ทางการตุรกีได้ปฏิเสธรายงานข่าวเมื่อเร็วๆ นี้ ที่ระบุว่า แพลตฟอร์มช้อปปิ้งออนไลน์ยอดนิยมจากจีนอย่าง Temu กำลังจะถูกระงับการเข้าถึงในตุรกีเนื่องจากไม่ปฏิบัติตามกฎระเบียบด้านอีคอมเมิร์ซของตุรกี ซึ่งเรื่องนี้ได้เน้นย้ำให้เห็นถึงข้อถกเถียงในตุรกีเกี่ยวกับข้อดีและข้อเสียของกฎระเบียบด้านอีคอมเมิร์ซฉบับใหม่ที่เริ่มบังคับใช้เมื่อต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมาที่มีต่ออุตสาหกรรมมูลค่าหลายพันล้านเหรียญสหรัฐฯ นี้

 

ใจความสำคัญของกฎระเบียบใหม่ที่ว่าข้อหนึ่งก็คือ ผู้ให้บริการอีคอมเมิร์ซในตุรกีทุกรายรวมถึงผู้ให้บริการจากต่างชาติจะต้องมีตัวแทนท้องถิ่นหรือหมายถึงมี “หน้าร้าน” อยู่ในตุรกี เพื่อให้แน่ใจว่าจะสามารถดูแลลูกค้าและสามารถตอบสนองต่อข้อร้องเรียนได้ และมีข้อกำหนดให้ต้องระบุรายละเอียดข้อมูลที่ครบถ้วนทั้งชื่อผู้ขาย อีเมล์และที่อยู่เต็ม ข้อมูลผู้ผลิตหรือผู้นำเข้า คำเตือนและข้อมูลความปลอดภัยเป็นภาษาตุรกี รูปผลิตภัณฑ์ที่ชัดเจนที่แสดงมาตรฐานของผลิตภัณฑ์ ประเภท รุ่น และข้อมูลของผลิตภัณฑ์ ในการนำเสนอขายสินค้าบนแพลตฟอร์ม

 

และนอกจากนี้ ระเบียบใหม่นี้ยังได้กำหนดถึงการใช้ AI เพื่อตรวจจับผลิตภัณฑ์ที่ไม่เหมาะสม และกระบวนการตอบสนองต่อเรื่องร้องเรียนของผู้บริโภคที่ต้องรวดเร็วขึ้น ผู้ประกอบการที่ไม่สามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขเหล่านี้ได้จะไม่สามารถขายสินค้าในตุรกีได้ โดยบทลงโทษที่ระบุไว้ในกฎหมายความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์และข้อบังคับทางเทคนิคจะถูกนำมาใช้กับผู้ที่ไม่ปฏิบัติตาม และการเข้าถึงเนื้อหาที่ไม่เหมาะสมจะถูกระงับ

 

“ถึงแม้ว่าจะเป็นข้อกำหนดที่ฟังดูรัดกุมและมีเหตุผล แต่ในอีกทางหนึ่งก็เป็นข้อกำหนดที่อาจจะทำให้ผู้ประกอบการอีคอมเมิร์ซหลายรายต้องออกจากตลาดตุรกีไปโดยเฉพาะรายที่เป็นต่างชาติ และอาจจะทำให้ตุรกีมีความเสี่ยงที่จะถูกตัดขาดจากจากผู้ประกอบการอีคอมเมิร์ซในระดับสากล” นาย Fehmi Darbay ประธานคณะกรรมการบริหารของสมาคมการค้าอิเล็กทรอนิกส์ (ELİDER) ได้ให้ความเห็นในการสัมภาษณ์กับ AGBI “เราควรเชิญชวนผู้เล่นระดับโลกที่แข็งแรงเข้ามามีส่วนร่วมผลักดันสินค้าและผู้ผลิตของเราผ่านแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ แทนที่จะกีดกันพวกเขาออกไป” นาย Fehmi กล่าว

 

หนึ่งในเหตุผลที่รัฐบาลออกกฎให้แพลตฟอร์มค้าปลีกมีตัวแทนในประเทศหรือหน้าร้านสำหรับจัดการข้อร้องเรียนของผู้บริโภค มาจากข้อมูลที่ศึกษาโดย Sikayetvar ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มวิเคราะห์พฤติกรรมผู้บริโภคว่า หมวดการทำธุรกรรมอีคอมเมิร์ซได้รับความไม่พอใจจากผู้รับบริการสูงสุดเมื่อปีที่แล้ว โดยมีข้อร้องเรียนมากกว่า 400,000 รายการ ซึ่งสูงกว่าข้อร้องเรียนเกี่ยวกับผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต หรือบริการธนาคารและการเงิน ซึ่งอยู่ในลำดับถัดไปอย่างมาก ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ดีแต่ในขณะเดียวกัน การมีตัวแทนในตุรกีก็หมายความว่าแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซจะมีต้นทุนเพิ่มมากขึ้น และต้องเสียภาษีให้รัฐบาลตุรกี อย่างน้อยก็สำหรับการทำธุรกรรมบางส่วน ซึ่งไม่ใช่ผู้ประกอบการจากต่างชาติทุกรายยินดีที่จะยอมรับเงื่อนไขในข้อนี้ นาย Fehmi กล่าวว่า “เราสามารถได้รับประโยชน์จากการเปิดรับผู้ประกอบการเหล่านี้เข้ามาในตุรกีโดยกำหนดเงื่อนไขที่เป็นประโยชน์ อาทิ การกำหนดสัดส่วนที่จะต้องเปิดพื้นที่ไว้สำหรับสินค้าและธุรกิจของตุรกี เพื่อเป็นอีกช่องทางที่จะผลักดันสินค้าของตุรกีออกสู่ตลาดโลก”

