เทรนด์ขนมของญี่ปุ่นในช่วง 10 ปีที่ผ่านมามีการเปลี่ยนแปลงอย่างมาก บริษัท Intage inc. (บริษัทสำรวจตลาด) ได้ทำการติดตามกลุ่มผู้บริโภคหญิงและชายจำนวน 5 หมื่นคนอย่างต่อเนื่อง เมื่อวิเคราะห์ข้อมูล (ข้อมูล SCI ®) ด้านจำนวนเงินในการซื้อขนมเพื่อดูการเปลี่ยนแปลงพบว่า ปัจจุบัน ขนมเยลลี่เจลาตินที่กำลังมาแรงนั้น มีกลุ่มผู้บริโภคกลุ่มหนึ่งที่มีส่วนผลักดันยอดซื้อขนมเยลลี่เจลาติน
“ขนมเยลลี่เจลาติน (Gummy Jelly) มาแรง”ยอดซื้อขนมเยลลี่เจลาตินกำลังพุ่งขึ้น หากเปรียบเทียบกับปี 2556 ยอดซื้อปี 2565 เพิ่มขึ้นร้อยละ 91 หรือเกือบ 2 เท่า และหากเปรียบเทียบปี 2556 กับปี 2564 ที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 61 ก็เห็นได้ว่า ขนมเยลลี่เจลาตินกำลังมาแรง
ขนมบิสกิต ช็อกโกแลต และขนมขบเคี้ยว (Snack : กราฟเส้นปะสีน้ำเงินเข้ม) เพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 20 – 30 เมื่อเทียบกับปี 2556 หากวิเคราะห์แล้วจะเห็นว่า ขนมเหล่านี้มียอดสูงขึ้นช่วงปี 2563 อาจเป็นเพราะช่วงการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ที่ผู้คนอยู่บ้านมากขึ้นทำให้ความต้องการขนมเหล่านี้เพิ่มขึ้นตามไปด้วย สำหรับช็อกโกแลตที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตั้งแต่ก่อนการแพร่ระบาดของ COVID-19 เป็นเพราะความนิยมรับประทานช็อกโกแลตเพื่อสุขภาพที่มีส่วนผสมของ cacao สูง
สำหรับขนมลูกอมอัดเม็ดที่ปี 2562 ซึ่งเป็นช่วงก่อนการแพร่ระบาดของ COVID-19 มียอดสูงขึ้นร้อยละ 40 เมื่อเทียบกับปี 2556 ขนมลูกอมอัดเม็ดที่มักรับประทานเวลาอยู่นอกบ้านหรือช่วงระหว่างทำงานเมื่อเกิดการแพร่ระบาดของ COVID-19 ผู้คนหลีกเลี่ยงการออกนอกบ้านทำให้ความต้องการลดลง ยอดซื้อปี 2565 เมื่อเทียบกับปี 2556 เพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 11

“ขนมเยลลี่เจลาติน (Gummy Jelly) มาแรง”ทำไมขนมเยลลี่เจลาตินถึงมาแรง? เมื่อวิเคราะห์หากลุ่มผู้บริโภคกลุ่มใดที่ดันตัวเลขยอดซื้อขนมเยลลี่เจลาตินโดยเปรียบเทียบยอดซื้อปี 2565 กับปี 2556 (ข้อมูลเฉพาะการซื้อที่ซื้อรับประทานเองหรือร่วมรับประทาน ไม่รวมข้อมูลการซื้อแทนคนอื่น) พบว่า กลุ่มผู้บริโภคที่มียอดซื้อขนมเยลลี่เจลาตินเพิ่มขึ้นสูงคือกลุ่มผู้ชายวัย 30-49 ปี เพิ่มขึ้น 2.34 เท่า รองลงมาคือ กลุ่มผู้บริโภคชายวัย 50 – 69 ปี เพิ่มขึ้น 2.19 เท่า นอกจากนี้ หากดูสัดส่วนการซื้อแล้ว กลุ่มผู้บริโภคชายมีสัดส่วนการซื้อเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 16 ในปี 2556 เป็นร้อยละ 20 ในปี 2565 อีกด้วย ซึ่งเป็นสัดส่วนที่รองลงมาจากกลุ่มผู้บริโภคหญิงวัย 30 – 49 ปีที่มีสัดส่วนร้อยละ 27 และสูงกว่ากลุ่มผู้บริโภคหญิงวัย 15-29 ปีที่มีสัดส่วนร้อยละ 16
ขนมเยลลี่เจลาตินมีรูปร่างและสีสันที่หลากหลาย จึงมีการคาดเดากันว่า กลุ่มผู้บริโภคที่นิยมซื้อขนมเยลลี่เจลาตินเป็นกลุ่มผู้บริโภควัยรุ่นหญิงที่นิยมถ่ายรูปลง SNS แต่จากการวิเคราะห์ข้อมูลทำให้ทราบว่า ขนมเยลลี่เจลาตินเป็นที่นิยมในกลุ่มผู้บริโภคชายวัยกลางคนเช่นกัน ขนมเยลลี่เจลาตินที่เป็นที่นิยมซื้อในกลุ่มผู้บริโภคชายวัยกลางคน ได้แก่ รสน้ำอัดลมต่างๆหรือขนมเยลลี่เจลาตินที่มีความเหนียวที่ให้ความรู้สึกถึงการขบเคี้ยว ผู้บริโภคกลุ่มนี้มีความคุ้นเคยกับรสชาติน้ำอัดลมและเพลิดเพลินกับการขบเคี้ยว ส่วนผู้บริโภคหญิงนิยมซื้อขนมเยลลี่เจลาตินที่เป็นรสผลไม้หรือที่มีความนุ่มซึ่งแตกต่างจากกลุ่มผู้บริโภคชาย
ขนมเยลลี่เจลาติน นอกจากมีรสชาติและความเหนียวนุ่มที่แตกต่างกันแล้ว ยังมีรูปร่าง ขนาด และบรรจุภัณฑ์ที่หลากหลายอีกด้วย ผู้บริโภคจึงสามารถเลือกซื้อขนมเยลลี่เจลาตินที่ถูกใจได้ ทำให้กลายเป็นขนมที่ได้รับความนิยมจากกลุ่มผู้บริโภคที่หลากหลายซึ่งรวมถึงกลุ่มผู้บริโภคชายวัยกลางคนด้วย

