เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2566 นายกรัฐมนตรี Hun Manet กล่าวในการประชุมภาครัฐ-เอกชน
(G-PSF) ว่าบริษัทจีนจะเข้ามาลงทุนสร้างโรงงานผลิตยางรถยนต์ด้วยเงินทุนประมาณ 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งจะทำให้กัมพูชามีโรงงานผลิตยางรถยนต์ เพิ่มเป็น 4 โรงงาน

นายกรัฐมนตรี Hun Manet ให้ความเห็นว่า รัฐบาลกัมพูชาไม่ต้องการส่งออกยางพารา ซึ่งเป็นวัตถุดิบในการผลิตยางรถยนต์อีกต่อไป โดยการที่มีโรงงานผลิตยางรถยนต์ เพิ่มเป็น 4 โรงงาน จะช่วยในการนำยางพาราในกัมพูชามาแปรรูป เพื่อใช้ภายในประเทศ และส่งออกไปยังต่างประเทศ นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีฯ ยังได้ให้สถาบันที่เกี่ยวข้อง ภาคเอกชน และสมาคมยางพารากัมพูชาจัดทำกลไกประสานงานกับภาครัฐ
เพื่อแก้ไขปัญหาด้านเทคนิคและปัญหาการเพาะปลูกเพื่อให้แน่ใจว่ามียางพาราเพียงพอสำหรับผลิตยางรถยนต์

ตามรายงานจาก General Directorate of Rubber กัมพูชามีสวนยางพาราครอบคลุมพื้นที่ทั้งหมด 404,578 เฮกตาร์ โดยในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2566 กัมพูชาส่งออกยางพารา จำนวน 242,304 ตัน
ส่วนใหญ่ไปยังมาเลเซีย เวียดนาม สิงคโปร์ และจีน ซึ่งสามารถนำเงินเข้าประเทศกัมพูชาได้ มูลค่า 320 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

นาย Lim Heng รองประธานหอการค้ากัมพูชา กล่าวว่า การลงทุนสร้างโรงงานผลิตยางรถยนต์ของจีน มูลค่า 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในกัมพูชา จะช่วยสร้าง Demand ยางพาราในประเทศ ทำให้ราคายางในประเทศสูงขึ้น และสร้างงานให้ประชนชาวกัมพูชา อย่างไรก็ตาม รัฐบาลควรมีนโยบายเพื่อดึงดูดนักลงทุน
ใน Sector ที่เกี่ยวข้องกับยางพารา ให้มากขึ้น

ข้อมูลที่น่าสนใจ

1)  รัฐบาลกัมพูชาได้ส่งเสริมการเพาะปลูกยางพาราอย่างต่อเนื่อง โดยถือว่า ยางพาราเป็นพืชเศรษฐกิจสามารถสร้างรายได้จากการส่งออกเป็นลำดับสองรองจากข้าว ซึ่งปัจจุบันสวนยางพาราในกัมพูชาเป็นของชาวกัมพูชาและชาวต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในที่ดินสัมปทานแปลงขนาดใหญ่

2) ในปี 2565 กัมพูชามีพื้นที่เพาะปลูกยางพารา จำนวน 404,578 เฮกตาร์ เพิ่มขึ้นจากปี 2564 ร้อยละ 0.13 และมีพื้นที่กรีดยาง จำนวน 315,332 เฮกตาร์ เพิ่มขึ้นจากปี 2564 ร้อยละ 1.66

พื้นที่สวนยางพาราในกัมพูชาแบ่งเป็น สวนยางพาราที่อยู่ภายใต้โครงการอุตสาหกรรมการเกษตร
ซึ่งอยู่ภายใต้หน่วยงานรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ มีจำนวน 239,422 เฮกตาร์ และสวนยางพาราที่เป็นของประชาชนมีจำนวน 165,156 เฮกตาร์ และในปี 2565 กัมพูชาสามารถผลิตยางพาราได้จำนวน 382,000 ตัน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.80 เมื่อเทียบกับปี 2564

ทั้งนี้ ในปี 2565 กัมพูชามีโรงงานแปรรูปยางพารา จำนวน 172 แห่ง เพิ่มขึ้นจากปี 2564 จำนวน  4 แห่ง โดยแบ่งเป็นโรงงานยางแท่ง (Technically Specified Rubber: TSR) จำนวน 52 แห่ง โรงงานแปรรูปยางข้น 1 แห่ง ​ โรงงานยางแผ่นรมควันและตากแห้ง จำนวน 99 แห่ง

3) ปัจจุบันกัมพูชามีโรงงานผลิตยางรถยนต์ จำนวน 3 โรงงาน ในจังหวัดสวายเรียง พระสีหนุ และกระแจะ โดยกัมพูชามีรายได้ประมาณ 125 ล้านดอลลาร์จากการส่งออกยางรถยนต์ในช่วงครึ่งแรกของปี 2566
ตามรายงานของสภาเพื่อการพัฒนากัมพูชา (CDC)

โอกาส/ผลกระทบต่อผู้ประกอบการไทย

กัมพูชามีพื้นที่เพาะปลูกยางพารา จำนวน 404,578 เฮกตาร์ และสามารถผลิตยางพาราได้ จำนวน 382,000 ตัน ต่อปี โดยปัจจุบันความต้องการยางพาราภายในประเทศสำหรับผลิตยางรถยนต์ในกัมพูชาเพิ่มมากขึ้น ดังนั้น จึงเป็นโอกาสของผู้ประกอบการไทยที่มีความเชี่ยวชาญด้านโรงงานแปรรูปยางพารา เพื่อป้อนโรงงานผลิตยางรถยนต์ หรืออุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง สามารถพิจารณาเข้ามาลงทุนโดยใช้กัมพูชาเป็นฐานการผลิตได้ เนื่องจากกัมพูชาเป็นประเทศที่มีชายแดนติดกับไทย แรงงานมีราคาถูก มีวัตถุดิบที่มากเพียงพอ รวมทั้งราคา
ไม่แพง มีสิทธิพิเศษด้านภาษีตามกรอบความร่วมมือต่าง ๆ เช่น RCEP FTA กัมพูชา-จีน เป็นต้น รวมทั้งมีกฎหมายการลงทุนฉบับใหม่ที่ให้สิทธิประโยชน์แก่นักลงทุนมากมาย

—————————

                                                                                                                                 ที่มา: Khmer Times

     สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา

พฤศจิกายน 2566

 

thThai