เมื่อวันที่ 15 เมษายน ที่ผ่านมา คณะกรรมการพิจารณานโยบายเศรษฐกิจและการเงิน ได้พิจารณาเกี่ยวกับการเพิ่มปริมาณข้าวนำเข้าเพื่อความมั่นคงของการจัดหาข้าวภายในประเทศ โดยคณะกรรมการชี้แนะว่า การเร่งรัดการประมูลให้เร็วขึ้นและเพิ่มปริมาณโควต้าข้าวนำเข้าเพื่อการบริโภคจะช่วยให้ปริมาณการจัดหาข้าวภายในประเทศมีความมั่นคง
ประเทศญี่ปุ่นนำเข้าข้าวสำหรับการบริโภคด้วยการประมูลข้าวนำเข้าแบบ SBS (Simultaneous Buy and Sell เป็นระบบการจับคู่ระหว่างผู้นำเข้าและผู้ซื้อในประเทศผ่านการประมูล ระบบนี้เปิดให้ผู้นำเข้าข้าวและผู้ซื้อในประเทศ (เช่น ผู้ค้าส่งหรือผู้แปรรูป) จับคู่กันและยื่นเสนอราคาพร้อมกัน) ความต้องการข้าวของภาคเอกชนเพิ่มมากขึ้น โดยปี 2567 ปริมาณการนำเข้าข้าวแบบ SBS สูงแตะเพดาน 1 แสนตัน ดังนั้น การเพิ่มปริมาณโควต้าการนำเข้าข้าวแบบ SBS และการเร่งรัดการประมูลให้เร็วขึ้น จะช่วยให้สามารถตอบรับกับอุปสงค์ภายในประเทศได้
ด้วยสถานการณ์ในปัจจุบันที่ปริมาณข้าวไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมค้าปลีกหรืออุตสาหกรรมร้านอาหารทำให้ราคาข้าวพุ่งสูงขึ้น ความต้องการข้าวนำเข้าจึงเพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ ประเทศสหรัฐอเมริกายังได้นำเรื่องนโยบายการนำเข้าข้าวของรัฐบาลญี่ปุ่นและภาษีการนำเข้าข้าวที่สูงมาก ขึ้นมาหยิบยกเป็นประเด็นอีกด้วย
ผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย
ปี 2567 ประเทศญี่ปุ่นนำเข้าข้าวจากไทยปริมาณ 2.8 แสนตัน โดยนำเข้าข้าวแบบ SBS ปริมาณ 7,454 ตัน และในปี 2566 ประเทศญี่ปุ่นนำเข้าข้าวจากไทยปริมาณ 3.1 แสนตัน โดยนำเข้าข้าวแบบ SBS ปริมาณ 8,155 ตัน นอกนั้นเป็นการนำเข้าแบบ MA (Minimum Access) ซึ่งจะนำไปใช้ในอุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร เช่น ข้าวอบกรอบ (เซมเบะ) เต้าเจี้ยวมิโสะ เป็นต้น
ข้าวที่คนญี่ปุ่นรับประทานเป็นข้าวเมล็ดสั้น และในหนึ่งปีมีความต้องการบริโภคประมาณ 6.81 ล้านตัน (ปี 2567) สำหรับข้าวไทยนั้น ส่วนมากจะบริโภคกับอาหารไทย โดยจากการสำรวจของแพลตฟอร์มร้านอาหารชื่อดังของญี่ปุ่น (Tabelog) พบว่า ปัจจุบัน มีร้านอาหารไทยในญี่ปุ่นประมาณ 2,300 แห่ง ทำให้มีความต้องการข้าวไทยสูง และสำหรับคนที่ต้องการรับประทานอาหารไทยที่บ้าน ก็มีสินค้าข้าวไทยบรรจุแพ็คขนาดเล็ก หรือข้าวพร้อมรับประทานที่สามารถอุ่นด้วยไมโครเวฟจำหน่ายทั่วไป นอกจากนี้ ที่ประเทศญี่ปุ่นยังมีการนำเข้าข้าวไรส์เบอรี่และข้าววิตามินอีกด้วย หากรัฐบาลญี่ปุ่นเพิ่มปริมาณการนำเข้าข้าวสำหรับบริโภคแล้ว ก็อาจเป็นโอกาสของประเทศไทยที่จะสามารถขยายปริมาณการส่งออกข้าวคุณภาพสูงของไทยสู่ประเทศญี่ปุ่นก็เป็นได้
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น
แปลและเรียบเรียงจาก
หนังสือพิมพ์ Nikkei Shimbun ฉบับวันที่ 16 เมษายน 2568