บทวิเคราะห์ (ผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย)
ในอดีต ขนมเยลลี่เจลาตินมีภาพลักษณ์ที่ไม่ดีต่อสุขภาพ ผู้ผลิตได้พยายามเปลี่ยนแปลงภาพลักษณ์จนปัจจุบันมูลค่าตลาดขนมเยลลี่เจลาตินได้แซงหน้ามูลค่าตลาดหมากฝรั่งไปแล้ว นอกจาก ผู้บริโภคกลุ่มวัยรุ่นที่นิยมถ่ายภาพลงสื่อโซเชียลแล้ว กลุ่มผู้บริโภคชายวัยกลางคนยังเป็นอีกกลุ่มที่นิยมรับประทานขนมเยลลี่เจลาตินอีกด้วย
“ขนมเยลลี่เจลาติน (Gummy Jelly) มาแรง”จากการสำรวจมูลค่าตลาดขนมเยลลี่เจลาติน (เส้นกราฟสีแดง) ของบริษัท Intage inc. พบว่า ปี 2565 มีมูลค่า 78,100 ล้านเยน (ประมาณ 20,000 ล้านบาท) แซงหน้ามูลค่าตลาดหมากฝรั่ง (เส้นกราฟสีฟ้า) ซึ่งในปี 2565 มีมูลค่า 54,800 ล้านเยน (13,600 ล้านบาท) โดยในปี 2560 มูลค่าตลาดหมากฝรั่งเท่ากับ 82,300 ล้านเยน (ประมาณ 20,500 ล้านบาท) และมูลค่าตลาดขนมเยลลี่เจลาตินเท่ากับ 55,500 ล้านเยน (ประมาณ 13,800 ล้านบาท) โดยมูลค่าตลาดขนมเยลลี่เจลาตินเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดในปี 2563 เป็นต้นมาซึ่งตรงกับช่วงการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ในขณะที่มูลค่าตลาดหมากฝรั่งลดลงอย่างเห็นได้ชัดเช่นกัน สาเหตุหลักๆเนื่องจากช่วงการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ทำให้ผู้คนอยู่บ้านมากขึ้น จึงมีการลดการบริโภคหมากฝรั่งเพื่อระงับกลิ่นปากและเพื่อให้หายง่วง และมีบางส่วนไม่อยากถอดหน้ากากเพื่อคายหมากฝรั่ง เพราะเมื่อเคี้ยวหมากฝรั่งเวลาใส่หน้ากากจะทำให้หน้ากากเลื่อนลงมา เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีสาเหตุอื่นๆ เช่น จำนวนคนสูบบุหรี่ลดลง ส่วนคนที่ยังสูบบุหรี่อยู่ก็มีความนิยมในการเปลี่ยนจากการเคี้ยวหมากฝรั่งเป็นการกินลูกอมอัดเม็ดเพื่อระงับกลิ่นปากแทน อีกทั้ง ถังขยะในเมืองลดลงทำให้หาที่ทิ้งหมากฝรั่งยากขึ้น สำหรับขนมเยลลี่เจลาตินที่มีรสชาติและรูปร่างที่หลากหลายช่วยเพิ่มสีสันความสนุกสนานและเพลิดเพลินในการรับประทานจึงได้รับความนิยมมากขึ้นเมื่อผู้คนต้องใช้เวลาอยู่บ้านมากขึ้น
มูลค่าตลาดหมากฝรั่งที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง ทำให้บริษัทขนมยักษ์ใหญ่อย่าง Meji Co., Ltd. ประกาศยกเลิกการจำหน่ายหมากฝรั่งแบรนด์ XYLISH ของบริษัทฯ และสิ้นสุดการจำหน่ายในเดือนมีนาคม 2566 ที่ผ่านมา โดยบริษัทให้ความเห็นว่า ความเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อมทางสังคมทำให้เกิดช่องว่างระหว่างความต้องการของผู้บริโภคและคุณค่าของหมากฝรั่งมากขึ้น หากมองตัวเลขการส่งออกหมากฝรั่งของไทยสู่ประเทศญี่ปุ่น ก็จะเห็นได้ว่ามีมูลค่าลดลงอย่างเห็นได้ชัดเช่นกัน โดยในปี 2556 (เดือนมกราคม – เดือนธันวาคม) มีมูลค่าส่งออก 472,602,176 บาท ส่วนในปี 2565 (เดือนมกราคม – ธันวาคม) มีมูลค่าส่งออกเพียง 67,140 บาท (ข้อมูลจาก ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์) เทรนด์ผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงส่งผลกระทบต่อมูลค่าการส่งออก และอาจเป็นโอกาสในการเพิ่มมูลค่าการส่งออกสินค้าใหม่ๆก็เป็นได้

——————————————————————

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น

8 พฤษภาคม 2566


อ้างอิง
หนังสือพิมพ์ Nikkei MJ ฉบับวันที่ 24 เมษายน 2566
ภาพถ่ายประกอบข่าวจากหนังสือพิมพ์ Nikei MJ
กราฟประกอบบทความวิเคราะห์จากเว็บไซต์
https://xtrend.nikkei.com/

thThai