เนื้อข่าว
นักลงทุนต่างชาติ 13 ราย และผู้ประกอบการภายในประเทศ 15 รายในภาคพลังงานแสงอาทิตย์ (The solar power sector) ได้ยื่นคำร้องอย่างเป็นทางการเกี่ยวกับปัญหาการให้วันเริ่มต้นจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (Commercial Operation Date : COD) โดยปราศจากเอกสารรับรองอย่างเป็นทางการ ซึ่งส่งผลให้เกิดความเสี่ยงต่อการสูญเสียอัตราค่าไฟฟ้าเริ่มต้นที่ได้รับการรับรองไว้แต่เดิม
ในคำร้องดังกล่าว นักลงทุนให้เหตุผลว่าพวกเขาได้ปฏิบัติตามกฎระเบียบด้านพลังงานหมุนเวียน (Renewable energy regulations) ทุกประการ ณ เวลาที่โครงการได้รับการอนุมัติ COD อย่างไรก็ตาม นับตั้งแต่เดือนกันยายน 2566 เป็นต้นมา โครงการจำนวนมากประสบปัญหาความล่าช้าในการรับชำระเงินโดยไม่มีกำหนด หรือได้รับชำระเงินเพียงบางส่วน ภายใต้สัญญาการซื้อขายไฟฟ้า (Power Purchase Agreement: PPA) กับการไฟฟ้าเวียดนาม (Vietnam Electricity: EVN) โดยไม่มีเหตุผลทางกฎหมายที่ชัดเจนรองรับ
สถานการณ์ดังกล่าวส่งผลกระทบทางการเงินอย่างรุนแรงต่อโครงการบางแห่ง โดยทำให้เกิดภาระในการชำระหนี้แก่ผู้ให้กู้ทั้งในและต่างประเทศ นักลงทุนจึงเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับรองและคงไว้ซึ่งการอนุมัติ COD เดิมของโครงการที่ได้รับผลกระทบ พร้อมทั้งเรียกร้องให้ EVN ปฏิบัติตามข้อผูกพันตามสัญญาที่ได้ลงนามไว้ ด้วยการดำเนินการชำระเงินอย่างครบถ้วนและตรงเวลา เพื่อรักษาเสถียรภาพทางการเงินของโครงการ
ในทางกลับกัน รายงานการตรวจสอบระบุว่า สถานการณ์ปัจจุบันได้ส่งผลให้ EVN ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจ ประสบกับภาวะขาดทุนทางการเงิน กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าเวียดนาม (Ministry of Industry and Trade: MoIT) จึงเสนอให้โครงการที่ได้รับสิทธิประโยชน์จากอัตรารับซื้อไฟฟ้าภายใต้มาตรการส่งเสริมการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน (Feed-in Tariff: FiT) แต่พบว่ามีการละเมิดข้อกำหนด ไม่ควรได้รับสิทธิ์ในอัตรารับซื้อไฟฟ้าดังกล่าวอีกต่อไป และให้มีการคำนวณราคาซื้อไฟฟ้าใหม่ตามกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้ กระทรวงยังเสนอให้ดำเนินการเรียกคืนเงิน FiT ที่มีการจ่ายไปโดยมิชอบ โดยใช้วิธีการหักลบกับรายได้จากการจำหน่ายไฟฟ้าในอนาคต
ตามรายงานของ MoIT มีโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลมที่เชื่อมต่อกับโครงข่ายไฟฟ้าจำนวนทั้งสิ้น 173 โครงการที่ได้รับผลกระทบจากประเด็นดังกล่าว โดยในจำนวนนี้มีมากกว่า 90 โครงการที่ยังคงได้รับอัตรา FiT1 หรือ FiT2 แม้ว่าจะได้รับใบรับรองการตรวจรับภายหลังวันที่ 31 ธันวาคม 2563
นักลงทุนให้เหตุผลว่า การละเมิดข้อกำหนดด้านการรับรองการตรวจรับตามกฎหมายก่อสร้าง ควรส่งผลเพียงแค่การถูกคำสั่งลงโทษปรับทางปกครอง (Administrative fines) และการกำหนดมาตรการแก้ไข (Corrective measures) เท่านั้น ไม่ควรส่งผลกระทบต่อสถานะ COD ของโครงการที่ได้ดำเนินการตามเงื่อนไขที่กำหนด ณ เวลานั้น อีกทั้งนักลงทุนยังเห็นว่า เมื่อ EVN ได้ให้การอนุมัติ COD แก่โครงการเหล่านี้แล้ว บริษัทจึงมีข้อผูกพันตามสัญญาในการซื้อไฟฟ้าจากโครงการในอัตรา FiT ที่ได้ตกลงไว้
