เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2568 ญี่ปุ่นระงับการนำเข้าสัตว์ปีก โดยเฉพาะไก่จากบราซิล เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไข้หวัดนก
ญี่ปุ่นพึ่งพาการนำเข้าไก่จากต่างประเทศ โดยเป็นสินค้านำเข้าอันดับ 96 จากทั้งหมด 1,215 รายการ ในปี 2567 มูลค่านำเข้ารวม 225 พันล้านเยน โดยบราซิลเป็นแหล่งนำเข้าอันดับ 1 ปริมาณ 429,000 ตัน มูลค่า 140 พันล้านเยน คิดเป็นสัดส่วนการนำเข้าร้อยละ 70 ของการนำเข้าเนื้อสัตว์ปีกทั้งหมด (ไม่รวมผลิตภัณฑ์แปรรูป) อันดับ 2 คือ ไทย มูลค่า 79.1 พันล้านเยน ตามด้วย สหรัฐอเมริกา มูลค่า 2.8 พันล้านเยน ฮังการี มูลค่า2.01 พันล้านเยน และมาเลเซีย มูลค่า 593 ล้านเยน
การแพร่ระบาดของไข้หวัดนกในบราซิล ซึ่งครองสัดส่วนตลาดโลกถึงร้อยละ 35 ในครั้งนี้ ส่งผลให้ประเทศผู้นำเข้าหลักๆ อย่างจีน เกาหลีใต้ สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น ประกาศระงับการนำเข้าไก่และสัตว์ปีกทันที ในการนี้ ส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญกับญี่ปุ่น ซึ่งระดับความมั่นคงของทางอาหารประเภทเนื้อสัตว์ปีกและผลิตภัณฑ์แปรรูปอยู่ที่ร้อยละ 65 ขณะที่อุปสงค์เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญตามแนวโน้มการบริโภคทดแทนเนื้อสัตว์ประเภทอื่นที่ราคาปรับสูงขึ้น โดยเฉพาะเนื้อวัว รวมถึงการเติบโตของภาคการท่องเที่ยว