ธนาคารโลกเตือนเคนยา เกี่ยวกับระบบภาษีใหม่อาจฉุดรั้งการเจริญเติบโตเศรษฐกิจเคนยาในระยะสั้นถึงกลางได้

ธนาคารโลกเตือนเคนยา เกี่ยวกับการขึ้นภาษีในการจัดทำงบประมาณขชองรัฐบาลในปี 2023 ที่อยู่เสนอเข้ารัฐสภาเพื่อประกาศใช้เป็นกฎหมายและ พรบ.งบประมาณประจำปี 2023 ต่อไป โดยกล่าวว่าอาจทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจและการเติบโตชะลอตัวลง นอกจากธนาคารโลกแล้ว Kenya Economic Update (KEU) ได้ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า ในปัจจุบัน รายได้จากภาษีได้ที่กรมสรรพากรเคนยาจัดเก็บได้มีการเพิ่มขึ้นเล็กน้อย แต่ด้วยค่าใช้จ่ายของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ส่งผลให้การจ้างงานและการบริโภคภาคครัวเรือนเติบโตอย่างช้าหรืออาจมีการชะลอตัว ซึ่งไปในทางเดียวกับที่ธนาคารโลกที่ให้ความเห็นไว้ข้างต้น

เจ้าหนี้ต่างๆในระบบเศรษฐกิจของเคนยา กล่าวว่า การปฏิรูปภาษีที่กำลังดำเนินอยู่ ประกอบกับอัตราค่าไฟฟ้าที่สูงอยู่แล้วและนโยบายการเงินที่เข้มงวด จะส่งผลกระทบต่อการบริโภคภาคเอกชน ซึ่งเป็นตัวขับเคลื่อนหลักของอุปสงค์

ภายในประเทศในเคนยา การชะลอตัวของอุปสงค์ในประเทศหมายความว่า รัฐบาลจะจัดเก็บรายได้น้อยลงจากภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) และภาษีเงินได้ ซึ่งปัจจุบันคิดเป็นประมาณร้อยละ 76 ของรายได้ปกติทั้งหมดในประเทศ

โดยในร่างกฎหมายการเงินและการจัดทำงบประมาณในปี 2023 มีข้อเสนอการเพิ่มภาษีและภาษีใหม่มากมายเพื่อเพิ่มการจัดเก็บรายได้และควบคุมการขาดดุลทางการคลัง

ตัวอย่างของในภาษีใหม่ที่จะมีการเรียกเก็บหรือแก้ไขนั้น ได้แก่

  • ภาษีสรรพสามิต 10 % สำหรับโทรศัพท์มือถือ
  • ภาษี 5 % สำหรับผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางจำนวนหนึ่ง ซึ่งรวมถึงวิกผมและเคราเทียม
  • ภาษีมูลค่าการซื้อขาย 3 % สำหรับวิสาหกิจขนาดเล็กที่มีรายได้ระหว่าง Ksh500,000 ($3,590) ถึง Ksh1 ล้าน ($7,181)
  • เพิ่มภาษีมูลค่าเพิ่มของน้ำมันเชื้อเพลิงเป็น 16 % จากเดิมที่เก็บ 8 %
  • เพิ่มภาษีสรรพสามิตสำหรับการโอนเงินผ่านมือถือจาก 12 %ปัจจุบันเป็น 15 %
  • 3% เข้ากองทุนประกันสังคมจากเงินเดือนของลูกจ้างในระบบ INSS
  • ภาษีเงินได้โดยพนักงานที่มีเงินเดือนขั้นต้นมากกว่า 500,000 เคนยาชิลลิ่งต่อปี จะมีการปรับเพิ่มเป็น 35 % จากปัจจุบันที่อยู่ในอัตรา 30 %
  • การเรียกเก็บภาษ๊ 15 % ของภาษีหัก ณ ที่จ่าย ผู้สร้างเนื้อหาดิจิทัล
  • ผู้ที่ขาย cryptocurrencies และ non-fungible token จะต้องเสียภาษีสินทรัพย์ดิจิทัล

บรรดาผู้นำฝ่ายค้านได้เตือนว่าพวกเขาจะชุมนุมผู้สนับสนุนของพวกเขาเพื่อประท้วงการขึ้นภาษีเหล่านี้ หากกฎหมายและพรบ.งบประมาณผ่านรัฐสภา แต่ธนาคารโลกเตือนว่า การประท้วงดังกล่าวอาจทำให้แนวโน้มเศรษฐกิจของประเทศแย่ลงและขัดขวางการเติบโต “นอกจากนี้ ความตึงเครียดทางการเมืองที่เพิ่มขึ้นอาจนำไปสู่การขยายตัวทางการคลังที่คาดไม่ถึง (เนื่องจากไม่สามารถบรรลุเป้าหมายการรวมบัญชีทางการคลังที่คาดการณ์ไว้) ซ้ำเติมความเปราะบางของหนี้และการเบียดบังการลงทุนภาคเอกชน”

หากดูจากสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบัน โดยไม่มีการหยุดชะงักใด ๆ นั้น ธนาคารโลกคาดว่า GDP ของเคนยาจะเติบโตที่ +5% ซึ่งสูงกว่าการเพิ่มขึ้นของปีที่แล้วที่มีอัตรา +4.8 % ส่งสัญญาณการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจสู่ระดับก่อนเกิดโรคระบาดของ COVID 19 นอกจากนี้ ยังคาดการณ์ว่าอัตราเงินเฟ้อจะทรงตัวที่ร้อยละ 7.8 ก่อนที่จะลดลงเหลือร้อยละ 5.8 ในปีหน้า

(2024) ขณะที่การขาดดุลบัญชีเดินสะพัดจะลดลงร้อยละ 0.1 จากการส่งออกที่เพิ่มขึ้น “กำลังซื้อของครัวเรือนในระยะปานกลางและสั้น จะได้รับผลกระทบเชิงลบจากมาตรการภาษีที่เสนอในร่างกฎหมายนี้” ธนาคารโลกระบุ

สิ่งนี้มีแนวโน้มที่จะเพิ่มแรงกดดันด้านเงินเฟ้อในปัจจุบัน เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ขั้นพื้นฐาน โดยเฉพาะอาหารและเชื้อเพลิง และยังส่งสัญญาณถึงช่วงเวลาที่ยากลำบากในอนาคตสำหรับธุรกิจที่ต้องรับมือกับอุปสงค์ที่ลดลงเนื่องจากต้นทุนสินค้าที่สูง การปฏิรูปภาษีรวมถึงการเพิ่มภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) สำหรับเชื้อเพลิงจาก 8 % เป็น      16 % จะชะลอการเติบโตในระยะเวลาอันใกล้

รัฐบาลได้พยายามเสนอข่าวให้กับคนเคนยาว่า มาตรการทางภาษีในครั้งนี้ มีเป้าหมายสำคัญเพื่อช่วยเคนยาในการลดการภาระการกู้ยืม โดยความเสี่ยงของปัญหาหนี้จะเพิ่มขึ้นจากระดับปานกลางเป็นระดับสูง ทั้งนี้ การตัดสินใจของเคนยาในการเพิ่มรายได้จากภาษีที่กำลังทำเสนอเข้ารัฐสภาอยู่ขณะนี้ ได้รับการยกย่องจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) จนเป็นเหตุผลให้เคนยาจะได้รับเงินกู้เพิ่มเติมจำนวน 162.5 พันล้านเคนยาชิลลิ่ง ภายใต้โครงการระยะเวลา 38 เดือน

ความเห็นของ สคต.

นโยบายด้านภาษีของรัฐบาลเคนยาที่จะมีการปรับเพิ่มภาษีในสินค้าและบริการหลายตัวตามที่กล่าวมาข้างต้นนั้น จะส่งผลให้ราคาสินค้าต่างๆปรับตัวสูงขึ้น จนอาจทำให้กำลังชื้อของผู้บริโภคโดยรวมลดลง และอาจจะส่งผลให้เศรษฐกิจมีการขยายตัวที่ลดลงได้ ปัญหาที่จะเกิดขึ้นน่าจะส่งผลให้ การนำเข้าสินค้าของเคนยาจากประเทศไทย น่าจะได้รับผลกระทบที่อาจขยายตัวได้มากเท่าที่ควร ซึ่ง สคต. จะได้ติดตามต่อไป

ทั้งนี้ ผู้ส่งออกควรติดตามสถานการณ์ดังกล่าว เพราะอาจส่งผลต่อการนำเข้าสินค้าของผู้นำเข้าให้ลดลงได้ และหากจะมีการปรับราคาสินค้าที่จะส่งออกมานั้น ก็ควรพิจารณาผลกระทบที่เกิดขึ้นจากมาตรการภาษีและนโยบายด้านงบประมาณของรัฐบาลเคนยาอย่างใกล้ชิดต่อไปด้วย

ผู้ส่งออกที่สนใจข้อมูลเพิ่มเติมต่าง ๆ เกี่ยวประเทศเคนยา และประเทศในแอฟริกาตะวันออก ท่านสามารถติดต่อสอบถามได้ที่ E-mail: ของสำนักงานฯ ที่ info@ocanairobi.co.ke

ที่มา : The EastAfrican

thThai