นอกจากนี้ คำร้องยังแสดงความกังวลเกี่ยวกับความล่าช้าในการชำระเงินของ EVN ซึ่งส่งผลให้เกิดข้อกังขาต่อความมุ่งมั่นของบริษัทในการปฏิบัติตามเงื่อนไขของสัญญา PPA ประเด็นนี้ได้รับการหยิบยกขึ้นมาถกเถียงกันเป็นเวลาหลายปี โดยในช่วงต้นปี 2565 EVN ได้ร้องขอคำแนะนำจากกระทรวงก่อสร้าง (Ministry of Construction) และ MoIT เพื่อให้เกิดความชัดเจนเกี่ยวกับข้อกำหนดด้านการรับรองการตรวจรับสำหรับโครงการพลังงานแสงอาทิตย์ก่อนดำเนินการเชื่อมต่อเข้าระบบ
ผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมให้ความเห็นว่า แหล่งพลังงานประเภทอื่นไม่ได้ประสบปัญหาในลักษณะเดียวกัน เนื่องจากอัตราค่าไฟฟ้าของแหล่งพลังงานเหล่านั้นยังคงเป็นไปตามสัญญา PPA ที่มีการเจรจากับ EVN อย่างต่อเนื่อง ในทางกลับกัน โครงการพลังงานแสงอาทิตย์หลายโครงการถูกเร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จเพื่อให้ทันต่อการได้รับสิทธิประโยชน์ภายใต้อัตรา FiT1 และ FiT2 ซึ่งอาจทำให้นักลงทุนบางรายละเลยหรือไม่สามารถดำเนินการตรวจรับตามข้อกำหนดได้ทันเวลา
(แหล่งที่มา https://vietnamnews.vn/ ฉบับวันที่ 17 มีนาคม 2568)
วิเคราะห์ผลกระทบ
ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เวียดนามได้ก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำด้านพลังงานหมุนเวียนในภูมิภาคอาเซียน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคพลังงานแสงอาทิตย์ อย่างไรก็ตาม ปัญหาที่เกี่ยวข้องกับการกำหนดวันเริ่มต้นจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (COD) ตลอดจนความล่าช้าในการชำระเงินจากการไฟฟ้าเวียดนาม (EVN) ได้ส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อการลงทุนในอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียนของประเทศ
กรอบกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการรับรอง COD ประกอบด้วย คำสั่งนายกรัฐมนตรีหมายเลข 39/2018/QĐ-TTg สำหรับโครงการพลังงานลม และคำสั่งนายกรัฐมนตรีหมายเลข 13/2020/QĐ-TTg สำหรับโครงการพลังงานแสงอาทิตย์ กำหนดให้โครงการที่ต้องการได้รับการรับรอง COD ต้องปฏิบัติตามเงื่อนไข 3 ประการ ได้แก่ การดำเนินการทดสอบเบื้องต้นของโรงไฟฟ้าและอุปกรณ์เชื่อมต่อแล้วเสร็จ การได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการไฟฟ้า และการตกลงร่วมกันเกี่ยวกับค่ามิเตอร์ไฟฟ้าเพื่อเริ่มกระบวนการชำระเงิน
อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2566 กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า (MoIT) ได้ออกประกาศหมายเลข 10/2023/TT-BCT ซึ่งกำหนดให้โครงการพลังงานหมุนเวียนต้องได้รับหนังสืออนุมัติผลการตรวจสอบก่อนที่จะสามารถยื่นขอใบอนุญาตประกอบกิจการไฟฟ้าได้ ส่งผลให้นักลงทุนมองว่าการบังคับใช้ข้อกำหนดเพิ่มเติมนี้กับโครงการที่ได้รับการรับรอง COD ไปก่อนหน้านี้ เป็นการละเมิดหลักการห้ามใช้กฎหมายย้อนหลัง ตามที่ระบุไว้ในมาตรา 13 แห่งกฤษฎีกาว่าด้วยการลงทุน ฉบับที่ 61/2020/QH14
