รัฐบาลมณฑลส่านซีเตรียมเป็นเจ้าภาพจัดงาน Silk Road Expo ครั้งที่ 9 ระหว่างวันที่ 21 ถึง 25 พฤษภาคม 2568 ณ ศูนย์การประชุมและนิทรรศการนานาชาติซีอาน งานในครั้งนี้ กำหนดจัดภายใต้ธีม “Integrated Silk Road Openness and Cooperation” มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นเวทีสร้างโอกาสในการเจรจาความร่วมมือทางธุรกิจ สนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจที่เป็นประโยชน์ร่วมกัน และเปิดโอกาสให้สมาคมธุรกิจระหว่างประเทศ บริษัทในกลุ่ม Fortune 500 และนักธุรกิจชาวจีนโพ้นทะเลจากทั่วโลกได้แลกเปลี่ยนหารือในประเด็นเกี่ยวกับทรัพยากร อุตสาหกรรม และการค้า
การจัดงานในครั้งนี้ ครอบคลุมพื้นที่จัดแสดงกว่า 72,000 ตารางเมตร แบ่งออกเป็น 6 ส่วนสำคัญ ได้แก่ (1) นิทรรศการผลิตภัณฑ์สินค้าจากกลุ่มประเทศ BRI (2) นิทรรศการ Low-Altitude Economy (3) นิทรรศการนวัตกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (4) นิทรรศการด้านวัฒนธรรมและการท่องเที่ยว (5) นิทรรศการความร่วมมือระหว่างมณฑล (6) นิทรรศการขนส่งและโลจิสติกส์ นอกจากนี้ ภายในงานยังมีกิจกรรมสำคัญ อาทิ การประชุมจับคู่ธุรกิจสำหรับพันธมิตรระดับโลกของขบวนรถไฟจีน-ยุโรป (ซีอาน) การประชุมโต๊ะกลมว่าด้วยความร่วมมือด้าน E-Commerce ระหว่างจีนและเอเชียกลาง งานแสดงสินค้า 2025 Silk Road Shaanxi International Geographical Indications Products Trade Fair กิจกรรมนำเสนอบริการการรับรองคุณภาพผลิตภัณฑ์และคุณภาพของมณฑลส่านซี การประชุมกลุ่มประเทศหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (BRI) ว่าด้วยความร่วมมือด้านการศึกษา เป็นต้น
นับตั้งแต่มีการจัดงาน Silk Road Expo ตลอดระยะ 8 ครั้งที่ผ่านมา มณฑลส่านซีได้เชิญประเทศต่างๆ กว่า 15 ประเทศเข้าร่วมเป็นแขกของงาน ได้แก่ ไทย คีร์กีซสถาน จอร์เจีย เกาหลีใต้ คาซัคสถาน เซอร์เบีย สหราชอาณาจักร มาเลเซีย รัสเซีย กัมพูชา สโลวาเกีย อุซเบกิสถาน ทาจิกิสถาน อาเซอร์ไบจาน ปากีสถาน นอกจากนี้ ยังมีมณฑลและเขตปกครองตนเองจากทั่วประเทศจีนเข้าร่วมเป็นแขกในงาน ไม่ว่าจะเป็น ซินเจียง หูหนาน เจียงซี กวางสี ทิเบต ฝูเจี้ยน หูเป่ย ยูนนาน กุ้ยโจว เทียนจิน จี๋หลิน ฉงชิ่ง เสฉวน เหอเป่ย มองโกเลียใน เจียงซู เฮยหลงเจียง เจ้อเจียง เหลียวหนิง ซานตง เป็นต้น
งาน Silk Road Expo เป็นเวทีสำคัญในการส่งเสริมการประชาสัมพันธ์นโยบายของภาครัฐ เป็นเวทีสำหรับการเจรจาการลงทุนระหว่างวิสาหกิจ ภาคธุรกิจการค้า และเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างจีนกับประเทศที่อยู่ภายใต้โครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (BRI) ทั้งยังมีส่วนสำคัญต่อการสนับสนุนและการบูรณาการความร่วมมือภายใต้โครงการ BRI ที่สำคัญของมณฑลส่านซี ตลอดจนช่วยเสริมสร้างความร่วมมือและการแลกเปลี่ยนด้านการค้าและการลงทุนรอบด้านอย่างต่อเนื่องให้แก่มณฑลส่านซีและพันธมิตรจากทั่วประเทศจีนและนานาชาติ
ข้อเสนอแนะ สคต. ณ นครเฉิงตู
