งานแสดงสินค้า Fastener Fair Global เป็นงานแสดงสินค้าเทคโนโลยีเครื่องยึดและส่วนประกอบต่างๆ ที่ใหญ่ที่สุดในโลก จัดเป็นประจำทุกๆ 2 ปี ณ เมืองชตุทท์การ์ต โดยปีนี้จัดขึ้นระหว่างวันที่ 21 – 23 มีนาคม 2566 ถือเป็นการจัดงานครั้งที่ 9 และเป็นงานเจรจาสำหรับนักธุรกิจเท่านั้น

ผู้เข้าเยี่ยมชมงานส่วนใหญ่เป็นผู้จัดจำหน่าย ซัพพลายเออร์ และวิศวกรจากหลายภาคอุตสาหกรรม เช่น ก่อสร้าง ยานยนต์ และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องใช้ไฟฟ้า เป็นต้น โดยในปีนี้มีผู้เข้าร่วมจัดแสดงสินค้าประมาณ 1,000 เพิ่มขึ้นจากปี 2562 ร้อยละ 1.32 (987 บริษัท) และมีผู้เข้าเยี่ยมชมงานแสดงสินค้า 11,000 รายจาก 83 ประเทศทั่วโลก ลดลงร้อยละ 8.86 เมื่อเทียบกับการจัดงานฯ ครั้งก่อน (12,070 ราย) อย่างไรก็ตาม ถือว่าเสียงตอบรับยังเป็นไปในเชิงบวก เนื่องจากเป็นการกลับมาจัดงานปีแรกหลังจากวิกฤติการณ์ไวรัสโควิด-19

สำหรับการจัดงานปีนี้มีเทรนด์สินค้าและตลาดที่น่าสนใจ ดังนี้

1. เครื่องยนต์ไฟฟ้า

ในปัจจุบัน มีการลงทุนเพิ่มมากขึ้นในอุตสาหกรรมก่อสร้าง และมีการเติบโตสูงในกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์และการบิน คาดการณ์ว่าอุตสาหกรรมเหล่านี้จะเติบโตอย่างต่อเนื่องจนถึงปี 2573 ส่งผลให้อุปกรณ์เครื่องยึิดเป็นที่ต้องการมากขึ้นด้วย โดยเฉพาะในกลุ่มรถยนต์ไฟฟ้า เครื่องยึดต้องทำมาจากวัสดุที่ช่วยในการนำหรือต้านกระแสไฟฟ้า เช่น เหล็กกล้าคาร์บอนที่ผ่านการอบชุบ สแตนเลส ทองเหลือง ทองแดง และบรอนซ์ เนื่องจากต้องใช้ในส่วนประกอบยานยนต์ เช่น แผงวงจร สวิชต์ หรือยึดสายไฟ เป็นต้น

2. Net Zero Emission

ความยั่งยืนยังคงเป็นหัวข้อสำคัญในกลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องยึด โดยหนึ่งในประเด็นที่น่าจับตามองคืิอ Net Zero Emission หรือ การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ในเดืิอนธันวาคม 2565 ที่ผ่านมา สหภาพยุโรปได้ประกาศว่าจะเก็บภาษีคาร์บอนชายแดนจากผู้นำเข้าเหล็ก ซีเมนต์ และสินค้าที่ก่อให้เกิดมลภาวะอื่นๆ ซึ่งครอบคลุมถึงผลิตภัณฑ์ต้นน้ำ เช่น เหล็ก อะลูมิเนียม และซีเมนต์ ไปจนถึงผลิตภัณฑ์ปลายน้ำ เช่น ตะปูควง สลักเกลียว โดยมาตรการใหม่นี้จะมีการเริ่มทดลองใช้ในวันที่ 1 ตุลาคม 2566 ส่งผลให้ผู้ผลิตเครื่องยึดหลายรายหันมาลงทุนในทรัพยากรที่ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนและมลภาวะทางอากาศ เช่น การใช้เครื่องฟอกอากาศแบบไฟฟ้าสถิต และระบบรีไซเคิลก๊าซ เป็นต้น

3. Smart manufacturing

เพื่อตอบสนองต่อเทรนด์ความยั่งยืนในกระบวนการผลิต ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงในกลุ่มผู้ผลิตเครื่องยึดในการหันมาใช้กระบวนการผลิตอัจฉริยะ (smart manufacturing) ซึ่งเป็นแนวทางดิจิทัลในการเพิ่มประสิทธิภาพทุกขั้นตอนของกระบวนการผลิตเครื่องจักรตั้งแต่การสร้างเครื่องจักรไปจนถึงการดำเนินการการผลิตและการยืดอายุการใช้งาน โรงงานขั้นสูงสามารถติดตามข้อมูลโรงงาน เช่น ปริมาณการใช้กระแสไฟฟ้า และประสิทธิภาพการทำงานของเครื่องจักร จึงช่วยให้ผู้ผลิตสามารถบริหารและจัดเก็บพลังงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงสามารถใช้ทรัพยากรได้เกิดประโยชน์สูงสุด ลดการสร้างขยะ

ข้อคิดเห็นของ สคต. แฟรงก์เฟิร์ต

ที่ประชุมสมาชิกรัฐสภายุโรป (MEPs) บรรลุข้อตกลงมาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดน (Carbon Border Adjustment Mechanism: CBAM) โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ วันที่ 1 ตุลาคม 2566 เป็นต้นไป โดยเบื้องต้นจะจัดเก็บภาษีเพิ่มเติมสำหรับสินค้าที่นำเข้าจากประเทศที่ไม่มีระเบียบควบคุมการปล่อยคาร์บอน จากสินค้า 5 กลุ่ม ได้แก่ ปูนซีเมนต์ ปุ๋ย เหล็ก อลูมิเนียม และกระแสไฟฟ้า ในฐานะที่ผู้ประกอบการไทยสินค้าเครื่องยึดเน้นรับจ้างผลิต (OEM) เป็นหลัก มาตรการดังกล่าวย่อมส่งผลให้สินค้าส่งออกมีราคาแพงขึ้นจากต้นทุนภาษีที่เพิ่มขึ้น หรืออาจไม่ได้รับอนุญาตให้นำเข้าสหภาพยุโรปเลย  ผู้ประกอบการไทยควรเร่งปรับตัวและพัฒนาสินค้าให้สอดคล้องกับกระแสดังกล่าว มีแนวทางการลดก๊าซคาร์บอนในห่วงโซ่อุปทาน เช่น การใช้พลังงานหมุนเวียนและเทคโนโลยีสีเขียว สร้างอัตลักษณ์ให้สินค้าและใช้นวัตกรรมเข้ามาทำการตลาด รวมถึงเข้าร่วมงานแสดงสินค้าในต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง เพื่อขยายฐานลูกค้า เช่น งานแสดงสินค้า Eisenwarenmesse สำหรับสินค้าเครื่องมือ อุปกรณ์ก่อสร้าง และเครื่องมือช่าง

ที่มา:

www.fastenerfairglobal.com

www.fastener-world.com

เครดิตรูปภาพ: Mack-Brooks Exhibitions

 

thThai