- ภาพรวมและแนวโน้มตลาด
เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2025 เรือบรรทุกสินค้า OOCL Violet ได้เข้าเทียบท่าที่เมืองลองบีช รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา โดยเรือลำนี้บรรทุกสินค้าจากประเทศจีนรวมมูลค่ากว่า 564 ล้านเหรียญสหรัฐ นับเป็นหนึ่งในเรือกลุ่มแรกที่ต้องเผชิญกับอัตราภาษีนำเข้าใหม่ตามนโยบายของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งกำหนดไว้สูงถึง 145% สำหรับสินค้าบางประเภทจากจีน ทั้งนี้ คาดว่าสินค้าบนเรือประมาณ 40% เข้าข่ายต้องเสียภาษีในอัตราดังกล่าว ส่งผลให้ผู้นำเข้าสหรัฐฯ อาจต้องแบกรับต้นทุนภาษีนำเข้าเพิ่มเติมถึง 417 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยตัวเลขนี้ยังไม่รวมภาระค่าธรรมเนียมการนำเข้าที่มีอยู่เดิม
การขึ้นภาษีศุลกากรส่งผลกระทบอย่างชัดเจนต่อภาคธุรกิจ รวมถึงบริษัทในสหรัฐฯ ที่มีสินค้าบนเรือ Violet เช่น เครื่องตัดหญ้าและชิ้นส่วนประกอบ ปลา รองเท้า ผ้าเบรก ถุงมือแพทย์ กระจกหน้ารถยนต์ พาสต้า รถเข็นผู้ป่วย และชุดชั้นใน ซึ่งหลายบริษัทกำลังเผชิญความไม่แน่นอนว่าจะต้องปรับตัวชั่วคราวหรือถาวรและกำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาทางเลือกอื่นๆ
การคำนวณภาษีนำเข้าเป็นกระบวนการที่ซับซ้อนขึ้นอยู่กับประเภทสินค้า ประเทศต้นทางและช่วงเวลาที่เรือออกจากแต่ละท่าก่อนถึงสหรัฐฯ โดยเฉพาะสำหรับสินค้าที่จัดส่งในสัปดาห์หลังการประกาศขึ้นภาษีของทรัมป์
เรือ Violet เริ่มบรรทุกสินค้าออกจากเมืองต้าเหลียน ประเทศจีน ในช่วงที่สหรัฐฯ เรียกเก็บภาษีนำเข้าจากจีนเพิ่มอีก 20% (2 เมษายน 2025) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายที่เชื่อมโยงกับปัญหายาเสพติดเฟนทานิล หลังจากนั้นเมื่อเรือเดินทางต่อไปยังเมืองหนิงโป ประเทศจีน อัตราภาษีสำหรับสินค้าบางประเภท เช่น รถยนต์ อะลูมิเนียมและเหล็กก็ได้ขยับเพิ่มขึ้นเป็น 45% (7 เมษายน 2025) อย่างไรก็ดี จุดที่กระทบหนักที่สุดเกิดขึ้นก่อนที่เรือจะออกจากท่าเซี่ยงไฮ้ ประเทศจีนไม่กี่ชั่วโมง เมื่อสหรัฐฯ ประกาศขึ้นภาษีรอบสุดท้ายเป็น 145% (10 เมษายน 2025) สำหรับสินค้าจากจีน ซึ่งการขึ้นภาษีครั้งนี้เพียงอย่างเดียวทำให้ต้นทุนการนำเข้าสินค้าของบริษัทอเมริกันบนเรือลำนี้เพิ่มขึ้นถึงประมาณ 220 ล้านเหรียญสหรัฐ
หลายบริษัทที่มีสินค้าบนเรือ Violet ต้องเผชิญกับการปรับขึ้นภาษีอย่างกะทันหัน โดยมีเวลาเตรียมการเพียงเล็กน้อย เนื่องจากสินค้าหลายรายการได้ถูกจัดส่งออกไปแล้วก่อนการประกาศนโยบายใหม่ทำให้บริษัทเหล่านี้ต้องเร่งปรับตัวท่ามกลางความไม่แน่นอน ทั้งนี้ ในด้านการประเมินต้นทุนภาษีนำเข้าที่เพิ่มขึ้น สำนักข่าว Bloomberg ได้อ้างอิงข้อมูลจากผู้เชี่ยวชาญด้านโลจิสติกส์ระหว่างประเทศ คำสั่งฝ่ายบริหารของสหรัฐฯ (Executive Order) รวมถึงแนวทางจากหน่วยงานศุลกากรสหรัฐฯ (US CBP) เพื่อคำนวณภาระภาษีที่สินค้าบนเรือ Violet ที่ผู้นำเข้าจะต้องเผชิญ อย่างไรก็ตาม ตัวเลขภาษีนำเข้าที่ผู้นำเข้าต้องจ่ายจริงอาจแตกต่างกันตามข้อมูลเฉพาะที่แจ้งต่อเจ้าหน้าที่ศุลกากร และในกรณีที่อัตราภาษีมีการเปลี่ยนแปลงก่อนการนำสินค้าออกจากท่าเรือลองบีช ผู้นำเข้าอาจต้องแบกรับภาระใหม่ตามการปรับเปลี่ยนล่าสุด
สินค้าจากจีนบนเรือ Violet น่าจะมีมูลค่าภาษีนำเข้าเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 409 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยจำแนกเป็นสินค้าสำคัญตามมูลค่า ได้ดังนี้
- สินค้าในกลุ่มเสื้อผ้าถัก
เสื้อผ้าถักทอจากจีนที่ขนส่งมากับเรือ Violet มีน้ำหนักรวมกว่า 5.7 ล้านปอนด์ และเป็นสินค้ากลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากการขึ้นภาษีมากที่สุด โดยประมาณ 75% ของสินค้าประเภทนี้ถูกเก็บภาษีในอัตราสูงสุด สินค้าในกลุ่มนี้มีตั้งแต่เสื้อผ้าแฟชั่นอย่างเสื้อกั๊กผู้หญิง (women’s vest) ที่ส่งไปขายในร้าน Ross ไปจนถึงถุงมือสำหรับใช้งานในโรงงานที่มีมูลค่าถึง 230,000 เหรียญสหรัฐ ซึ่งกำลังส่งไปยังเมืองแคนซัสซิตี้ แสดงให้เห็นว่าภาษีนำเข้าใหม่ไม่ได้กระทบเฉพาะสินค้าทั่วไป แต่ขยายวงกว้างไปถึงอุปกรณ์ที่ใช้ในภาคธุรกิจด้วยเช่นกัน
- สินค้าในกลุ่มเครื่องจักรและเครื่องใช้ในภาคอุตสาหกรรม
ภาษีนำเข้าใหม่ที่เพิ่มขึ้นหลายพันเหรียญสหรัฐขึ้นอยู่กับเวลาที่สินค้าถูกขนขึ้นเรือ เช่น บริษัท Big Joe Forklift ในรัฐเนแบรสกา ต้องจ่ายภาษีเพิ่มถึง 109,000 เหรียญสหรัฐ เพราะอุปกรณ์ในคลังสินค้ามูลค่า 95,000 เหรียญสหรัฐ ถูกขนขึ้นเรือเพียงสองวันหลังจากที่อัตราภาษีสูงสุดเริ่มมีผลบังคับใช้ ทำให้บริษัทต้องแบกรับต้นทุนเพิ่มอย่างเลี่ยงไม่ได้
- 3. สินค้าในกลุ่มอุปกรณ์ไฟฟ้าและชิ้นส่วน
หลังจากที่ประธานาธิบดีทรัมป์ประกาศขึ้นภาษีเพื่อตอบโต้จีน หน่วยงานศุลกากรสหรัฐฯ ได้ออกประกาศยกเว้นภาษีสำหรับสินค้าอิเล็กทรอนิกส์บางรายการ ส่งผลให้สินค้าอย่างจอมอนิเตอร์ทีวี แล็ปท็อปและอุปกรณ์เสริมต่างๆ จากจีนบนเรือ Violet ซึ่งมีมูลค่ารวมประมาณ 4.7 ล้านเหรียญสหรัฐ น่าจะไม่ต้องเสียภาษีตามอัตราสูงสุด ทำให้อัตราภาษีนำเข้าเฉลี่ยของหมวดนี้ลดลงเหลือประมาณ 67%
- สินค้าในกลุ่มรถยนต์ รถบรรทุก จักรยานและชิ้นส่วน
รถยนต์และชิ้นส่วนรถยนต์ได้รับการยกเว้นจากภาษีตอบโต้จีน แต่กลับถูกเก็บภาษีในอัตรา 45% (โดยไม่รวมภาษีที่เก็บสำหรับเหล็กหรืออะลูมิเนียม) ส่วนชิ้นส่วนรถยนต์ถูกเก็บภาษีในอัตรา 20% ซึ่งถือว่าเป็นอัตราภาษีที่ต่ำที่สุดสำหรับสินค้าจากจีน อย่างไรก็ตาม อัตราภาษีสำหรับชิ้นส่วนรถยนต์จะเพิ่มขึ้นอีกครั้งในเดือนพฤษภาคม
- สินค้าในกลุ่มผลิตภัณฑ์พลาสติก
