- ชาไข่มุก (Bubble tea) ถือกำเนิดขึ้นที่ไต้หวันราวปี 2523 เป็นเครื่องดื่มของว่างที่ทำจากชาผสมนม ผลไม้ และน้ำเชื่อม และที่โดดเด่นจนเป็นชื่อชาไข่มุก (boba แปลว่า ไข่มุก) ด้วยการใส่เม็ดมันสำปะหลังเหนียวหนึบและเยลลี่ผลไม้ เพื่อเพิ่มรสชาติและสีสันให้กับเครื่องดื่ม ซึ่งมีหลากหลายชนิดตามองค์ประกอบของส่วนผสมที่มากมาย ชาไข่มุกกำลังเป็นที่ชื่นชอบมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะในหมู่เด็กวัยรุ่นและคนหนุ่มสาว
- สคต.มิลาน ได้เข้าร่วมงานแสดงสินค้าอาหาร TUTTOFOOD 2023 ระหว่างวันที่ 8 – 11 พฤษภาคม 2566 ณ ศูนย์แสดงสินค้าเมืองมิลาน (Fieramilano Rho) และร่วมจัดกิจกรรมบริเวณ Taste Arena ด้วยการจัด Show cooking แสดงการทำอาหารไทยโดยเชฟคนไทย คุณปานจรีย์ บุญช่วย ซึ่งเป็นเจ้าของร้านอาหารไทย THAI Ristorante – Firenze จากเมืองฟลอเร้นท์ ซึ่งเป็นร้านอาหารไทยที่ได้ตราสัญลักษณ์ Thai SELECT มาสาธิตการทำอาหารไทย ได้แก่ แกงพะแนง เสิร์ฟพร้อมข้าวหอมมะลิ ผัดไทย และชาไทย ในส่วนของชาไทย ได้มีการสาธิตการชงและชวนชิมชาไทยด้วย มีผู้สนใจสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมถึงชาไทยเป็นจำนวนมากหลังการสาธิต ปัจจุบันผู้บริโภคอิตาลีรู้จักชาเพิ่มเติมในการนำไปทำชานมไข่มุกที่กำลังได้รับความนิยม ซึ่ง สคต.มิลาน ได้แนะนำร้านอาหารและร้านค้าสินค้าเอเชีย ที่สามารถหาซื้อและหาดื่มชาไทยและชาไข่มุกไทยได้ พร้อมอธิบายคุณสมบัติพิเศษที่มีกลิ่นหอม และสรรพคุณต่อสุขภาพของชาไทย วิธีการชง และการนำไปใช้ทำชาไข่มุกเองอีกด้วย นอกเหนือจากการนำไปชงเป็นเครื่องดื่มร้อนและเย็นทั่วไป
- ในปี 2565 ตลาดชาไข่มุกโลกมีมูลค่าการค้า 2.75 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ และคาดว่าจะเติบโต (CAGR) ระหว่างปี 2566-2573 เฉลี่ยประมาณ 9% ต่อปี แทนที่ 7.8% ต่อปี ที่เคยคาดไว้ในปี 2564 สำหรับช่วงระหว่างปี 2563-2570
- การสำรวจตลาดจัดทำโดย Growth Capital บริษัทที่ปรึกษาที่เชี่ยวชาญด้านการเพิ่มทุนและธุรกรรมทางการเงินขององค์กรสำหรับสตาร์ทอัพและ SME ได้เปิดเผยข้อมูลจากรายงานตลาดชาไข่มุกปี 2566 (Bubble Tea Market Report 2023) เนื่องในโอกาสวันชาไข่มุก “Bubble Tea Day” (30 เมษายน) ว่าหากดูจากปริมาณจุดขาย ตลาดใหญ่ที่สุดอยู่ในซีกโลกตะวันออกคือจีน มีจุดขายกว่า 480,000 แห่ง ส่วนตลาดซีกโลกตะวันตกคือสหรัฐอเมริกา คาดการณ์ว่าจะมีจุดขายถึง 5,000 แห่ง ในปี 2567 ประเทศในเอเชียแปซิฟิกยังคงครองผู้นำตลาด (40% ของตลาด) ในเดือนมีนาคม 2566 ไต้หวันผู้เป็นประเทศต้นกำเนิด มีร้านชาไข่มุกมากกว่า 21,000 แห่ง
- สหรัฐอเมริกาอยู่ในอันดับที่สองโดยมีส่วนแบ่งการตลาดมากกว่า 35% ในขณะที่ยุโรปมีมูลค่าการค้า 300 ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็น 11% ของตลาดโลก ส่วนอิตาลี มีมูลค่าถึง 42 ล้านยูโร หรือมากกว่า 15% ของตลาดยุโรป และคาดว่าจะเติบโตเฉลี่ยที่ 18% ต่อปี ในอีก 5 ปีข้างหน้า และจะมีมูลค่าถึง 98 ล้านยูโร ภายในปี 2570 ในเวลาไม่ถึงสองปีที่ผ่านมา จากการสำรวจจุดขายในอิตาลี จำนวนร้านชาไข่มุกเพิ่มขึ้นอย่างมาก (+51%) โดยในเดือนธันวาคม 2564 มีจำนวน 156 ร้าน โดยส่วนใหญ่กระจายอยู่ในเมืองใหญ่ที่สุดของประเทศประมาณ 30 เมือง (มิลาน โรม โบโลญญ่า และตูริน) และเพิ่มจำนวนเป็น 236 ร้าน ในเดือนมีนาคม 2566
- อย่างไรก็ตาม ตลาดชาไข่มุกในอิตาลียังคงกระจัดกระจายอย่างมาก ยังไม่มีผู้นำที่ชัดเจนและโดดเด่น จึงยังเหลือพื้นที่อีกมากสำหรับเปิดตัวเครือข่ายใหม่และการขยายเครือข่ายที่มีอยู่ เครือข่ายหลักเพียง 3 แห่งที่มียี่ห้อติดตลาดแล้วในปัจจุบัน ได้แก่
1. Bobble Bobble ซึ่งมีส่วนแบ่งตลาด 7% ปัจจุบันมีสาขา 16 แห่งใน 16 เมือง ส่วนใหญ่อยู่ใน จังหวัดขนาดกลาง เช่น Benevento, Empoli, Livorno, Lucca, Prato และ Savona บริษัทฯได้ก่อตั้งโรงงานแห่งแรกในยุโรปเพื่อทำการผลิตส่วนผสมสำหรับชาไข่มุก (เช่น น้ำเชื่อมและเม็ดไข่มุกหลากรสผลไม้) อีกด้วย
2. Frankly มีส่วนแบ่งการตลาด 5% มีสาขา 11 แห่ง ซึ่ง 5 แห่งเปิดอยู่ในใจกลางเมืองมิลาน ธุรกิจอยู่ภายใต้การบริหารโดยตรง
3. Mistertea มีส่วนแบ่งตลาด 1% มีสาขาที่บริหารโดยตรง 2 แห่ง ในมิลาน และอีก 3 แห่งในปริมณฑลของมิลาน (เมืองมอนซา) เป็นบริษัทรายแรกที่นำชานมไข่มุกเข้ามาอิตาลี ในปี 2559
- ส่วนร้านค้าชานมไข่มุกที่เหลือเป็นอิสระจากกัน โดยมีสาขาน้อยกว่า 3 แห่ง และครอบคลุม 87% ของส่วนแบ่งการตลาด เช่น ยี่ห้อเกิดใหม่ MasterBools ของอิตาลี และยี่ห้อของเครือข่ายเอเชียสองแห่งที่เข้าสู่ตลาดอิตาลีเมื่อไม่นานมานี้ ได้แก่ The Alley (ในมิลาน) และ Yi Fang (ในฟลอเรนซ์) นอกจากร้านจำหน่ายชานมไข่มุกโดยเฉพาะแล้ว ชานมไข่มุกยังสอดแทรกอยู่ในสถานประกอบการอาหารอื่นๆ เช่น ร้านอาหารไทย ร้านอาหารเทมปุระและติ่มซำ บาร์ ร้านโยเกิร์ตและไอศกรีมฯลฯ และธุรกิจกำลังขยายตัวในรูปแบบของมุมเล็กๆในซูเปอร์มาร์เก็ต ตามสถานีรถไฟ ห้างสรรพสินค้า เป็นต้น ที่มีคนเดินสัญจรมาก ซึ่งจะทำให้สินค้าขยายตัวได้รวดเร็วยิ่งขึ้น
