IMF แสดงความกังวล ภาวะเงินทุนสำรองต่างประเทศของเคนยาปรับลดลงต่อเนื่อง

กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คาดว่า ทุนสำรองเงินตราต่างประเทศอย่างเป็นทางการของเคนยาจะยังคงอยู่ภายใต้แรงกดดันแม้จะมีเม็ดเงินไหลเข้ามาในระบบการคลังเพิ่มเติมเมื่อไม่นานมานี้ ซึ่งรวมถึงการเบิกจ่ายเงินจำนวน 58.8 พันล้านเคนยาชิลลิ่ง (414.96 ล้านเหรียญสหรัฐ) โดย IMF มองว่า แม้เคนยาจะยังอยู่ภายใต้แรงกดดันแต่การประมาณการทุนสำรองเงินตราต่างประเทศของเคนยาใน 1-2 ปีจากนี้ ยังมีความหวังที่จะมีแนวโน้มที่จะปรับตัวดีขึ้น จากการประมาณการนำเข้าที่ทรงตัวในช่วง 3 เดือนแรกในปี 2566 ซึ่งทาง IMF มองว่า ปริมาณสำรองจะเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยจนเท่ากับ 3.5, 3.7 และ 3.8 เดือน ของการนำเข้าในปี พ.ศ. 2567, พ.ศ. 2568, และ พ.ศ. 2569 ตามลำดับ

 

การประมาณการดังกล่าว อยู่ในระดับที่ต่ำกว่าข้อกำหนดที่ทางธนาคารกลางเคนยา (ภาพนาย Kamau Thugge ผู้ว่าการธนาคารกลางเคนยา (CBK)) ได้กำหนดไว้เพื่อรักษาระดับปริมาณสำรองในระยะยาวไว้ไม่ให้น้อยกว่า 4 เดือนจนถึงสิ้นปีนี้ จากข้อมูลเผยแพร่โดยธนาคารกลางของเคนยา ณ วันที่ 13 กรกฎาคม 2566 แสดงให้เห็นว่า ทุนสำรองเงินตราต่างประเทศที่ใช้งานได้อยู่ที่ 1.058 ล้านล้านเคนยา   ชิลลิ่ง (7.481 พันล้านเหรียญสหรัฐ) เทียบเท่ากับ 4.09 เดือนของการนำเข้า

 

การที่ทุนสำรองเงินตราต่างประเทศของเคนยาต้องอยู่ภายใต้แรงกดดันในช่วง 12 เดือน ที่ผ่านมานั้น             เนื่องมาจากต้นทุนการชำระหนี้ภายนอกที่เพิ่มขึ้นเป็นปัจจัยหลัก เงินสำรองที่มีอยู่ในธนาคารกลางเคนยานั้น เป็นทรัพย์สินของประเทศและเป็นหลักประกันเพื่อให้มั่นใจว่า ประเทศนั้นๆ จะมีการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศเพื่อชำระหนี้ผูกพันภายนอก เพื่อให้เป็นไปตามภาระผูกพันกับเจ้าหนี้ต่างประเทศ ซึ่งรวมถึงการนำเข้าและการชำระหนี้ภายนอกประเทศด้วย

 

การจัดการเงินทุนสำรองในประเทศเคนยาของธนาคารกลางเคนยา คือการรักษาจำนวนเงินทุนสำรองไว้ในระดับที่ถูกกำหนดไว้ตามระเบียบการคลังดังกล่าวข้างต้น อย่างไรก็ดี ในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.2565 เป็นต้นมา ปริมาณเงินทุนสำรองลดลงต่ำกว่าปริมาณการนำเข้าที่กำหนดไว้ประมาณ 4 เดือน เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2558 ถือเป็นการส่งสัญญาณความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นของประเทศที่ต้องเผชิญกับการจัดการอันเนื่องมาจากปัจจัยภายนอก จนเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ทุนสำรองเงินตราต่างประเทศร่วงลงมาแตะระดับต่ำสุดในรอบทศวรรษหรือเท่ากับ ๓.๘ เดือน ของการนำเข้า ซึ่งครอบคลุมการชำระหนี้ที่เพิ่มขึ้นแก่ผู้ให้กู้ทวิภาคีและผู้ให้กู้เชิงพาณิชย์ การที่ทุนสำรองลดลงอย่างรวดเร็วทำให้เกิดความกังวลเกี่ยวกับความสามารถของประเทศในการควบคุมสกุลเงินของตนจนนักวิเคราะห์ทางการเงินแสดงถึงความหวั่นใจต่อความสามารถในการสร้างอัตราแลกเปลี่ยนเงินของเคนยา ปัจจัยนี้เป็นปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลให้ ค่าเงินเคนยาชิลลิ่งของเคนยาปรับตัวอ่อนค่าลงตามลำดับกว่าร้อยละ 15 ของมูลค่าเมือเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2565 (ปี 2565 ประมาณ 118 KES ต่อ 1.00 USD ปัจจุบัน 140 KES ต่อ 1.00 USD)

