ในบรรดาผลไม้เขตร้อน ทุเรียนได้รับการขนานนามว่าเป็น “ราชาแห่งผลไม้” ด้วยลักษณะเฉพาะที่โดดเด่น ทั้งกลิ่นอันเป็นเอกลักษณ์ เนื้อเนียนนุ่ม และรสชาติหวานละมุนไปจนถึงรสชาติเข้มข้น ทุเรียนจึงเป็นผลไม้ที่ได้รับความนิยมสูง ทั้งในประเทศต้นกำเนิดและในตลาดต่างประเทศ อีกทั้งยังเป็นผลไม้เศรษฐกิจที่มีมูลค่าสูง ในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นแหล่งกำเนิดและพื้นที่เพาะปลูกทุเรียน อาทิ ประเทศไทย มาเลเซียและเวียดนาม ล้วนมีสภาพภูมิอากาศและทรัพยากรธรรมชาติที่เหมาะสมต่อการปลูกทุเรียน ส่งผลให้มีทุเรียนหลากหลายสายพันธุ์ ทั้งสายพันธุ์ดั้งเดิมที่สืบทอดกันมายาวนาน ไปจนถึงพันธุ์พัฒนา
ทุเรียนแต่ละสายพันธุ์มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ทั้งในด้านกลิ่น รสสัมผัส สีเนื้อ และลักษณะเปลือก สามารถตอบโจทย์ความชื่นชอบของผู้บริโภคที่หลากหลายได้เป็นอย่างดี สำหรับทุเรียนยอดนิยม 10 สายพันธุ์ที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล ได้แก่ ทุเรียนหมอนทอง ทุเรียนมูซังคิง ทุเรียนชะนี ทุเรียนสุลต่าน (D24) ทุเรียนพวงมณี ทุเรียนกระดุม ทุเรียนแดงอินโด ทุเรียน D24 ทุเรียน XO และทุเรียน D163 เป็นต้น ซึ่งแต่ละสายพันธุ์ล้วนมีจุดเด่นเฉพาะที่ดึงดูดผู้บริโภค
( ภาพจาก iStockphoto ) |
- ทุเรียนหมอนทอง
แหล่งเพาะปลูก : จังหวัดจันทบุรี ประเทศไทย
ฤดูกาลเก็บเกี่ยว : เดือนเมษายน–สิงหาคม
ราคา : 20-50 หยวน/กิโลกรัม
ทุเรียนหมอนทอง เป็นพันธุ์ทุเรียนที่ได้รับความนิยมสูงสุดในประเทศไทย ด้วยจุดเด่นด้านรสชาติหวานละมุน กลิ่นไม่ฉุน เนื้อสัมผัสเนียนนุ่มและแน่น เหมาะสำหรับผู้เริ่มต้นรับประทานทุเรียน อีกทั้งยังมีเมล็ดเล็ก ทำให้ได้ปริมาณเนื้อค่อนข้างมาก นับเป็นพันธุ์ที่เป็นที่ชื่นชอบทั้งในประเทศและตลาดส่งออก ทุเรียนหมอนทองมีความทนทานสูง เหมาะสำหรับการขนส่งและจำหน่ายในเชิงพาณิชย์ อีกทั้งยังสามารถนำไปแปรรูปได้หลากหลายรูปแบบ เช่น ทุเรียนทอด พัฟไส้ทุเรียน ไอศกรีม หรือผลิตภัณฑ์ขนมหวานต่าง ๆ จึงได้รับการยกย่องว่าเป็นทุเรียนที่สร้างรายได้มหาศาลให้กับเกษตรกรไทย
ในด้านลักษณะผล ทุเรียนหมอนทองมีขนาดใหญ่ น้ำหนักเฉลี่ยประมาณ 3–4 กิโลกรัม ทรงผลยาว ปลายผลแหลม หนามแหลมสูง ฐานหนามเป็นเหลี่ยมและมีหนามเล็กแซมระหว่างหนามใหญ่ ซึ่งเรียกลักษณะหนามเช่นนี้ว่าเขี้ยวงู ผลอ่อนมีเปลือกสีเขียว และเมื่อสุกจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลปนเขียว ภายในผลแบ่งเป็นพูอย่างชัดเจน เนื้อมีสีเหลืองอ่อน ละเอียดแน่น มีกลิ่นหอมเฉพาะตัว รสชาติหวานมัน กลมกล่อม เหมาะสำหรับทั้งการบริโภคสดและการแปรรูปเพื่อการค้า
