เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2568 จากแถลงการณ์ร่วมของสำนักงานอาหารสิงคโปร์ (Singapore Food Agency : SFA) และหน่วยงานสัตวแพทย์และบริการสัตว์ (Animal & Veterinary Service : AVS) ระบุว่า สิงคโปร์ได้จัดทำข้อตกลงร่วมกับบราซิลไว้ล่วงหน้า หากเกิดการระบาดของไข้หวัดนก[1]โดยสิงคโปร์จะระงับการนำเข้าจากพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบและบริเวณโดยรอบ แต่ยังสามารถนำเข้าจากพื้นที่อื่นที่ปลอดภัยได้ตามปกติ นอกจากนี้ ทั้งสองหน่วยงานยังร่วมมือกับภาคเอกชนเพื่อหาแหล่งนำเข้าใหม่ที่มีมาตรฐานด้านความปลอดภัยอาหารของสิงคโปร์ ทั้งนี้ แม้ว่าปริมาณการนำเข้าสัตว์ปีกของสิงคโปร์ยังคงมีเสถียรภาพ แต่ก็อาจมีความผันผวนในบางช่วงจากปัจจัยต่าง ๆ เช่น การระบาดของโรคในหลายประเทศ สิงคโปร์จึงใช้กลยุทธ์กระจายแหล่งนำเข้าอาหารเพื่อลดความเสี่ยงจากการพึ่งพาแหล่งเดียว และรักษาความมั่นคงด้านอาหารของประเทศ
หลังมีรายงานการระบาดของไข้หวัดนกในฟาร์มเชิงพาณิชย์ในบราซิล ซึ่งเป็นผู้ส่งออกไก่รายใหญ่ที่สุดของโลก หลายประเทศได้ประกาศระงับการนำเข้าไก่จากบางพื้นที่ของบราซิลเพื่อป้องกันการแพร่กระจายของโรคข้ามพรมแดน โดยล่าสุดเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม ญี่ปุ่นได้เข้าร่วมกับประเทศอื่นๆ เช่น จีน ซึ่งเป็นผู้นำเข้าไก่รายใหญ่ที่สุดของบราซิล และสหภาพยุโรป ในการระงับการนำเข้าบางส่วน เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเพียงไม่กี่วันหลังจากที่บราซิลรายงานพบเชื้อไข้หวัดนกที่แพร่กระจายได้สูงเป็นครั้งแรกในฟาร์มเชิงพาณิชย์เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม สำหรับสิงคโปร์ ซึ่งต้องพึ่งพาการนำเข้าอาหารเป็นหลัก และมีบราซิลเป็นหนึ่งในแหล่งนำเข้าไก่สำคัญ ก็มีความจำเป็นต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดเพื่อความมั่นคงทางอาหารของประเทศ
ข้อมูลสถิติประจำปีของ SFA ระบุว่า ระหว่างปี 2562 ถึง 2564 บราซิลเป็นผู้ส่งออกไก่อันดับหนึ่งของสิงคโปร์ คิดเป็นเกือบครึ่งหนึ่งของการนำเข้าไก่ทั้งหมดของประเทศ อย่างไรก็ตาม หน่วยงาน SFA และ AVS ชี้แจงว่า แม้บราซิลจะเป็นหนึ่งในแหล่งสำคัญ แต่การจัดหาสัตว์ปีกโดยรวมของสิงคโปร์ถือว่ามีความหลากหลายดี มีแหล่งนำเข้าที่ได้รับการรับรองกว่า 30 แหล่ง จากหลายประเทศ เช่น อินโดนีเซีย ไทย เดนมาร์ก และมาเลเซีย หากเกิดการหยุดชะงักจากแหล่งใดแหล่งหนึ่ง หน่วยงานจะร่วมมือกับภาคเอกชนเพื่อเพิ่มการนำเข้าไก่แช่เย็นและแช่แข็งจากแหล่งอื่นตามความจำเป็น
รายงานสถิติอาหารล่าสุดของ SFA เมื่อเดือนพฤษภาคม 2567 ระบุว่า การระบาดของไข้หวัดนกอาจส่งผลกระทบต่อการจัดหาไก่ของสิงคโปร์ได้ เนื่องจากประเทศมีความพึ่งพาการนำเข้าอาหารอย่างมาก ทำให้มีความเสี่ยงต่อความผันผวนของแหล่งส่งออกจากต่างประเทศ ในกรณีที่มีการพบการระบาดของไข้หวัดนกที่มีความรุนแรง สิงคโปร์มักใช้มาตรการจำกัดการนำเข้าสัตว์ปีกจากพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ โดยจะระงับการนำเข้าหรืออนุญาตเฉพาะผลิตภัณฑ์ที่ผ่านความร้อนจนสามารถทำลายเชื้อไวรัสได้ ตัวอย่างเช่น ในปี 2566 เมื่อพบเชื้อไข้หวัดนกใน 4 จังหวัดของญี่ปุ่น สิงคโปร์ได้ระงับการนำเข้าไก่และผลิตภัณฑ์ไก่ดิบจากพื้นที่ดังกล่าวทันที ความไม่แน่นอนของการนำเข้าอาจทำให้ราคาสินค้าเพิ่มขึ้น เห็นได้จากกรณีในปี 2565 ที่มาเลเซียประกาศระงับการส่งออกไก่เพื่อแก้ปัญหาขาดแคลนในประเทศ ซึ่งส่งผลกระทบอย่างชัดเจนต่อผู้ค้าไก่ในสิงคโปร์ บางรายต้องหยุดดำเนินการชั่วคราวเพราะไม่สามารถหาแหล่งไก่ทดแทนได้ทัน เพื่อรับมือกับสถานการณ์เช่นนี้ สิงคโปร์ได้ขยายแหล่งนำเข้าใหม่ เช่น ในช่วงที่มาเลเซียระงับการส่งออก SFA ได้อนุมัติให้อินโดนีเซียเป็นแหล่งนำเข้าไก่แช่แข็ง แช่เย็น และแปรรูปใหม่ เพื่อรักษาเสถียรภาพของซัพพลายในประเทศ
ข้อแนะนำและข้อเสนอแนะ
ข้อมูลจาก Global Trade Atlas (GTA) ระบุว่า ในช่วงเดือนมกราคม-มีนาคม 2568 สิงคโปร์นำเข้าไก่จากบราซิลเป็นอันดับหนึ่ง คิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 73.08% มูลค่า 79.32 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ตามมาด้วยจีน อยู่ที่ 7.45 ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็น 6.87% ขณะที่ไทยอยู่ในอันดับ 3 โดยมีสัดส่วนการนำเข้า 5.26% มูลค่า 5.70 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
สถานการณ์นี้สะท้อนให้เห็นถึงการพึ่งพาบราซิลในฐานะแหล่งนำเข้าไก่หลักของสิงคโปร์อย่างมีนัยสำคัญ ภายใต้สถานการณ์ที่บราซิลกำลังเผชิญกับการระบาดของไข้หวัดนกและอาจเผชิญข้อจำกัดด้านการส่งออก ทำให้สิงคโปร์มีแนวโน้มที่จะมองหาแหล่งนำเข้าใหม่หรือขยายปริมาณจากแหล่งที่เชื่อถือได้มากขึ้น ดังนั้น นับเป็นโอกาสสำคัญสำหรับผู้ประกอบการไทยในการผลักดันการส่งออกไก่สด ไก่แช่แข็ง และผลิตภัณฑ์จากไก่เข้าสู่ตลาดสิงคโปร์มากขึ้น โดยเฉพาะเมื่อไทยมีศักยภาพในการผลิตที่ได้มาตรฐานสากล มีเทคโนโลยีการผลิตและการแปรรูปที่ทันสมัย และเป็นประเทศที่ได้รับการรับรองจากหน่วยงานของสิงคโปร์แล้ว ปัจจุบันมีโรงงานไทยที่ได้รับอนุญาตให้นำเข้าเนื้อสัตว์ปีกสด แช่แข็ง และแปรรูปเข้าสู่สิงคโปร์แล้วรวมทั้งสิ้น 103 แห่ง อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการไทยควรรักษามาตรฐานด้านคุณภาพ ความปลอดภัย และพัฒนาภาพลักษณ์ของสินค้าอย่างต่อเนื่องควบคู่กับนวัตกรรม เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและความสามารถในการแข่งขันในระยะยาวอย่างยั่งยืนในตลาดสิงคโปร์
[1] ตามข้อมูลจากเว็บไซต์ของหน่วยงานตรวจสอบสุขภาพพืชและสัตว์ของสหรัฐฯ (US Animal and Plant Health Inspection Service) สายพันธุ์ของไข้หวัดนกที่ระบาดในบราซิลเป็นชนิดที่เรียกว่า “ไข้หวัดนกชนิดรุนแรงสูง” (Highly Pathogenic Avian Influenza หรือ HPAI) ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่อันตรายอย่างยิ่งต่อสัตว์ปีก สามารถคร่าชีวิตทั้งฝูงได้ภายในไม่กี่วัน
แหล่งที่มาข้อมูล/ภาพ:
https://www.straitstimes.com/singapore/should-singapore-be-concerned-about-the-bird-flu-outbreak-in-brazil