- นอกจากนี้ บริษัท Italian Food Factory หันมาจับตลาดวัตถุดิบเครื่องดื่ม Bubble Tea ที่ป๊อปที่สุดในขณะนี้ สนุกและอร่อยจนครองโลกโซเชี่ยล ด้วยการนำชาไข่มุกเข้าร่วมงานแสดงสินค้าขนมหวาน Sigep (21-25 มกราคม 2566) ณ ศูนย์แสดงสินค้าเมือง Rimini ได้นำเสนอชาไข่มุก 9 รสชาติ พีช แอปเปิ้ลเขียว สับปะรด สตรอเบอร์รี่ ราสเบอร์รี่ บลูเบอร์รี่ เชอร์รี่ มะม่วง และเสาวรส ข้อเสนอที่สามารถตอบสนองทุกรสนิยม ไม่ใช่แค่รสชาติเท่านั้น และยังใช้จุดขายในรูปแบบเครื่องดื่มปราศจากแอลกอฮอล์ แลคโตส กลูเตน และวีแก้น ของวัตถุดิบชาเขียวหรือดำ และน้ำเชื่อมที่สามารถสร้างส่วนผสมที่อร่อยและดับกระหายได้อย่างแท้จริง ด้วยการเพิ่มน้ำที่ใช้ทำชาไข่มุกด้วยแคปซูลแบบที่ใช้กับเครื่องทำกาแฟอัตโนมัติ เสนอรสชาติให้เลือกถึง 18 ชนิด มีตั้งแต่โสมที่มีหรือไม่มีน้ำตาล โกโก้ จนถึงกาแฟประเภทต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นแบบคลาสสิก คาปูชิโน่ มอคคาชิโน เฮเซลนัท กาแฟพิสตาชิโอและกาแฟสตรอเบอร์รี่สีชมพู สำหรับผู้ที่ชื่นชอบชาก็มีชาสมุนไพรและเครื่องเทศ (โสม (ginseng) ขิง มะนาว คาโมมายล์ อบเชย หรือผลไม้ป่า ฯลฯ) นอกเหนือจากชาแบบดั้งเดิม ทำให้เครื่องดื่มชาไข่มุกมีตัวเลือกมากมาย
- ความแข็งแกร่งของแบรนด์และความสามารถในการดึงดูดและสื่อสารกับคนรุ่น Gen Z และ Millenials ที่ต้องการสินค้าไร้ขีดจำกัดในการสร้างสรรค์ ส่วนผสมหลายหลากที่ลงตัวและแตกต่างจากที่คุ้นเคย สีสันชวนลอง ความอร่อยและนุ่มของเม็ดมันสำปะหลังที่เหมาะสำหรับทุกรสนิยม บนโซเชียลเน็ตเวิร์กยังคงเป็นปัจจัยพื้นฐานที่เครือข่ายชาไข่มุกใช้เพื่อสร้างตัวเองในตลาดได้เป็นอย่างดี
ความคิดเห็นของ สคต.มิลาน
- ชาไข่มุกสามารถรวมเป็นส่วนหนึ่งกับสถานประกอบการอาหารอื่นๆ นอกเหนือจากร้านชาไข่มุกเฉพาะอย่างเดียว เช่น ร้านอาหารเอเชีย ร้านโยเกิร์ตและไอศกรีม ร้านอาหารฟาสต์ฟู้ด บาร์ ไนท์คลับ รวมถึงซูเปอร์มาร์เก็ตทั่วไปด้วย ซึ่งจะนำไปสู่การขยายตัวของเครื่องดื่มมากขึ้นเรื่อยๆ แม้ว่าจะต้องประสบกับปัญหาการเพิ่มขึ้นของราคาวัตถุดิบที่มีต้นทุนการนำเข้าเพิ่มขึ้นประมาณ 30% ด้วยเหตุนี้ เครือข่ายบางแห่งได้เริ่มต้นการผลิตวัตถุดิบในประเทศ ในขณะที่ผู้ผลิตชาไข่มุกรายใหญ่ในเอเชียบางรายได้เปิดโรงงานผลิตในยุโรปและสหรัฐอเมริกาแล้ว