(ภาพจาก Goldgarden )
- ทุเรียนมูซังคิง
แหล่งเพาะปลูก : รัฐปาหัง ประเทศมาเลเซีย
ฤดูกาลเก็บเกี่ยว : เดือนพฤศจิกายน-กุมภาพันธ์ (ช่วงผลหล่นตามธรรมชาติ)
ราคา : 80-300 หยวน/กิโลกรัม (ทุเรียนนำเข้าประเภทแช่แข็ง)
ทุเรียนมูซังคิง จากประเทศมาเลเซียได้รับการยอมรับว่าเป็นหนึ่งในพันธุ์ทุเรียนที่มีคุณภาพสูง ด้วยลักษณะเด่น ได้แก่ เนื้อสีทองเข้ม กลิ่นหอมเข้มข้น และรสชาติที่ซับซ้อน ผสมผสานระหว่างความหวานมันและความขมเล็กน้อย ติดปลายลิ้น ซึ่งถือเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของทุเรียนมูซังคิง ที่แตกต่างจากทุเรียนหมอนทองของไทยที่มีรสหวานกลมกล่อมแต่ไม่ขม
ลักษณะภายนอก ผลของทุเรียนมูซังคิงมีเปลือกสีเขียวเข้มถึงเขียวอมเหลือง หนามขนาดใหญ่ ปลายแหลม และค่อนข้างห่างกัน จุดสังเกตสำคัญคือบริเวณก้นผลจะมีรอยลักษณะเป็นดาว 5 แฉกอย่างชัดเจน เป็นลักษณะเฉพาะที่ใช้แยกทุเรียนมูซังคิงจากพันธุ์อื่น
กระบวนการเก็บเกี่ยวทุเรียนมูซังคิงยังคงยึดถือวัฒนธรรมดั้งเดิมของชาวสวนมาเลย์ คือ ปล่อยให้ผลทุเรียนสุกงอมและหล่นจากต้นเองตามธรรมชาติ ไม่ตัดขั้วก่อนกำหนด ซึ่งถือเป็นแนวคิดเก็บเมื่อถึงเวลาของเกษตรกรชาวสวนมาเลย์ เพื่อให้ได้รสชาติอย่างสมบูรณ์ของผลผลิต วิธีการนี้มีส่วนสำคัญที่ทำให้ทุเรียนมูซังคิงกลายเป็นที่ต้องการอย่างสูงในตลาดพรีเมียมทั้งในเอเชียและระดับโลก
( ภาพจาก duriannon ) |
- ทุเรียนชะนี
แหล่งเพาะปลูก : จังหวัดสมุทรสงคราม ประเทศไทย
ฤดูกาลเก็บเกี่ยว : เดือนกันยายน-ธันวาคม
ราคา : 15-30 หยวน/กิโลกรัม
ทุเรียนพันธุ์ชะนี เป็นหนึ่งในพันธุ์ทุเรียนยอดนิยมของไทย รองจากพันธุ์หมอนทอง ได้รับความนิยมอย่างมากในตลาดภายในประเทศ โดยเฉพาะในหมู่ผู้บริโภคที่ชื่นชอบรสชาติทุเรียนที่มีรสชาติเข้มข้นด้วยจุดเด่นด้านเนื้อสัมผัสแน่น รสชาติเข้มข้น และกลิ่นหอมแรงเฉพาะตัว
ลักษณะภายนอกของผลมีทรงค่อนข้างกลม เปลือกสีเขียวอมเทา หนามถี่และปลายแหลม บางผลมีเปลือกสีเขียวเข้ม หนามยาวเด่นชัด เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของพันธุ์นี้ เนื้อของทุเรียนชะนีมีสีเหลืองเข้ม เนื้อแน่น ละเอียด และมีความชื้นปานกลางถึงค่อนข้างแฉะเมื่อสุกจัด รสชาติหวานจัด มัน และอาจมีรสขมเล็กน้อยติดปลายลิ้น กลิ่นของทุเรียนชะนีจัดจ้านและเข้มข้นกว่าหมอนทอง จึงเหมาะสำหรับผู้ที่รับประทานทุเรียนเป็นประจำและต้องการสัมผัสรสชาติที่เข้มข้น นอกจากนี้ ทุเรียนชะนียังนิยมนำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์พร้อมรับประทาน เช่น ทุเรียนอบแห้ง ซึ่งตอบโจทย์ผู้บริโภคที่ต้องการความสะดวกในการบริโภค และสามารถเก็บรักษาได้นาน จึงเป็นพันธุ์ที่มีศักยภาพทั้งในเชิงพาณิชย์และการแปรรูป
