การใช้จ่ายช่วงการเลือกตั้งอาจมีส่วนช่วยบรรเทาผลกระทบจากภาษีนำเข้าได้

 

ในช่วงก่อนและหลังการเลือกตั้งกลางเทอมของฟิลิปปินส์ ซึ่งจัดขึ้นในวันที่ 12 พฤษภาคม 2568 ได้มีการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐควบคู่กับการใช้จ่ายภาคครัวเรือนของประชาชน เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศ เป็นมาตรการรองรับผลกระทบที่เกิดจากการที่สหรัฐฯ ประกาศเก็บภาษีตอบโต้การนำเข้าสินค้าจากฟิลิปปินส์ในอัตราที่สูงขึ้น

นาง Amenah F. Pangandaman รัฐมนตรีว่าการกระทรวงงบประมาณและการจัดการ (DBM) ซึ่งดำรงตำแหน่งหัวหน้าคณะกรรมการประสานงานงบประมาณการพัฒนา (DBCC) คาดว่า ผลกระทบจากภาษีตอบโต้การนำเข้าสินค้าของสหรัฐฯ จะสามารถชดเชยได้บางส่วน จากการใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง ตลอดจนการยกเลิกคำสั่งห้ามเบิกจ่ายงบประมาณในโครงการโครงสร้างพื้นฐานบางประเภทภายหลังการเลือกตั้งสิ้นสุดลง โดยคาดว่าการเบิกจ่ายงบประมาณของรัฐบาลจะมีแนวโน้มเร่งตัวขึ้นในไตรมาสถัดไป ทั้งนี้ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (COMELEC) ได้ประกาศห้ามมิให้มีการใช้จ่ายในโครงการสาธารณะเป็นเวลา 45 วัน ตั้งแต่วันที่ 28 มีนาคม ถึง 12 พฤษภาคม 2568 สำหรับภาพรวมเศรษฐกิจของฟิลิปปินส์ในไตรมาสแรกของปี 2568 พบว่ามีอัตราการอยู่ที่ร้อยละ 5.4 ลดลงจากร้อยละ 5.9
เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า ซึ่งต่ำกว่าเป้าหมายที่รัฐบาลกำหนดไว้ที่ร้อยละ 6 – 8 สำหรับปีนี้ โดยสาเหตุสำคัญที่ส่งผลให้การขยายตัวของเศรษฐกิจชะลอลงคือ ความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้นจากการที่ประธานาธิบดี Donald J. Trump ได้ประกาศใช้มาตรการภาษีตอบโต้ในเดือนเมษายนที่ผ่านมา ซึ่งรวมถึงการเก็บภาษีตอบโต้การนำเข้าสินค้าจากฟิลิปปินส์ในอัตราร้อยละ 17 โดยมาตรการดังกล่าวได้ถูกระงับชั่วคราวเป็นระยะเวลา 90 วัน เพื่อเปิดโอกาสให้เจรจาในระดับทวิภาคี ทั้งนี้ รายจ่ายภาครัฐของฟิลิปปินส์เพิ่มขึ้นร้อยละ 18.7 เนื่องจากหน่วยงานของรัฐได้เร่งดำเนินการเบิกจ่ายล่วงหน้า ก่อนช่วงระยะเวลาที่มีข้อจำกัดในการใช้จ่ายช่วงการเลือกตั้ง โดยคาดว่าการเบิกจ่ายงบประมาณจะเพิ่มขึ้นอีกครั้งในช่วงปลายเดือนพฤษภาคมจนถึงเดือนมิถุนายน ภายหลังการยกเลิกข้อจำกัดดังกล่าว อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์ทางเศรษฐกิจหลายฝ่ายได้แสดงความเห็นว่า มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่เกิดจากการเลือกตั้งดังกล่าว อาจส่งผลกระทบเชิงบวกในระยะสั้นเท่านั้น และอาจไม่เพียงพอที่จะรองรับผลกระทบเชิงโครงสร้างระยะยาวที่อาจเกิดขึ้นจากมาตรการตอบโต้ภาษีของสหรัฐฯ ได้อย่างยั่งยืน

ในส่วนของการบริหารงบประมาณภาครัฐ รัฐบาลจะยังคงติดตามและประเมินอัตราการเบิกจ่ายงบประมาณของหน่วยงานภาครัฐต่างๆ อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในช่วงหลังการเลือกตั้ง ซึ่งแผนการดำเนินงานที่ค้างอยู่หรือล่าช้าจะได้รับการจัดลำดับความสำคัญในการเบิกจ่ายและดำเนินโครงการให้แล้วเสร็จตามแผนงานที่กำหนดไว้ เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศอย่างยั่งยืน

