แนวโน้มเศรษฐกิจสิงคโปร์ฟื้นตัวดีขึ้น หลังสหรัฐฯ–จีน คลายความตึงเครียดทางการค้า

เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2568 ทั้งสหรัฐฯ และจีนได้บรรลุข้อตกลงร่วมกันในการระงับการเรียกเก็บภาษีศุลกากรในอัตราสูงเป็นระยะเวลา 90 วัน การพักชั่วคราวในครั้งนี้มีผลให้ภาษีศุลกากรของสหรัฐฯ สำหรับสินค้าที่ส่งออกไปยังจีนลดลงจากร้อยละ 125 เหลือร้อยละ 10 ขณะเดียวกัน ภาษีศุลกากรของจีนสำหรับสินค้าที่ส่งออกไปยังสหรัฐฯ ลดลงจากร้อยละ 145 เหลือร้อยละ 30 โดยการเจรจาระหว่างสองประเทศยังคงดำเนินต่อไปเพื่อมุ่งสู่ข้อตกลงทางการค้าที่ครอบคลุมและยั่งยืนในระยะยาว

นาย Chua Hak Bin หัวหน้าร่วมฝ่ายวิจัยมหภาคประจำภูมิภาคของธนาคาร Maybank ให้ความเห็นว่า ข้อตกลงดังกล่าวสะท้อนถึงการคลี่คลายความตึงเครียดทางการค้าอย่างมีนัยสำคัญ และจะช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวของการค้าระหว่างสองประเทศจากภาวะชะงักงัน แม้ว่าอัตราภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนที่ร้อยละ 30 ยังคงถือว่าสูง เมื่อเทียบกับอัตราภาษีนำเข้าร้อยละ 10 ซึ่งเป็นระดับที่ประเทศส่วนใหญ่รวมถึงสิงคโปร์ต้องเผชิญ แต่อัตราภาษีดังกล่าวยังสามารถบริหารจัดการได้ง่ายกว่าภาษีเดิมในระดับร้อยละ 145

เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2568 นาย Lawrence Wong นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ระบุว่า รัฐบาลชุดใหม่ให้ความสำคัญอย่างยิ่งต่อการจัดการกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจและผลกระทบที่มีต่อประชาชน โดยอ้างถึงผลสำรวจของสหพันธ์ธุรกิจสิงคโปร์ (Singapore Business Federation) ซึ่งชี้ว่า 4 ใน 5 ของธุรกิจในประเทศได้รับผลกระทบเชิงลบจากภาษีศุลกากรของสหรัฐฯ และเพื่อตอบสนองต่อสถานการณ์ดังกล่าว รัฐบาลสิงคโปร์จึงได้จัดตั้งคณะทำงานเสริมสร้างความยืดหยุ่นทางเศรษฐกิจ (Singapore Economic Resilience Taskforce) โดยมี นาย Gan Kim Yong รองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้าและอุตสาหกรรม เป็นประธาน เพื่อดำเนินการประชุมและพัฒนาแผนรับมือเชิงกลยุทธ์ของประเทศ

เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2568 นาย Gan ได้หารือกับนาย Howard Lutnick รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ของสหรัฐฯ เกี่ยวกับ “แนวทางแก้ปัญหาที่สร้างสรรค์” เพื่อส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้า รวมถึงการอำนวยความสะดวกในการส่งออกสินค้าสำคัญจากสิงคโปร์ไปยังสหรัฐฯ โดยเน้นย้ำถึงบทบาทของสิงคโปร์ในฐานะหุ้นส่วนทางการค้าและมิตรประเทศที่มีความสำคัญต่อสหรัฐฯ สิงคโปร์อยู่ระหว่างการเจรจากับสหรัฐอเมริกาเพื่อขอยกเว้นภาษีศุลกากรสำหรับสินค้ากลุ่มเภสัชภัณฑ์ ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนมากกว่าร้อยละ 10 ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมดจากสิงคโปร์ไปยังตลาดสหรัฐฯ

นอกจากนี้ การเจรจายังครอบคลุมถึงการเข้าถึงชิปปัญญาประดิษฐ์ (AI) ระดับไฮเอนด์จากสหรัฐฯ ซึ่งเป็นเทคโนโลยีหลักที่มีความสำคัญต่อหลายอุตสาหกรรม เช่น ศูนย์ข้อมูล (Data Centres) โดยฝ่ายสิงคโปร์ได้ชี้แจงรายละเอียดเกี่ยวกับระบบควบคุมการส่งออกของประเทศ ซึ่งดำเนินการอย่างเคร่งครัด สอดคล้องกับมาตรฐานสากล และมีความร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับสหรัฐฯ มาโดยตลอด ทั้งสองฝ่ายยังได้หารือแนวทางในการเสริมสร้างความร่วมมือด้านการควบคุมการส่งออก เพื่อให้มั่นใจว่าชิป AI ดังกล่าวจะถูกจัดส่งไปยังผู้ใช้ปลายทางที่ได้รับการอนุญาตอย่างถูกต้องตามกฎหมาย

นักวิเคราะห์หลายฝ่ายคาดการณ์ว่า การค้าระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีนจะขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญก่อนเข้าสู่ช่วงฤดูร้อน เนื่องจากผู้นำเข้าและผู้ส่งออกจากทั้งสองประเทศเร่งใช้ประโยชน์จากช่วงเวลาหยุดชะงักของสงครามการค้าให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยในช่วงฤดูร้อนนั้น การบริโภคภายในประเทศสหรัฐฯ มักปรับตัวเพิ่มขึ้นจากหลากหลายปัจจัย เช่น การใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นด้านการท่องเที่ยวและการพักผ่อน ตลอดจนการจับจ่ายเพื่อปรับปรุงบ้านและตกแต่งสวน