สินค้าในกลุ่มผลิตภัณฑ์พลาสติกเป็นกลุ่มสินค้าที่ได้รับผลกระทบจากภาษีเพิ่มเติม และยังรวมถึงชิ้นส่วนอุตสาหกรรมและของใช้ในบ้านทั่วไป เช่น ราวตากผ้าแบบพับได้ กระถางพลาสติก ตุ๊กตาและของตกแต่ง เช่น ดอกต้นสนและฟักทอง
- สินค้าในกลุ่มปลาและอาหารทะเล
ต้นทุนที่เพิ่มขึ้นจากภาษีนำเข้าส่วนหนึ่งจะถูกส่งต่อไปยังผู้บริโภค เช่น บริษัท Arctic Fisheries ซึ่งเป็นผู้จัดจำหน่ายอาหารทะเลในเมืองบัฟฟาโล รัฐนิวยอร์ก มีปลาค็อดแช่แข็งหนักถึง 103,000 ปอนด์อยู่บนเรือ Violet ทั้งนี้ ด้วยราคาตั้งเดิมที่ค่อนข้างต่ำอยู่แล้ว บริษัทจึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องปรับราคาขายสินค้าให้สูงขึ้นเพื่อสะท้อนต้นทุนที่เพิ่มขึ้น ซึ่งสุดท้ายแล้วผู้บริโภคจะเป็นผู้ที่ต้องแบกรับภาระดังกล่าว
- สินค้าในกลุ่มอื่นๆ
สินค้าหลากหลายประเภท เช่น เซรามิก ร่ม เครื่องบินจำลอง ขนตาปลอมและยาสีฟันสำหรับสัตว์เลี้ยง ต่างก็ถูกเก็บภาษีนำเข้าเพิ่ม แต่ในแต่ละรายการมีมูลค่าภาษีใหม่ไม่เกิน 2 ล้านเหรียญสหรัฐ
ในระยะสั้น ภาษีนำเข้าใหม่จะช่วยสร้างรายได้ให้กับสหรัฐฯ หลายพันล้านเหรียญสหรัฐทันที โดยต้นทุนเหล่านี้จะตกอยู่กับผู้นำเข้าสินค้าในสหรัฐฯ ซึ่งบางรายอาจเลือกผลักภาระไปยังผู้บริโภค อย่างไรก็ตาม รายได้นี้อาจเป็นเพียงชั่วคราว เนื่องจากในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา จำนวนเรือขนส่งสินค้าจากจีนมายังสหรัฐฯ มีปริมาณลดลงอย่างรวดเร็ว อย่างไรก็ดี โฆษกทำเนียบขาวระบุว่านโยบายของรัฐบาลทรัมป์กำลังปูทางสู่การฟื้นฟูเศรษฐกิจระยะยาว โดยชี้ให้เห็นถึงการลงทุนภายในประเทศที่เพิ่มขึ้นและข้อมูลในเดือนมีนาคมที่บ่งชี้ว่าเงินเฟ้อเริ่มชะลอตัว อยู่ที่ระดับ 2.4
อย่างไรก็ตาม โฆษกไม่ได้ตอบคำถามเกี่ยวกับข้อมูลจาก Bloomberg ที่ชี้ให้เห็นต้นทุนที่เพิ่มขึ้นสำหรับผู้นำเข้า รวมถึงผลกระทบจากการขึ้นภาษี 145% สำหรับสินค้าจีนที่เริ่มบังคับใช้เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2025 ในขณะเดียวกัน ท่าเรือลองบีชคาดการณ์ว่าระหว่างช่วงกลางเดือนเมษายน-กลางเดือนพฤษภาคม จำนวนเรือและปริมาณสินค้านำเข้าจะลดลงประมาณ 40% ซึ่งเป็นสัญญาณสะท้อนถึงการเปลี่ยนแปลงในห่วงโซ่อุปทานที่เริ่มส่งผลต่อเศรษฐกิจโลก
ทั้งนี้ จีนจะเผยแพร่ข้อมูลการค้าเดือนเมษายนในเร็วนี้ ซึ่งจะเป็นข้อมูลเชิงลึกชุดแรกที่แสดงให้เห็นว่า การส่งออกจากจีนเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรและผู้นำเข้าสหรัฐฯ ตอบสนองต่อภาษีที่เพิ่มขึ้นอย่างไรบ้าง
