รัฐบาลเดนมาร์กเผยรายงานเศรษฐกิจล่าสุด คาดว่าเศรษฐกิจประเทศจะเติบโตแข็งแกร่งในปี 2025 แม้จะเริ่มต้นปีได้ชะลอตัวและมีความไม่แน่นอนจากสถานการณ์การค้าระหว่างประเทศ โดย GDP ของประเทศหดตัวเล็กน้อยในช่วงต้นปี แต่คาดว่าจะฟื้นตัวได้ในไตรมาสถัดไป และเติบโตโดยรวมถึง 3% ภายในสิ้นปี ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงกว่าคาดการณ์เดิมเล็กน้อย
แรงสนับสนุนการเติบโต มาจากอุตสาหกรรมยา ซึ่งจะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจคิดเป็นสัดส่วน 1.1% ในปีนี้ และการกลับมาเปิดดำเนินงานของแหล่งน้ำมัน Tyra ในทะเลเหนือที่ช่วยเพิ่มอีก 0.5% นอกจากนี้บริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง Novo Nordisk และ Vestas ที่มีฐานการผลิตในสหรัฐฯ ยังช่วยลดผลกระทบจากภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ ได้ส่วนหนึ่ง
การจ้างงานและค่าจ้าง มีแนวโน้มสดใส โดยคาดว่าจะมีตำแหน่งงานเพิ่มขึ้น 29,000 ตำแหน่ง ในปีนี้ และอีก 4,000 ตำแหน่งในปีหน้า ขณะที่ค่าแรงภาคเอกชนจะเพิ่มขึ้น 3.5% ในปี 2025 และ 3.2% ในปี 2026 ปัจจัยหนุนการจ้างงานมาจากแรงงานต่างชาติ และผู้สูงอายุที่ชะลอการเกษียณ
เงินเฟ้อ คาดว่าจะอยู่ในระดับต่ำที่ 1.9% ในปีนี้ และ 1.7% ในปีหน้า ส่วนราคาที่อยู่อาศัย คาดว่าจะปรับตัวขึ้น 3.6% ในปี 2025 และ 3% ในปี 2026 สอดคล้องกับแนวโน้มค่าจ้างจริงที่เพิ่มขึ้น อัตราดอกเบี้ย ที่ลดลง และระดับการจ้างงานที่สูง
แนวโน้มปี 2026 อาจเห็นการชะลอตัวของเศรษฐกิจ โดยรัฐบาลคาดการณ์การเติบโตเพียง 1.4% แต่ยังถือว่าดีกว่าหลายประเทศเพื่อนบ้าน
รัฐมนตรีเศรษฐกิจ Stephanie Lose ระบุว่าสถานการณ์การค้าระหว่างประเทศ โดยเฉพาะความตึงเครียดจากนโยบายภาษีของสหรัฐฯ เป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญ อย่างไรก็ตาม หากไม่มีมาตรการภาษีเหล่านี้ เศรษฐกิจเดนมาร์กอาจเติบโตได้ถึง 3.7%
รัฐบาลเตรียมปรับเพิ่มการคาดการณ์งบประมาณส่วนเกิน (økonomisk råderum) ภายในสิ้นเดือนมิถุนายน ซึ่งจะมีบทบาทสำคัญต่อการวางแผนนโยบายเศรษฐกิจระยะยาวถึงปี 2030 โดยรัฐมนตรีการคลัง Nicolai Wammen ให้คำมั่นว่าจะมี “การปรับเพิ่มงบประมาณอย่างมีนัยสำคัญ” เพื่อรองรับแผนในอนาคต
ที่มา: thelocal.dk
บทวิเคราะห์ผลกระทบต่อไทย ข้อเสนอแนะ โอกาสและแนวทาง และความคิดเห็นของสคต.:
แนวโน้มเศรษฐกิจของเดนมาร์กในปี 2025 ที่รัฐบาลประกาศไว้อย่างมั่นใจว่าจะเติบโตถึง 3% ท่ามกลางความไม่แน่นอนทั่วโลก ถือเป็นโอกาสของผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะในภาคการส่งออก ด้วยอัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับต่ำ ค่าจ้างแรงงานเพิ่มขึ้น และอัตราการจ้างงานสูง ย่อมส่งผลให้กำลังซื้อของผู้บริโภคเดนมาร์กแข็งแกร่งขึ้น ซึ่งเป็นสัญญาณเชิงบวกต่อความต้องการสินค้าอุปโภคบริโภคจากต่างประเทศ รวมถึงสินค้าไทย เช่น อาหารแปรรูป เครื่องปรุงรส ของใช้ในบ้าน และสินค้าแฟชั่น โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าที่มีจุดขายเรื่องคุณภาพและเอกลักษณ์เฉพาะตัว
อย่างไรก็ตาม ความไม่แน่นอนด้านการค้าโลก โดยเฉพาะผลกระทบจากมาตรการภาษีของสหรัฐฯ และความตึงเครียดทางการค้าระหว่างประเทศ อาจส่งผลกระทบทางอ้อมต่อระบบโลจิสติกส์ระหว่างประเทศ และต้นทุนการขนส่งสินค้า ซึ่งไทยควรเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด นอกจากนี้ การแข่งขันจากคู่แข่งในตลาด EU ที่ได้รับสิทธิพิเศษทางการค้าจากข้อตกลง FTA กับเดนมาร์ก อาจเป็นอุปสรรคที่สำคัญต่อผู้ส่งออกไทยที่ยังไม่มีข้อตกลงการค้าเสรีกับสหภาพยุโรปอย่างเต็มรูปแบบ
ข้อเสนอแนะและโอกาส: ผู้ประกอบการอาจมองหาโอกาสใหม่จากภาคธุรกิจที่เดนมาร์กให้ความสำคัญ เช่น สินค้าสุขภาพ ผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติ กลุ่มผลิตภัณฑ์อาหาร plant-based และสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งสอดรับกับแนวโน้มของผู้บริโภคในเดนมาร์ก และกลุ่มประเทศนอร์ดิก อีกทั้งอาจเร่งสร้างแบรนด์ และมูลค่าเพิ่มให้สินค้าผ่านการรับรองมาตรฐานสากล การร่วมมือกับบริษัทผู้นำเข้า หรือผู้ค้าปลีกในเดนมาร์กโดยตรง ซึ่งอาจช่วยลดความเสี่ยง และสร้างฐานตลาดระยะยาวได้อย่างยั่งยืน
กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ
กระทรวงพาณิชย์
563 ถนน นนทบุรี ตำบล บางกระสอ
อำเภอเมืองนนทบุรี นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-507-7999
สายตรงการค้าระหว่างประเทศ: 1169
ผู้ใช้ที่กำลังออนไลน์ : 2 คน | จำนวนผู้เข้าชมทั้งหมด : 7761417 คน
สงวนลิขสิทธิ์ © 2023 กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