ทั้งนี้ จีนและสหรัฐฯ ต่างเป็นคู่ค้ารายใหญ่ของสิงคโปร์ การฟื้นตัวของกิจกรรมทางการค้าในสองประเทศดังกล่าว ส่งผลให้การส่งออกสินค้าชิ้นส่วนและสินค้าขั้นกลางของสิงคโปร์ได้รับแรงสนับสนุนจากการบริโภคที่สูงขึ้นในสหรัฐฯ ซึ่งช่วยกระตุ้นการผลิตในจีนตามลำดับ ภายใต้บริบทดังกล่าว มีความเป็นไปได้เพิ่มขึ้นที่เศรษฐกิจสิงคโปร์จะสามารถหลีกเลี่ยงภาวะถดถอยทางเทคนิค หรือการหดตัวของการเติบโตทางเศรษฐกิจติดต่อกันสองไตรมาส ในช่วงปลายปี 2568 ตามที่นักวิเคราะห์หลายคนคาดการณ์ไว้

นาย Barnabas Gan หัวหน้ากลุ่มนักเศรษฐศาสตร์และหัวหน้าฝ่ายวิจัยตลาดของธนาคาร RHB คาดการณ์ว่า แม้การเติบโตของเศรษฐกิจสิงคโปร์ในปี 2568 อาจชะลอตัวลงอยู่ในช่วงร้อยละ 0.5 ถึง 1.0 ท่ามกลางสภาพเศรษฐกิจโลกที่อ่อนแรง แต่การคลี่คลายความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ และจีน และผลกระทบเชิงบวกที่ตามมาในด้านเศรษฐกิจและการค้าโลก อาจช่วยให้สิงคโปร์สามารถบรรลุอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจได้ถึงร้อยละ 2 ภายในปีเดียวกัน

นาย Chua แสดงความเห็นว่า ข้อตกลงการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีนอาจก่อให้เกิดผลกระทบเชิงบวกในวงกว้าง โดยเฉพาะต่อประเทศคู่ค้ารายสำคัญอื่น ๆ ของสิงคโปร์ อัตราภาษีนำเข้าจากจีนที่ระดับร้อยละ 30 อาจกลายเป็นฐานหรือเพดานเบื้องต้นสำหรับการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับประเทศในเอเชียอื่น ๆ เช่น เวียดนาม ไทย และอินโดนีเซีย ซึ่งปัจจุบันกำลังเผชิญกับอัตราภาษีศุลกากรที่สูงกว่าร้อยละ 30

อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางความไม่แน่นอนเกี่ยวกับความยั่งยืนของข้อตกลงระหว่างสหรัฐฯ และจีน นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ยังไม่มั่นใจว่ากระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมของสิงคโปร์จะปรับเพิ่มประมาณการอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจจากช่วงร้อยละ 0 ถึง 2 ในเร็ว ๆ นี้ โดยประมาณการดังกล่าวยังคงต่ำกว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจของสิงคโปร์ในปี 2567 ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 4.4 อย่างมีนัยสำคัญ

     ข้อแนะนำและข้อเสนอแนะ

การลดความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ และจีนมีผลดีต่อเศรษฐกิจของสิงคโปร์ เนื่องจากทั้งสองประเทศเป็นคู่ค้าสำคัญและมีบทบาทสำคัญในห่วงโซ่อุปทานโลก การยุติหรือผ่อนคลายข้อพิพาททางการค้าจะกระตุ้นการค้าระหว่างสิงคโปร์กับสหรัฐฯ และจีน ส่งผลให้การส่งออกสินค้าในภาคผลิตของสิงคโปร์ เช่น อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เคมีภัณฑ์ และผลิตภัณฑ์เทคโนโลยี มีโอกาสเติบโตมากขึ้น

สำหรับประเทศไทย ควรเสริมสร้างศักยภาพและความยืดหยุ่นในการขยายการค้าและการลงทุนกับทั้งสหรัฐฯ และจีน โดยการกระจายตลาดส่งออกให้หลากหลาย ส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีในการเพิ่มมูลค่าสินค้า และพัฒนาขีดความสามารถของผู้ประกอบการไทยเพื่อให้สามารถแข่งขันในเวทีโลกได้ ในขณะเดียวกัน ไทยควรติดตามสถานการณ์เศรษฐกิจและนโยบายการค้าระหว่างประเทศอย่างใกล้ชิด เพื่อเตรียมรับมือกับความผันผวนและความไม่แน่นอนในระยะยาวของเศรษฐกิจโลกอย่างมีประสิทธิภาพ

 

แหล่งที่มาข้อมูล/ภาพ:
https://www.straitstimes.com/business/singapores-economic-outlook-brightens-on-us-china-de-escalation-but-tariff-uncertainty-remains

https://www.businesstimes.com.sg/singapore/economy-policy/dealing-economic-situation-key-post-election-priority-government-pm-wong

https://www.straitstimes.com/singapore/us-wants-to-explore-creative-solutions-to-strengthen-trade-relations-with-singapore-dpm-gan

thThai