• สาเหตุที่ตลาดเครื่องปรับอากาศขยายตัวดีในปี 2565 ส่วนหนึ่งมาจากการขยายตัวของประชากรอย่างรวดเร็วของประเทศต่างๆที่มีขนาดใหญ่และประชากรมาก เช่น อินเดีย จีน และอินโดนีเซีย ซึ่งประชากรโดยรวมมีฐานะทางเศรษฐกิจที่มั่นคงขึ้น และสามารถหาซื้อความสะดวกสบายให้กับชีวิตในบ้านและที่ทำงาน เครื่องปรับอากาศจึงเป็นตัวเลือกหนึ่งที่มีความสำคัญ มีการคาดการณ์ว่า ในปี 2568 เครื่องปรับอากาศประมาณครึ่งหนึ่งของโลกจะจำหน่ายในประเทศดังกล่าว
  • ปัจจัยกำหนดอีกประการหนึ่งที่ผลักดันให้ประชากรทั่วโลกซื้อเครื่องปรับอากาศคือการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลก ภาวะโลกร้อนส่งผลกระทบอย่างรุนแรงกับสภาพภูมิอากาศของสหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย และไซบีเรีย จึงทำให้มีความต้องการระบบปรับอากาศสูงที่สุด
  • การระบาดใหญ่ของไวรัสโควิด-19 และการล็อกดาวน์เต็มรูปแบบ มีบทบาทสำคัญในการใช้เครื่องปรับอากาศภายในบ้าน ผู้คนจำนวนมากต้องทำงานอยู่กับบ้าน (smart working) เป็นระยะเวลานานเป็นปี ได้มีส่วนกระตุ้นให้เกิดความต้องการสร้างบ้านที่ให้มีบรรยากาศสุขสบาย เครื่องปรับอากาศจึงได้รับความนิยมมากและมีการเติบโตของตลาดสูงในช่วงเวลาดังกล่าว ในปี 2563 เครื่องปรับอากาศสร้างรายได้ประมาณ 123.19 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ และคาดการณ์ว่าแนวโน้มเชิงบวกจะต่อเนื่องจนถึงปี 2571 โดยมีการผลิตเพิ่มขึ้นประมาณ 5.5% ต่อปี
  • ปี 2565 อิตาลีนำเข้าเครื่องปรับอากาศจากจีน มากที่สุด มีมูลค่า 935.02 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (+34.25%) รองลงมา ไทย มีมูลค่า 256.08 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (+15.17%) สาธารณรัฐเชค มีมูลค่า 208.92 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (+9.75%) เยอรมนี มีมูลค่า 144.83 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (+20.39%) ตุรกี มีมูลค่า 134.85 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (+25.18%) เนเธอร์แลนด์ มีมูลค่า 100.32 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (+35.84%) เบลเยี่ยม มีมูลค่า 94.05 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (-4.38%) มาเลเซีย มีมูลค่า 84.69 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (-16.13%) ฝรั่งเศส มีมูลค่า 77.73 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (+13.16%) และ สเปน มีมูลค่า 76.95 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (-0.88%) ตามลำดับ เมื่อเทียบกับปี 2564
  • ปี 2565 ไทยส่งออกเครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบไปอิตาลี มีมูลค่า 227.15 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวเพิ่มขึ้น +13.69% เมื่อเทียบกับปี 2564 (ที่มีมูลค่า 199.80 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) ในขณะที่ ปี 2566 (ระหว่างเดือนมกราคมมีนาคม) ไทยส่งออกเครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบไปอิตาลี มีมูลค่า 117.46 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวเพิ่มขึ้น +64.30% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า (ที่มีมูลค่า 71.49 ล้านเหรียญสหรัฐฯ)

ข้อเสนอแนะและความคิดเห็นของ สคต. มิลาน

1. ปี 2566 (มกราคม – มีนาคม) ไทยส่งออกเครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบไปอิตาลี มีมูลค่า 117.46 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวเพิ่มขึ้น +64.30% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า (ที่มีมูลค่า 71.49 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) โดยในปี 2565 ไทยส่งออกเครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบไปอิตาลี มีมูลค่า 227.15 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวเพิ่มขึ้น +11.07% เมื่อเทียบกับปี 2564 (ที่มีมูลค่า 119.80 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) โดยอิตาลีนำเข้าเครื่องปรับอากาศจากไทยเป็นอันดับสองรองจากจีน ดังนั้น ไทยยังมีศักยภาพสูงในการผลิตและส่งออกมายังอิตาลี

2. อากาศที่ร้อนผิดปกติ อุณหภูมิเฉลี่ยเพิ่มสูงขึ้น และมีความรุนแรงในบางช่วง ที่ร้อนจัดและเป็นเวลานาน เหล่านี้เป็นปรากฎการณ์ที่กระตุ้นให้ตลาดเครื่องปรับอากาศขยายตัว และอิตาลียังเป็นประเทศที่มีเครื่องปรับอากาศน้อยมาก โดยเฉพาะสำหรับที่อยู่อาศัย เนื่องจากอากาศเมื่อหลายปีก่อนฤดูร้อนไม่ร้อนจัดเหมือนปัจจุบัน

3. ปัจจุบันมีการใช้ชีวิตอยู่กับบ้านมากขึ้นในช่วงฤดูร้อนที่ยาวขึ้น การไปเที่ยวพักร้อนที่นิยมกันมากตามทะเลและภูเขาที่มีอากาศเย็นสบายมีระยะเวลาสั้นลงมาก เนื่องจากระบบการทำงานที่เปลี่ยนไป การพักร้อนยาวแบบใช้วันหยุดรวดเดียวเป็นเดือนๆ ไม่สามารถขอได้เหมือนสมัยก่อน การหยุดอยู่บ้านและการทำงานแบบ Smart working เพิ่มขึ้น ความต้องการความสบายจึงทำให้เครื่องปรับอากาศเป็นตัวเลือกที่สำคัญ

4. ปัญหาพลังงานจากการขึ้นราคาอย่างก้าวกระโดดในปีที่ผ่านมา ทำให้ผู้บริโภคต้องการสินค้าประหยัดไฟ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และมีใบรับประกันมาตรฐานสินค้าประสิทธิภาพสูง เพื่อความปลอดภัยต่อสุขภาพ

5. เครื่องปรับอากาศเป็นสินค้าคงทน และเป็นสินค้าที่ต้องมีการตรวจสภาพและซ่อมบำรุงอย่างต่อเนื่อง จึงไม่ใช่สินค้าที่ผู้บริโภคเลือกซื้อด้วยราคาประหยัดเป็นหลัก แต่ต้องการสินค้าที่ให้ความมั่นใจว่าจะไม่เกิดข้อขัดข้องที่ไม่คาดคิดในภายหลัง  ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยจึงควรมองหาโอกาสในการพัฒนารูปแบบและคุณภาพสินค้าให้เหมาะสมกับตลาดยิ่งขึ้น ด้วยการศึกษาแนวโน้มสินค้าและตลาด อีกทั้งตรวจสอบกฎระเบียบของสหภาพยุโรปที่เกี่ยวข้องกับสินค้าในหมวดดังกล่าว เพื่อนำเสนอสินค้าที่สามารถจำหน่ายได้ในตลาดของคู่ค้า และผลักดันให้มีการส่งออกเพิ่มขึ้น

thThai