สหรัฐฯ ถอดยูกันดาออกจากพระราชบัญญัติการเติบโตและโอกาสของแอฟริกา (AGOA) อย่างเป็นทางการ

สหรัฐอเมริกาได้ถอดถอนยูกันดา และประเทศในภูมิภาคแอฟริกาอีก 3 ประเทศ ออกจากพระราชบัญญัติการเติบโตและโอกาสของแอฟริกา (AGOA : African Growth and Opportunity Act) ของสหรัฐฯ อย่างเป็นทางการโดยประกาศกฤษฎีกา ลงวันที่ 29 ธันวาคม 2566 ที่ผ่านมา ในฐานะผู้ได้รับผลประโยชน์จากพระราชบัญญัตินี้ ด้วยเหตุผลว่า แนวทางการปฏิบัติของยูกานดาไม่เป็นไปตามข้อกำหนดที่ระบุไว้ ในพระราชบัญญัติดังกล่าว เป็นผลให้ประเทศยูกันดา ต้องยุติการส่งออกสินค้าบางอย่างไปยังสหรัฐอเมริกาโดยปลอดภาษีอย่างที่ผ่านมา นอกจากประเทศยูกันดาแล้ว ยังมีประเทศ กาบอง ประเทศไนเจอร์ และสาธารณรัฐแอฟริกากลาง ที่ได้ถูกถอดถอนออกจากพระราชบัญญัติ AGOA เช่นกัน โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 เป็นต้นไป

 

สาเหตุที่ประธานสภาคองเกรสของสหรัฐอเมริกา ได้แสดงเจตจำนงค์ที่จะถอดถอนประเทศยูกันดาออกจากพระราชบัญญัติ คือ การที่ยูกันดามีส่วนร่วมในการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง อันเป็นที่ยอมรับในระดับสากล หลังจากที่ประธานาธิบดี โยเวรี มูเซเวนี ยอมรับกฎหมายต่อต้านเกย์ที่ผ่านโดยฝ่ายนิติบัญญัติของยูกันดา กฎหมายดังกล่าว ซึ่งมีบทลงโทษที่ร้ายแรงรวมถึงการจำคุกตลอดชีวิต หรือ แม้กระทั่งประหารชีวิตหากเกิดความสัมพันธ์ระหว่างเพศเดียวกันภายในประเทศยูกันดา แม้ว่าผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจได้ออกมาเตือนว่า การที่ยูกันดาจะถูกขับออกจาก AGOA จะทำให้สูญเสียการจ้างงานหลายพันตำแหน่ง เกิดความขัดสนจากรายได้ที่เคยได้รับ และการนำวัตถุดิบในประเทศมาใช้ผลิตสินค้าส่งออกก็จะลดน้อยลงไปด้วยเช่นกัน

 

นับตั้งแต่มีการออก พ.ร.บ. AGOA เมื่อปี พ.ศ. 2543 (ปี ค.ศ. 2000) เพื่ออนุญาตให้ประเทศในแอฟริกาหลายประเทศ ส่งออกสินค้าไปยังสหรัฐอเมริกาได้โดยปลอดภาษีนั้น ยูกันดา ถือเป็นประเทศหนึ่งที่ได้รับประโยชน์อย่างมากจาก พ.ร.บ. นี้  โดยในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา ตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2565 ถึงเดือนมิถุนายน 2566 การส่งออกของประเทศยูกันดาไปยังสหรัฐอเมริกาภายใต้เงื่อนไข AGOA มีมูลค่าถึง 8.2 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นร้อยละ 11.5 ของการส่งออกทั้งหมดไปยังสหรัฐอเมริกาในช่วงเวลาเดียวกัน สินค้าส่งออกสำคัญของยูกานดาที่ส่งออกไปสหรัฐฯ ได้แก่ กาแฟ ชา และเครื่องเทศ ซึ่งมีมูลค่ารวม 70.7 ล้านเหรียญสหรัฐ อ้างอิงข้อมูลจากกระทรวงพาณิชย์ของสหรัฐอเมริกา สินค้าส่งออกร้อยละ 80 จากยูกันดามาจากภาคเกษตรกรรม ซึ่งมีการจ้างงานประมาณร้อละ 72 ของประเทศ บ่งชี้ว่า การถูกถอดถอนนี้อาจส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อการจ้างงาน อย่างไรก็ดี พระราชบัญญัติ AGOA จะหมดอายุลงในเดือนธันวาคม 2568 โดยที่ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาพร้อมทั้งเจ้าหน้าที่ทางการค้าได้แสดงความตั้งใจในการต่ออายุ AGOA อยู่แล้ว ยูกันดาสามารถกลับเข้ามาอยู่ใน พ.ร.บ. ได้อีกครั้ง หากได้แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นที่จะปฏิบัติตามเกณฑ์ที่กำหนด ยุติการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงดังที่ได้กระทำอยู่ในปัจจุบัน

 

ความเห็นของ สคต.

