ภาคธุรกิจแอฟริกาตะวันออกกับต้นทุนแฝงที่ต้องจ่ายอันเนื่องมาจากการเพิกเฉยต่อการควบคุมการฉ้อโกง

ภาคธุรกิจ/ภาคเอกชน ในภูมิภาคแอฟริกาตะวันออก จะสามารถควบคุมรายจ่ายที่ไม่ควรเกิดขึ้นขององค์กรได้ หากให้ความสำคัญกับการลงทุนด้านระบบรักษาความปลอดภัย หรือระบบการตรวจสอบการฉ้อโกงในห่วงโซ่การผลิตของตนเองแทนการอาศัยเพียงเบาะแสจากผู้พบเห็นที่แจ้งมายังบริษัท โดยข้อมูลที่ว่านี้ เป็นผมมาจากการวิจัยล่าสุดที่เผยแพร่โดย Price Water House Coopers Estern Africa แสดงให้เห็นว่าร้อยละ ๕๔  ของผู้ร่วมตอบแบบสอบถามระบุว่า อัตราการฉ้อโกงในห่วงโซ่อุปทานเพิ่มสูงขึ้นในช่วงสองปีที่ผ่านมา เมื่อเทียบกับอัตราร้อยละ ๔๔ จากทั่วโลก และนี่อาจเป็นตัวบ่งชี้ถึงความเสี่ยงในการฉ้อโกงอย่างรุนแรงในระบบการบริหารงานของธุรกิจหรือองค์กร ที่เกิดจาก การจัดซื้อ จัดจ้าง ซึ่งส่งผลกระทบต่อหลายธุรกิจที่ดำเนินกิจการในหลายประเทศ เช่น ยูกันดา เคนยา แทนซาเนีย รวันดา และเอธิโอเปีย เป็นต้น

 

รูปแบบการฉ้อโกงที่พบได้บ่อยๆ ได้แก่ การทุจริตใน การจัดซื้อ จัดจ้าง การขโมยสินค้า การปลอมแปลงเอกสารการทำธุรกรรม และการบิดเบือนกระบวนการต่างๆ โดยบุคคลที่สาม การติดสินบนและการขู่กรรโชกที่กระทำโดยซัพพลายเออร์ นอกจากนี้ ยังรวมไปถึงการโก่งราคาโลจิสติกส์ขนส่งสินค้าเพื่อผลประโยชน์ส่วนตัวด้วย สิ่งเหล่านี้ล้วนนำมาซึ่งต้นทุนที่ต้องจ่ายเพิ่มทำให้เงินจำนวนหนึ่งต้องเสียไปอย่างไม่จำเป็น

 

ความสูญเสียที่กล่าวมานี้ จะควบคุมได้ หรือไม่เกิดขึ้นเลย หากองค์กรนั้นๆ ให้ความสำคัญต่อการนำระบบการตรวจสอบ/ป้องกัน การทุจริตในแต่ละขั้นตอนมาใช้อย่างถูกต้องเหมาะสม อย่างการจัดหาบริษัทตรวจสอบบัญชี ตรวจสอบรายงานต่างๆ การจัดการการขนส่งสินค้า คลังสินค้า ตรวจปล่อยสินค้า และการกระจายสินค้าอย่างเป็นระบบ การฉ้อโกงในธุรกิจคิดเป็นร้อยละ ๒๕ ของอาชญากรรมทางเศรษฐกิจในภูมิภาคแอฟริกาตะวันออก การติดสินบน การทุจริต และการยักยอกทรัพย์ คิดเป็นร้อยละ ๑๙ และร้อยละ ๓๙ ตามลำดับ

 

การตรวจพบการฉ้อโกงส่วนใหญ่ มาจากการที่บุคคลากรภายในองค์กรเป็นผู้แจ้งเบาะแส องค์กรส่วนใหญ่ในแอฟริกาตะวันออก พึ่งพาความกล้าหาญของผู้คนในการรายงานเหตุที่เชื่อว่าเป็นการฉ้อโกง แต่การแจ้งเบาะแสนี้ไม่สามารถทำได้ในทุกกรณีที่มีการทุจริต เพราะยังมีการหลอกลวงในรูปแบบอื่นๆ อย่างอาชญากรรมไซเบอร์ หรือ Scammer ที่เพิ่มขึ้นในองค์กรจากร้อยละ ๒๒ ในปี พ.ศ. ๒๕๖๓ เพิ่มเป็นร้อยละ ๒๘ ในปีที่ผ่านมา (พ.ศ.2564) นับเป็นช่องโหว่ที่เกิดขึ้นในการควบคุมกิจการภายใน เพิ่มความเสี่ยงในการฉ้อโกงที่องค์กรต่างๆ ทั่วภูมิภาคต้องเผชิญ

 