(ภาพจาก duriansg.com.sg ) |
- ทุเรียนสุลต่าน (D24)
แหล่งเพาะปลูก : รัฐยะโฮร์ ประเทศมาเลเซีย
ฤดูกาลเก็บเกี่ยว : เดือนมิถุนายน–สิงหาคม
ราคา : 40-80 หยวน/กิโลกรัม
ทุเรียนสุลต่าน หรือที่รู้จักในชื่อ ทุเรียน D24 เป็นหนึ่งในพันธุ์ทุเรียนยอดนิยมของประเทศมาเลเซีย ได้รับความนิยมรองจากพันธุ์มูซังคิง ด้วยคุณภาพของเนื้อที่ดี รสชาติเข้มข้น และราคาที่เข้าถึงได้ จึงเป็นที่ชื่นชอบอย่างกว้างขวางทั้งในประเทศมาเลเซีย สิงคโปร์และจีน ด้วยจุดเด่นของรสชาติที่กลมกล่อม รสชาติ ไม่จัดจ้าน มีกลิ่นหอมละมุน เนื้อมีสีทองอ่อน สัมผัสเนียนนุ่มคล้ายเนย และเมล็ดมีขนาดเล็ก ทำให้รับประทานได้ง่าย เหมาะสำหรับผู้บริโภคหลากหลายช่วงวัย ทุเรียนสุลต่าน (D24) นิยมนำไปใช้ในอุตสาหกรรมอาหารของมาเลเซีย เช่น ผลิตภัณฑ์ขนมหวาน ไอศกรีม และเบเกอรี เป็นต้น
( ภาพจาก lemon8 ) |
- ทุเรียนพวงมณี
แหล่งเพาะปลูก : จังหวัดนครศรีธรรมราช ประเทศไทย
ฤดูกาลเก็บเกี่ยว : เดือนมีนาคม-พฤษภาคม
ราคา : 30-60 หยวน/กิโลกรัม
ทุเรียนพวงมณี เป็นหนึ่งในสายพันธุ์ทุเรียนเฉพาะถิ่นจากภาคใต้ของประเทศไทยที่ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ด้วยลักษณะผลขนาดเล็กเท่าลูกมะพร้าว เปลือกมีสีเขียวปนน้ำตาล และมีพูเพียง 2–3 พูต่อลูก แต่ละพูอัดแน่นด้วยเนื้อทุเรียนสีเหลืองเข้ม เนื้อละเอียด กลิ่นหอมหวานชัดเจน รสชาติเข้มข้นคล้ายทุเรียนพันธุ์มูซังคิงของมาเลเซีย ทำให้ได้รับความสนใจอย่างมากในกลุ่มผู้บริโภคที่ชื่นชอบทุเรียนรสหวานมันแบบเข้มข้น
จุดเด่นสำคัญของทุเรียนพวงมณีคือ เนื้อแน่นและเมล็ดเล็ก ปริมาณเนื้อทุเรียนต่อผลในสัดส่วนที่พอเหมาะ ด้วยลักษณะเฉพาะที่แตกต่างจากทุเรียนสายพันธุ์ทั่วไป และปริมาณผลผลิตที่ค่อนข้างจำกัด ทุเรียนพวงมณีจึงมักจำหน่ายในตลาดเฉพาะกลุ่ม เช่น ร้านผลไม้พรีเมียม ตลาดเกษตรอินทรีย์ หรืองานแสดงสินค้าเกษตร โดยได้รับการยอมรับว่าเป็นทุเรียนที่มีศักยภาพในตลาดระดับบน ทุเรียนพวงมณียังเป็นตัวแทนของ ภูมิปัญญาท้องถิ่นไทยที่อนุรักษ์และพัฒนาพันธุ์ทุเรียนไทย
( ภาพจาก duriannon ) |
- ทุเรียนกระดุม
แหล่งเพาะปลูก : จังหวัดชลบุรี ประเทศไทย
ฤดูกาลเก็บเกี่ยว : เดือนกุมภาพันธ์–เมษายน
ราคา : 25-45 หยวน/กิโลกรัม
