กระจายอำนาจหน้าที่ให้ท้องถิ่น อินเดียดันสินค้าโอท็อปโกอินเตอร์

อินเดียเตรียมวางมาตรการและกลไกในการส่งเสริมสินค้าท้องถิ่นสู่งสากล โดยรัฐบาลอินเดียได้ประกาศใช้นโยบายการค้าต่างประเทศประจำปี 2566 (Foreign Trade Policy: FTP 2023) เมื่อวันที่ 1 เมษายนที่ผ่านมา ตั้งเป้าที่จะผลักดันการส่งออกสินค้าที่ผลิตโดยผู้ประกอบการรายย่อยในภูมิภาคให้มากขึ้น ด้วยกลไกการส่งเสริมการส่งออกแบบกระจายที่ผ่อนถ่ายอำนาจการตัดสินใจและการขับเคลื่อนไปสู่หน่วยงานในพื้นที่ (Bottom-up / Decentralized Export Promotion) รวมถึงพัฒนาระบบการประสานความร่วมมือระหว่างทูตพาณิชย์และหน่วยงานในภูมิภาคด้วย

ทั้งนี้ อินเดียมองว่าการยกระดับเศรษฐกิจไม่เพียงแต่จะต้องดึงดูดบรรษัทข้ามชาติเข้ามาลงทุนผลิตสินค้ามูลค่าเพิ่มสูงและเชื่อมโยงห่วงโซ่กับเครือข่ายการผลิตระดับโลกเท่านั้น แต่จะต้องยกระดับการผลิตและการส่งออกของ SMEs ให้ได้ทั่วถึงด้วย (Social Inclusion) จึงได้กำหนดแนวทางส่งเสริมการส่งออกให้เติบโตจากระดับท้องถิ่น (District-led Export Growth)

จากแนวทางดังกล่าว รัฐบาลกลางอินเดียจะคัดเลือกอำเภอที่มีศักยภาพในการส่งออกสินค้าที่ตลาดโลกต้องการและมีแนวโน้มจะแข่งขันกับประเทศอื่นได้ โดยปัจจุบันมี 35 อำเภอที่ถูกคัดเลือกให้เป็นศูนย์กลางการผลิตและส่งออกสินค้าเฉพาะทาง (District as Exports Hubs) แล้ว ยกตัวอย่างเช่น เมือง Varanasi, Faridabad, Mirzapur และ Moradabad โดยเมือง Varanasi จะเน้นผลิตและส่งออกสินค้าจากผ้าทอมือ ในขณะที่ เมือง Faridabad จะเป็นศูนย์กลางของคลัสเตอร์เครื่องนุ่งห่ม เป็นต้น (https://exporthubs.gov.in) หลังจากที่มีการคัดเลือกแล้ว รัฐบาลกลางจะจัดสรรงบประมาณและมาตรการสนับสนุนให้กับหน่วยงานระดับพื้นที่ไปดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ภายใต้ Market Access Initiative (MAI) scheme

ในการวางแผนการส่งเสริมการส่งออก (Specific Export Action Plan) จะมีคณะกรรมการที่ประกอบด้วยตัวแทนภาครัฐ เอกชนและสถาบันการศึกษาในระดับพื้นที่ (District Export Promotion Committees: DEPC) โดยมุ่งเน้นสินค้าศักยภาพหลักๆ เพียง 2-3 รายสินค้า ก่อนนำไปเสนอต่อคณะกรรมการระดับมลรัฐ หรือ State Export Promotion Committee (SEPC) ซึ่งมีหน่วยงานด้านการค้าระหว่างประเทศในระดับมลรัฐเป็นประธาน เพื่อพิจารณาให้การสนับสนุนในด้านงบประมาณและอำนวยความสะดวกในการจัดกิจกรรมต่างๆ ต่อไป อาทิ การจัดกิจกรรมจับคู่ธุรกิจ (Buyer-Seller Meets) การจัดงานแสดงสินค้า และการเข้าร่วมงานแสดงสินค้าในต่างประเทศ

ในขณะที่ หน่วยงานในส่วนกลางจะเน้นเรื่องการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อการจัดเก็บและขนส่ง/โลจิสติกส์ การลดภาษี/ค่าธรรมเนียม การปรับแก้ไขกฎระเบียบและระบบสารสนเทศเพื่อลดภาระของผู้ส่งออก ในขณะเดียวกัน จะมีคณะทำงานเพื่อติดตามและประเมินผล (Online Monitoring of District Export) ด้วย เพื่อนำผลไปรายงานในเว็บไซต์ของส่วนกลางและกระตุ้นให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกันต่อไปด้วย

ข้อมูลเพิ่มเติมและข้อคิดเห็น

  1. เช่นเดียวกับไทย รัฐบาลในระดับมลรัฐของอินเดียพยายามกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากโดยนำแนวทางของญี่ปุ่น (One District One Product: ODOP) มาปรับใช้ตั้งแต่ปี 2561 การส่งเสริมการส่งออกระดับท้องถิ่นของอินเดียนี้ก่อให้เกิดความต้องการและโอกาสของผู้ผลิตไทยตามมา อาทิ เครื่องจักรและบรรจุภัณฑ์ เช่น กระป๋องเพื่อนำมาบรรจุผักและผลไม้แปรรูป เป็นต้น และยังสะท้อนถึงความต้องการบริการจัดเก็บสินค้าเกษตรด้วย ซึ่งอินเดียยังขาดความชำนาญด้านการจัดการไซโล โกดังและห้องเย็น
  2. ความพยายามของอินเดียในการยกระดับผู้ประกอบการชุมชนสะท้อนถึงแนวโน้มระยะยาวที่อินเดียจะก้าวขึ้นมาเป็นคู่แข่งในตลาดในกลุ่มอาหารและเกษตรแปรรูป ผ้าทอ เครื่องหนัง ตุ๊กตาและของเล่น อย่างไรก็ตาม คาดว่าการออกแบบและความประณีตซับซ้อนของไทยจะยังคงรักษาความได้เปรียบได้ต่อไป โดยเฉพาะในตลาดผู้มีรายได้สูงในอินเดียที่นิยมซื้อของตกแต่งและของใช้บนโต๊ะอาหารจากไทย รวมถึงกระเป๋าถือสำหรับผู้หญิง สินค้าแฟชั่น และ เครื่องประดับ
  3. ในด้านการลงทุน การยกระดับการส่งออกเป็นรายรัฐและอำเภอของอินเดียจะเป็นโอกาสที่ผู้ผลิตไทยจะเข้าไปลงทุนเพื่อนำสินค้าขั้นต้นและขั้นกลางในอินเดียไปต่อยอดการผลิตและจำหน่ายในอินเดีย ทั้งนี้ อาจศึกษาศักยภาพและแผนการพัฒนาการส่งออกของแต่ละพื้นที่ได้จากรายงาน Export Preparedness Index[1] ของหน่วยงานด้านการวางแผนเศรษฐกิจของอินเดีย ที่มีการศึกษาศักยภาพของแต่ละพื้นที่ไว้แล้ว ซึ่งหน่วยงานของไทยก็สามารถนำมาปรับใช้ได้ด้วยเช่นกัน

 

[1] https://www.niti.gov.in/sites/default/files/2022-03/Final_EPI_Report_25032022.pdf
https://www.mofpi.gov.in/sites/default/files/final_revised_odop_list_of_713_districts_with_om.pdf

 

 

 

thThai