สัดส่วนขององค์กรที่ไม่มีการจัดการตรวจสอบหรือควบคุมความเสี่ยงต่อการทุจริต หรือแม้กระทั่งละเลยการปฏิบัติตามกฎระเบียบนั้น มีสูงอยู่ถึงร้อยละ ๑๘ ซึ่งอัตราดังกล่าว เป็นตัวเลขที่น่าจับตามองสำหรับภูมิภาคนี้ เมื่อเทียบกับอัตราทั่วโลกที่มีเพียงร้อยละ ๙ และนี่อาจเป็นการบ่งบอกถึงความเสี่ยงของหน่วยงานต่างๆ อย่าง ธุรกิจ SMEs ที่ยังใช้การตรวจสอบแบบเดิมๆ ละเลยการควบคุมความเสี่ยงจากการฉ้อโกง และอีกหนึ่งสาเหตุที่นำมาซึ่งการทุจริตคอรับชั่นในจากเจ้าหน้าที่รัฐในประเทศเหล่านี้ ซึ่งนั่นก็เป็นผลมาจากการหยุดชะงักครั้งใหญ่ในช่วงการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-๑๙ พร้อมกับความคิดที่จะลดต้นทุนการผลิตที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาเดียวกันด้วย สิ่งเหล่านี้ควรได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วนเพื่อป้องกันภัยคุกคามของอาชญากรรมทางเศรษฐกิจทั้งการฉ้อโกงที่พบในองค์กรและการฉ้อโกงระดับประเทศในสภาพแวดล้อมของโลกในปัจจุบัน

 

การพยายามดิ้นรนเพื่อความอยู่รอดท่ามกลางสภาพเศรษฐกิจเช่นนี้ ถือเป็นจุดอ่อนสำคัญที่นำมาซึ่งการทุจริตหลายๆ อย่าง กอรปกับสารพัดรูปแบบกลโกงที่มิจฉาชีพนำมาใช้อย่างการหลอกลวงโดยใช้จิตวิทยามาโน้มน้าวให้หลงกล ทางด้านผู้บริหารอาวุโส ของ League of East African Director แสดงความเห็นว่า คณะกรรมการตรวจสอบและคณะกรรมการบริหารความเสี่ยงขององค์กรต่างๆ ในแอฟริกาตะวันออก ควรตื่นตัวกับปัญหาเหล่านี้ก่อนที่จะสายเกินไป เบื้องต้นแต่ละองค์กรควรสังเกตพฤติกรรมพนักงานของตนโดยเฉพาะพนักงานที่มีทรัพย์สิน

 

เงิน หรือมีการใช้จ่ายที่มากกว่ารายรับ หรือบางกรณีอาจบอกว่า ทรัพย์สินส่วนหนึ่งเป็นของคู่สมรส พฤติกรรมเหล่านี้อาจเป็นความจริง หรือเป็นไปได้ว่าความมั่งมีนั้นมาจาการทุจริตในองค์กร อย่างไรก็ตาม บริษัทข้ามชาติหลายแห่งเลือกที่จะรวมอำนาจของขั้นตอนสำคัญ อย่างการจัดซื้อ งานบัญชี/การเงิน การวางแผนธุรกิจ การจัดการเรื่องการขนส่ง การโฆษณา เพื่อป้องกันการทุจริตที่อาจเกิดขึ้น

 

ในส่วนของอาชญากรรมไซเบอร์ หรือ Scammer ที่ทำการหลอกลวงผ่านคอมพิวเตอร์หรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์นั้นแพร่ระบาดอย่างมาก กลุ่มเป้าหมายที่ถูกโจมตีมีความหลากหลาย เป็นการทุจริตในวงกว้างส่งผลกระทบอย่างมากต่อระบบการป้องกันทางคอมพิวเตอร์ของทั้งองค์กรและรายบุคคล อย่างเช่น การโจมตีทางไซเบอร์ที่เกิดขึ้นเมื่อปีที่แล้ว กลุ่มอาชญากรไซเบอร์พุ่งเป้าไปที่การหลอกลวงผ่านการทำธุรกรรมทางการเงิน การธนาคารผ่านระบบคอมพิวเตอร์ หรือโทรศัพท์มือถือ ทำให้เกิดความสูญเสียจากการฉ้อโกงนี้เป็นจำนวนมหาศาล ประมาณ ๑๑ พันล้านยูกันดาชิลลิ่ง หรือ ๓๓ ล้านเหรียญสหรัฐ ภายในเวลาเพียงสองชั่วโมง (ข้อมูลจากคณะกรรมการกลางกำกับดูแลกิจการสื่อสารของประเทศยูกันดา)

 