เพื่อแก้ไขการขาดแคลนและต้องการควบคุมราคาของวัตถุดิบ ผู้ประกอบการไทยน่าจะมีแนวทางขยายตลาดชาไทยและวัตถุดิบสำหรับทำชาไข่มุก เนื่องจากตลาดแฟรนไชส์ของไทยที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับชาไข่มุกก็มีจำนวนมาก จึงเป็นโอกาสอันดีหากผู้ประกอบการไทยสนใจลงทุนขยายแฟรนไชส์หรือทำธุรกิจเครื่องดื่มชาไข่มุกในอิตาลี โดยล่าสุด เว็บไซต์ tasteatlas ก็ยังจัดอันดับให้ชาเย็น หรือชานมเย็นของไทย (Thai Iced Tea) เป็นเครื่องดื่มไม่มีแอลกฮอล์ที่มีรสชาติดีที่สุดในโลกในอันดับ 7 จากทั้งหมด 100 อันดับ จึงเป็นโอกาสอันดีในการประชาสัมพันธ์ให้ผู้บริโภคในอิตาลีได้รู้จักชาไทยมากขึ้น
- สคต. มิลาน จึงเห็นว่าน่าจะสามารถผลักดันให้ร้านอาหารไทยนำเข้าชาและส่วนผสมชาไข่มุกจากไทย และสอดแทรกเป็นเมนูเครื่องดื่มที่น่าลิ้มลอง และอาจนำสมุนไพรและผลไม้มาผสมในสูตรเพื่อเสนอเป็นเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพได้
- ตลาดชาไข่มุกในอิตาลียังเติบโตได้อีกมาก เนื่องจากเป็นสินค้าที่เข้ามาในตลาดได้ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา และยังต้องมีการพัฒนาด้านวัตถุดิบอีกมาก จึงเป็นโอกาสดีสำหรับการลงทุนทั้งในเรื่องการทำธุรกิจแบบแฟรนไชส์ (Franchise) และในการจัดหาวัตถุดิบต่างๆ ที่ยังจำกัดในวงแคบ แม้บางรายการสามารถผลิตได้แล้วในอิตาลีก็ตาม แต่ทางด้านประสบการณ์ยังตามประเทศทางเอเชียไม่ทัน
- ผู้ประกอบการไทยสามารถร่วมลงทุนในธุรกิจเครื่องดื่มดังกล่าวกับนักธุรกิจชาวอิตาเลียน และสามารถนำวัตถุดิบที่มีคุณภาพที่ไทยมีศักยภาพในการนำเสนอ เช่น ชาไทยที่มีกลิ่นหอม ชาเขียว ชามะลิ เป็นต้น หรือชากลิ่นผลไม้ใหม่ๆ เช่น มะพร้าวน้ำหอม มะม่วง ทุเรียน เสาวรส เผือก เป็นต้น รวมถึงท็อปปิ้งแปลกใหม่ๆ ที่ทางเอเชียจะมีหลากหลายกว่า และมีศักยภาพดี หากมีการนำเสนอในรูปแบบที่น่าสนใจ
- งานแสดงสินค้าอาหาร TUTTOFOOD ที่ผ่านมา มีบริษัทจากไต้หวันได้มาจัดแสดงบูธเกี่ยวกับชาไข่มุก พร้อมวัตถุดิบและอุปกรณ์สำหรับผลิตไข่มุก แสดงให้เห็นว่า ไต้หวันเล็งเห็นศักยภาพของตลาดชาไข่มุกในอิตาลี และพร้อมบุกตลาดอิตาลี ผู้ประกอบการไทยที่สนใจจะลงทุนในธุรกิจดังกล่าว อาจใช้โอกาสนี้ในการเข้าร่วมงานแสดงสินค้าอาหารในอิตาลี เพื่อพบปะนักธุรกิจ ผู้นำเข้า ผู้กระจายสินค้า และเจรจาธุรกิจต่อไป
ที่มา: www.ilsole24ore.com/art/in-italia-bubble-tea-crescera-18percento-all-anno-AE6vCvMD