ทิศทางการส่งออกของกัมพูชาไปยังตลาดต่างประเทศ ในปี 2567

  •  แม้ว่ากระแสการค้าโลกในปี 2566 จะต้องเผชิญกับความท้าทายหลายประการ เช่น วิกฤตความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างประเทศมหาอำนาจและสงครามที่เกิดขึ้นในหลายประเทศ การส่งออกสินค้าจากกัมพูชาไปยังตลาดต่างประเทศก็ยังไม่มีแนวโน้มลดลง โดยทะลุถึง 22 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.8 เมื่อเทียบกับปี 2565
  • จากรายงานของกรมศุลกากรและสรรพสามิตกัมพูชา (GDCE) ที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2567 ระบุว่า ในปี 2566 กัมพูชามีรายได้จากการส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศมากกว่า 22.65 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.8 จาก 22.25 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2565 นอกจากการส่งออก กัมพูชายังนำเข้าสินค้ามูลค่า 24.18 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 5 จากมูลค่า 25.46 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
  • ทั้งนี้ การค้าระหว่างประเทศของกัมพูชาในปี 2566 มีมูลค่ารวมประมาณ 46 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 1.9 เมื่อเทียบกับปี 2565 ซึ่งกัมพูชาขาดดุลประมาณ 1.54 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งดีกว่าปี 2565 ที่ขาดดุลถึง 3.21 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยประเทศคู่ค้าสำคัญของกัมพูชา ได้แก่ จีน สหรัฐอเมริกา เวียดนาม ไทย ญี่ปุ่น อินโดนีเซีย และเยอรมนี
  • นาย Lim Heng รองประธานหอการค้ากัมพูชา เปิดเผยว่า การส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศที่เพิ่มขึ้นในช่วงที่เศรษฐกิจโลกมีความไม่แน่นอนเป็นสัญญาณที่ดีสำหรับการเติบโตทางเศรษฐกิจของกัมพูชา ซึ่งมาจากหลายปัจจัย ได้แก่ ข้อตกลงการค้าทวิภาคี พหุภาคี และการได้รับอัตราภาษีพิเศษสำหรับการนำเข้าไปยังตลาดสำคัญหลายแห่งในโลก รวมทั้ง ล่าสุด โครงการลงทุนหลายภาคส่วนได้รับการอนุมัติจากสภาเพื่อการพัฒนากัมพูชา (CDC) ซึ่งจะส่งผลให้มูลค่าการส่งออกของกัมพูชาในปี 2567 สูงกว่าปี 2566 แน่นอน เนื่องจากกัมพูชาจะสามารถส่งออกสินค้าได้หลากหลายมากขึ้นและมีตลาดมากขึ้นจะช่วยเสริมสร้างเศรษฐกิจของประเทศและไม่พึ่งพาการส่งออกไปยังประเทศเพียงแค่ 2-3 ประเทศอีกเช่นเดิม
  •  จากข้อมูลของสภาเพื่อการพัฒนากัมพูชา (CDC) ระบุว่า ในปี 2566 CDC ได้อนุมัติโครงการใหม่ 247 โครงการ และมีโครงการขยายการผลิต 21 โครงการ โดย 71 โครงการลงทุนอยู่ในเขตเศรษฐกิจพิเศษ โดยมีเงินลงทุนทั้งหมดเกือบ 4.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และสร้างงานมากกว่า 300,000 ตำแหน่ง

โอกาส อุปสรรคและข้อเสนอแนะจากสำนักงานฯ

1) จากภาคการผลิตภายในประเทศที่เพิ่มขึ้นจะผลักดันให้กัมพูชากลายเป็น Supplier สินค้ารายใหญ่สู่ตลาดต่างประเทศ และดุลการค้าระหว่างประเทศที่เคยขาดดุลจะกลับมาได้ดุลในไม่ช้า ทั้งนี้ มาจากนโยบายที่เปิดกว้างของรัฐบาลกัมพูชา และภาวะภายในประเทศที่เอื้ออำนวยต่อการลงทุน พร้อมกับช่องทางตลาดส่งออกในหลายประเทศที่อยู่ภายใต้เงื่อนไขสิทธิพิเศษทางภาษี ทำให้กัมพูชาดึงดูดการลงทุนและส่งออกที่เพิ่มขึ้นในอนาคต

2) ภาคอุตสาหกรรมเสื้อผ้า รองเท้า และผลิตภัณฑ์เพื่อการเดินทาง เป็นภาคอุตสาหกรรมส่งออกใหญ่ที่สุดของกัมพูชา เนื่องจากกัมพูชาได้รับสิทธิพิเศษทางภาษีจากสหภาพยุโรป ดังนั้น หากต้องการลงทุนในภาคส่วนนี้ ผู้ประกอบการไทย ควรพิจารณา ติดตามสถานกาณ์เศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยว หากภาคนี้ฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้น ความต้องการด้านเสื้อผ้า รองเท้า และผลิตภัณฑ์เพื่อการเดินทางก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน
จะทำให้การสั่งซื้อจากต่างประเทศเพิ่มขึ้น รวมทั้ง ควรพิจารณาค่าใช้จ่ายในการลงทุนด้วย เช่น ค่าแรงงานพื้นที่ตั้งโรงงาน และสิทธิประโยชน์จากการลงทุนและการส่งออกจากรัฐบาลกัมพูชา

—————————

ที่มา: Phnom Penh Post

มกราคม 2567

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงพนมเปญ, กัมพูชา

thThai