 

พระราชบัญญัติการเติบโตและโอกาสของแอฟริกา (AGOA : African Growth and Opportunity Act) ของสหรัฐฯ ดังกล่าว เป็นเครื่องมืออันหนึ่งของประเทศในแอฟริกาที่สามารถได้สิทธิประโยชน์ในการส่งออกสินค้าไปยังสหรัฐฯ โดยไม่ต้องเสียภาษีนำเข้า โดยที่ผ่านมา สหรัฐฯ ได้ให้ทั้งคุณและโทษ กับประเทศที่ปฎิบัติตามเงื่อนไขต่างๆ และลงโทษผู้ที่ไม่ปฎิบัติตามเช่น ในกรณี ของ ยูกานดา ดังกล่าวข้างต้น แสดงให้เห็นว่า หากยูกานดาจะกลับมาได้สิทธิประโยชน์ใน พรบ. นี้ จะต้องได้รับการยอมรับและเห็นชอบจากสหรัฐฯ ในการแก้ไขและยุติการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงดังที่ได้กระทำอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งอาจหมายถึงการที่ จะต้องยกเลิกการใช้ กฎหมายต่อต้านเกย์หรือรักร่วมเพศดังกล่าวในอนาคตต่อไป

 

อย่างไรก็ดี แม้ ยูกานดาจะต้องเสียประโยชน์ดังกล่าว แต่ในทางการเมืองระหว่างประเทศนั้น ยูกานดาได้ให้ความสำคัญในการสร้างความสัมพันธ์กับประเทศอื่น ที่เป็นฝ่ายตรงข้ามหรือมีนโยบายต่างประเทศสวนทางกับ สหรัฐฯ เช่น จีน รัสเชีย และหลายประเทศในตะวันออกกลาง เป็นต้น ในการขยายเป็นตลาดทดแทนสหรัฐฯ ไว้บ้างแล้ว ทำให้ผลกระทบในเรื่องนี้ อาจไม่กระทบในระยะสั้น อย่างไรก็ดี การที่ยูกานดา เป็นผู้ร้ายในสายตาของสหรัฐฯ นั้น อาจลุกลามหรือขยายวงไปสู่การถูกประเทศที่เป็นพันธมิตรกับสหรัฐฯ ในการที่อาจกระทำหรือตอบโต้ทางการค้าในลักษณะเดียวกันได้

 

สำหรับประเทศไทยควรเร่งเจรจาการค้า หรือ FTA กับประเทศในแอฟริกาให้เร็วยิ่งขึ้นต่อไป เพราะนอกจากจะทำให้ไทยได้รับประโยชน์ทางด้านการค้าแล้ว ความมั่นใจในด้านการลงทุน ก็เป็นเรื่องที่หน่วยงานภาครัฐของไทยควรให้ความสำคัญในการเจรจา FTA ในอนาคตอันใกล้ และในส่วนของผู้ประกอบการก็ควรหาข้อมูล และมองหาโอกาสเข้ามาลงทุนในแอฟริกาโดยเร็วต่อไป ไม่เช่นนั้น แล้วหากเราช้าเกินไปโอกาสทางการค้าระหว่างไทยกับแอฟริกาก็จะยิ่งทำได้ยากขึ้น และมีต้นทุนสูงขึ้นตามไปด้วย เพื่อให้ทัดเทียมกับหลายประเทศหรือภูมิภาคที่มีข้อตกลงทางการค้าแล้ว ดังเช่น สหรัฐฯ ที่มี พรบ. AGOA ข้างต้น หรือ EU ที่มีข้อตกลงกับหลายประเทศในแอฟริกาในลักษณะเดียวกันแล้ว

 

ผู้ส่งออกที่สนใจข้อมูลเพิ่มเติมด้านการค้าและการลงทุนต่าง ๆ เกี่ยวประเทศเคนยา และประเทศในแอฟริกาตะวันออก ท่านสามารถติดต่อสอบถามได้ที่ E-mail: ของสำนักงานฯ ที่ info@ocanairobi.co.ke

 

ที่มา : The EastAfrican

thThai