จีนและสหรัฐฯ บรรลุข้อตกลงภายหลังการเจรจาระหว่างผู้แทนระดับสูงของทั้งสองฝ่ายที่นครเจนีวา เมื่อวันที่ 10 – 11 พฤษภาคมที่ผ่านมา ทั้งสองประเทศตกลงลดภาษีศุลกากรซึ่งกันและกันเป็นการชั่วคราว โดยสหรัฐอเมริกาประกาศเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2568 ยกเลิกภาษีศุลกากรที่เรียกเก็บจากสินค้าจีน (รวมถึงสินค้าที่มีแหล่งกำเนิดจากเขตบริหารพิเศษฮ่องกง และมาเก๊า) ที่อัตราร้อยละ 91 ตามคำสั่งบริหารหมายเลข 14259 ที่ประกาศเมื่อวันที่ 8 เมษายน 2568 และคำสั่งบริหารหมายเลข 14266 ที่ประกาศเมื่อวันที่ 9 เมษายน 2568 นอกจากนี้ สหรัฐฯ ยังแก้ไขคำสั่งบริหารหมายเลข 14257 ประกาศเมื่อวันที่ 2 เมษายน 2568 ที่เพิ่มภาษีสินค้าจีนในอัตราร้อยละ 34 โดยแก้ไขเป็นการระงับการจัดเก็บภาษีในอัตราร้อยละ 24 เป็นเวลา 90 วัน แต่ยังคงไว้ซึ่งภาษีอีกร้อยละ 10 ไว้ตามเดิม
นอกจากนี้ สหรัฐฯ ยังประกาศลดและยกเลิกการเก็บภาษีสินค้านำเข้าขนาดเล็ก “De Minimis” ที่มีมูลค่าไม่เกิน 800 เหรียญสหรัฐฯ จากจีน จากร้อยละ 120 เหลือร้อยละ 54 โดยจะยังเก็บค่าธรรมเนียมจากพัสดุขนาดเล็กดังกล่าวที่ 100 เหรียญสหรัฐฯ ตามเดิม แต่ได้ประกาศยกเลิกการเพิ่มค่าธรรมเนียมเป็น 200 เหรียญสหรัฐฯ ซึ่งมีกำหนดจะบังคับใช้ตั้งแต่ 1 มิถุนายน 2568 นับเป็นสัญญาณบวกที่สำคัญในการผ่อนคลายความขัดแย้งทางการค้าโลก
อย่างไรก็ตาม แม้สหรัฐฯ จะยกเลิกการเก็บภาษีอัตราร้อยละ 91 ซึ่งมีผลให้ภาษีสินค้ากลับมาอยู่ที่ระดับก่อนวันที่ 2 เมษายน 2568 แต่ก็ยังคงอัตราภาษีร้อยละ 10 ไว้ ซึ่งก็เปรียบได้ดั่ง “หินก้อนเล็กๆ” ที่ยังขัดขวางการค้าเสรีระหว่างจีนกับสหรัฐฯ และยังเป็นต้นทุนที่เพิ่มขึ้นให้กับผู้ประกอบการ นอกจากนี้ การปรับลดอัตราภาษี “De Minimis” จากร้อยละ 120 เหลือที่ร้อยละ 54 นั้น แม้จะดูเหมือนว่าเป็นการปรับลดลงอย่างมาก แต่หากเปรียบเทียบกับอัตราภาษีที่คาดว่าอยู่ที่ร้อยละ 10 – 20 ก่อนการประกาศเพิ่มภาษีนั้น อัตราภาษีดังกล่าวยังถือว่าอยู่ในระดับที่สูง (ร้อยละ 34 – 44) และยังคงค่าธรรมเนียมนำเข้าที่ 100 เหรียญสหรัฐฯ ต่อชิ้น ซึ่งเป็นการสร้างแรงกดดันให้กับผู้ประกอบการอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดนและผู้ซื้อจากต่างประเทศ
