สำรวจพฤติกรรมการบริโภคในอุตสาหกรรมค้าปลีกของจีนในปี 2568 สคต.คุนหมิง

สำรวจพฤติกรรมการบริโภคในอุตสาหกรรมค้าปลีกของจีนในปี 2568 สคต.คุนหมิง

1.ช่องทางการบริโภคของชาวจีน

จากข้อมูลพบว่า ในปี 2568 ในบรรดาช่องทางในการบริโภคของชาวจีน การเลือกซื้อสินค้าบนแพลตฟอร์มออนไลน์และช่องทางออฟไลน์มีสัดส่วนมากที่สุดถึงร้อยละ 57.09  ซึ่งบ่งชี้ว่าผู้บริโภคมีแนวโน้มที่จะเลือกซื้อสินค้าในรูปแบบผสมผสานทั้งช่องทางออนไลน์และออฟไลน์ ทั้งนี้ หากแบ่งสัดส่วนผู้บริโภคตามช่องทางการจำหน่าย พบว่า มีการเลือกซื้อสินค้าทางออนไลน์คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 25.34 ส่วนออฟไลน์คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 17.57 สัดส่วนของการชอปปิงออนไลน์ที่สูงกว่าช่องทางออฟไลน์แสดงให้เห็นว่า การชอปปิงออนไลน์ได้กลายเป็นหนึ่งในช่องทางการบริโภคหลักของชาวจีน

สำรวจพฤติกรรมการบริโภคในอุตสาหกรรมค้าปลีกของจีนในปี 2568 สคต.คุนหมิง

ที่มา: report.iimedia.cn

1.1 ช่องทางการบริโภคทางออนไลน์ของชาวจีน

– แพลตฟอร์มออนไลน์ที่เป็นที่นิยม

ผู้บริโภคชาวจีนนิยมเลือกซื้อสินค้าบนแพลตฟอร์มออนไลนต์ครบวงจร อย่าง Taobao และ JD.com คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 54.10 ซึ่งบ่งชี้ว่าผู้บริโภคชอบซื้อของออนไลน์บนแพลตฟอร์มเหล่านี้ แพลตฟอร์มวิดีโอสั้น เช่น Douyin อยู่ในอันดับ 2 คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 39.96 แสดงให้เห็นถึง          การขยายตัวของการบริโภคและเลือกซื้อสินค้าบนแพลตฟอร์มวิดีโอสั้น ส่วนแพลตฟอร์มรีวิวสินค้าอย่าง Xiaohongshu อยู่ในอันดับ 3 คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 34.43 และมีผู้บริโภคเลือกซื้อสินค้าบนเว็บไซต์อย่างเป็นทางการของแบรนด์และ Mini Program ใน Wechat คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 30.74 และ 27.46 ตามลำดับ นอกจากนี้ ยังมีผู้บริโภคบางส่วนนิยมเลือกซื้อสินค้าบนแพลตฟอร์มจำหน่ายของมือสอง (Xianyu) และวีแชทของผู้ที่รับหิ้วสินค้าคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 27.05 และ 23.36  ตามลำดับ

สำรวจพฤติกรรมการบริโภคในอุตสาหกรรมค้าปลีกของจีนในปี 2568 สคต.คุนหมิง

– สินค้าที่เป็นที่นิยมบนแพลตฟอร์มออนไลน์

          ในปี 2568 ผู้บริโภคชาวจีนนิยมเลือกซื้อสินค้าต่าง ๆ บนแพลตฟอร์มออนไลน์ แบ่งออกเป็นสินค้าอาหาร คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 36.68 เสื้อผ้า ร้อยละ 34.84 ของใช้ในชีวิตประจำวัน ร้อยละ 33.81 รองเท้าและหมวก ร้อยละ 30.94 เครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์บำรุงผิว ร้อยละ 29.30 เครื่องใช้ไฟฟ้า     ร้อยละ 25.61 3C Digital ร้อยละ 22.54 อุปกรณ์เครื่องเขียน ร้อยละ 22.13 อาหารเสริมและยา ร้อยละ 21.11 สินค้าเหล่านี้มีสัดส่วนการบริโภคมากกว่าร้อยละ 20 แสดงให้เห็นว่า ผู้บริโภคยินดีที่จะเลือกซื้อสินค้าเหล่านี้บนช่องทางออนไลน์ ส่วนสินค้าอื่น ๆ มีสัดส่วนการบริโภคน้อยกว่าร้อยละ 20 โดยเฟอร์นิเจอร์เป็นสินค้าที่ชาวจีนนิยมเลือกซื้อทางร้านค้าออฟไลน์มากกว่า มีสัดส่วนการเลือกซื้อทางออนไลน์เพียงแค่ร้อยละ 15.57 เท่านั้น

