เศรษฐกิจซีอานไตรมาสแรก 2568 สุดปัง ! GDP โต 5.5%

นครซีอานได้เผยแพร่ผลการดำเนินงานทางเศรษฐกิจสำหรับไตรมาสแรกของปี 2568 โดยประกาศอัตราการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวม (GDP) ที่ 323,155 ล้านหยวน ขยายตัวเพิ่มขึ้นที่ร้อยละ 5.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ซึ่งเป็นอัตรา GDP ที่สูงกว่าตลอดทั้งปี 2567 ถึงร้อยละ 0.9 โดยผลผลิตมวลรวมในอุตสาหกรรมปฐมภูมิ (การเกษตร) มีมูลค่า 3,443 ล้านหยวน ขยายตัวร้อยละ 2.9 อุตสาหกรรมทุติยภูมิ (อุตสาหกรรม) มีมูลค่า 86,282 ล้านหยวน ขยายตัวร้อยละ 7.4 และอุตสาหกรรมตติยภูมิ (ภาคบริการ) 233,43 ล้านหยวน ขยายตัวร้อยละ 4.7 ตัวเลขดังกล่าวสะท้อนเสถียรภาพทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งของนคร ซีอาน ซึ่งเป็นผลความสำเร็จจากการดำเนินนโยบายสำคัญจากการประชุมคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีนชุดที่ 20 และตามแนวทางของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ที่มุ่งเน้นการปฏิรูปที่สำคัญและขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่อความก้าวหน้าที่ยั่งยืน ทำให้ภาพรวมเศรษฐกิจของนครซีอานในไตรมาสแรกปี 2568 เติบโตในทุกภาคส่วน และคาดว่าจะสร้างโมเมนตัมเชิงบวกให้กับเศรษฐกิจของนครซีอานตลอดทั้งปี

 