สำหรับท่าทีของจีนในการตอบโต้มาตรการทางภาษีของสหรัฐฯ นั้น สามารถกล่าวได้ว่าจีนดำเนินการอย่าง “สมเหตุสมผล” โดยเมื่อสหรัฐฯ ประกาศยกเลิกการเก็บภาษีในอัตราร้อยละ 91 กับสินค้าจีน จีนก็มีแนวโน้มที่จะยกเลิกมาตรการตอบโต้ภาษีที่เกี่ยวข้อง โดยอาจยังคงใช้มาตรการตอบโต้บางส่วน ซึ่งจะเห็นได้ว่าท่าทีดังกล่าวของจีน เป็นการแสดงจุดยืนที่ชัดเจนในการปกป้องผลประโยชน์ของประเทศ แต่ยังสะท้อนถึงความจริงใจในการส่งเสริมการทำให้การค้าระหว่างประเทศให้เป็นปกติ
เปรียบเทียบอัตราภาษาก่อน-หลังอัตราภาษีต่างตอบแทน (Reciprocal Tariffs)
รายการ | อัตราก่อน Reciprocal Tariffs |
อัตราสูงสุดหลัง Reciprocal Tariffs |
อัตราหลังการ เจรจาล่าสุด |
เปรียบเทียบกับ ก่อน Reciprocal Tariffs |
Reciprocal Tariffs 91% (ตามคำสั่งหมายเลข 14259 ณ 8 เม.ย. 68 และหมายเลข 14266 ณ 9 เม.ย. 68) |
0% | 91% | 0% | คืนสู่ระดับเดิม |
Reciprocal Tariffs 34% (ตามคำสั่งหมายเลข 14257 ณ 2 เม.ย. 68) |
0% | 34% | 10% | สูงกว่าระดับเดิม 10% |
ภาษีสินค้านำเข้าขนาดเล็ก “De Minimis” | ≈10%-20% | 120% | 54% | สูงกว่าระดับเดิม 34%-44% (หากอัตราเดิมอยู่ที่ 10%-20%) |
ค่าธรรมเนียมตามจำนวนสินค้านำเข้าขนาดเล็ก “De Minimis” (ต่อชิ้น) | 0 เหรียญสหรัฐฯ | 100 เหรียญสหรัฐฯ (เดิมจะเพิ่มเป็น 200 เหรียญสหรัฐฯ) | 100 เหรียญสหรัฐฯ | เพิ่ม 100 เหรียญสหรัฐฯ (ก่อนหน้านี้ ไม่มีค่าธรรมเนียม) |
จากตารางข้างต้น จะเห็นได้ชัดว่าแม้ว่า สหรัฐฯ ประกาศยกเลิกการเพิ่มภาษีสินค้าหลักในอัตราร้อยละ 91 แล้ว แต่ยังคงเรียกเก็บอัตราภาษีเพิ่มร้อยละ 10 นอกจากนี้ อัตราภาษีสินค้านำเข้าขนาดเล็กก็สูงกว่าระดับก่อนหน้ามาก กล่าวได้ว่าการค้าระหว่างจีนและสหรัฐยังอยู่ในภาวะเปราะบาง แต่ก็มีการคลี่คลายในทิศทางที่ดี ถือเป็นสัญญาณบวกที่ทำให้ภาคธุรกิจที่มองเห็นความหวังในการลดต้นทุนการค้าและขยายตลาด นอกจากนี้ ข้อตกลงระงับการขึ้นภาษีการค้าของจีนและสหรัฐฯ เป็นเวลา 90 วัน ถือเป็นการ “พักรบ” เพียงชั่วคราว โดยยังไม่แน่นอนว่าหลังจาก 90 วันแล้ว ความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างทั้งสองประเทศจะเป็นไปในทิศทางใด ซึ่งจำเป็นต้องติดตามกันต่อไป
ข้อเสนอแนะ สคต. ณ นครเฉิงตู
หลังจากการเจรจาอย่างเป็นทางการระหว่างจีนและสหรัฐฯ ที่นครเจนีวา ทำให้ทั้งสองประเทศบรรลุข้อตกลงในการลดภาษีระหว่างกันเป็นเวลา 90 วัน ถือเป็นก้าวสำคัญที่ช่วยคลี่คลายความตึงเครียดทางการค้าที่ดำเนินมายาวนาน และส่งสัญญาณเชิงบวกต่อเสถียรภาพของเศรษฐกิจโลก ทั้งนี้ แม้จะเป็นข้อตกลงชั่วคราว แต่ท่าทีของทั้งสองประเทศก็สะท้อนให้เห็นถึงความตั้งใจในการลดความตึงเครียดและการเผชิญหน้าทางเศรษฐกิจ และพยายามประคับประคองความสัมพันธ์ทางการค้าให้เดินหน้าต่อไปได้ โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่เศรษฐกิจโลกยังเผชิญความไม่แน่นอนจากหลายปัจจัย
