เครื่องปรุงรสไทยเป็นหัวใจสำคัญของอาหารไทย ซึ่งมีความหลากหลายและเป็นเอกลักษณ์ ทั้งในด้านรสชาติ กลิ่น และวัตถุดิบ ตัวอย่างเช่น น้ำปลา น้ำพริก พริกแกง กะปิ และซอสปรุงรสต่าง ๆ โดยส่วนใหญ่ใช้วัตถุดิบจากธรรมชาติ เช่น ปลาหมัก พริก กระเทียม หรือสมุนไพรไทย โดยเฉพาะพริกแกงไทยซึ่งมีรสจัดจ้าน กลิ่นหอม และมักปรุงสดใหม่ มีบทบาทสำคัญในการทำให้อาหารไทยเป็นที่รู้จักในระดับสากล เครื่องปรุงไทยจึงไม่ใช่เพียงส่วนประกอบในอาหาร แต่ยังสะท้อนถึงวัฒนธรรม ความพิถีพิถัน และความใส่ใจในสุขภาพของผู้บริโภค ซึ่งในปัจจุบันได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นในหลายประเทศ รวมถึงประเทศจีน ผู้ประกอบการร้านอาหารไทยในจีน
จำนวนมากเลือกใช้เครื่องปรุงรสที่นำเข้าจากประเทศไทยโดยตรง เนื่องจากรสชาติที่เป็นเอกลักษณ์และวัตถุดิบจากธรรมชาติ ซึ่งตอบโจทย์แนวโน้มของผู้บริโภคจีนที่ให้ความสำคัญกับ “อาหารสุขภาพ” และ “ของแท้จากต้นตำรับ”
แหล่งที่มาของรูป
ข้อมูลจาก UN Comtrade Database (2024) ภายใต้รหัสสินค้า HS Code 2103 ซึ่งครอบคลุมสินค้าประเภทซอส เครื่องปรุงรส และผลิตภัณฑ์ปรุงอาหาร ระบุว่า ประเทศไทยมีการส่งออกเครื่องปรุงรสไปยังประเทศจีนอย่างต่อเนื่องและเติบโตอย่างมีนัยสำคัญตลอดช่วง 10 ปีที่ผ่านมา โดยในปี 2013 มูลค่าการส่งออกอยู่ที่ 9.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และเพิ่มขึ้นเป็น 28.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2021 ก่อนจะขยับขึ้นเป็น 30.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2024 ซึ่งนับเป็นระดับสูงสุดในรอบทศวรรษ ทั้งนี้ จากการวิเคราะห์อัตราการเติบโตเฉลี่ยสะสมต่อปี (CAGR) พบว่าอยู่ที่ประมาณ 10–12% ต่อปี สะท้อนถึงความนิยมที่เพิ่มขึ้นของเครื่องปรุงไทยในตลาดจีน โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการลดภาษีนำเข้าภายใต้ความตกลง RCEP รวมถึงความร่วมมือทางการค้าอื่น ๆ ที่เอื้อต่อการเติบโตของการส่งออกสินค้าอาหารไทยอย่างต่อเนื่องและมั่นคง
แหล่งที่มาของรูป https://www.sohu.com/a/800712328_120536144
ตลาดเครื่องปรุงรสในจีนมีการแข่งขันสูง โดยมีผู้เล่นกระจายอยู่ในหลายระดับของห่วงโซ่อุปทาน ตั้งแต่ภาคต้นน้ำ (การเพาะปลูกและผลิตวัตถุดิบ) ภาคกลางน้ำ (ผู้ผลิตซอสและเครื่องปรุงรสสำเร็จรูป) ไปจนถึงภาคปลายน้ำ (ร้านอาหาร ซูเปอร์มาร์เก็ต และอีคอมเมิร์ซ)
แบรนด์เครื่องปรุงรสที่มีบทบาทในตลาดจีน ได้แก่ Shinho Wangzhihe Lee Kum Kee และ Zhongjing ฯลฯ ซึ่งมีระบบการผลิตและจำหน่ายที่ครอบคลุมแบรนด์ไทย เช่น โลโบ รสดี ทิพรส และพันท้าย เริ่มเข้าสู่ตลาดจีนผ่านช่องทางอีคอมเมิร์ซ เช่น Taobao และ Pinduoduo รวมถึงร้านอาหารไทยที่ยังคงใช้วัตถุดิบนำเข้าจากไทย
แม้ผู้ประกอบการไทยยังต้องเผชิญกับการแข่งขันจากแบรนด์ท้องถิ่นที่เข้าใจพฤติกรรมผู้บริโภคจีนและออกแบบผลิตภัณฑ์ให้ตรงกับความต้องการ เช่น ความเผ็ดอ่อน โซเดียมต่ำ หรือใช้งานสะดวก แต่จุดแข็งของเครื่องปรุงไทย เช่น รสชาติต้นตำรับและการใช้วัตถุดิบธรรมชาติ ยังคงได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่อง
ข้อคิดเห็น สคต.เซี่ยงไฮ้
ตลาดอาหารและเครื่องปรุงในจีนมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง จากการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้บริโภคที่ให้ความสำคัญกับสุขภาพและรสชาติต้นตำรับ ทำให้ผลิตภัณฑ์จากต่างประเทศที่ใช้วัตถุดิบธรรมชาติและมีสูตรเฉพาะได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน สินค้าเครื่องปรุงไทยมีจุดแข็งในเรื่องความหลากหลายของรสชาติ วัตถุดิบธรรมชาติ และภาพลักษณ์ของอาหารไทยที่เป็นที่รู้จักในระดับสากล ประกอบกับการขยายตัวของร้านอาหารไทยในจีน ทำให้ความต้องการเครื่องปรุงแท้จากประเทศไทยเพิ่มมากขึ้น ข้อตกลงทางการค้าระดับภูมิภาค เช่น RCEP ยังมีส่วนช่วยลดต้นทุนการส่งออกและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของไทย อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการไทยควรวางกลยุทธ์อย่างรอบคอบ โดยวางตำแหน่งสินค้าให้เป็น “เครื่องปรุงพรีเมียม” ที่เน้นสุขภาพ เพื่อสะท้อนถึงคุณภาพ ความปลอดภัย และความแตกต่างจากแบรนด์ทั่วไปในตลาด พร้อมทั้งเจาะตลาดผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ยอดนิยมของจีน เช่น Xiaohongshu, Taobao และ WeChat โดยเน้นการทำตลาดร่วมกับ KOL และ Influencer ซึ่งสามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้อย่างแม่นยำ ในขณะเดียวกันควรสร้างประสบการณ์แบรนด์ผ่านร้านอาหารไทยในจีน เพื่อให้ผู้บริโภคชาวจีนได้สัมผัสรสชาติแท้ของอาหารไทยจากวัตถุดิบนำเข้าโดยตรง รวมถึงการพัฒนาสูตรและบรรจุภัณฑ์ให้เหมาะสมกับความต้องการของตลาดจีน เช่น สูตรอ่อนเผ็ด หรือขนาดพกพาสำหรับผู้บริโภคในเมือง ทั้งนี้ การวางแผนอย่างรอบคอบจะช่วยลดต้นทุนและเสริมสร้างศักยภาพทางการตลาดของผู้ประกอบการไทยในระยะยาว
แหล่งที่มา
https://comtradeplus.un.org/TradeFlow
https://www.mcot.net/view/kSOitL0S
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครเซี่ยงไฮ้
พฤษภาคม 2568