ในช่วงต้นเดือนพฤษภาคมของทุกปี ได้เข้าสู่ฤดูกาลเก็บเกี่ยวผลไม้เขตเมืองร้อน อาทิ ทุเรียน มังคุดและมะพร้าว ถือเป็นช่วงนำเข้าและยอดขายสูงสุดประจำปี “ทุเรียน” ซึ่งได้รับความนิยมสูงสุดในประเทศจีน ตามรายงานจากสำนักข่าวซินหัว เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2568 ศุลกากรหนานซา เมืองกว่างโจว ได้ดำเนินการตรวจปล่อยทุเรียนไทยล็อตใหญ่จำนวน 117 ตู้คอนเทนเนอร์ น้ำหนักรวม กว่า 1,600 ตัน ซึ่งประกอบด้วยทุเรียนสายพันธุ์ยอดนิยม อาทิ ทุเรียนพันธุ์หมอนทอง ทุเรียนพันธุ์ก้านยาว ทุเรียนพันธุ์กระดุมและทุเรียนพันธุ์ชะนี โดยทุเรียนทั้งหมดถูกกระจายเข้าสู่ห้างค้าส่งและซูเปอร์มาร์เก็ตในเศรษฐกิจพิเศษกวางตุ้ง ฮ่องกงและ มาเก๊า
ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม เรือขนส่งทุเรียนจากต่างประเทศทยอยเทียบท่าหนานซาอย่างต่อเนื่อง ท่าเรือหนานซายังมีเรือเร็วที่ขนส่งทุเรียนจากไทยแล้ว รวม 9 ลำ คิดเป็น 200 ตู้คอนเทนเนอร์ หรือราว 2,500 ตัน สะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนว่า ความต้องการบริโภคทุเรียนของผู้บริโภคชาวจีนยังคงอยู่ในระดับสูงอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าราคาทุเรียนในช่วงต้นฤดูกาลจะยังคงมีราคาสูง
เปิดเส้นทาง “จีน–ลาว–ไทย” ขยายการกระจายผลไม้ไทยสู่ตลาดจีน
( ภาพและแหล่งที่มา : Guangzhou Daily )
ปี 2568 นับเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของเส้นทางโลจิสติกส์ผลไม้ไทย โดยเฉพาะทุเรียน เมื่อขบวนรถไฟจีน-ลาว (China–Laos Railway) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ Belt and Road Initiative ได้เริ่มใช้เป็น เส้นทางนำเข้าทุเรียนอย่างเป็นทางการ โดยทุเรียนล็อตแรกถูกบรรจุในตู้ควบคุมอุณหภูมิจากคลังรวบรวมผลไม้ในจังหวัดจันทบุรี เดินทางข้ามแดนด้วยรถบรรทุกผ่านสะพานมิตรภาพไทย–ลาว สู่นครหลวงเวียงจันทน์และเข้าสู่ระบบรถไฟขบวนพิเศษจีน–ลาว ซึ่งเป็นขบวนรถไฟขากลับสำหรับขนส่งสินค้าเกษตร นำส่งถึงสถานีรถไฟนานาชาตินครเฉิงตู ในมณฑลเสฉวน ประเทศจีน จากนั้นสินค้าจะถูกถ่ายเทสู่ศูนย์โลจิสติกส์ของโครงการ “New Western Land-Sea Corridor” เพื่อเปลี่ยนถ่ายตู้คอนเทนเนอร์และกระจายต่อไปยังตลาดต่างมณฑลนอกเสฉวน รวมถึงมณฑลกวางตุ้งและเจ้อเจียง
จุดแข็งของเส้นทางใหม่นี้ คือ ลดระยะเวลาขนส่งจากเดิม 5–7 วัน (ทางเรือ) เหลือเพียง 2–3 วัน ทำให้สินค้ายังมีความสดใหม่ ลดอัตราการเน่าเสียและความเสียหายระหว่างขนส่ง เส้นทางคมนาคมนี้เชื่อมโยงตลาดจีนฝั่งตะวันตก ซึ่งมีศักยภาพการบริโภคสูงซึ่งแต่เดิมเข้าถึงได้ยาก เช่น นครเฉิงตู ฉงชิ่งและซีอาน เป็นต้น
ผู้บริหารของบริษัท Sichuan Port Investment New Channel Logistics Industry Group Co., Ltd. เปิดเผยว่า เส้นทางนี้ถือเป็นครั้งแรกที่มณฑลเสฉวนเปิดเส้นทางเฉพาะสำหรับการนำเข้าทุเรียนผ่านระบบรถไฟจีน–ลาวและเป็นการเปิดให้บริการพร้อมกันใน 2 มณฑลหลัก ได้แก่ เสฉวน–กวางตุ้งและ เสฉวน–เจ้อเจียง เส้นทางคมนาคมนี้ ไม่เพียงแต่ช่วยเสริมความสามารถในการจัดจำหน่ายผลไม้ไทยในจีนเท่านั้น แต่ยังเป็นการวางรากฐานในการขยายเครือข่ายกระจายสินค้าเข้าสู่ตลาดเมืองรองที่มีศักยภาพการบริโภคสูง
แนวโน้มราคาทุเรียนในตลาดจีน
