ความเชื่อมั่นผู้บริโภคในสหรัฐฯ ลดลงสู่ระดับต่ำสุดเป็นอันดับสองเป็นประวัติการณ์ในเดือนพฤษภาคม 2025 ซึ่งนับเป็นการลดลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ห้า ท่ามกลางความกังวลของชาวอเมริกันเกี่ยวกับผลกระทบจากมาตรการจัดเก็บภาษีศุลกากร
จากผลการสำรวจเบื้องต้นที่เผยแพร่เมื่อวันศุกร์ที่ 16 พ.ค. 2025 ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคของมหาวิทยาลัยมิชิแกนลดลงมาอยู่ที่ระดับ 50.8 ในช่วงสองสัปดาห์แรกของเดือนพฤษภาคม 2025 ขณะที่นักเศรษฐศาสตร์ที่ได้รับการสำรวจจากสถาบันวิจัยการตลาดและการเงิน FactSet คาดการณ์ว่าดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคจะปรับขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 55 จากระดับ 52.2 ในเดือนเมษายน 2025 ที่ผ่านมา
ตัวเลขดังกล่าวนับเป็นระดับต่ำสุดเป็นอันดับสองนับตั้งแต่ปี 1978 โดยระดับต่ำสุดตลอดกาลอยู่ที่ 50 ซึ่งได้บันทึกไว้เมื่อเดือนมิถุนายน 2022 ในช่วงที่อัตราเงินเฟ้อแตะระดับ 9.1% ต่อปี ซึ่งเป็นช่วงที่อัตราเงินเฟ้อรายปีเพิ่มขึ้นสูงที่สุดนับตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 80
นาง Joanne Hsu ผู้อำนวยการฝ่ายสำรวจผู้บริโภคของมหาวิทยาลัยมิชิแกนกล่าวว่า “ผู้บริโภคเกือบสามในสี่กล่าวถึง ‘ภาษีศุลกากร’ โดยไม่ได้มีคำถามเกริ่นนำ ซึ่งเพิ่มขึ้นจากเกือบ 60% ในเดือนเมษายน การกล่าวถึงนี้สะท้อนให้เห็นว่า ความไม่แน่นอนเกี่ยวกับนโยบายการค้ายังคงครอบงำความคิดของผู้บริโภคเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวม”
นอกจากนี้ ตัวเลขคาดการณ์เงินเฟ้อในระยะ 1 ปีข้างหน้าพุ่งขึ้นเป็น 7.3% ในเดือนพฤษภาคม จาก 6.5% ในเดือนเมษายน ขณะที่คาดการณ์เงินเฟ้อระยะ 5 ปีข้างหน้าขยับขึ้นเป็น 4.6% จาก 4.4% โดยการเพิ่มขึ้นดังกล่าวเป็นผลมาจากการปรับตัวขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในกลุ่มผู้มีแนวคิดทางการเมืองฝั่งรีพับลิกัน
การที่ความคาดหวังต่อเงินเฟ้อในระยะสั้นเพิ่มสูงขึ้นถือว่าน่ากังวล โดยเฉพาะเมื่อพิจารณาว่าในเดือนเมษายน อัตราเงินเฟ้อชะลอลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 4 ปี โดยเพิ่มขึ้นเพียง 2.3% ต่อปี นักเศรษฐศาสตร์ระบุว่าการชะลอตัวของราคาอาจเป็นเพียงช่วงสั้น ๆ เนื่องจากแรงกดดันจากภาษีกำลังค่อยๆ ซึมเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 15 พ.ค. 2025 ผู้บริหาร Walmart ออกมาเตือนว่าแม้อัตราภาษีสินค้าจากจีนจะลดลง ก็ยังส่งผลให้ต้องปรับขึ้นราคาสินค้าบางรายการ ซึ่งผู้ค้าปลีกรายอื่นก็มีความเห็นไปในทิศทางเดียวกันในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา
นาง Joanne Hsu เปิดเผยว่าการสัมภาษณ์เพื่อจัดทำผลสำรวจความเชื่อมั่นผู้บริโภคเบื้องต้นได้สิ้นสุดลงเพียง 2 วันหลังจากที่ประธานาธิบดีทรัมป์ประกาศระงับอัตราภาษีสินค้าจากจีนจาก 145% เหลือ 30% เป็นระยะเวลา 90 วัน หลายตัวชี้วัดในแบบสำรวจปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อยหลังจากมีมาตรการระงับภาษีชั่วคราว แต่การฟื้นตัวดังกล่าว “ยังน้อยเกินไปที่จะเปลี่ยนภาพรวม” ทั้งนี้ ผลสำรวจฉบับสมบูรณ์ซึ่งจะเผยแพร่ในวันที่ 30 พฤษภาคม จะชี้ให้เห็นว่าผู้บริโภคปรับมุมมองต่อเงินเฟ้อหลังจากการลดภาษีชั่วคราวครั้งนี้มากน้อยเพียงใด