  1. ภาคเกษตรกรรมเติบโตอย่างต่อเนื่อง ภาคเกษตรกรรมของซีอานแสดงสัญญาณการเติบโตด้วยมูลค่าเพิ่มที่ 4,330 ล้านหยวน ขยายตัวร้อยละ 3.0 เทียบจากปีก่อนหน้า โดยผลผลิตของภาคการเกษตรมีปริมาณเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ผลผลิตผักขยายตัวร้อยละ 4.1 และผลผลิตผลไม้ขยายตัวร้อยละ 0.1 ในภาคปศุสัตว์ ผลผลิตเนื้อโคเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.9 และผลผลิตเนื้อแกะเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.3 สะท้อนศักยภาพการผลิตอาหารที่ตอบสนองความต้องการภายในเมืองได้อย่างมีประสิทธิภาพ
  1. ภาคอุตสาหกรรมขยายตัวอย่างน่าพึงพอใจ ภาคอุตสาหกรรมของซีอานมีการเติบโตอย่างโดดเด่นด้วยมูลค่าเพิ่มทีี่ขยายตัวถึงร้อยละ 13.3 เมื่อเทียบปีก่อนหน้า เป็นอัตราที่สูงกว่าปีก่อนหน้าถึงร้อยละ 6.8 โดยอุตสาหกรรมหลักใน 6 สาขา ประกอบด้วย ยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ อุปกรณ์และส่วนประกอบระดับไฮเอนด์ การบินและอวกาศ วัสดุใหม่ พลังงานใหม่ อาหารและยาชีวภาพ มีบทบาทสำคัญต่อการขับเคลื่ินการเติบโตในภาคอุตสาหกรรมของนครซีอาน โดยมีอัตราการเติบโตร้อยละ 18.0 ซึ่งเป็นอัตราที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยของภาคอุตสาหกรรมโดยรวมถึงร้อยละ 2.4 ในขณะเดียวกัน ภาคอุตสาหกรรมในส่วนอื่นก็ขยายตัวในทิศทางเดียวกัน อาทิ เครื่องจักรและอุปกรณ์ไฟฟ้าขยายตัวร้อยละ 50.5 การผลิตรถยนต์ขยายตัวร้อยละ 37.5 อุปกรณ์และส่วนประกอบขยายตัวร้อยละ 11.9 ภาคการผลิตรถไฟ เรือ ยานอวกาศ และอุปกรณ์การคมนาคมอื่นๆ ขยายตัวร้อยละ 10.4 อุตสาหกรรมการผลิตยาขยายตัวร้อยละ 7.7 นอกจากนี้ อุตสาหกรรมอากาศยานไร้คนขับหรือยูเอวี (Unmanned Aerial Vehicle: UAV) ขยายตัวเพิ่มขึ้นถึง 7.7 เท่า อุปกรณ์โทรคมนาคมเคลื่อนที่เติบโตเพิ่มขึ้น 4.9 เท่า อุปกรณ์การพิมพ์ 3 มิติขยายตัว 4.1 เท่า อุปกรณ์พลังงานแสงอาทิตย์ขยายตัวร้อยละ 78.2 การผลิตแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 48.9 รถยนต์พลังงานสะอาดขยายตัวร้อยละ 47.3 และสถานีชาร์จพลังงานขยายตัวร้อยละ 23.4
  1. ภาคบริการขยายตัวได้ดี ในไตรมาสแรกของปี 2568 ภาคบริการของนครซีอานขยายตัวร้อยละ 4.7 เมื่อเทียบกับปีก่อน โดยรายได้จากภาคบริการคิดเป็นมูลค่า 68,867 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.8 เมื่อเทียบกับปีก่อน เป็นอัตราที่สูงกว่าตลอด ปี 2567 รายได้ของบริษัทเอกชนในภาคบริการมีมูลค่า 43,045 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 13.5 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า และรายได้จากผลประกอบการของภาคบริการและธุรกิจให้เช่า ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 21.6 โดยเป็นการขยายตัวของภาคบริการด้านวัฒนธรรม กีฬา และสันทนาการ ที่ร้อยละ 16.4 ด้านการวิจัยทางวิทยาศาสตร์และบริการทางเทคนิค ร้อยละ 12.9 ด้านการสื่อสารและการขนส่ง คลังสินค้า และบริการไปรษณีย์ ร้อยละ 10.2 และด้านการสื่อสาร ซอฟต์แวร์ และบริการไอที ร้อยละ 3.9
  1. โครงสร้างการลงทุนปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง การลงทุนในสินทรัพย์ถาวรของนครซีอาน (ไม่รวมครัวเรือน) เติบโตร้อยละ 1.3 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ซึ่งเป็นอัตราที่สูงกว่าตลอดปี 2567 ร้อยละ 1.1 การลงทุนในภาคอุตสาหกรรมเติบโตร้อยละ 20.3 การลงทุน ในอสังหาริมทรัพย์ขยายตัวร้อยละ 5.8 การลงทุนของภาคเอกชนเติบโตร้อยละ 17.8 อย่างไรก็ดี การลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานหดตัวลงร้อยละ 46.6