สำหรับบริษัท Arctic Fisheries ผู้นำเข้าและจัดจำหน่ายอาหารทะเล กล่าวว่าการรับมือกับภาษีนำเข้าใหม่ถือเป็นความท้าทายล่าสุดหลังจากบริษัทต้องเผชิญกับความปั่นป่วนต่อเนื่องมาหลายปี ประธานบริษัทระบุว่าบริษัทอาจต้องกู้เงินเพื่อชำระค่าภาษีนำเข้าสำหรับปลาที่อยู่บนเรือ Violet ซึ่งจะทำให้ต้องจ่ายดอกเบี้ยเพิ่มด้วย แม้ในขณะนี้จะยังไม่ได้รับใบแจ้งหนี้ก็ตาม ที่ผ่านมา บริษัทต้องเผชิญกับปัญหาหลายระลอก ตั้งแต่ภาษีในยุครัฐบาลทรัมป์รอบแรก ความโกลาหลของห่วงโซ่อุปทานจากโควิด รวมถึงอุปสรรคด้านการจัดหาสินค้าอันเนื่องมาจากสงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครน แม้บริษัทตั้งใจจะผลักภาระภาษีไปยังลูกค้าแต่สัญญาราคาคงที่ที่ทำไว้ล่วงหน้าในหลายกรณื ทำให้ไม่สามารถปรับขึ้นราคาได้เต็มที่ บริษัทให้ความเห็นว่า แม้นโยบายของรัฐบาลจะมุ่งกดดันประเทศอื่น แต่กลับกลายเป็นว่าธุรกิจอเมริกันจำนวนมากต้องตกอยู่ในภาวะลำบากและบางรายอาจไม่สามารถอยู่รอดได้
วิธีการประเมินภาษีนำเข้าของ Bloomberg คือ การประเมินภาษีนำเข้าสินค้าบนเรือ Violet ใช้ข้อมูลจากใบส่งสินค้าประมาณ 6,000 รายการ และมีการอ้างอิงข้อมูลจากคำสั่งฝ่ายบริหารของสหรัฐฯ (Executive Order) ที่เกี่ยวข้องกับภาษีหลายประเภท เช่น ภาษีควบคุมเฟนทานิลจากจีน ภาษีตอบโต้ 10% และภาษีเฉพาะสินค้าจีน 145% ซึ่งเริ่มมีผลในเดือนเมษายน 2025 อย่างไรก็ดีอัตราที่ต้องจ่ายจริงขึ้นอยู่กับข้อมูลจากผู้นำเข้า มูลค่าศุลกากร เวลาออกเรือที่แน่นอนและการเปลี่ยนแปลงเอกสารหรืออัตราภาษีในภายหลัง โดยผู้นำเข้าบางรายอาจฝากสินค้าในคลังสินค้าภาษี (bonded warehouse) เพื่อเลื่อนการชำระภาษี ซึ่งอาจได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงภาษีในช่วงหลัง โดยข้อมูลในรายงานนี้อัปเดตล่าสุดเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2025
- ข้อมูลการนำเข้าสินค้าของสหรัฐฯ จากต่างประเทศ
ในเดือนมีนาคม 2025 สหรัฐฯ ขาดดุลการค้าเพิ่มขึ้นเป็น 140.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งเป็นการขาดดุลในระดับที่สูงมากซึ่งเกินกว่าคาดการณ์ไว้ที่ 137 พันล้านเหรียญสหรัฐ โดยสหรัฐฯ มีการนำเข้าสินค้าเพิ่มขึ้น 4.4% เป็นมูลค่า 419 พันล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งสูงสุดเป็นประวัติการณ์ โดยอาศัยแรงหนุนจากการที่ภาคธุรกิจต้องการเร่งนำเข้าสินค้าล่วงหน้าก่อนที่อัตราภาษีใหม่จะมีผลบังคับใช้ในเดือนเมษายน 2025 โดยสินค้าที่มีการเพิ่มปริมาณการนำเข้า ได้แก่ ยารักษาโรค รถยนต์นั่งและอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ และสินค้าที่มียอดการนำเข้าลดลง เช่น โลหะรูปทรงสำเร็จรูป ทองคำที่ไม่ใช่เพื่อการเงินและน้ำมันดิบ