ตลอดช่วงหลายปีที่ผ่านมา สหรัฐฯ ใช้มาตรการภาษีเป็นเครื่องมือหลักในการกดดันจีน โดยมีเป้าหมายเพื่อลดการขาดดุลการค้ากับจีน อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจจีนและสหรัฐมีการพึ่งพากันในระดับสูง ซึ่งนอกจากภายใต้บริบทนโยบายทางการค้าแล้ว ทั้งสองประเทศยังมีความเชื่อมโยงบริบทต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านความมั่นคง ภูมิรัฐศาสตร์ การพัฒนาเทคโนโลยี และสิ่งแวดล้อม ซึ่งล้วนเป็นประเด็นที่มีความละเอียดอ่อน ทำให้ความไม่แน่นอนทางการค้าระหว่างจีน-สหรัฐฯ ยังมีแนวโน้มยืดเยื้อต่อไป เนื่องจากทั้งสองฝ่ายต้องคำนึงถึงการรักษาสมดุลระหว่างการปกป้องผลประโยชน์ประเทศและการรักษาความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศ
ในระยะยาว มาตรการภาษีอาจนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างของระบบการค้าโลก เช่น การปรับห่วงโซ่อุปทาน การย้ายฐานการผลิต และการจัดวางความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจใหม่ ซึ่งภาคธุรกิจทั่วโลก รวมถึงไทย จำเป็นต้องติดตามอย่างใกล้ชิดและเตรียมพร้อมในการตั้งรับและปรับตัวให้ทัน สำหรับประเทศไทย สหรัฐฯ ได้ประกาศเตรียมจัดเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากไทยในอัตราสูงถึงร้อยละ 36 ซึ่งจะส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อผู้ส่งออกไทยในหลายอุตสาหกรรม โดยในขณะนี้ ไทยยังอยู่ระหว่างรอการเจรจากับสหรัฐฯ ซึ่งภาครัฐและเอกชนของไทยได้ร่วมจัดทำข้อเสนอเพื่อการเจรจากับสหรัฐฯ เพื่อใช้ในการเจรจาและรักษาความสามารถในการแข่งขันและขยายโอกาสทางการค้าในเวทีโลก ทั้งนี้ ในช่วงระยะเวลาดังกล่าว ภาคธุรกิจของไทยจำเป็นต้องติดตาม ประเมินสถานการณ์ วางกลยุทธ์ และเตรียมพร้อมรับมือกับความเปลี่ยนแปลงที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต
————————————————–
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครเฉิงตู
พฤษภาคม 2568
แหล่งข้อมูล :
https://mp.weixin.qq.com/s/Nb0NzaIYyLJQKXrEZ_yDqQ
https://www.reuters.com/world/china/us-cut-de-minimis-tariff-china-shipments-54-120-2025-05-13/
ภาพจาก https://image.so.com/