ทุเรียนกระดุมเป็นพันธุ์พื้นเมืองของไทยที่ยังคงได้รับความนิยมเฉพาะในบางพื้นที่ มีการเพาะปลูกในชุมชนเกษตรเก่าแก่ของภาคตะวันออก เช่น ชลบุรี ระยอง จันทบุรีและตราด ในด้านรสชาติจะมีความเปรี้ยวอมหวาน กลิ่นหอมแบบธรรมชาติ เนื้อทุเรียนมีเส้นใย ผลมีขนาดเล็ก ทรงกลม เปลือกสีเขียวอมเหลือง หนามใหญ่และห่าง เรียงตัวคล้ายเม็ดกระดุม จึงเป็นที่มาของชื่อสายพันธุ์นี้ เนื้อสีเหลืองอ่อน ปริมาณไม่มากแต่เนื้อแน่น มีกลิ่นหอมอ่อนตามธรรมชาติ ไม่ฉุนจัด รสชาติหวานนุ่ม ปนมันเล็กน้อย รสชาติกลมกล่อมแบบทุเรียนไทยโบราณที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว
แม้จะไม่ใช่พันธุ์ที่ให้เนื้อเยอะ แต่จุดเด่นของกระดุมอยู่ที่ความดั้งเดิม ทั้งในแง่รสชาติ กลิ่น และวิธีการปลูกที่ยังคงใช้แนวทางเกษตรอินทรีย์ ไม่พึ่งพาสารเคมีมากนัก จึงเป็นที่ต้องการในตลาดเฉพาะ เช่น ตลาดชาวบ้าน ร้านผลไม้พื้นเมือง และตลาดเกษตรอินทรีย์ ด้วยอายุการเก็บรักษาสั้นและเปลือกบาง ทำให้ทุเรียนกระดุม ไม่เหมาะกับการส่งออก
( ภาพจาก duriannon ) |
- ทุเรียนแดงอินโด
แหล่งเพาะปลูก : รัฐซาบาห์ ประเทศมาเลเซีย
ฤดูกาลเก็บเกี่ยว : เดือนกรกฎาคม–กันยายน
ราคา : 50-100 หยวน/กิโลกรัม
ทุเรียนแดงอินโดเป็นทุเรียนสายพันธุ์ยอดนิยมจากมาเลเซีย ซึ่งได้รับความนิยมอย่างรวดเร็วทั้งในและนอกประเทศ จุดเด่นที่สังเกตได้ทันทีคือ เนื้อสีส้มแดง รสชาติของทุเรียนแดงอินโด หวานจัดเข้มข้น มีความมันนัวคล้ายครีม และกลิ่นไม่ฉุนจนเกินไป เนื้อทุเรียนมีความเหนียวหนึบเล็กน้อย แต่ละพูมีเนื้อแน่นเต็ม ผลทุเรียนโดยทั่วไปจะมีขนาดไม่ใหญ่มาก เปลือกสีเขียวเข้ม หนามสั้น เนื้อด้านในมักมีจำนวนพูไม่มาก มักถูกจัดอยู่ในกลุ่มทุเรียนเกรดสูง มีจำหน่ายในตลาดเฉพาะ เช่น ร้านทุเรียนพรีเมียมหรือส่งออกในรูปแบบแช่แข็ง ทุเรียนแดงอินโดจึงเป็นสายพันธุ์ที่มีทั้งเอกลักษณ์ด้านสีและรสชาติ เป็นที่นิยมของผู้บริโภคที่ชื่นชอบทุเรียนรสชาติหวานจัด
( ภาพจาก duriannon ) |
- ทุเรียน D24
แหล่งเพาะปลูก : รัฐกลันตัน ประเทศมาเลเซีย
ฤดูกาลเก็บเกี่ยว : เดือนพฤษภาคม–กรกฎาคม
ราคา : 35-70 หยวน/กิโลกรัม
ทุเรียน D24 เป็นหนึ่งในสายพันธุ์ทุเรียนยอดนิยมจากประเทศมาเลเซีย โดยเฉพาะในพื้นที่รัฐกลันตัน ซึ่งขึ้นชื่อว่าเป็นแหล่งปลูกทุเรียนคุณภาพสูง ทุเรียนพันธุ์นี้มีลักษณะเด่นคือ เนื้อสีทองเข้ม เนื้อแน่น และละเอียด ให้สัมผัสที่นุ่มนวล รสชาติของทุเรียน D24 มีลักษณะพิเศษหวานนำแต่แฝงความขมบางเบาในปลายลิ้น กลิ่นของทุเรียน D24 ไม่แรงมาก นอกจากรับประทานแบบสดแล้ว ในประเทศมาเลเซียยังนิยมนำทุเรียน D24 ไปใช้ในเมนูคาวอย่าง เช่น แกงกะหรี่ทุเรียนโดยนำเนื้อทุเรียนไปเคี่ยวกับกะทิ ใบแกง และเครื่องเทศ หรือทานคู่กับขนมปัง เป็นต้น