 

ที่ผ่านมา รัฐบาลพยายามลดความสนใจของชาวตุรกีในการซื้อสินค้าออนไลน์บนแพลตฟอร์มระหว่างประเทศ โดยปรับลดเพดานราคาสินค้าที่จะได้รับยกเว้นภาษีสำหรับการซื้อสินค้าระหว่างประเทศจาก 150 ยูโร เหลือเพียง 30 ยูโร ในช่วงกลางปี 2024 และลดลงอีกเหลือ 27 ยูโร ในเดือนธันวาคมของปีเดียวกัน ทำให้การซื้อสินค้าที่มีมูลค่า

 

เกินกว่านั้นจะต้องเสียภาษีศุลกากรโดยผู้ซื้อจะต้องยื่นเอกสารหลักฐานใบแจ้งหนี้หรือการชำระเงิน ซึ่งนาย Fehmi มีความเห็นว่า ถึงแม้ว่าตุรกีจะมีการนำเข้าผ่านตลาดอีคอมเมิร์ซเป็นจำนวนมาก แต่แทนที่จะจำกัดการค้าในส่วนนี้ รัฐบาลควรพยายามส่งเสริมการเติบโตในด้านการส่งออกผ่านอีคอมเมิร์ซทดแทน โดยมีเป้าหมายที่จะยกระดับการส่งออกอีคอมเมิร์ซให้เป็นร้อยละ 10 ของยอดรวมของประเทศภายในปี 2028 ซึ่งขณะนี้ได้เริ่มขึ้นแล้วในระดับหนึ่ง การส่งออกอีคอมเมิร์ซของตุรกีเพิ่มขึ้นจาก 2.2 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2022 เป็น 6.4 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อปีที่ผ่านมา และรัฐบาลคาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 8 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปีนี้ ซึ่งนาย Fehmi กล่าวว่า “สิ่งที่เราควรต้องตั้งเป้าหมายคือ ให้ธุรกิจตุรกีเปิดกว้างสู่ระดับโลกและช่วยให้พวกเขาสามารถขายสินค้าในต่างประเทศได้”

 

ข้อคิดเห็นจากสำนักงานฯ

 

ดูเหมือนว่าภาครัฐและภาคเอกชนของตุรกีจะมองในคนละมุมกันในเรื่องของการผลักดันให้มีการบริโภคสินค้าท้องถิ่นของตุรกีให้มากขึ้น โดยภาครัฐพยายามหาที่จะปกป้องตลาดด้วยการกีดกันแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซจากต่างประเทศด้วยมาตรการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการกำหนดกำแพงภาษีที่สูงขึ้น หรือการปรับลดอัตราปลอดภาษีให้ต่ำลง เพื่อบีบให้ประชาชนหันกลับมาใช้สินค้าในประเทศแทน ในขณะที่ภาคเอกชนมองว่าแทนที่จะเพิ่มกำแพงภาษีต่างๆ ตุรกีควรดึงแพลตฟอร์มต่างประเทศเข้ามามีฐานในประเทศตุรกี และใช้แพลตฟอร์มต่างประเทศเหล่านี้ส่งออกสินค้าของตุรกีสู่โลกต่อไป จึงเป็นที่น่าติดตามต่อไปว่า รัฐบาลตุรกีเองจะฟังเสียงฝั่งเอกชนมากน้อยเพียงใด เพราะตลาดอีคอมเมิร์ซของตุรกีถือว่าเป็นตลาดที่ใหญ่มาก และมีแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซมากมายหวังจะเข้ามาเล่นในตลาดตุรกีนี้ อย่างไรก็ดี เป็นที่ชัดเจนว่านโยบายของทางรัฐบาลที่กำลังดำเนินการอยู่ตอนนี้ นอกจากจะเป็นการบีบบังคับทางเลือกให้ประชาชนต้องใช้สินค้าที่ผลิตภายในประเทศแล้ว ยังเป็นการผลักผู้เล่นต่างชาติให้ออกไปจากตุรกีอีกด้วยอย่างน่าเสียดาย

 

ที่มา: https://www.agbi.com/retail/2025/04/new-ecommerce-rules-spur-cost-benefit-debate-in-turkey/

 

thThai