สำรวจพฤติกรรมการบริโภคในอุตสาหกรรมค้าปลีกของจีนในปี 2568 สคต.คุนหมิง

1.2 ช่องทางการบริโภคทางออฟไลน์ของชาวจีน

สัดส่วนการเลือกซื้อสินค้าผ่านช่องทางออฟไลน์ของจีน เช่น ตลาด ซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านค้า หรือตลาดค้าส่ง คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 64.25 ทั้งนี้ การบริโภคในซูเปอร์มาร์เก็ตหรือร้านค้าสะดวกซื้อมีสัดส่วนมากที่สุดถึงร้อยละ 62.22 สะท้อนให้เห็นถึงความต้องการของผู้บริโภคในการจับจ่ายผ่านช่องทางที่สะดวก ส่วนสัดส่วนการเลือกซื้อสินค้าในห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่คิดเป็นร้อยละประมาณ 28.73 ในขณะที่ ผู้บริโภคชาวจีนไม่ค่อยนิยมเลือกซื้อสินค้าในร้านค้าชุมชน ซึ่งมีสัดส่วนการบริโภคน้อยที่สุดเพียงร้อยละ 4.07

สำรวจพฤติกรรมการบริโภคในอุตสาหกรรมค้าปลีกของจีนในปี 2568 สคต.คุนหมิง

2.รูปแบบการชำระเงินของผู้บริโภคชาวจีน

          ในปี 2568 ชาวจีนนิยมชำระค่าสินค้าผ่าน Wechat Pay กันมากที่สุด คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 46.96 รองลงมาคือ Alipay คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 43.24 แสดงให้เห็นว่า ชาวจีนนิยมชำระค่าสินค้าผ่านโทรศัพท์มือถือ ส่วนการจ่ายเงินสดคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 25.68 บัตรเครดิตร้อยละ 24.66 และชำระผ่าน NFC และผ่าน App ของธนาคารออนไลน์มีสัดส่วนต่ำที่สุด โดยเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณร้อยละ 22.80

สำรวจพฤติกรรมการบริโภคในอุตสาหกรรมค้าปลีกของจีนในปี 2568 สคต.คุนหมิง

ความคิดเห็น สคต.

ปัจจุบันชาวจีนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และเกิดการยกระดับการบริโภค ทำให้จีนมีอัตราการค้าปลีกที่เพิ่มสูงขึ้น โดยในปี 2567 จีนมีมูลค่าการค้าปลีกสินค้าอุปโภคบริโภค 48,789,500 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.5 ซึ่งในช่วงไม่กี่ปีมานี้ จีนมีนโยบายส่งเสริมการขยายอุปสงค์ภายในประเทศ และสนับสนุน    การบริโภค เพื่อขับเคลื่อนการเติบโตของอุตสาหกรรม/ธุรกิจใหม่ ๆ โดยเฉพาะการเลือกซื้อสินค้าบนแพลตฟอร์มออนไลน์ที่กำลังเติบโตอย่างมากในตลาดจีน แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซต่าง ๆ ของจีน เช่น Taobao, T-mall, JD.com, และ Pinduoduo รวมถึงแพลตฟอร์มคลิปวิดีโอ/รีวิวสินค้า เช่น Douyin และ Xiaohongshu เป็นต้น ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยที่ต้องการขยายตลาดสู่จีน ควรพิจารณาทำตลาดทั้งช่องทางออนไลน์และออฟไลน์ จะช่วยสร้างการรับรู้ให้แก่สินค้าไทยได้เป็นอย่างดี และควรพิจารณาหา KOL/เน็ตไอดอลมารีวิวสินค้า เพื่อดึงดูดความสนใจของผู้บริโภคชาวจีน ซึ่งขณะนี้พฤติกรรมการเลียนแบบเลือกซื้อ/ใช้สินค้าตาม KOL/เน็ตไอดอล กำลังเป็นกระแสที่มาแรงในตลาดจีน

 

*****************************************

แหล่งที่มา : https://www.iimedia.cn/c400/105619.html

สคต. คุนหมิง

thThai