1. สถานการณ์เศรษฐกิจอิตาลีโดยรวม
1.1 เศรษฐกิจของสหภาพยุโรปในช่วงไตรมาสแรกของปี 2568 ขยายตัว โดยผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของยูโรโซนเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.4 และของสหภาพยุโรป (EU) เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.3 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า ในบรรดาประเทศสมาชิก ไอร์แลนด์มีอัตราการเติบโตสูงที่สุดที่ร้อยละ 3.2 ส่วนอิตาลีเติบโตร้อยละ 0.3 เศรษฐกิจยุโรปยังเผชิญแรงกดดันจากข้อพิพาททางการค้ากับสหรัฐอเมริกา ด้านอิตาลี นางจอร์จา เมโลนี นายกรัฐมนตรีอิตาลี ได้เดินหน้าเจรจาทวิภาคีกับนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ อย่างต่อเนื่อง แต่ยังไม่มีความคืบหน้าที่เป็นรูปธรรมเพื่อลดแรงกดดันทางการค้า
1.2 สำหรับเศรษฐกิจอิตาลีในไตรมาสแรกของปี 2568 ขยายตัวร้อยละ 0.3 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า และร้อยละ 0.6 เมื่อเทียบกับปี 2567 ธนาคารกลางอิตาลียังได้ปรับลดประมาณการการเติบโตของ GDP อิตาลีในปี 2568 จากร้อยละ 0.7 เหลือเพียงร้อยละ 0.4 อันเป็นผลจากความไม่แน่นอนในเศรษฐกิจโลกที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายการค้าของสหรัฐฯ สำหรับปี 2567 GDP ของอิตาลีมีมูลค่าอยู่ที่ 2.38 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ และรายได้ประชากรต่อหัว (GDP per capita) อยู่ที่ 40,290 เหรียญสหรัฐฯ ต่อคน
1.3 ภาคการผลิตของอิตาลียังคงอ่อนแอ โดยดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) เดือนมีนาคมลดลงมาอยู่ที่ 46.6 ลดลงจาก 47.4 ในเดือนกุมภาพันธ์ และต่ำกว่าเส้นแบ่ง 50 ติดต่อกันเป็นเดือนที่ 12 ขณะที่การลงทุนระหว่างประเทศสุทธิของอิตาลี ณ สิ้นปี 2567 อยู่ที่ 334.9 พันล้านยูโร เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อน 58.4 พันล้านยูโร
2. ตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจ
2.1 ดัชนีการบริโภค ในเดือนมีนาคม 2568 หดตัวลงร้อยละ 0.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยดัชนีการบริโภคสินค้าและบริการส่วนใหญ่ลดลง ยกเว้นหมวดการสื่อสารที่ขยายตัวร้อยละ 9.0
2.2 ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคและความเชื่อมั่นทางธุรกิจ ในเดือนเมษายน 2568 มีแนวโน้มลดลง โดยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคลดลงจาก 95.0 จุด เป็น 92.7 จุด และดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจลดลงจาก 93.2 จุด เป็น 91.5 จุด ทั้งนี้ การชะลอตัวในภาคบริการและภาคค้าปลีกเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อภาพรวมความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจ
2.3 ดัชนีราคาผู้บริโภค ในเดือนเมษายน 2568 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.0 โดยเป็นผลจากราคาหมวดที่อยู่อาศัย น้ำ ค่าไฟฟ้าและเชื้อเพลิงที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.0 และหมวดอาหารและเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.2
2.4 ดัชนีราคาผู้ผลิตภาคอุตสาหกรรม ในเดือนมีนาคม 2568 ปรับตัวลดลงร้อยละ 2.4 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน โดยเฉพาะในหมวดการจำหน่ายพลังงานไฟฟ้า ก๊าซ และไอน้ำที่ลดลงร้อยละ 9.3 และหมวดการสกัดทรัพยากรธรรมชาติที่ลดลงร้อยละ 6.8
2.5 ดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรม ในเดือนกุมภาพันธ์ 2568 ปรับตัวลดลงร้อยละ 0.9 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน โดยการผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคที่ทนทานและสินค้าทุนหดตัวเป็นอย่างมาก ที่ร้อยละ 4.2 และร้อยละ 3.3 ตามลำดับ ขณะที่หมวดพลังงานมีการขยายตัวร้อยละ 0.4
2.6 อัตราการจ้างงาน และอัตราการว่างงาน ในเดือนมีนาคม 2568 อัตราการจ้างงานของประชากรวัยแรงงาน (อายุ 15–64 ปี) อยู่ที่ร้อยละ 63.0 หรือจำนวน 24,307,000 คน โดยมีแนวโน้มลดลงเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้า อัตราการว่างงานอยู่ที่ร้อยละ 6.0 หรือจำนวน 1,555,000 คน เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.1 จากเดือนก่อนหน้า โดยพบว่าแรงงานชายมีอัตราการว่างงานเพิ่มขึ้นมากกว่าหญิง