  1. การบริโภคฟื้นตัวดีขึ้น มูลค่าการขายปลีกสินค้าอุปโภคบริโภคของซีอานในไตรมาสแรกของปี 2568 อยู่ที่ 141,273 ล้านหยวน เติบโตร้อยละ 3.2 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า เป็นอัตราที่สูงกว่าตลอดทั้งปี 2567 ร้อยละ 1.0 การจำหน่ายสินค้าอาหาร ธัญพืช น้ำมันพืช ขยายตัวร้อยละ 9.6 สินค้าประเภทของใช้ประจำวันขยายตัวร้อยละ 7.8 หนังสือและนิตยสารเติบโตร้อยละ 25.3 ทั้งนี้ นโยบาย “เก่าแลกใหม่”[1] ของภาครัฐแสดงผลลัพธ์ในการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างชัดเจน ยอดจำหน่ายรถยนต์ไฟฟ้าเติบโตร้อยละ 20.8 เครื่องใช้ไฟฟ้าและเครื่องเสียงเติบโตร้อยละ 29.0 อุปกรณ์สื่อสารเติบโตร้อยละ 80.8 การค้าปลีกออนไลน์เติบโตร้อยละ 4.3
  1. การนำเข้า-ส่งออกเติบโตอย่างมั่นคง มูลค่าการค้าระหว่างประเทศ (นำเข้า – ส่งออก) ของนครซีอานอยู่ที่ 1,045,780 ล้านหยวน เติบโตร้อยละ 4.2 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า โดยการส่งออกมีมูลค่า 722,360 ล้านหยวน ขยายตัวร้อยละ 10.5 ในขณะที่ การนำเข้ามีมูลค่า 323,430 ล้านหยวน ลดลงร้อยละ 7.5 โดยการค้าระหว่างประเทศกับคู่ค้าสำคัญ 5 อันแรกได้แก่ ไต้หวันขยายตัวร้อยละ 63 เกาหลีใต้ขยายตัวร้อยละ 51.6 ฮ่องกงขยายตัวร้อยละ 45.4 อาเซียนขยายตัวร้อยละ 32.7 และ EU ขยายตัวร้อยละ 22.7 กลุ่มสินค้าส่งออกสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ ผลิตภัณฑ์เครื่องจักรกลและไฟฟ้า เติบโตร้อยละ 9.2 รถยนต์ไฟฟ้าส่งออก ขยายตัว 1.1 เท่า ทั้งนี้ มีการขนส่งสินค้าผ่านขบวนรถไฟจีน-ยุโรปแล้ว 1,519 เที่ยว เพิ่มขึ้นร้อยละ 45.1 โดยขนส่งสินค้ากว่า 1.68 ล้านตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 48.3
  1. การคมนาคมขนส่งคึกคักต่อเนื่อง ซีอานมีปริมาณผู้โดยสารในไตรมาสแรกของปี 2568 จำนวน 43.24 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.5 โดยเป็นผู้โดยสารทางรถยนต์ 12.57 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.0 ผู้โดยสารรถไฟ 19.09 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.0 ผู้โดยสารทางอากาศ 11.58 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.0 ด้านการขนส่งสินค้ามีปริมาณอยู่ที่ 66.60 ล้านตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.7 โดยเป็นการขนส่งสินค้าทางรถยนต์ที่ 64.86 ล้านตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.1 การขนส่งสินค้าทางรถไฟอยู่ที่ 1.6675 ล้านตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 39.0 การขนส่งสินค้าทางอากาศอยู่ที่ 736,000 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.6 นอกจากนี้ ธุรกิจจัดส่งสินค้าและไปรษณีย์มีปริมาณการขนส่งที่ 468.36 ล้านชิ้น เพิ่มขึ้นร้อยละ 40.7 โดยเป็นธุรกิจจัดส่งแบบเร่งด่วน 420.34 ล้านชิ้น เพิ่มขึ้นร้อยละ 49.3 ทั้งนี้ รายได้ของภาคธุรกิจจัดส่งสินค้าและไปรษณีย์อยู่ที่ 4.995 พันล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 15.2 ในจำนวนนี้ เป็นรายได้ของภาคธุรกิจจัดส่งแบบเร่งด่วน 3.405 พันล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 21.9
  1. ภาคการเงินมีเสถียรภาพ ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2568 ยอดเงินฝากสกุลเงินท้องถิ่นและต่างประเทศของสถาบันการเงินในนครซีอานอยู่ที่ 3.82 ล้านล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.9 จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยเพิ่มขึ้น 127,574 พันล้านหยวนจากช่วงต้นปี ทั้งนี้ ยอดเงินกู้ทั้งในสกุลเงินหยวนและสกุลเงินต่างประเทศของสถาบันการเงิน อยู่ที่ 3.97 ล้านล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.6 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเพิ่มขึ้น 141,139 พันล้านหยวนจากช่วงต้นปี ยอดเงินกู้สกุลเงินหยวนระยะกลางและระยะยาวในภาคการผลิต เพิ่มขึ้นร้อยละ 25.0 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ทั้งนี้ ในไตรมาสแรกของปี 2568 นครซีอานมีรายได้งบประมาณสาธารณะจำนวน 27,657 พันล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.0 จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า

