เมื่อวันที่ 23 เมษายน ที่ผ่านมา Kanto Bureau of Economy ได้ประกาศตัวเลขมูลค่าการจำหน่ายของอุตสาหกรรมค้าปลีกเดือนกุมภาพันธ์ ของเขตภาคตะวันออกและจังหวัดชิสุโอกะรวม 11 จังหวัด พบว่า มูลค่าการจำหน่ายรวมของซูเปอร์มาร์เก็ตในเขตดังกล่าวเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.9 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน หรือเท่ากับ 576,700 ล้านเยน (ประมาณ 132,000 ล้านบาท) สินค้าประเภทอาหารและเครื่องดื่มยอดจำหน่ายดี เพิ่มขึ้นติดต่อกัน 30 เดือนเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน และได้ประกาศ “การประเมินภาวะโดยรวม” ของการบริโภคของภาคครัวเรือนว่า “ขยายตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป”
ด้านห้างสรรพสินค้า ยอดจำหน่ายลดลงร้อยละ 2.7 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน อาจเป็นเพราะสภาพอากาศที่เย็นอย่างต่อเนื่องทำให้เสื้อผ้าฤดูใบไม้ผลิจำหน่ายได้ไม่ดีนัก นอกจากนี้ ยังมีห้างสรรพสินค้าบ้างแห่งที่ปิดให้บริการเพื่อปรับปรุงสถานที่ครั้งใหญ่ จึงส่งผลกระทบต่อตัวเลขโดยรวม
สำหรับอุตสาหกรรมอื่นๆนอกเหนือจากห้างสรรพสินค้ามียอดจำหน่ายเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อน ได้แก่ ร้านสะดวกซื้อเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.9 เท่ากับ 440,300 ล้านเยน (ประมาณ 100,000 ล้านบาท) ยอดจำหน่ายขนมและเครื่องดื่มประเภทไม่มีแอลกอฮอล์มียอดจำหน่ายดี ร้าน Drug store ยอดจำหน่ายเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.8 เท่ากับ 303,300 ล้านเยน (ประมาณ 70,000 ล้านบาท) ซึ่งเพิ่มขึ้นต่อเนื่องกันมา 46 เดือนเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนหน้า ด้วยแรงซื้อของนักท่องเที่ยวโดยเฉพาะสินค้าเครื่องสำอาง ร้านจำหน่ายเครื่องใช้ไฟฟ้าขนาดใหญ่ก็มียอดจำหน่ายเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.7 เท่ากับ 176,200 ล้านเยน (ประมาณ 40,300 ล้านบาท) สมาร์ทโฟนและเครื่องปรับอากาศจำหน่ายได้ดี ร้าน Home center มียอดจำหน่ายเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.2 เท่ากับ 104,000 ล้านเยน (24,000 ล้านบาท) โดยเฉพาะฮีตเตอร์ที่ใช้น้ำมันเป็นเชื้อเพลิง
จากข้อมูลของสมาคมผู้จำหน่ายรถยนต์ (JAPAN AUTOMOBILE DEALERS ASSOCIATION) และสมาคมผู้จำหน่ายรถยนต์เครื่องยนต์ขนาดเล็ก พบว่า มีรถยนต์ใหม่จดทะเบียน (รถยนต์ธรรมดาและอื่นๆ 3 ประเภท) เพิ่มขึ้นร้อยละ 15.7 เท่ากับ 130,810 คัน เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง 2 เดือนเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน เป็นเพราะรถที่หยุดผลิตเนื่องจากปัญหาการรับรองที่ไม่ถูกต้อง ได้เริ่มกลับมาผลิตอีกครั้ง และรถบางรุ่นมีการเปลี่ยนแปลงโมเดล
ผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย
ยอดจำหน่ายเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาของอุตสาหกรรมค้าปลีกในเขตภาคตะวันออกและจังหวัดชิสุโอกะ โดยรวมแล้วมีแนวโน้มขยายตัว โดยเฉพาะซูเปอร์มาร์เก็ตและร้านสะดวกซื้อที่สินค้าประเภทอาหารและเครื่องดื่มจำหน่ายได้ดี สินค้าอาหารของไทยเป็นสินค้าส่งออกสำคัญ การเพิ่มขึ้นของยอดจำหน่ายสินค้าประเภทนี้ในร้านค้าปลีกในอุตสาหกรรมต่างๆอย่างต่อเนื่อง จึงเป็นแนวโน้มที่ดีสำหรับการผลักดันและส่งออกสินค้าไทย นอกจากนี้ เครื่องสำอางก็เป็นอีกหนึ่งในสินค้าที่น่าสนใจ เพราะเครื่องสำอางไทยได้รับความนิยมจากกลุ่มผู้บริโภคกลุ่มหนึ่งที่ชื่นชอบสินค้าไทย รวมไปถึงการได้รับอิทธิพลจากซีรีย์ไทยต่างๆที่โด่งดังในญี่ปุ่น ซึ่งผู้นำเข้าเครื่องสำอางก็จับตามองเครื่องสำอางไทยและสนใจนำเข้า เพราะคาดการณ์ว่า เครื่องสำอางไทยอาจเป็นเทรนด์ต่อจากเครื่องสำอางเกาหลีที่ได้รับความนิยมในปัจจุบัน
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น
แปลและเรียบเรียงจาก
หนังสือพิมพ์ Nikkei MJ ฉบับวันที่ 30 เมษายน 2568