นาง Rosemarie G. Edillon ปลัดกระทรวงเศรษฐกิจ การวางแผน และการพัฒนา ได้แสดงความเห็นว่า การใช้จ่ายของรัฐอาจชะลอตัวในไตรมาสที่สอง เนื่องจากได้รับการครอบคลุมภายใต้คำสั่งการห้ามใช้จ่ายในเดือนเมษายน – พฤษภาคม

นาย John Paolo R. Rivera นักวิจัยอาวุโสจาก the Philippine Institute for Development Studies ได้แสดงความเห็นว่า การใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งอาจให้การกระตุ้นในระยะสั้นเท่านั้น โดยอาจสามารถบรรเทาผลกระทบจากปัจจัยภายนอก เช่น มาตรการภาษีศุลกากรของสหรัฐฯ ได้เพียงบางส่วน หากหน่วยงานของรัฐสามารถดำเนินการเร่งรัดโครงการโครงสร้างพื้นฐานและกิจกรรมทางการเมืองต่อเนื่อง เพื่อสนับสนุนกิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศให้อยู่ในระดับสูง อย่างไรก็ตาม การกระตุ้นจากการใช้จ่ายในการเลือกตั้งอาจไม่เพียงพอที่จะรักษาการเติบโตต่อไปหลังไตรมาสที่สอง หากภาคการส่งออกประสบภาวะขาดทุน หรือการลงทุนชะลอตัวลง ซึ่งประโยชน์ดังกล่าวเป็นเพียงชั่วคราว ในขณะที่ภาษีที่สูงขึ้นอาจส่งผลต่อโครงสร้างในระยะยาว เช่น ความสามารถในการแข่งขันในการส่งออกลดลง
การเปลี่ยนแปลงในห่วงโซ่อุปทาน และความไม่แน่นอนของนักลงทุน อัตราการเติบโตของการส่งออกของฟิลิปปินส์ชะลอตัวลงเหลือร้อยละ 6.2 ในไตรมาสแรกจากร้อยละ 8.1 เมื่อปีที่แล้ว เนื่องจากบริษัทผู้ส่งออกยังคงเฝ้าระวังเกี่ยวกับสถานการณ์การค้าระหว่างประเทศที่ยังคงมีความไม่แน่นอนสูง

นาย Reinielle Matt M. Erece นักเศรษฐศาสตร์จาก Oikonomia Research and Advisory Inc. กล่าวว่า การพึ่งพาการใช้จ่ายของรัฐบาลเพื่อขับเคลื่อนการเติบโตเป็นสิ่งที่ไม่ยั่งยืนและอาจทำให้งบประมาณของรัฐหมดลง และส่งผลให้มีการกู้ยืมมากขึ้น โดยเรียกร้องให้รัฐบาลดำเนินการเจรจาการค้ากับประเทศต่างๆ และปรับปรุงสภาพแวดล้อมการลงทุนแทน

นาง Maria Cristina A. Roque รัฐมนตรีกระทรวงการค้าและอุตสาหกรรม นาย Frederick Go ที่ปรึกษาด้านการลงทุนและเศรษฐกิจของประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ พร้อมด้วยนาย Jose Manuel D. Romualdez เอกอัครราชทูตฟิลิปปินส์ประจำสหรัฐฯ ได้เข้าพบกับนาย Jamieson Greer ตัวแทนการค้าของสหรัฐฯ (USTR) ณ กรุงวอชิงตัน เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2568 เพื่อหารือเกี่ยวกับมาตรการตอบโต้ภาษีศุลกากรที่สหรัฐฯ ได้ประกาศบังคับใช้กับสินค้านำเข้าจากฟิลิปปินส์ ทั้งนี้ นาง Roque ได้เปิดเผยภายหลังการประชุมว่า การหารือเป็นไปด้วยความราบรื่น และคาดว่าจะมีการจัดประชุมเพิ่มเติมระหว่างสองฝ่ายต่อไป

ที่มา: หนังสือพิมพ์ Business World

 

