรม การก่อสร้าง และอสังหาริมทรัพย์ยังคงเติบโตอย่างค่อยเป็นค่อยไป

2) เศรษฐกิจของกัมพูชายังขึ้นอยู่กับภาคการท่องเที่ยว และภาคอุตสาหกรรมสิ่งทอ เป็นหลัก แม้ว่ารัฐบาลกัมพูชามีนโยบายที่จะให้ความสำคัญกับการผลิตสินค้าเกษตร และการแปรรูปสินค้าเกษตรของประเทศมากขึ้นก็ตาม ทั้งนี้ กัมพูชายังพยายามดึงดูดนักลงทุนและผลักดันการผลิตสินค้าเกษตร และการแปรรูปสินค้าเกษตรของประเทศให้มีการสร้างมูลค่าเพิ่ม และพัฒนามาตรฐานให้อยู่ในระดับสากลเพื่อการส่งออก โดยการให้สิทธิประโยชน์แก่นักลงทุนมากมาย เช่น การยกเว้นภาษีกำไร ภาษีส่งออกและภาษีนิติบุคคลขั้นต่ำ เป็นต้น ทั้งนี้ คาดว่าสินค้าเกษตร/เกษตรแปรรูป ของกัมพูชาจะมีความต้องการเพิ่มสูงขึ้นในตลาดต่างประเทศ เนื่องจาก กัมพูชามีข้อตกลงการค้าเสรีกับจีน และเกาหลีใต้ พร้อมกับ RCEP ซึ่งสินค้าส่งออกที่ได้รับสิทธิทางภาษีส่วนใหญ่เป็นสินค้าเกษตร

—————————

ที่มา: Phnom Penh Post

กุมภาพันธ์ 2567

thThai