เจ้าหน้าที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ระบุว่า การควบคุมไม่ให้ความคาดหวังต่อเงินเฟ้อพุ่งสูงเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อป้องกันไม่ให้ราคาสินค้าและบริการสูงขึ้นตอบสนองต่ออัตราภาษีที่เพิ่มขึ้น เพราะหากผู้คนคาดว่าเงินเฟ้อจะสูง ก็จะเรียกร้องค่าจ้างที่สูงขึ้น ขณะที่ภาคธุรกิจก็อาจขึ้นราคาล่วงหน้า ซึ่งจะยิ่งทำให้แรงกดดันด้านค่าจ้างเพิ่มขึ้นตามไปด้วย
หลังการเปิดเผยรายงานความเชื่อมั่นผู้บริโภค นักลงทุนได้เพิ่มโอกาสที่ Fed จะคงอัตราดอกเบี้ยไว้ในการประชุมเดือนมิถุนายนจาก 92% เป็น 95% และยังเพิ่มโอกาสที่จะคงดอกเบี้ยในเดือนกรกฎาคมจาก 63% เป็น 69% อย่างไรก็ตาม ผลสำรวจจากธนาคารกลางนิวยอร์ก (New York Fed) ที่เผยแพร่เมื่อต้นเดือนนี้ แสดงมุมมองที่มองโลกในแง่ดีมากกว่า โดยระบุว่าความคาดหวังต่อเงินเฟ้อเฉลี่ยในระยะ 1 ปีข้างหน้ายังคง “มีเสถียรภาพ” ที่ระดับ 3.6% ในเดือนเมษายน
แม้ว่าผลสำรวจทั้งสองจะมีรายละเอียดแตกต่างกัน แต่ต่างก็ชี้ให้เห็นว่าผู้บริโภครู้สึกกังวลมากขึ้นเกี่ยวกับสถานะทางการเงินของตนเอง จากผลสำรวจของมหาวิทยาลัยมิชิแกน พบว่าการประเมินสถานะการเงินส่วนบุคคลปัจจุบันลดลงเกือบ 10% สะท้อนถึงความคาดหวังว่าอัตราการเติบโตของรายได้จะชะลอตัว ขณะที่แบบสำรวจของ Fed นิวยอร์กระบุว่า ผู้บริโภคเริ่มกังวลเกี่ยวกับตลาดแรงงานมากขึ้น และคาดว่าตนเองจะมีรายได้น้อยลงในช่วงเดือนต่อๆ ไป ประเด็นนี้อาจส่งผลต่อการบริโภค ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 70% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ดังนั้น หากความต้องการของผู้บริโภคลดลงอย่างรวดเร็ว ก็อาจฉุดรั้งการเติบโตทางเศรษฐกิจ
นางเอลิซาเบธ เรนเตอร์ นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสจาก NerdWallet กล่าวว่า “ตัวชี้วัดความเชื่อมั่นที่สะท้อนแนวโน้มในอนาคตสามารถบอกถึงพฤติกรรมผู้บริโภคที่จะเกิดขึ้น — หากคุณคาดว่าสถานการณ์จะแย่ลง คุณก็อาจจะเริ่มปรับพฤติกรรมการใช้จ่ายและการออมตั้งแต่ตอนนี้ แต่ถ้าสถานการณ์ทางการเงินของคุณแย่ลงเรื่อยๆ ในแต่ละเดือน หรือแต่ละช่วงการสำรวจ ก็จะยิ่งทำให้คุณปรับตัวได้ยากขึ้น และมีโอกาสน้อยลงที่จะรับมือไหวหากเศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะถดถอย”
อย่างไรก็ตาม ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา มีความสัมพันธ์เพียงเล็กน้อยระหว่างความรู้สึกของชาวอเมริกันต่อเศรษฐกิจกับพฤติกรรมการจับจ่าย แม้ความเชื่อมั่นจะลดลงอย่างมากในช่วงครึ่งปีแรก แต่ความต้องการของผู้บริโภคก็ยังคงยืนหยัดได้อย่างน่าประหลาดใจ
การใช้จ่ายของผู้บริโภคในไตรมาสแรกเพิ่มขึ้น 1.8% จากปีก่อน ตามข้อมูล GDP เบื้องต้น และแม้ยอดค้าปลีกในเดือนเมษายนจะเพิ่มขึ้นเพียง 0.1% ต่ำกว่าที่นักเศรษฐศาสตร์คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 0.2% แต่สถานะทางการเงินของครัวเรือนและความต้องการพื้นฐานยังถือว่าแข็งแกร่ง
“โดยรวมแล้วผู้บริโภคยังมีเงินใช้ เพียงแต่อารมณ์ในการจับจ่ายเริ่มถดถอย” โรเบิร์ต ฟริก นักเศรษฐศาสตร์จาก องค์กร Navy Federal Credit Union เขียนไว้หลังการเผยแพร่รายงานเมื่อวันพฤหัสบดี “ความวิตกกังวลเกี่ยวกับภาษีศุลกากรและตลาดแรงงาน ทำให้ชาวอเมริกันโดยทั่วไปเริ่มออมเงินมากขึ้นและใช้จ่ายน้อยลง แม้ว่าการบริโภคยังคงเติบโตอยู่บ้างก็ตาม”
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครนิวยอร์ก
ข้อมูลอ้างอิง Wall Street Journal