บทวิเคราะห์/ ข้อคิดเห็น

  • ในช่วงก่อนและหลังการเลือกตั้งกลางเทอมของฟิลิปปินส์เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2568 รัฐบาลฟิลิปปินส์ได้ใช้นโยบายเชิงรุกผ่านการใช้จ่ายภาครัฐและภาคครัวเรือน เพื่อบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดจากมาตรการภาษีนำเข้าสูงของสหรัฐฯ โดยเฉพาะภาษีตอบโต้ในอัตราร้อยละ 17 ที่ประกาศโดยประธานาธิบดี Donald J. Trump แม้มาตรการดังกล่าวจะถูกระงับชั่วคราวเป็นเวลา 90 วัน เพื่อเปิดโอกาสให้มีการเจรจา แต่ก็ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้ส่งออกและนักลงทุน ทั้งนี้ นาง Pangandaman คาดว่าการเบิกจ่ายภาครัฐจะเพิ่มขึ้นหลังยกเลิกคำสั่งห้ามการใช้จ่ายช่วงเลือกตั้ง และอาจช่วยกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ชะลอลงเหลือร้อยละ 5.4 ในไตรมาสแรก อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์หลายฝ่าย เช่น นาย Rivera และนาย Erece ได้แสดงความคิดเห็นว่า การพึ่งพาการใช้จ่ายภาครัฐเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจนั้นเป็นเพียงมาตรการชั่วคราว อาจทำให้งบประมาณของรัฐหมดลง และกระตุ้นให้มีการกู้ยืมมากขึ้น ไม่สามารถรองรับความเสี่ยงเชิงโครงสร้างระยะยาวได้อย่างยั่งยืน โดยเฉพาะเมื่อการส่งออกของประเทศชะลอลง และการลงทุนอาจลดลงในภาวะที่มีความไม่แน่นอนสูง ขณะเดียวกันรัฐบาลได้พยายามเจรจากับผู้แทนการค้าสหรัฐฯ ณ กรุงวอชิงตัน เพื่อหาทางผ่อนคลายมาตรการตอบโต้ภาษี ทั้งนี้ ยังต้องติดตามแผนเบิกจ่ายที่ล่าช้าหลังเลือกตั้งอย่างใกล้ชิด ซึ่งรัฐบาลยืนยันว่าจะให้ความสำคัญในการเร่งรัดเพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโดยรวม
  • ภายใต้ภาวะเศรษฐกิจฟิลิปปินส์ที่กำลังเผชิญความไม่แน่นอนจากมาตรการตอบโต้ภาษีนำเข้าสูงของสหรัฐฯ และการเร่งใช้นโยบายการคลังเพื่อพยุงการเติบโต ผู้นำเข้าและผู้ส่งออกไทยควรเตรียมพร้อมรับมือกับความผันผวนทางการค้า ปรับตัวเชิงกลยุทธ์ให้ทันต่อสภาพแวดล้อมการค้าระหว่างประเทศที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในด้านภาษี การปรับเปลี่ยนเส้นทางการผลิต การจัดส่งสินค้า และพฤติกรรมผู้บริโภคที่อาจเปลี่ยนแปลง ทั้งนี้ การฟื้นตัวของการเบิกจ่ายภาครัฐหลังการเลือกตั้งกลางเทอมของฟิลิปปินส์อาจเปิดโอกาสใหม่ให้แก่ผู้ส่งออกไทยในกลุ่มสินค้าวัสดุก่อสร้าง เครื่องจักรกล ผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับพลังงาน และระบบสาธารณูปโภค ในขณะที่การเจรจาระหว่างฟิลิปปินส์กับสหรัฐฯ เกี่ยวกับภาษีตอบโต้การนำเข้ายังไม่มีข้อยุติผู้นำเข้าไทยควรสำรวจแหล่งนำเข้าทดแทนหรือขยายฐานการผลิต จัดเก็บสินค้า ทำให้การกระจายความเสี่ยงในด้านแหล่งผลิตหรือแหล่งนำเข้าทดแทนถือเป็นกลยุทธ์สำคัญ นอกจากนี้ ผู้นำเข้าและผู้ส่งออกไทยควรมุ่งเน้นการสร้างความร่วมมือระยะยาวกับคู่ค้าฟิลิปปินส์เช่น การเซ็นสัญญา MOU หรือร่วมทุน (JV) แทนการทำธุรกิจแบบสั่งซื้อครั้งเดียว ซึ่งช่วยลดความผันผวนและสร้างเสถียรภาพรายได้

—————————————

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงมะนิลา

พฤษภาคม 2568

thThai