(ภาพจาก duriansg.com ) |
- ทุเรียน XO
แหล่งเพาะปลูก : รัฐปีนัง ประเทศมาเลเซีย
ฤดูกาลเก็บเกี่ยว : เดือนตุลาคม–ธันวาคม
ราคา : 60-120 หยวน/กิโลกรัม
ทุเรียน XO เป็นสายพันธุ์ทุเรียนจากประเทศมาเลเซียที่ขึ้นชื่อเรื่องกลิ่นแรงและรสชาติจัดจ้าน เป็นที่นิยมในหมู่คนที่ชอบทุเรียนรสเข้ม ๆ ไม่หวานเรียบแบบพันธุ์ทั่วไป โดยเฉพาะในแถบปีนังและปะหัง ซึ่งเป็นแหล่งปลูกหลัก ทุเรียนพันธุ์นี้ได้ชื่อว่า XO เพราะมีกลิ่นและรสคล้ายเหล้าวิสกี้หรือบรั่นดี โดยเกิดจากการปล่อยให้ทุเรียนสุกจัดจนเกิดกลิ่นหมักเฉพาะตัว เมื่อผ่าออก เนื้อจะมีสีเหลืองเข้มจนเกือบออกน้ำตาล เนื้อแน่น แห้ง รสชาติจะหวานนำแต่มีความขมปลายลิ้นแบบชัดเจน
( ภาพและแหล่งที่มา : duriansg.com.sg ) |
10.ทุเรียน D163
แหล่งเพาะปลูก : จังหวัดบิ่งถ่วน ประเทศเวียดนาม
ฤดูกาลเก็บเกี่ยว : เดือนมิถุนายน–สิงหาคม
ราคา : 20-40 หยวน/กิโลกรัม
ทุเรียน D163 ความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในกลุ่มผู้บริโภคที่ชื่นชอบทุเรียนรสชาติเข้มข้นและ มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ลักษณะภายนอกของทุเรียน D163 โดดเด่นด้วย รูปทรงกลมป้อม ขนาดไม่ใหญ่มาก ฐานผลมักมี ปุ่มเล็ก ๆ หรือรอยบุ๋มลึก คล้ายผลน้ำเต้า ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ที่สังเกตได้ง่าย เปลือกมีสีเขียวเข้ม หนามไม่ถี่มากและไม่คมจัด อีกทั้งยัง บางกว่าทุเรียนทั่วไป จึงต้องระมัดระวังเป็นพิเศษในขั้นตอนการขนส่ง เมื่อผ่าออกจะพบเนื้อทุเรียน สีเหลืองทองไปจนถึงสีส้มเข้ม เนื้อมีลักษณะเนียนละเอียด แน่น และแห้งกำลังดี มีกลิ่นหอมนมอ่อน ๆ ผสมกลิ่นเฉพาะที่ไม่แรงจนเกินไป รสชาติหวานมัน พร้อมปลายรสขมเล็กน้อยคล้ายโกโก้หรือดาร์กช็อกโกแลต ทำให้ทุเรียนพันธุ์นี้มีความซับซ้อนทางรสชาติ เมล็ดของทุเรียน D163 ค่อนข้างเล็ก ทำให้ได้เนื้อเยอะ และรับประทานง่าย
เคล็ดลับและวิธีการเลือกซื้อทุเรียน
การเลือกซื้อทุเรียนให้ได้ผลที่สุกพอดี มีรสชาติและคุณภาพตรงตามความต้องการของผู้บริโภค สามารถพิจารณาได้จากองค์ประกอบหลายประการ ดังนี้
- ลักษณะภายนอกของผล ควรเลือกทุเรียนที่มีเปลือกสีเขียวอมเหลืองหรือเขียวปนน้ำตาล หนามของทุเรียนมีลักษณะปลายมน ไม่แหลมคมจนเกินไป ซึ่งบ่งชี้ว่าทุเรียนอยู่ในช่วงสุกพอเหมาะ หนามควรมีระยะห่างสม่ำเสมอ และสามารถบีบหรือดันปลายหนามเข้าหากันได้เล็กน้อย แสดงว่าผลไม่ดิบจนเกินไป