จากข้อมูลของ Global Trade Atlas ในช่วง 3 เดือนแรก (มกราคม-มีนาคม) ของปี 2025 สหรัฐฯ นำเข้าสินค้าจากทั่วโลก 30 อันดับแรก โดยประเภทสินค้าเรียงตามมูลค่าการนำเข้า สามารถแยกได้ดังนี้ HS 84 เครื่องปฏิกรณ์และเชื้อเพลิงต่างๆ มากเป็นอันดับหนึ่ง มูลค่า 143.4 พันล้านเหรียญสหรัฐ (+23.57%) รองลงมา ได้แก่ HS 85 อิเล็กทรอนิกส์และอุปกรณ์ มูลค่า 122.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ (+16.25%) HS 71 เครื่องประดับ มูลค่า 94.6 พันล้านเหรียญสหรัฐ (+471.32%) HS 87 รถยนต์และส่วนประกอบ มูลค่า 90.7 พันล้านเหรียญสหรัฐ (-3.12%) HS 30 เวชภัณฑ์และยารักษาโรค มูลค่า 68.6 พันล้านเหรียญสหรัฐ (+41.05%) HS 27 ถ่านหินและผงถ่าน มูลค่า 55.0 พันล้านเหรียญสหรัฐ (-4.48%) HS 29 เคมีภัณฑ์อินทรีย์ มูลค่า 48.1 พันล้านเหรียญสหรัฐ (+212.47%) HS 90 อุปกรณ์และเครื่องอุปกรณ์ที่ใช้ในทางทัศนศาสตร์ มูลค่า 31.0 พันล้านเหรียญสหรัฐ (+6.47%) HS 98 สินค้าในกลุ่มพิเศษ มูลค่า 27.4 พันล้านเหรียญสหรัฐ (+13.6%) HS 39 พลาสติกและของที่ทำด้วยพลาสติก มูลค่า 18.4 พันล้านเหรียญสหรัฐ (+3.4%) HS 94 เฟอร์นิเจอร์และส่วนประกอบ มูลค่า 16.6 พันล้านเหรียญสหรัฐ (+1.94%) HS 73 ของทำด้วยเหล็กหรือเหล็กกล้า มูลค่า 12.1 พันล้านเหรียญสหรัฐ (+2.57%) HS 61 เครื่องแต่งกายถักแบบนิตหรือแบบโครเชต์ มูลค่า 10.6 พันล้านเหรียญสหรัฐ (+11.42%) HS 62 เครื่องแต่งกายที่ไม่ได้ถักแบบนิตหรือแบบโครเชต์ มูลค่า 9.6 พันล้านเหรียญสหรัฐ (+10.54%) HS 40 ยาง และของทำด้วยยาง มูลค่า 8.8 พันล้านเหรียญสหรัฐ (+3.63%) HS 95 ของเล่น มูลค่า 8.2 พันล้านเหรียญสหรัฐ (+10.56%) HS 88 อากาศยาน ยานอวกาศและส่วนประกอบ มูลค่า 8.1 พันล้านเหรียญสหรัฐ (-2.74%) HS 08 ผลไม้และลูกนัตที่บริโภคได้ เปลือกผลไม้จำพวกส้มหรือเปลือกแตงโม มูลค่า 7.8 พันล้านเหรียญสหรัฐ (+12.2%) HS 22 เครื่องดื่มสุราและน้ำส้มสายชู มูลค่า 7.7 พันล้านเหรียญสหรัฐ (+6.67%) HS 72 เหล็กและเหล็กกล้า มูลค่า 7.6 พันล้านเหรียญสหรัฐ (-5.34%) HS 76 อะลูมิเนียมและของทำด้วยอะลูมิเนียม มูลค่า 7.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ (+19.4%) HS 64 รองเท้าและส่วนประกอบ มูลค่า 6.8 พันล้านเหรียญสหรัฐ (+3.85%) HS 99 สินค้านำเข้าพิเศษ มูลค่า 6.1 พันล้านเหรียญสหรัฐ (+7.81%) HS 44 ไม้และของทำด้วยไม้ มูลค่า 5.9 พันล้านเหรียญสหรัฐ (+6.67%) HS 38 เคมีภัณฑ์เบ็ดเตล็ด มูลค่า 5.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ (-8.46%) HS 33 เอสเซนเชียลออยล์ เครื่องหอม เครื่องสำอาง มูลค่า 5.4 พันล้านเหรียญสหรัฐ (+4.06%) HS 28 เคมีภัณฑ์อนินทรีย์ สารประกอบอินทรีย์ประเภทสารประกอบอนินทรีย์ มูลค่า 5.3 พันล้านเหรียญสหรัฐ (+24.23%) HS 3 ปลา มูลค่า 5.0 พันล้านเหรียญสหรัฐ (+12.73%) HS 48 กระดาษและกระดาษแข็ง ของทำด้วยเยื่อกระดาษ มูลค่า 4.9 พันล้านเหรียญสหรัฐ (+10.37%) และ HS 74 ทองแดงและชองทำด้วยทองแดง มูลค่า 4.6 พันล้านเหรียญสหรัฐ (+34.62%)