หากแนวทางของ MoIT ได้รับการดำเนินการโดยไม่มีการปรับแก้ไข อาจนำไปสู่ความเสี่ยงด้านการเงินอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะการผิดนัดชำระหนี้ในวงกว้าง ซึ่งจะกระทบต่อเสถียรภาพของตลาดการเงินของเวียดนาม นอกจากนี้ ยังอาจสร้างความไม่แน่นอนต่อหลักนิติธรรมของประเทศ และส่งผลเสียต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติในภาคพลังงาน เนื่องจากข้อกำหนดที่เปลี่ยนแปลงไปอาจถูกมองว่าเป็นอุปสรรคต่อการลงทุน ในระยะยาว การดำเนินนโยบายที่ไม่แน่นอนและการบังคับใช้กฎหมายย้อนหลังอาจทำให้กระแสการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ในภาคพลังงานหมุนเวียนลดลง อีกทั้งยังส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของเวียดนามในฐานะจุดหมายปลายทางที่มีความน่าสนใจและมีเสถียรภาพสำหรับการลงทุนระหว่างประเทศ
ดังนั้น การแก้ไขปัญหาดังกล่าวจึงจำเป็นต้องคำนึงถึงความสมดุลระหว่างการกำกับดูแลด้านกฎระเบียบและการรักษาสิ่งแวดล้อมการลงทุนที่เป็นมิตรต่อนักลงทุน เพื่อให้เวียดนามสามารถดำรงบทบาทในฐานะผู้นำด้านพลังงานหมุนเวียนในภูมิภาคได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน
นำเสนอโอกาส/แนวทาง
เวียดนามกำลังก้าวขึ้นเป็นศูนย์กลางด้านพลังงานหมุนเวียนของอาเซียน โดยเฉพาะในภาคพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลม ซึ่งได้รับการส่งเสริมจากภาครัฐผ่านนโยบายที่มุ่งเน้นการลดการพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิลและส่งเสริมการลงทุนจากทั้งในและต่างประเทศ อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียนของเวียดนามยังเผชิญกับความท้าทายด้านกฎหมายและโครงสร้างการชำระเงินที่ขาดเสถียรภาพ โดยเฉพาะปัญหาความล่าช้าในการชำระเงินจากการไฟฟ้าเวียดนาม (EVN) และการเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบเกี่ยวกับการกำหนดวันเริ่มต้นจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (COD) ซึ่งสร้างความไม่แน่นอนให้กับนักลงทุน และอาจส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพทางการเงินของโครงการพลังงานหมุนเวียนหลายแห่ง
สำหรับผู้ประกอบการไทยที่ต้องการลงทุนในภาคพลังงานหมุนเวียนของเวียดนาม ควรให้ความสำคัญกับการศึกษากฎหมายและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องอย่างละเอียด รวมถึงการวิเคราะห์โครงสร้างสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) เพื่อป้องกันความเสี่ยงจากความไม่แน่นอนของการชำระเงิน นอกจากนี้ ควรมีแผนบริหารความเสี่ยงทางการเงินที่รัดกุม และสร้างเครือข่ายพันธมิตรทางธุรกิจภายในประเทศเพื่อช่วยลดอุปสรรคด้านกฎระเบียบ รวมถึงติดตามแนวโน้มและนโยบายพลังงานหมุนเวียนของเวียดนามอย่างใกล้ชิด เพื่อให้สามารถปรับกลยุทธ์ทางธุรกิจได้อย่างเหมาะสม การเตรียมความพร้อมในทุกด้านจะช่วยให้นักลงทุนสามารถดำเนินโครงการได้อย่างมั่นคงและสร้างผลตอบแทนในระยะยาว