2.7 การค้ากับประเทศนอกสหภาพยุโรป (27 ประเทศ) ในเดือนมีนาคม 2568 การค้าระหว่างอิตาลีกับกลุ่มประเทศนอกสหภาพยุโรปมีแนวโน้มเชิงบวก โดยการส่งออกขยายตัวร้อยละ 2.9 ส่วนการนำเข้าหดตัวร้อยละ 1.1 ทั้งนี้ อิตาลีได้ดุลการค้าจำนวน 5,958 ล้านยูโร ประเทศคู่ค้าหลักที่มีการส่งออกเพิ่มขึ้นอย่างเด่นชัด ได้แก่ สหรัฐอเมริกา กลุ่มประเทศ MERCOSUR และ กลุ่มประเทศ OPEC
2.8 การค้าปลีก ในเดือนกุมภาพันธ์ 2568 มูลค่าและปริมาณการค้าปลีก ลดลงร้อยละ 1.5 และ 2.5 ตามลำดับ โดยสินค้ากลุ่มอาหารและไม่ใช่อาหารส่วนใหญ่มีแนวโน้มลดลง ยกเว้นผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางและของใช้ในห้องน้ำที่ขยายตัวร้อยละ 1.7
3. สถานการณ์การค้าไทย-อิตาลี
3.1 การค้าไทย-อิตาลี ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2568 การค้าไทยกับอิตาลี มีมูลค่ารวม 1,306.03 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัวร้อยละ 3.27 โดยการส่งออกหดตัวร้อยละ 7.19 ขณะที่การนำเข้าขยายตัวร้อยละ 0.54 ส่งผลให้ไทยขาดดุลการค้ากับอิตาลีมูลค่า 70.64 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือหดตัวร้อยละ 270.22 เมื่อเทียบกับไตรมาสแรกของปี 2567
3.2 การส่งออกของไทยไปยังอิตาลี ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2568 (มกราคม-มีนาคม) การส่งออกของไทยไปอิตาลีมีมูลค่า 617.69 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัวร้อยละ 7.19 เมื่อเทียบกับปีก่อน (ที่มีมูลค่า 665.54 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) โดยสินค้าส่งออกที่สำคัญ 10 อันดับแรก ได้แก่ (1) อัญมณีและเครื่องประดับ มูลค่า 105.49 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 1.98 (2) เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ มูลค่า 97.43 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัวร้อยละ 6.89 (3) รถยนต์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ มูลค่า 59.69 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัวร้อยละ 0.48 (4) อาหารสัตว์เลี้ยง มูลค่า 45.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 2.49 (5) ผลิตภัณฑ์ยาง มูลค่า 30.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 6.99 (6) เครื่องจักรกล และส่วนประกอบของเครื่องจักรกล มูลค่า 27.06 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 24.36 (7) สินค้าอุตสาหกรรมอื่นๆ มูลค่า 23.15 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 56.36 (8) ปลาหมึก มีชีวิต สด แช่เย็น แช่แข็ง มูลค่า 22.01 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัวร้อยละ 17.45 (9) ยางพารา มูลค่า 20.71 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัวร้อยละ 0.28 (10) รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ มูลค่า 20.25 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัวร้อยละ 46.74
3.3 การนำเข้าของไทยจากอิตาลี ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2568 (มกราคม-มีนาคม) การนำเข้าของไทยจากอิตาลีมีมูลค่า 688.33 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 0.54 เมื่อเทียบกับปีก่อน (ที่มีมูลค่า 684.62 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) โดยสินค้านำเข้าที่สำคัญ 10 อันดับแรก ได้แก่ (1) เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ มูลค่า 124.12 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 36.52 (2) เครื่องใช้เบ็ดเตล็ด มูลค่า 68.08 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัวร้อยละ 25.13 (3) เครื่องประดับอัญมณี มูลค่า 45.08 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัวร้อยละ 7.53 (4) ผลิตภัณฑ์เวชกรรมและเภสัชกรรม มูลค่า 41.14 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัวร้อยละ 7.27 (5) เคมีภัณฑ์ มูลค่า 36.45 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 15.74 (6) เสื้อผ้าสำเร็จรูป มูลค่า 31.91 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัวร้อยละ 16.98 (7) แผงวงจรไฟฟ้า มูลค่า 27.2 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 43.86 (8) รองเท้า มูลค่า 26.42 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัวร้อยละ 26.97 (9) เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ มูลค่า 22.16 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัวร้อยละ 31.99 (10) ผลิตภัณฑ์โลหะ มูลค่า 18.12 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 4.85
