รายงานสถานการณ์เศรษฐกิจการค้าของประเทศชิลี ฉบับที่ 5 ประจำปี 2568

ภาพรวมเศรษฐกิจ 

  • เศรษฐกิจของประเทศชิลีประจำเดือนมีนาคม 2568 ในภาพรวม GDP ขยายตัวเพิ่มขึ้น 3.7% เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า การบริโภคภาคเอกชนขยายตัวที่ 3.1% ภาคการลงทุนของชิลีกลับมาหดตัวอีกครั้งจากความกังวลของนักลงทุนต่อมาตรการด้านภาษีของของสหรัฐอเมริกา อัตราว่างงานเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 8.7% ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อภายในประเทศปรับเพิ่มสูงที่สุดอีกครั้งที่ 4.9% การนำเข้าและการส่งออกโดยรวมของชิลีเพิ่มขึ้นที่ 8.4% และ 6.0% ตามลำดับโดยมีสินแร่และทองแดงเป็นสินค้าส่งออกหลัก ระหว่างเดือนมกราคม–มีนาคม 2568 ชิลีส่งออกสินค้าในกลุ่มนี้เพิ่มขึ้นถึง 7.5% รวมมูลค่ากว่า 1.4 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ทั้งนี้ ตั้งแต่เดือนมกราคม-มีนาคม 2568 ชิลีมีมูลค่าการนำเข้าสินค้าจากไทยมากเป็นอันดับที่ 2 ของประเทศในกลุ่มอาเซียน และอันดับที่ 19 ของโลก รวมมูลค่ากว่า 151 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าถึง 36.8% โดยสินค้าเด่นที่มีสัดส่วนการนำเข้าเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญได้แก่ (1)ปลากระป๋อง และ (2)รถยนต์และส่วนประกอบ โดยเพิ่มขึ้นถึง 213.6% และ 75.6% ตามลำดับ ในส่วนของรายละเอียดในแต่ละด้านประจำเดือนมีนาคม 2568 สคต. ณ กรุงซันติอาโก ขอสรุปรายละเอียด ดังนี้

1. การบริโภคภาคเอกชน (ข้อมูลจากธนาคารกลางชิลี )

การบริโภคภาคเอกชนของชิลีประจำเดือนมีนาคม 2568 ในภาพรวมขยายตัวขึ้น 3.1% เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า   สินค้าที่มีการบริโภคเพิ่มมากขึ้นเป็นที่น่าสนใจ ได้แก่ หมวดยางรถยนต์และอะไหล่รถยนต์ โดยเพิ่มขึ้น 10.9% เนื่องจากในช่วงเดือนมีนาคมของทุกปี ชาวชิลีต้องนำรถเข้ารับการตรวจสภาพและซ่อมบำรุงเพื่อต่อ พรบ. ในส่วนของสินค้าคงทน (รถยนต์ใหม่ และเครื่องใช้ไฟฟ้า-อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และเทคโนโลยี) เพิ่มขึ้นเช่นกันที่ 6.0% และ 12.7%  ตามลำดับ ทั้งนี้ สินค้าหมวดที่มีแนวโน้มการบริโภคลดลงต่อเนื่อง  คือหมวดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และยาสูบที่ลดลงถึง -12.7%

สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคประจำเดือนมีนาคม 2568 ปรับระดับลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า จากที่ระดับ 42.2 มาอยู่ที่ 40.8 ลดลง -3.4%

 

2. การลงทุน (ข้อมูลจากธนาคารกลางชิลี https://www.bcentral.cl/)

บรรยากาศการลงทุนในภาครัฐและเอกชนของชิลีประจำเดือนมีนาคม 2568 ในภาพรวมปรับตัวลดลง โดยสะท้อนจากตัวเลขการขออนุญาตก่อสร้าง (คิดเป็นตารางเมตร) ลดลง จาก 9.0 แสนตรม.   มาอยู่ที่ 5.1 แสนตรม. ลดลง 43.8% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าสคต.ฯ คาดว่าเกิดจากความวิตกของนักลงทุนต่อมาตรการด้านภาษีของสหรัฐอเมริกา โดยกระทบการก่อสร้างในภาคอุตสาหกรรมการผลิตสูงถึง -55.2%

สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจโดยรวมประจำเดือนมีนาคม 2568 ปรับระดับจาก 46.3 มาอยู่ที่ 45.9 ลดลง 0.9% เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยภาคธุรกิจที่มีดัชนีความเชื่อมั่นสูงที่สุด 3 อันดับแรกได้แก่ (1) ภาคธุรกิจเหมืองแร่ (2) ภาคการค้า และ (3) ภาคการผลิต โดยอยู่ที่ 52.9, 50.5 และ 46.1 ตามลำดับ

 

3. เสถียรภาพทางเศรษฐกิจ (ข้อมูลจากธนาคารกลางชิลี https://si3.bcentral.cl และสำนักงานสถิติแห่งชาติของชิลี https://www.ine.gob.cl)

 อัตราการว่างงานของประเทศชิลีในเดือนมีนาคม 2568 ปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 8.7% ของจำนวนผู้ใช้แรงงานทั้งหมดในประเทศ หากพิจารณาแยกตามเขตการปกครอง แคว้นที่มีอัตราการว่างงานสูงที่สุดคือ แคว้นตาราปาก้า ที่ 11.2% และแคว้นที่มีอัตราการว่างงานต่ำที่สุดคือ แคว้นมากายาเนส ที่ 4.8%

อัตราเงินเฟ้อของประเทศชิลีในเดือนมีนาคม 2568 ปรับเพิ่มขึ้นแตะระดับสูงที่สุดอีกครั้งที่ 4.9% โดยสินค้า 3 หมวดแรก ที่ปรับเพิ่มขึ้นสูงที่สุดในรอบ 12 เดือนนี้ ได้แก่ (1) หมวดที่อยู่อาศัยและสาธารณูปโภค (2) หมวดร้านอาหารและโรงแรม และ (3) หมวดประกันภัยและบริการทางการเงิน โดยปรับตัวเพิ่มขึ้นที่  11.0%, 6.8% และ 5.7% ตามลำดับ

 

4. การส่งออก-นำเข้า (ข้อมูลจากกรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศของชิลี SUBREI – www.subrei.gob.cl)

 การส่งออกสินค้าของชิลีระหว่างเดือนมกราคม-มีนาคม 2568  มีมูลค่ารวมที่ 27,080 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 6.0% เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยสินค้าส่งออกหลัก ได้แก่

สินค้า ม.ค.-มี.ค. (ล้านเหรียญสหรัฐ) ขยายตัว

(67/68)

ปี 2567 ปี 2568
สินแร่ 13,273 14,263 7.5%
ผลไม้ 4,077 4,159 2.0%
ปลาแซลมอน 1,696 1,754 3.4%
เคมีภัณฑ์ 1,805 1,819 0.8%
เยื่อกระดาษ 1,036 1,041 0.5%
เครื่องจักรและส่วนประกอบ 500 650 30.0%
เฟอร์นิเจอร์จากไม้ 558 549 -1.6%

การนำเข้าของชิลีระหว่างเดือนมกราคม-มีนาคม 2568 มีมูลค่ารวมที่ 20,181 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 8.4% เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยสินค้านำเข้าหลัก ได้แก่

สินค้า ม.ค.-มี.ค. (ล้านเหรียญสหรัฐ) ขยายตัว

(67/68)

ปี 2567 ปี 2568
สินค้าหมวดพลังงาน 10,917 11,202 2.6%
สินค้าอุปโภคบริโภค 5,424 6,221 14.7%
สินค้าทุน 3,642  4,307 18.3%
 –รถยนต์เชิงพาณิชย์ 451 654 45.0%
 –เครื่องจักรสำหรับอุตสาหกรรมเหมืองแร่และอุตสาหกรรมก่อสร้าง 224 402 79.5%

จากตัวเลขการส่งออกของชิลีที่สูงกว่าตัวเลขการนำเข้า   ทำให้ชิลีได้ดุลการค้าจำนวน 6,899 ล้านเหรียญสหรัฐ

