ตั้งแต่ต้นปี 2568 เป็นต้นมา “ธุรกิจที่เปิดตัวครั้งแรก”เป็นกระแสที่มาแรงในตลาดจีน เนื่องจากการประชุมสมัชชาใหญ่กลางพรรคคอมมิวนิสต์จีนรุ่นที่ 20 ครั้งที่ 3 ได้เสนอให้ส่งเสริมเศรษฐกิจสำหรับธุรกิจที่เปิดตัวครั้งแรกอย่างแข็งขัน ซึ่งสำนักคณะรัฐมนตรีแห่งชาติจีนประกาศมาตรการ แผนปฏิบัติการส่งเสริมการบริโภคล่าสุด โดยเสนอให้ส่งเสริมเศรษฐกิจการเปิดตัวครั้งแรกตามความเหมาะสมของแต่ละพื้นที่ พร้อมสนับสนุนแบรนด์สินค้าและบริการคุณภาพทั้งในและต่างประเทศในการเปิดร้านค้าแรก (Flagship Store) จัดกิจกรรมเปิดตัวครั้งแรก การแสดงครั้งแรก และนิทรรศการครั้งแรก ทำให้เมืองหลายแห่งของจีนออกมาตรการสนับสนุนพัฒนาเศรษฐกิจการเปิดตัวครั้งแรก เพื่อส่งเสริมการบริโภคตลาดและสร้างความคึกคักของเมือง
ธุรกิจ/เศรษฐกิจที่เปิดตัวครั้งแรก หรือ First Launch Economy หมายถึง กิจกรรมทางธุรกิจ/เศรษฐกิจที่มีลักษณะเฉพาะการเป็น “ครั้งแรก” ขององค์กรธุรกิจ เช่น การเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ การนำเสนอรูปแบบธุรกิจใหม่ โมเดลใหม่ บริการใหม่ เทคโนโลยีใหม่ การเปิดร้านค้าแรก เป็นต้น ซึ่งได้กลายเป็นมาตรวัดใหม่ของขีดความสามารถในการแข่งขันของเมือง และเป็นเครื่องมือสำคัญในการยกระดับการบริโภคและการปฏิรูปอุตสาหกรรมในท้องถิ่น
ธุรกิจที่เปิดตัวครั้งแรกเน้นความเป็น “ใหม่” ไม่ว่าจะเป็น รูปแบบธุรกิจใหม่ โมเดลใหม่ การบริการรูปแบบใหม่ หรือ เทคโนโลยีใหม่ ตัวอย่างเช่น Flagship Store แนวครีเอทีฟที่ให้ประสบการณ์ ส่วนตัว คาเฟ่ธีมแบดมินตัน เป็นต้น และทำไมถึงถูกบรรจุในภารกิจสำคัญทางเศรษฐกิจในปีหน้าของรัฐบาลจีน เพราะเศรษฐกิจไม่เพียงแต่สร้างความคึกคัก แต่ยังกระตุ้นระบบนิเวศทางธุรกิจ ทั้งยังชี้นำเทรนด์การบริโภค ปลุกพลังการใช้จ่าย และเติมพลังงานใหม่ให้การพัฒนาภูมิภาค เสน่ห์ของเศรษฐกิจการเปิดตัวครั้งแรกอยู่ที่ความใหม่ และการมีนวัตกรรม ที่สามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคยุคใหม่ได้
รัฐบาลท้องถิ่นหลายแห่งของจีนได้ดำเนินการตามสภาพพื้นที่และใช้มาตรการแบบบูรณาการ เพื่อปรับปรุงเงื่อนไขด้านนวัตกรรมอย่างต่อเนื่อง และสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนของธุรกิจที่เปิดตัวครั้งแรก ในปี 2561 นครเซี่ยงไฮ้เป็นเมืองแรกของประเทศที่ริเริ่มแนวคิดธุรกิจที่เปิดตัวครั้งแรก ซึ่งได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่องในปีที่ผ่านมา และในปีนี้จนปัจจุบันได้กลายเป็นเวอร์ชัน 3.0 ที่ขับเคลื่อนด้วย “นโยบาย+กิจกรรม” เวอร์ชัน 3.0 ของธุรกิจที่เปิดตัวครั้งแรก ที่เซี่ยงไฮ้ ได้ประกาศใช้มาตรการสนับสนุน 10 ประการ ซึ่งครอบคลุมหลายประการ อาทิ การสนับสนุนการจัดนิทรรศการ การให้ความสะดวกด้านศุลกากร และให้เงินอุดหนุน สำหรับเงินอุดหนุนที่ให้กับแบรนด์ต่างประเทศสูงสุด 5 ล้านหยวนต่อรายการ เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งในการสนับสนุนและปรับปรุงสภาพแวดล้อมสำหรับการเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ระดับโลกอย่างต่อเนื่อง พร้อมการมอบบริการที่ดีให้กับแบรนด์ทั้งในและต่างประเทศที่เลือกเซี่ยงไฮ้เป็นสถานที่เปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่