3.4 การนำเข้าของอิตาลีจากทั่วโลก ในช่วง 2 เดือนแรกของปี 2568 (มกราคม-กุมภาพันธ์) อิตาลีนำเข้าสินค้าจากทั่วโลกมูลค่ารวม 72,246.98 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัวร้อยละ 27.90 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา โดยจีน เยอรมนี และสหรัฐอเมริกาเป็นประเทศต้นทางการนำเข้าสูงสุด สำหรับประเทศคู่แข่งในเอเชียที่มีบทบาทสำคัญในการส่งออกไปยังอิตาลี ได้แก่ อินเดีย เกาหลีใต้ เวียดนาม ญี่ปุ่น อินโดนีเซีย ไต้หวัน และไทย ซึ่งอยู่ในอันดับที่ 43 ด้วยมูลค่าการส่งออก 368.81 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 14.90
3.5 การนำเข้าของอิตาลีจากไทย ในช่วง 2 เดือนแรกของปี 2568 (มกราคม-กุมภาพันธ์) สินค้าที่อิตาลีนำเข้าจากทั่วโลกมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ เครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ (HS84) มูลค่า 92.43 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 46.69 ยานยนต์ (HS87) มูลค่า 52.54 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 26.70 อัญมณีและเครื่องประดับ (HS71) มูลค่า 40.14 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 7.02 เครื่องใช้ไฟฟ้า (HS85) มูลค่า 36.28 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัวร้อยละ 46.09 และยาง (HS40) มูลค่า 32.52 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 23.53
4. การคาดการณ์ของสินค้า
อุตสาหกรรมแฟชั่นของอิตาลีคิดเป็นร้อยละ 5 ของ GDP โดยมีมูลค่าส่งออกกว่า 65,000 ล้านยูโร ในขณะที่อุตสาหกรรมความงามและเฟอร์นิเจอร์ของอิตาลีมุ่งสู่แนวทางที่มีจริยธรรมและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยเน้นการใช้วัสดุที่ได้รับการรับรองตามมาตรฐานสากล
5. ความคิดเห็นของ สคต. ณ เมืองมิลาน
5.1 ปัจจัยบวก เศรษฐกิจอิตาลีในช่วงต้นปี 2568 มีแนวโน้มฟื้นตัว โดยผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศขยายตัวร้อยละ 0.6 เมื่อเทียบไตรมาสต่อไตรมาส ขณะที่การส่งออกเติบโตร้อยละ 4.8 สะท้อนถึงความต้องการสินค้าจากต่างประเทศที่เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ การขยายตัวของภาคบริการ การลดอัตราดอกเบี้ยโดยธนาคารกลางยุโรป และการเปิดเส้นทางบินตรงระหว่างไทย-อิตาลี ล้วนเป็นปัจจัยสนับสนุนเชิงบวกต่อภาคธุรกิจ การค้า และการท่องเที่ยวระหว่างสองประเทศ ในขณะเดียวกัน ความต้องการสินค้าอาหารไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามจำนวนนักท่องเที่ยวและผู้อยู่อาศัยชาวเอเชียในอิตาลีที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
5.2 ปัจจัยลบ ในปี 2568 เศรษฐกิจอิตาลียังคงเผชิญปัจจัยเสี่ยงหลายด้าน อาทิ ความไม่แน่นอนจากนโยบายภาษีของสหรัฐฯ ความขัดแย้งระหว่างประเทศ ภาวะเงินเฟ้อที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 1.8 ต้นทุนพลังงานที่ปรับตัวสูงขึ้น และการแข็งค่าของเงินบาท ซึ่งส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อและต้นทุนการนำเข้าสินค้าจากไทย ในขณะเดียวกัน ความตกลงการค้าเสรีของสหภาพยุโรปกับประเทศอื่น รวมถึงการกลับมาส่งออกข้าวของอินเดีย และสิทธิพิเศษของกัมพูชา อาจส่งผลให้สินค้าไทยสูญเสียความสามารถในการแข่งขันในตลาดอิตาลี หากยังไม่มีความคืบหน้าในความตกลงระหว่างไทยกับสหภาพยุโรป
เครดิตภาพประกอบ: Photo by Federico Di Dio photography on Unsplash
กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ
กระทรวงพาณิชย์
563 ถนน นนทบุรี ตำบล บางกระสอ
อำเภอเมืองนนทบุรี นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-507-7999
สายตรงการค้าระหว่างประเทศ: 1169
ผู้ใช้ที่กำลังออนไลน์ : 2 คน | จำนวนผู้เข้าชมทั้งหมด : 7665908 คน
สงวนลิขสิทธิ์ © 2023 กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