 

5. การค้าของชิลีกับไทย และกลุ่มประเทศอาเซียน (ข้อมูลสถิติทางการค้าจาก Global Trade Atlas)

ชิลีนำเข้าสินค้าจากประเทศไทยระหว่างเดือนมกราคม -มีนาคม 2568 มีมูลค่ารวมอยู่ที่ 151.04 ล้านเหรียญสหรัฐ (เพิ่มขึ้น 36.80% เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า) ซึ่งสินค้าที่นำเข้าจากไทยมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่

  • รถยนต์และส่วนประกอบ (59.30 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 75.56%)
  • เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ (31.10 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 30.60%)
  • ปลากระป๋อง (18.56 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น56%)
  • ยางและผลิตภัณฑ์จากยาง (37 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 16.69%)
  • เครื่องจักรไฟฟ้าและอุปกรณ์ไฟฟ้า (84 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง -54.54%)

สำหรับตัวเลขการนำเข้าของชิลีจากกลุ่มประเทศอาเซียนใน 5 อันดับแรก ได้แก่

  • ชิลีนำเข้าจากเวียดนาม 431.78 ล้านเหรียญสหรัฐ (เพิ่มขึ้น 36.80%)
  • ชิลีนำเข้าจากไทย 151.04 ล้านเหรียญสหรัฐ (เพิ่มขึ้น 36.80%)
  • ชิลีนำเข้าจากอินโดนีเซีย 106.01 ล้านเหรียญสหรัฐ (เพิ่มขึ้น 13.96%)
  • ชิลีนำเข้าจากมาเลเซีย 60.40 ล้านเหรียญสหรัฐ (เพิ่มขึ้น 48.18%)
  • ชิลีนำเข้าจากสิงคโปร์ 33.81 ล้านเหรียญสหรัฐ (เพิ่มขึ้น 33.31%)

 ชิลีส่งออกสินค้าไปยังประเทศไทยระหว่างเดือนมกราคม -มีนาคม 2568 มีมูลค่ารวมอยู่ที่ 181.87 ล้านเหรียญสหรัฐ (เพิ่มขึ้น 8.35% เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า) ซึ่งสินค้าที่ส่งออกไปยังไทยมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่

  • ทองแดง (78 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง -8.44%)
  • แซลมอนและอาหารทะเล (52 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 64.87%)
  • เยื่อกระดาษ (97 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 6.96%)
  • สินแร่อื่น ๆ (03 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 15.07%)
  • ผลไม้และผลิตภัณฑ์ธัญพืช (10.88 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 40.01%)

สำหรับตัวเลขการส่งออกของชิลีไปยังกลุ่มประเทศอาเซียนใน 5 อันดับแรก ได้แก่

  • ชิลีส่งออกไปยังไทย 181.87 ล้านเหรียญสหรัฐ (เพิ่มขึ้น 8.35%)
  • ชิลีส่งออกไปยังเวียดนาม 95.34 ล้านเหรียญสหรัฐ (เพิ่มขึ้น 29.35%)
  • ชิลีส่งออกไปยังมาเลเซีย 40.51 ล้านเหรียญสหรัฐ (ลดลง -36.15%)
  • ชิลีส่งออกไปยังฟิลิปินส์ 38.88 ล้านเหรียญสหรัฐ (ลดลง -74.48%)
  • ชิลีส่งออกไปยังสิงคโปร์ 23.00 ล้านเหรียญสหรัฐ (ลดลง -57.62%)

มูลค่าการค้ารวมระหว่างไทย-ชิลี ระหว่างเดือนมกราคม – เดือนมีนาคม 2568 อยู่ที่ 332.91 ล้านเหรียญสหรัฐ (เพิ่มขึ้น 19.64%)   โดยชิลีส่งออกสินค้าไปยังไทยมากกว่านำเข้าจากไทย ทำให้ไทยเป็นฝ่ายขาดดุลการค้าที่ 30.83 ล้านเหรียญสหรัฐ

_________________________________

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงซันติอาโก

พฤษภาคม 2568

thThai