การทุจริตในทุกรูปแบบที่กล่าวมานี้ แสดงให้เห็นถึงความเพิกเฉย ไม่ให้ความสำคัญต่อระบบตรวจจับ ป้องกันการทุจริต ควบคู่ไปกับการที่ประชากรส่วนมากต้องเผชิญกับผลกระทบทางเศรษฐกิจอย่างหนักนำมาซึ่งความกลัว ความโลภ ความวิตกกังวล ความต้องการที่จะมีเงิน มีชีวิตที่ดีขึ้น โดยมองข้ามความสมเหตุสมผล รีบคว้าโอกาสที่จะนำมาซึ่งผลตอบแทนสูงด้วยวิธีง่ายๆ ซึ่งพฤติกรรมที่มิจฉาชีพส่วนใหญ่ต่างมองเห็นเป็นจุดอ่อน และนำไปเป็นช่องทางที่จะนำมาเป็นกลยุทธ์ในการหลอกลวงโดยเติมแต่งวิธีให้แนบเนียนจนเหยื่อคล้อยตามหรือไม่เฉลียวใจ จนต้องเสียเงินให้กับมิจฉาชีพไปไม่น้อย ซึ่งความสูญเสียเหล่านี้ถือเป็นราคาที่ต้องจ่ายตราบใดที่หน่วยงานต่างๆ ยังคงเพิกเฉยต่อการควบคุมไม่ให้เกิดการฉ้อโกง

 

ความเห็นของ สคต.

 

จากผลงานข้อมูลวิจัยที่เกิดขึ้นนี้ ปฏิเสธไม่ได้ที่เราจะต้องใช้ความระมัดระวังในการบริหารธุรกิจของเราให้มีความปลอดภัยจากการฉ้อโกงที่มีในทุกรูปแบบ ซึ่งเมื่อมีความเสี่ยงมากในการทำธุรกิจกับบริษัทในแอฟริกา การประกันความเสี่ยงในการชื้อขายสินค้ากันนั้น หรือ การเลือกหาคู่ค้าที่มีความน่าเชื่อถืออาจเป็นสิ่งที่ผู้จะประกอบในธุรกิจต้องมีความรอบคอบหรือใช้ความเข้าใจให้มากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่

 

ในส่วนของ สคต. นั้น สคต. มองว่า สคต.ได้รับข้อร้องเรียนจากการฉ้อโกงขายสินค้าทางอินเทอร์เนตจากบริษัทในแอฟริกาหรือจากการที่มีธุรกิจหลอกลวงทางอินเทอร์เนตโดยการปลอมแปลงเอกสารต่างๆในแอฟริกาค่อนข้างมาก ทั้ง คนไทยโดยบริษัทในแอฟริกาหลอกลวงในการขายสินค้าที่ไม่น่าจะเป็นไปได้เช่น ทองคำ ทองแดง หรืออัญมณี และคนแอฟริกาที่ถูกมิจฉาชีพคนแอฟริกาที่ไปจัดตั้งเครื่อข่ายในไทย หลอกลวงขายสินค้าที่เป็นที่ต้องการของตลาด เช่น กระดาษ A4 สินค้าเกษตร เคมีภัณฑ์ เป็นต้น ทำให้ทั้งสองฝ่ายจะต้องมีความระมัดระวังไม่ทำการค้ากับผู้ที่เราไม่สามารถยืนยันตัวตนได้ก่อนจะทำธุรกรรมใดๆกับคนกลุ่มนั้น เพราะหากเกิดขึ้นแล้ว การจะดำเนินการทางคดีหรือเรียกร้องค่าเสียหายก็จะไม่สามารถทำได้โดยง่าย หรืออาจจะเป็นไปไม่ได้เลยก็ได้ ทำให้ทุกท่านต้องใช้ความระมัดระวังและตรวจสอบประวัติคู่ค้าหรือตรวจสอบข้อมูลก่อนทำการค้าในทุกครั้ง สำหรับลูกค้าที่ท่านรับทราบข้อมูลหรือค้นหาข้อมูลจากอินเทอร์เนตจากหน่วยงานภาครัฐในประเทศนั้น ๆ เช่น สถานทูต สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ที่ดูแลรับผิดชอบของไทยในแต่ละประเทศ จึงกล่าวเตือนนักธุรกิจไทยในเรื่องดังกล่าวอีกครั้งนึงในโอกาสนี้ อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ว่าแอฟริกาจะมีคนที่ฉ้อโกงหรือเป็นมิจฉาชีพในทุกๆกรณี แต่ท่านต้องหาคู่ค้าที่ดีและมีความน่าเชื่อถือให้ละเอียดหรือรอบคอบกว่าภูมิภาคอื่นนั่นเอง จึงจะทำให้ท่านมั่นใจในการทำการค้ากับแอฟริกาซึ่งมีคนดีๆ อยู่มากมายเช่นกัน

 

ผู้ส่งออกที่สนใจข้อมูลเพิ่มเติมด้านการค้าและการลงทุนต่าง ๆ เกี่ยวประเทศเคนยา และประเทศในแอฟริกาตะวันออก ท่านสามารถติดต่อสอบถามได้ที่ E-mail: ของสำนักงานฯ ที่ info@ocanairobi.co.ke

 

ที่มา : The EastAfrican

thThai