- เสียงจากการเคาะผลใช้วิธีเคาะเบาๆ บริเวณเปลือก หากได้ยินเสียงป๊อกๆ แสดงว่าทุเรียนมีเนื้อแน่นและเริ่มสุกพอดี แต่หากเสียงทึบหรือแน่นมาก อาจยังไม่สุก ส่วนเสียงกลวงหรือเบาเกินไป มักบ่งชี้ว่าทุเรียนอาจสุกจัดหรือเริ่มเน่าเสีย
- ลักษณะของก้านผลทุเรียนที่สุกใหม่จะมีก้านสีเขียวอมสีน้ำตาล มีความชุ่มชื้นและตึง ไม่แห้งกรอบหรือเหี่ยว ซึ่งแสดงว่าผลถูกตัดออกจากต้นในระยะเวลาไม่นาน
- สภาพของเปลือกบริเวณพู ผลทุเรียนที่สุกพอดีบางครั้งอาจมีรอยแยกหรือปริแตกตามแนวพูเล็กน้อย ซึ่งเป็นลักษณะธรรมชาติของผลสุก หากรอยแตกกว้างหรือเผยให้เห็นเนื้อด้านใน แสดงว่าทุเรียนมีความสุกมาก
ข้อเสนอแนะ สคต. ณ นครเฉิงตู
จากแนวโน้มตลาดผลไม้ในประเทศจีน พบว่าทุเรียนยังคงเป็นผลไม้เขตร้อนที่ได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในกลุ่มผู้บริโภคที่มีกำลังซื้อสูง และให้ความสำคัญกับคุณภาพ รสชาติ รวมถึงแหล่งที่มาของสินค้า ปัจจุบันตลาดจีนเผชิญกับการแข่งขันที่เพิ่มขึ้นจากประเทศผู้ส่งออกอื่น เช่น มาเลเซียและเวียดนาม ซึ่งมีการส่งเสริมสายพันธุ์ทุเรียนที่หลากหลาย ทั้งในด้านรสชาติ กลิ่น และรูปแบบการนำเสนอที่สอดรับกับความต้องการของผู้บริโภคจีนยุคใหม่
สำหรับประเทศไทย ทุเรียนพันธุ์หมอนทองยังคงเป็นสายพันธุ์หลักที่ได้รับการยอมรับในตลาดจีน ด้วยจุดเด่นด้านรสชาติหวานมัน กลิ่นไม่แรง และเนื้อแน่น ในขณะที่พันธุ์ชะนี พวงมณี และสายพันธุ์พื้นเมืองอื่น ๆ แม้จะมีคุณลักษณะเฉพาะตัว แต่ยังมีบทบาทจำกัดในตลาดเฉพาะกลุ่ม ดังนั้น ผู้ประกอบการควรเน้น การสื่อสารจุดขายที่ชัดเจนเพื่อสร้างความแตกต่าง เช่น รสชาติเข้มข้น เนื้อแน่น เมล็ดเล็ก หรือกลิ่นเฉพาะ แบบทุเรียนไทยดั้งเดิม แนะนำให้ผู้ประกอบการไทยพิจารณากลยุทธ์การตลาดที่สอดคล้องกับพฤติกรรมของผู้บริโภคจีนในแต่ละกลุ่มเป้าหมาย ผู้ประกอบการไทยที่มีความประสงค์จะขยายตลาดในประเทศจีน ควรศึกษาและติดตามข้อมูลตลาดอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนปรับตัวให้ทันกับพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงเพื่อวางแผนด้านผลิตภัณฑ์ การตลาด และการส่งออกได้อย่างมีประสิทธิภาพ
———————————–
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครเฉิงตู
พฤษภาคม 2568
แหล่งข้อมูล
https://mp.qq.com/s/6pPCSEYZmhaWuspDjHvdog
https://www.doa.go.th/hort/?page_id=53926
https://www.thairath.co.th/news/local/1287276