ในขณะเดียวกัน สำหรับการส่งออกเพิ่มขึ้นเล็กน้อยที่ 0.2% แต่ยังคงสูงถึง 278.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ โดยสินค้าส่งออกหลักๆ ได้แก่ รถยนต์นั่ง ก๊าซธรรมชาติ ทองคำที่ไม่ใช่เพื่อการเงินและอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ แต่ลดลงในหมวดเครื่องบินพาณิชย์
การขาดดุลการค้าของสหรัฐฯ ขยายตัวอย่างรวดเร็วกับสหภาพยุโรป (ขาดดุล 48.3 พันล้านเหรียญสหรัฐ จากเดิม 30.9 พันล้านเหรียญสหรัฐ) โดยเฉพาะกับไอร์แลนด์ (ขาดดุล 29.3 พันล้านเหรียญสหรัฐ จากเดิม 14 พันล้านเหรียญสหรัฐ) และเวียดนาม (ขาดดุล 14.1 พันล้านเหรียญสหรัฐ จากเดิม 12.4 พันล้านเหรียญสหรัฐ) แต่ลดลงกับจีน (ขาดดุล 24.8 พันล้านเหรียญสหรัฐ จากเดิม 26.6 พันล้านเหรียญสหรัฐ) สวิตเซอร์แลนด์ (ขาดดุล 14.7 พันล้านเหรียญสหรัฐ จากเดิม 18.8 พันล้านเหรียญสหรัฐ) และแคนาดา (ขาดดุล 4.9 พันล้านเหรียญสหรัฐ จากเดิม 7.4 พันล้านเหรียญสหรัฐ) ขณะที่การค้ากับเม็กซิโกแทบไม่มีการเปลี่ยนแปลงที่ 16.7 พันล้านเหรียญสหรัฐ
ทั้งนี้ จากข้อมูลของ Global Trade Atlas ในช่วง 3 เดือนแรก (มกราคม-มีนาคม) ของปี 2025 สหรัฐฯ นำเข้าสินค้าเรียงลำดับจากมูลค่าการนำเข้า โดยนำเข้าจากเม็กซิโกมากเป็นอันดับหนึ่ง (+9.55%) เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมาช่วงเดียวกัน รองลงมาคือ แคนนาดา (+7.94%) และจีน (+5.15%) ส่วนไทยเป็นลำดับที่ 14 (+22.9%)
โดยกลุ่มสินค้าที่สหรัฐฯ นำเข้าจากไทยเพิ่มขึ้นในช่วง 3 เดือน (มกราคม-มีนาคม 2025) ที่ผ่านมา เรียงตามมูลค่าการนำเข้า ได้แก่ HS 85 อิเล็กทรอนิกส์และอุปกรณ์ มูลค่า 5,952 ล้านเหรียญสหรัฐ (+17.29) รองลงมา คือ HS 84 เครื่องปฏิกรณ์และเชื้อเพลิงต่างๆ มูลค่า 4,539 ล้านเหรียญสหรัฐ (+37.73) และ HS 40 ยางและผลิตภัณฑ์ มูลค่า 1,390 ล้านเหรียญสหรัฐ (+8.72) ตามลำดับ
- แนวทางการกระจายห่วงโซ่อุปทานของสหรัฐฯ
3.1 สหรัฐฯ กำลังดำเนินการหาทางกระจายห่วงโซ่อุปทานออกจากจีนในหลายภาคส่วนที่สำคัญ โดยหมวดหมู่สินค้าหลักที่กำลังมีการหาตลาดทดแทนหรือมีความต้องการสูง ได้แก่
-เซมิคอนดักเตอร์ โดยนำเข้าจากไต้หวัน/เกาหลีใต้/ญี่ปุ่น/โรงงานผลิตในประเทศตามมาตรการส่งเสริมการผลิตชิปในประเทศ (CHIPS Act)
-ส่วนผสมทางยา โดยนำเข้าจากอินเดีย/ยุโรป (เยอรมนีและไอร์แลนด์)/การผลิตในประเทศ
-สินค้าอิเล็กทรอนิกส์และส่วนประกอบ โดยนำเข้าจากเวียดนาม/มาเลเซีย/อินเดีย/เม็กซิโก/ไทย
-สินค้าแฟชั่น โดยนำเข้าจากบังกลาเทศ/เวียดนาม/อินเดีย/ฮอนดูรัส/ เอลซัลวาดอร์
-ผลิตภัณฑ์ชิ้นส่วนยานยนต์ โดยนำเข้าจากแคนาดา/เกาหลีใต้/ไทย
-แผงโซลาร์เซลล์และอุปกรณ์พลังงานสะอาด โดยนำเข้าจากมาเลเซีย/เวียดนาม/เกาหลีใต้
-เครื่องจักรและอุปกรณ์ โดยนำเข้าจากเยอรมนี/ญี่ปุ่น/เกาหลีใต้/อิตาลี