 

ส่งผลต่อต้นทุนในการทำธุรกิจเพิ่มขึ้น และการนำเข้าสินค้าของเคนยาที่เริ่มทรงตัวตามที่กล่าวมาข้างต้น

 

ทั้งนี้ ทางธนาคารกลางเคนยาคาดว่า จะใช้วิธีผสมผสานระหว่างการจัดหาเงินทุนภายนอกและการปรับปรุงดุลการชำระเงินเพื่อช่วยให้เงินทุนสำรองต่างประเทศอยู่สูงกว่าที่กำหนดไว้ ซึ่งนำมาซึ่งนโยบายต่างๆของรัฐบาลที่ไม่เป็นผลบวกต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ อาทิ การขึ้นดอกเบี้ยนโยบายเป็น 10.50% การปรับปรุงภาษีทำให้สินค้าต่างๆมีการปรับตัวสูงขึ้น การขอเงินกู้เพิ่มเติมกับธนาคารโลก และ IMF เป็นต้น

 

ความเห็นของ สคต.

ภาวะที่เงินทุนสำรองระหว่างประเทศของเคนยาปรับลดลงอย่างมีนัยสำคัญดังกล่าวนั้น ส่งผลให้ค่าเงินเคนยาชิลลิ่งอ่อนค่าลง ค่าครองชีพโดยรวมปรับตัวสูงขึ้น ผู้นำเข้าเริ่มลดการนำเข้าในสินค้าที่ไม่จำเป็น และปรับลดจำนวนคำสั่งชื้อให้มีปริมาณน้อยลง ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ ส่งผลให้กำลังชื้อของผู้บริโภค โดยรวมลดลง จะเห็นได้จากการที่เคนยามี

 

การนำเข้าสินค้าลดลงหรือทรงตัวในช่วง 3 เดือนแรกในปี 2566 ซึ่งต่อไปคงจะเริ่มส่งผลกระทบกับการนำเข้าสินค้าจากไทยด้วย ซึ่งผู้ส่งออกไทยควรติดตามสถานการณ์ทางเศรษฐกิจของเคนยาต่อไปเพื่อให้สามารถปรับกลยุทธ์ในการทำตลาดให้เหมาะสมได้ต่อไป

 

ทั้งนี้ ในปี 2566 ในช่วงเดือน ม.ค.-มิ.ย. 66 ไทยส่งออกมาเคนยาได้เพิ่มขึ้น +16.29% มูลค่าประมาณ 4,073 ล้านบาท โดย สคต. ยังมองว่า ปี 2566 ทั้งปี ไทยน่าจะส่งออกมาเคนยาได้เพิ่มขึ้น +5.00% มูลค่าประมาณ 8,100 ล้านบาท เนื่องจากว่า เคนยายังต้องมีการนำเข้าสินค้าหลายชนิดที่มีความจำเป็นต่อการผลิตและการบริโภค เช่น น้ำตาล ข้าว น้ำมันปาล์ม สิ่งทอ เคหะสิ่งทอ ชิ้นส่วนยานยนต์ เป็นต้น และไทยยังสามารถส่งออกสินค้าเหล่านี้ได้ดี

 

ผู้ส่งออกที่สนใจข้อมูลเพิ่มเติมด้านการค้าและการลงทุนต่าง ๆ เกี่ยวประเทศเคนยา และประเทศในแอฟริกาตะวันออก ท่านสามารถติดต่อสอบถามได้ที่ E-mail: ของสำนักงานฯ ที่ info@ocanairobi.co.ke

 

ที่มา : The EastAfrican

thThai