แม้ว่าราคาทุเรียนในจีนยังคงอยู่ในระดับสูงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเฉลี่ยเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 15–20 แต่เริ่มมีสัญญาณของการปรับตัวลดลง โดยเฉพาะในเขตที่มีการนำเข้าสูง เช่น กว่างโจวและหางโจว ซึ่งผู้ค้าเริ่มคาดการณ์ว่าในช่วงกลางถึงปลายเดือนพฤษภาคม ราคาจะปรับลดลงอย่างชัดเจน เนื่องจาก อุปทานจากประเทศไทยเข้าสู่ตลาดมากขึ้น จากการสำรวจตลาดค้าส่งและค้าปลีกในเมืองใหญ่ พบว่า ระดับราคาแตกต่างกันตามสายพันธุ์ แหล่งที่มา วิธีขนส่งและระดับคุณภาพของทุเรียน โดยมีรายละเอียดดังนี้
- ทุเรียนหมอนทองจากไทย ราคาประมาณ 29.8–55 หยวนต่อ 500 กรัม
- ทุเรียนก้านยาวจากไทย ราคาประมาณ 38–43 หยวน 500 กรัม
- ทุเรียนหมอนทองเกรด AA (ขนส่งทางอากาศ) ราคาสูงสุดถึง 55 หยวน
- ทุเรียนมูซังคิงจากมาเลเซีย ราคาสูงสุดถึง 98 หยวน
ทุเรียนไทย vs ทุเรียนจีนคู่แข่งจากไหหลำ
ขณะที่ทุเรียนนำเข้าเร่งตีตลาดจีนในช่วงเดือนเมษายนถึงพฤษภาคม การเพาะปลูกทุเรียนเชิงพาณิชย์ของจีนที่ปลูกในประเทศก็เริ่มทยอยสุกในเกาะไหหลำ โดยแหล่งปลูกในเขตยู่ไฉ เมืองซานย่าระบุว่า ทุเรียน รุ่นแรกที่ปลูกในจีนจะเริ่มวางตลาดในช่วงกลางถึงปลายเดือนมิถุนายน ซึ่งมีพันธุ์หมอนทอง พันธุ์ก้านดำ (Black Thorn) และพันธุ์มูซังคิง ผลผลิตเหล่านี้เก็บจากต้นที่สุกตามธรรมชาติ โดยใช้ระบบปล่อยให้สุกบนต้น ซึ่งให้ รสหวานนุ่มกว่าการตัดตอนดิบหรือทุเรียนที่สุกระหว่างการขนส่ง
หากเปรียบเทียบแล้ว ทุเรียนไทย ได้เปรียบด้านคุณภาพของพันธุ์และความหลากหลายความเชี่ยวชาญของเกษตรกร ปริมาณการผลิตที่สามารถส่งออกได้จำนวนมหาศาล รวมถึงความนิยมในแบรนด์ประเทศไทยซึ่งผู้บริโภคจีนจดจำได้ดี ในด้านทุเรียนจีนที่มีจุดขายด้านการเพาะปลูกในประเทศ ไม่เสียภาษีนำเข้า สามารถควบคุมต้นทุนและเวลาในการขนส่งได้ดี ดังนั้น การแข่งขันระหว่างทุเรียนไทยและจีนในอนาคตจะขึ้นอยู่กับคุณภาพ การตลาดและต้นทุน ซึ่งผู้ประกอบการไทยจำเป็นต้องเร่งปรับตัว
ข้อเสนอแนะ สคต. ณ นครเฉิงตู
การขนส่งทุเรียนไทยล็อตใหญ่เข้าสู่จีนในปีนี้ ไม่เพียงตอกย้ำบทบาทของไทยในฐานะผู้นำตลาดผลไม้เมืองร้อน แต่ยังเปิดประตูสู่การกระจายสินค้าอย่างลึกซึ้งผ่านระบบโลจิสติกส์ใหม่ในภาคตะวันตกของจีน นอกจากนี้ยังแสดงให้เห็นถึงศักยภาพของทุเรียนไทยในตลาดระดับพรีเมียม ในขณะที่จีนเองก็กำลังเร่งพัฒนาอุตสาหกรรมทุเรียนในประเทศ ผู้ส่งออกไทยจึงต้องยกระดับมาตรฐานสินค้า พัฒนาแบรนด์และเพิ่มช่องทางการจัดจำหน่ายทั้งออฟไลน์และออนไลน์ หากไทยสามารถรักษาคุณภาพ ควบคุมมาตรฐาน และใช้โอกาสเชิงโครงสร้างพื้นฐานได้ดี โอกาสที่จะเพิ่มส่วนแบ่งตลาดจะยังคงเปิดกว้าง
ผู้ประกอบการไทยควรศึกษาพฤติกรรมของผู้บริโภคจีนในแต่ละภูมิภาค เพื่อปรับกลยุทธ์ให้ตรงกับความต้องการของตลาด เช่น กลุ่มผู้บริโภคในเมืองใหญ่ต้องการทุเรียนคุณภาพพรีเมียม ขณะที่เมืองรองเน้นราคาคุ้มค่าและความสะดวกในการบริโภค และใช้ประโยชน์จากเส้นทางโลจิสติกส์ใหม่ เช่น เส้นทางรถไฟ จีน-ลาว–ไทย เพื่อกระจายสินค้าสู่ตลาดเมืองรองในจีนฝั่งตะวันตก ซึ่งมีศักยภาพการบริโภคสูงและมีต้นทุนการขนส่งต่ำกว่าการใช้เส้นทางเรือแบบเดิม ควรติดตามพัฒนาการของทุเรียนที่ปลูกในจีนอย่างใกล้ชิด โดยประเมินคุณภาพ ต้นทุนการผลิต และการตอบรับของตลาด เพื่อเตรียมกลยุทธ์รับมือกับการแข่งขันในระยะะยาว
———————————–
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครเฉิงตู
พฤษภาคม 2568
แหล่งข้อมูล
Guangzhou Daily
https://news.qq.com/rain/a/20250508A081VG00