สถานการณ์ตลาดสินค้าหัตถกรรมสิ่งทอและสินค้า DIY ประเทศเยอรมนี

ตลาดสินค้าหัตถกรรมสิ่งทอและสินค้า DIY ในประเทศเยอรมนีเติบโตขึ้นอย่างมากในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 เนื่องจากผู้บริโภคชาวเยอรมันหันมาทำงานฝีมือเป็นงานอดิเรกในช่วง  ล็อกดาวน์ โดยเฉพาะในปี 2563 – 2564 ส่งผลให้มูลค่าการค้าโดยรวมของตลาดเยอรมันอยู่ที่ 1.3 พันล้านยูโร และ 1.2 พันล้านยูโร ตามลำดับ ทั้งนี้ สมาคมงานฝีมือของเยอรมนี (Initiative Handarbeit e.V.) ได้เปิดเผยตัวเลขมูลค่าการค้าภายในประเทศของปี 2565 อยู่ที่ 1 พันล้านยูโร ซึ่งต่ำกว่าปีที่ผ่านมาเล็กน้อย สมาคมฯ ได้วิเคราะห์ว่าตัวเลขที่ลดลงนี้เป็นผลมาจากการดีดตัวของอุปสงค์ในช่วงปีก่อน ซึ่งกำลังกลับเข้าสู่ภาวะปกติ  อีกทั้ง การผ่อนคลายของสถานการณ์โควิดฯ ผู้บริโภคจึงใช้เวลาว่างในการท่องเที่ยวและพบปะผู้คนมากขึ้น นอกจากนี้ สถานการณ์สงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนยังเป็นตัวแปรทำให้ราคาสินค้าเพิ่มสูงขึ้น ชาวเยอรมันจึงหันมาประหยัดค่าใช้จ่ายและลดปริมาณการจับจ่ายใช้สอยลง

 

ในปี 2565 มูลค่าการจำหน่ายสินค้าเส้นด้ายและไหมพรมสำหรับการถักโครเชต์และนิตติ้งถือส่วนแบ่งตลาดมากที่สุดอยู่ที่ 350 ล้านยูโร ตามมาด้วยกลุ่มสินค้าผ้าต่าง ๆ 330 ล้านยูโร ในขณะที่ การจำหน่ายสินค้าจักรเย็บผ้ามีมูลค่า 153 ล้านยูโร หนังสือและคู่มือสำหรับงานฝีมือ 47 ล้านยูโร ทั้งนี้ ช่องการจำหน่ายแบบออฟไลน์ผ่านหน้าร้านค้าสามารถกลับมาสร้างยอดจำหน่ายได้มากกว่าช่องทางออนไลน์ในปีที่ผ่านมา ซึ่งแสดงให้เห็นว่าผู้บริโภคให้ความสำคัญกับประสบการณ์การเลือกซื้อสินค้าแบบจับต้องได้ และการได้รับคำปรึกษาจากพนักงานขายโดยตรง

สถานการณ์ตลาดสินค้าหัตถกรรมสิ่งทอและสินค้า DIY ประเทศเยอรมนี

จากผลการสำรวจผู้บริโภคจำนวน 1,747 ราย อายุระหว่าง 18 – 74 ปี ของสมาคมงานฝีมือฯ พบว่าแรงจูงใจของผู้บริโภคที่สนใจงานอดิเรกเย็บปักถักร้อยและงานฝีมือ DIY ต่าง ๆ ส่วนใหญ่เพราะรู้สนุกสนานที่ได้ลงมือทำ ตามมาด้วยความรู้สึกผ่อนคลาย รวมไปถึงการได้มีชิ้นงานเป็นของตนเอง ซึ่งคนส่วนใหญ่มักเริ่มจากการทำเครื่องแต่งกายเป็นอันดับแรก ต่อด้วยของแอคเซสเซอรี่ต่าง ๆ และของแต่งบ้าน โดยทำผลิตภัณฑ์สำหรับตนเอง ครอบครัว และเป็นของขวัญให้แก่เพื่อน ๆ เป็นต้น

 

สำหรับแนวโน้มสินค้าปี 2565-2566 ประเด็นเรื่องความยั่งยืนและรักษ์สิ่งแวดล้อมเป็นสิ่งที่ได้รับความสนใจจากทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภคในตลาดสินค้าหัตถกรรมสิ่งทอและสินค้า DIY โดยหลายบริษัทกำลังปรับการผลิตและนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ประเภทผลิตภัณฑ์ที่สนับสนุนความยั่งยืน เช่น สิ่งทอผลิตจากเส้นใยจากธรรมชาติ สิ่งทอจากเส้นใยออแกนิค เส้นใยรีไซเคิล เช่น การนำแหตกปลามาผลิตใหม่เป็นเส้นใยไนลอนสำหรับสิ่งทอ นอกจากนี้ ยังมีหน่วยงานให้ตรารับรองผลิตภัณฑ์ เช่น Fair trade fabrics และ GOTS (Global Organic Textile Standard) รับรองเส้นใยสิ่งทอและเส้นใยขนสัตว์ ซึ่งผ่านการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและมีความรับผิดชอบต่อสังคม

 

ข้อคิดเห็นของ สคต. แฟรงก์เฟิร์ต

ตลาดยุโรปให้ความสำคัญกับผลิตภัณฑ์รักษ์สิ่งแวดล้อมและมีความยั่งยืน ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับกลุ่มสินค้าหัตถกรรมสิ่งทอและสินค้า DIY เช่นกัน ผู้ประกอบการไทยที่สนใจกลุ่มลูกค้ายุโรปควรศึกษาเรื่องตรารับรองต่าง ๆ อย่างละเอียด เช่น ตรารับรอง Fair trade fabrics ตรารับรองมาตรฐานสิ่งทอเกษตรอินทรีย์ GOTS ตรารับรองการใช้สารเคมี ZDHC MRSL หรือตรา Oeko-Tex และตรารับรองมาตรฐานการรีไซเคิล GRS เป็นต้น ทั้งนี้ การรับรองมาตรฐานสินค้าถือเป็นหนึ่งในกลยุทธ์ทางการตลาดที่จะช่วยสร้างความน่าเชื่อถือให้กับผลิตภัณฑ์ รวมถึงดึงดูดผู้นำเข้า และยังช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าได้

ที่มา: Initiative Handarbeit e.V.

thThai