ในอดีต มณฑลส่านซีเป็นจุดเริ่มต้นทางตะวันออกของเส้นทางสายไหมโบราณ ทั้งนี้ โดยการริเริ่มดำเนินโครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง หรือ Belt and Road Initiative (ฺBRI) ของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง เมื่อปี 2556 ทำให้มณฑลส่านซีที่ตั้งอยู่ในจีนตอนในและถูกมองว่าตั้งอยู่บนพื้นที่ที่ค่อนข้างห่างไกลสามารถกลับมาพัฒนาเปิดกว้างและเชื่อมต่อกับนานาประเทศอีกครั้ง และทำให้พื้นที่บริเวณนี้เกิดโอกาสและความท้าทายใหม่ๆ จากการดำเนินนโยบายที่มีประสิทธิภาพ ทำให้เกิดการยกระดับคุณภาพของอุตสาหกรรมดั้งเดิม ตลอดจนได้สร้างพื้นที่ศักยภาพแห่งใหม่ที่เป็นผลมาจากการเปิดกว้างและปรับสภาพแวดล้อมทางธุรกิจและการลงทุน ทำให้มณฑลส่านซีมีความโดดเด่นและมีศักยภาพในการพัฒนาอย่างมาก
โครงการ BRI เป็นยุทธศาสตร์การพัฒนาระดับโลกที่จีนมีเป้าหมายในการสร้างเครือข่ายความร่วมมือทางเศรษฐกิจ การค้า และโครงสร้างพื้นฐานเชื่อมโยงจีนกับภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วโลก ผ่าน 2 เส้นทางหลัก คือ (1) แถบเศรษฐกิจสายไหมทางบก (Silk Road Economic Belt) ซึ่งเชื่อมจีนกับเอเชียกลาง ยุโรป และตะวันออกกลางผ่านเส้นทางคมนาคม และ (2) เส้นทงสายไหมทางทะเลศตวรรษที่ 21 (21st Century Maritime Silk Road) ซึ่งเชื่อมท่าเรือของจีนกับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แอฟริกา และยุโรป
รัฐบาลจีนมุ่งมั่นในพัฒนาโครงการ BRI เพื่อส่งเสริมการขยายตัวทางเศรษฐกิจและเชื่อมโยงกับประเทศต่างๆ ตามเส้นทาง BRI พร้อมผลักดันให้โครงการ BRI เป็นเครื่องจักรสำคัญในการขับเคลื่อนความร่วมมือกับนานาประเทศ เป็นกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจแบบพหุภาคีที่เปิดกว้าง โปร่งใส ภายใต้หลักการที่ทุกฝ่ายได้ประโยชน์ร่วมกัน
โครงการ BRI มีส่วนสำคัญที่ทำให้จีนสามารถขยายอิทธิพลทางเศรษฐกิจและการทูตผ่านการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในกว่า 140 ประเทศ ตลอดจนสร้างเครือข่ายหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์กับประเทศต่างๆ นอกจากนี้ ยังเป็นเครื่องมือในการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการสร้างเส้นทางการค้าที่เพิ่มขึ้น โดยในปี 2567 จีนมีมูลค่าการค้าระหว่างประเทศ (นำเข้าและส่งออก) กับประเทศตามแนวเส้นทาง BRI สูงถึง 22.07 ล้านล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.4 เมื่อเทียบปีก่อนหน้า นับเป็นครั้งแรกที่สัดส่วนการค้าดังกล่าวทำสถิติสูงกว่าร้อยละ 50 ของมูลค่าการค้ารวมของจีนที่ 43.85 ล้านล้านหยวน ในจำนวนดังกล่าว การนำเข้าและส่งออกไปยังอาเซียนเพิ่มขึ้นร้อยละ 9 ส่งผลให้จีนและอาเซียนยังคงครองสถานะเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของกันและกันเป็นเวลา 5 ปีติดต่อกัน แสดงให้เห็นความเข้มแข็งของความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคอย่างชัดเจน
————————————————–
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครเฉิงตู
พฤษภาคม 2568
https://mp.weixin.qq.com/s/MskptJiJ4gGUbg-8IFN7AA
https://finance.sina.com.cn/jjxw/2025-05-12/doc-inewhnvh3143643.shtml
https://www.yidaiyilu.gov.cn/p/04NDC9JS.html
https://www.toutiao.com/article/7459229206778626601/