3.2 ผู้นำเข้า/ร้านค้าปลีกรายใหญ่ในสหรัฐฯ อาศัยอำนาจในการเจรจาต่อรองที่สูงเพื่อเจรจาต่อรองราคากับผู้ผลิตซึ่งจะช่วยบรรเทาผลกระทบจากภาษีการนำเข้าได้บ้าง นอกจากนี้ ผู้ค้าปลีกรายใหญ่ เช่น บริษัท Walmart ได้มีแผนเพิ่มการซื้อสินค้าภายในประเทศเพื่อหลีกเลี่ยงภาษีนำเข้า ปัจจุบันสินค้าประมาณ 2 ใน 3 ของ Walmart มาจากสหรัฐฯ และบริษัทได้เปิดตัวโครงการ “Grow With Us” เพื่อช่วยธุรกิจขนาดเล็กในสหรัฐฯ ให้สามารถขายสินค้าให้ Walmart ได้ โดยมีการฝึกอบรมและสนับสนุนด้านการเงิน พร้อมเปิดโอกาสให้พบกับผู้ซื้อของบริษัทโดยตรง
3.3 ผู้ผลิตของเล่นในสหรัฐฯ เริ่มพิจารณาย้ายฐานการผลิตออกจากจีนอย่างถาวรเพื่อลดผลกระทบจากภาษีนำเข้าสูงแต่ยังต้องใช้เวลา ขณะเดียวกันของเล่นหลายชนิดอาจเริ่มหายไปจากชั้นวางสินค้า เนื่องจากต้นทุนที่เพิ่มขึ้นทำให้บริษัทขนาดเล็กและกลางต้องชะลอหรือยกเลิกคำสั่งซื้อ เช่น Basic Fun!, Duncan Toys และ Storytime Toys ต่างหยุดนำเข้าสินค้าจากจีนเพราะไม่สามารถแบกรับภาระภาษีที่พุ่งสูงถึง 145% ได้ สถานการณ์นี้อาจกระทบช่วงคริสต์มาส ซึ่งเป็นฤดูกาลขายสำคัญ แม้บริษัทใหญ่อย่าง Hasbro จะพยายามกระจายการผลิตไปยังประเทศอื่น แต่การปรับตัวต้องใช้เวลา ส่งผลให้อนาคตของเล่นในสหรัฐฯ อาจมีน้อยลงและมีราคาสูงขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
- โอกาสของสินค้าไทยในตลาดสหรัฐฯ
ในช่วงสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน สินค้าจากจีนหลายประเภทถูกเก็บภาษีเพิ่ม ทำให้สหรัฐฯ มองหาแหล่งผลิตทดแทนการนำเข้า ซึ่งไทยอาจเป็นหนึ่งในตัวเลือกสำคัญ โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากภาษี ตัวอย่างสินค้าจากไทยมีการส่งออกไปสหรัฐฯ มากขึ้น ได้แก่ ชิ้นส่วนและอุปกรณ์ยานยนต์ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เช่น เครื่องปรับอากาศและเครื่องใช้ไฟฟ้าอื่นๆ สินค้าอาหารและเครื่องดื่ม เช่น ผลไม้แปรรูป และเครื่องดื่มบางประเภท สินค้าอัญมณีและเครื่องประดับมีค่า สินค้าเคมีภัณฑ์และพลาสติกที่ใช้ในการผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และเครื่องจักร โดยรวมแล้ว ไทยมีโอกาสขยายตลาดในสหรัฐฯ ได้มากขึ้น หากสามารถตอบโจทย์ในด้านคุณภาพ ราคาและกำลังการผลิตได้
นอกจากนี้ จากบทสัมภาษณ์ของบริษัท Pandora ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายเครื่องประดับเงินรายใหญ่ใน Fortune เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2025 ที่ผ่านมา ได้ให้ความคิดเห็นว่าบริษัท Pandora ยืนยันว่าจะไม่ย้ายฐานการผลิตมายังสหรัฐฯ แม้จะเผชิญกับภาษีตอบโต้การค้าต่อสินค้านำเข้าจากประเทศไทยซึ่งเป็นแหล่งผลิตหลักของบริษัท โดยคุณ Alexander Lacik (CEO) ของ Pandora ระบุว่า การตั้งโรงงานผลิตในอเมริกานั้น “เป็นไปไม่ได้เลย” เนื่องจากไม่สามารถหาช่างฝีมือที่มีทักษะเฉพาะทางในระดับเดียวกับที่มีในไทยได้ ปัจจุบัน Pandora มีพนักงานถึง 15,000 คนในประเทศไทย และผลิตเครื่องประดับถึง 95% ของทั้งบริษัทจากที่นี่ แม้ภาษีจะเพิ่มต้นทุนในการดำเนินธุรกิจ แต่บริษัทยืนยันว่าการย้ายสายการผลิตมาอเมริกาจะยิ่งเพิ่มต้นทุนแรงงานและลดคุณภาพการผลิต เพราะขาดแคลนแรงงานที่มีทักษะเชิงช่างในการทำเครื่องประดับ จึงไม่ใช่เพียงเรื่องของค่าใช้จ่าย แต่เป็นเรื่องของคุณภาพและทักษะของแรงงานโดยตรง
Pandora ยังเผชิญกับผลกระทบจากภาษี “Liberation Day” ที่อดีตประธานาธิบดี Donald Trump ประกาศใช้ในเดือนเมษายน 2025 โดยตั้งอัตราภาษีไว้ที่ 36% สำหรับสินค้าจากไทย และ 46% สำหรับสินค้าจากเวียดนาม ส่งผลกระทบต่อบริษัทมูลค่าราว 182 ล้านเหรียญสหรัฐ/ปี ซึ่งภายหลังมีการปรับลดอัตราภาษีลงเหลือ 10% และเลื่อนการบังคับใช้ออกไป 90 วัน ยกเว้นสินค้าจากจีน โดยนอกจากภาษีแล้ว ราคาวัตถุดิบ เช่น เงิน ที่ปรับตัวสูงขึ้นในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ยังส่งผลให้ Pandora ต้องปรับขึ้นราคาสินค้าสองครั้งในรอบปีที่ผ่านมา คือ 5% ในตุลาคม 2024 และ 4% ในเดือนเมษายน 2025 ซึ่งสะท้อนถึงแรงกดดันด้านต้นทุนอย่างต่อเนื่อง แม้บริษัทจะยังสามารถรับมือกับภาษีระดับ 10% ได้ แต่ความไม่แน่นอนในนโยบายการค้าเป็นสิ่งที่ Pandora กังวลมากที่สุด เพราะทำให้วางแผนการจัดการซัพพลายเชนในระยะยาวได้ยาก บริษัทจึงเริ่มมองหาประเทศใหม่เพื่อจัดหาอุปกรณ์หน้าร้านแทนจีน และปรับกระบวนการจัดส่งสินค้าไปยังแคนาดาและละตินอเมริกาโดยไม่ต้องผ่านศูนย์กระจายสินค้าในสหรัฐฯ ท้ายที่สุดบริษัทเตือนว่าหากภาษีกลับไปอยู่ในระดับสูงอีกครั้งอาจจะส่งผลให้ราคาขายปลีกของเครื่องประดับน่าจะต้องมีการปรับเพิ่มขึ้นทั่วทั้งอุตสาหกรรมและผู้บริโภคก็จะเป็นผู้ที่รับผลกระทบโดยตรงจากต้นทุนที่เพิ่มขึ้นครั้งนี้ กล่าวโดยสรุป สถานการณ์นี้แม้ดูเป็นความท้าทายแต่ก็เปิดโอกาสให้ไทยตอกย้ำบทบาทในการเป็นผู้ผลิตในอุตสาหกรรมทักษะที่สำคัญและหากไทยใช้โอกาสนี้ในการปรับปรุงและวางรากฐานรองรับการลงทุนระยะยาวจากบริษัทที่ต้องการกระจายความเสี่ยงจากสงครามการค้าและความไม่แน่นอนระหว่างประเทศอาจทำให้ไทยได้รับประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวได้เช่นกัน
แหล่งข้อมูล: สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครนิวยอร์ก และ https://www.bloomberg.com/ https://tradingeconomics.com/united-states/balance-of-trade/https://www.wsj.com/https://connect.ihsmarkit.com/gta/standard-reports/ https://www.thestreet.com/retail/walmart-makes-drastic-decision-amid-tariff-threats/https://fortune.com/https://www.newsweek.com/