นอกจากที่นครเซี่ยงไฮ้ เมืองอื่นๆ ก็ได้มีมาตรการส่งเสริมการพัฒนาธุรกิจที่เปิดตัวครั้งแรก เช่น กรุงปักกิ่งให้เงินอุดหนุนสูงสุด 5 ล้านหยวนต่อรายการ เมืองกวางโจวให้เงินอุดหนุนสูงสุด 3 ล้านหยวนต่อรายการ เมืองเฉิงตูให้เงินอุดหนุนสูงสุด 1 ล้านหยวนต่อรายการ เมืองหางโจวให้เงินอุดหนุนสูงสุด 1 ล้านหยวนต่อรายการ และนครฉงชิ่งให้เงินอุดหนุนสูงสุด 1 ล้านหยวนต่อรายการ สำหรับแบรด์ต่างประเทศ นอกจากให้เงินอุดหนุนแล้ว ยังให้ความสะดวกในการพิธีการศุลกากร เช่น ให้บริการการผ่านด่านที่สะดวกให้กับสินค้านำเข้าสำหรับเป็นสินค้าที่มาจัดจำหน่าย จัดการแสดง และร้าน Flagship Store ครั้งแรก และให้มาตรการผ่านด่านพิเศษสำหรับสินค้าที่นำมาจัดแสดงและสินค้าตัวอย่างที่ไม่สามารถจำหน่ายได้ รวมถึงสนับสนุนให้แพลตฟอร์ม E-commerce จัดตั้งช่องทางจำหน่ายสำหรับสินค้าแบรนด์ทั่วโลกสำหรับการเปิดตัวครั้งแรก
ไตรมาสแรกของปี 2568 กระแสการเปิดร้านค้าเป็นครั้งแรกของแบรนด์ต่างชาติในจีนยังคงร้อนแรง โดยมีแบรนด์ต่างชาติถึง 487 แบรนด์ที่เปิดร้านค้าแห่งแรกในจีน ผ่านแพลตฟอร์ม Cross Border E-commerce แบรนด์ใหม่ 487 แบรนด์มาจาก 29 ประเทศและภูมิภาคทั่วโลก 5 ประเทศที่มีแบรนด์ใหม่เข้ามามากที่สุด ได้แก่ สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย เยอรมนี ฝรั่งเศส และนิวซีแลนด์ ในหลายพื้นที่ทั่วประเทศจีน มีร้านค้าแห่งแรกของแบรนด์ต่างชาติเปิดตัวมากขึ้นเรื่อยๆ โดยใช้กลยุทธ์การตลาดที่สร้างสรรค์และสินค้าหลากหลายประเภท เพื่อดึงดูดผู้บริโภครุ่นใหม่ให้มาจับจ่ายพร้อมกับเช็คอินและสัมผัสประสบการณ์ใหม่
ความคิดเห็นของ สคต.ณ เมืองหนานหนิง เมืองหลายแห่งของจีนกำลังมุ่งเน้นพัฒนาเศรษฐกิจสำหรับธุรกิจที่เปิดตัวครั้งแรก และมีจำนวนแบรนด์ต่างประเทศเข้ามาทำตลาดจีน ที่เปิดร้านค้าเป็นครั้งแรกมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งได้ดึงดูดกลุ่มผู้บริโภครุ่นใหม่ไปใช้บริการและใช้จ่ายเป็นจำนวนมาก สำหรับแบรนด์ประเทศไทยที่ประสบความสำเร็จในตลาดจีน เช่น HARNN แบรนด์สปาระดับพรีเมี่ยมที่เปิดสาขาแรกในรูปแบบ “SPA+ค้าปลีก” ที่ห้างสรรพสินค้า Hangzhou Tower ที่เมืองหางโจว มณฑลเจ้อเจียง โดยผสานบริการสปาน้ำมันไทยเข้ากับผลิตภัณฑ์น้ำหอมเพื่อสร้างประสบการณ์พิเศษให้กับผู้บริโภค นอกจากนี้ยังมีแบรนด์ ARAYA ที่ได้เปิดตัวครั้งแรกในงาน China Beauty Expo 2025 (CBE) เพื่อเข้าสู่ตลาดจีนอย่างเป็นทางการ โดยเน้นผลิตภัณฑ์ดูแลสำหรับสุภาพสตรีที่อ่อนโยนและผ่านการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งได้รับความนิยมจากผู้บริโภคจีน โดยแบรนด์ไทยสามารถใช้กลยุทธ์ธุรกิจที่เปิดตัวครั้งแรก การเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ และการค้าผ่านแพลตฟอร์ม Cross Border E-commerce เพื่อเข้าสู่ตลาดจีน พร้อมใช้ประโยชน์จากระบบ E-commerce และร้านค้าออฟไลน์ที่สมบูรณ์แบบของจีนที่ได้มีการพัฒนาและเติบโตอย่างรวดเร็ว ทั้งนี้ ปัจจุบันประเทศจีนมีนโยบายสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจสำหรับธุรกิจที่เปิดตัวครั้งแรก ถือว่าเป็นโอกาสที่มีศักยภาพสำหรับผู้ประกอบการไทยที่ประสงค์นำสินค้าใหม่มาทดลองและเปิดตลาดใหม่ในจีน
—————————————————————–
แหล่งที่มา
https://news.qq.com/rain/a/20250512A03P4400?scene=qqsearch&suid=&media_id=
https://news.qq.com/rain/a/20250510A022GA00?scene=qqsearch&suid=&media_id=
https://mp.weixin.qq.com/s/sNu9JuVwpg9iW993hVvthw
https://news.haiwainet.cn/n/2024/0915/c3541093-32792798.html
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองหนานหนิง
วันที่ 14 พฤษภาคม 2568