 

  1. ดัชนีราคาผู้บริโภค ในไตรมาสแรกของปี 2568 ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.7 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า โดยราคาค่าอาหาร ยาสูบ และแอลกอฮอล์เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.5 ราคาค่าเสื้อผ้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.3 ราคาอสังหาริมทรัพย์เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.3 ในขณะที่ ราคาค่าสินค้าและบริการในครัวเรือนลดลงร้อยละ 0.8 ราคาค่าขนส่งและการสื่อสารลดลงร้อยละ 1.3 ราคาค่าการศึกษา กิจกรรมทางวัฒนธรรม และความบันเทิง เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.6 ราคาค่าดูแลสุขภาพคงที่เมื่อเทียบเป็นรายปี และราคาสินค้าและบริการอื่นๆ เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.0  ทั้งนี้ ในเดือนมีนาคม 2568 ดัชนีราคาผู้บริโภคของนครซีอานขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.9 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า และลดลงร้อยละ 0.3 จากเดือนก่อนหน้า

 

ข้อเสนอแนะ สคต. ณ นครเฉิงตู

ความสำเร็จในการพัฒนาเศรษฐกิจของนครซีอานถือเป็นตัวอย่างที่น่าสนใจของการดำเนินนโยบายรัฐบาลที่มีประสิทธิภาพ สะท้อนการบูรณาการโอกาสทางเศรษฐกิจ โดยใช้ประโยชน์จากศักยภาพของพื้นที่ยุทธศาสตร์ของนครซีอานภายใต้กรอบยุทธศาสตร์โครงการ Belt and Road Initiative (BRI) ที่ช่วยสร้างเครือข่ายการค้าระหว่างประเทศอย่างเป็นระบบ ส่งผลให้ภาคธุรกิจของนครซีอานและมณฑลส่านซีมีบทบาทสำคัญในห่วงโซ่เศรษฐกิจระหว่างประเทศ

นครซีอานเมืองเอกของมณฑลส่านซี เป็นตลาดที่มีศักยภาพในการขยายการส่งออกสินค้าไทย เนื่องจากมีการเติบโตทางเศรษฐกิจที่โดดเด่นและมีการขยายตัวของการค้าระหว่างประเทศ การค้าระหว่างมณฑลส่านซีและไทยในไตรมาสแรกของปี 2568 มีมูลค่ารวม 954.01 ล้านหยวน ขยายตัวร้อยละ 25.54 โดยมณฑลส่านซีนำเข้าจากไทย 196.83 ล้านหยวน คิดเป็นอัตราขยายตัวสูงถึงร้อยละ 88.46 มณฑลส่านซีเป็นตลาดเมืองรองศักยภาพในพื้นที่จีนตะวันตก เป็นโอกาสให้ผู้ประกอบการไทยสามารถขยายตลาดไปยังภูมิภาคนี้ โดยสินค้าไทยที่มีศักยภาพ ได้แก่ สินค้าอาหารและเกษตร ผลิตภัณฑ์อาหารแปรรูป ประเภทผลไม้แปรรูป อาหารแช่แข็ง เป็นต้น ทั้งนี้ ในปัจจุบันผลไม้ไทยได้รับความนิยมจากผู้บริโภคชาวนครซีอานเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะทุเรียนไทยพันธุ์หมอนทองและก้านยาว รวมถึงลำไย และมังคุดไทยก็เริ่มมีความต้องการเพิ่มสูงขึ้นในพื้นที่นี้

นอกจากโอกาสทางในการขยายตลาดส่งออกสินค้าไทยมายังนครซีอานและมณฑลส่านซีแล้ว ผู้ประกอบการไทยยังสามารถพิจารณาใช้ประโยชน์จากเครือข่ายเส้นทางการขนส่งที่มีประสิทธิภาพของนครซีอาน ด้วยตำแหน่งทางภูมิศาสตร์ที่ได้เปรียบ ซึ่งตั้งอยู่ ณ จุดกึ่งกลางของประเทศจีนและเปรียบเสมือนหัวใจของเส้นทางสายไหมใหม่ นครซีอานได้รับการส่งเสริมจากรัฐบาลจีนอย่างต่อเนื่องในการพัฒนาโครงข่ายรถไฟความเร็วสูงและระบบโลจิสติกส์จนก้าวขึ้นเป็นศูนย์กลางการคมนาคมที่ทันสมัยแห่งภูมิภาคตะวันตกเฉียงเหนือของจีน และเป็นศูนย์กลางรถไฟจีน-ยุโรป (China-Europe Railway Express) ที่มีเครือข่ายรถไฟขนส่งสินค้าครอบคลุมกว่า 40 ประเทศในยุโรปและเอเชียกลาง จากข้อมูลปี 2567 ขบวนรถไฟจากซีอานมุ่งสู่ยุโรปจำนวนกว่า 3,800 เที่ยว คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 36 ของการขนส่งทางรถไฟขนส่งสินค้าระหว่างจีน-ยุโรปทั้งหมด ศักยภาพการขนส่งระดับนานาชาติของนครซีอานถือเป็นประตูสำคัญที่เชื่อมการขนส่งจากประเทศไทยสู่ทวีปยุโรปได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงเป็นเส้นทางขนส่งสินค้าทางเลือกสำหรับผู้ประกอบการที่ต้องการขนส่งสินค้าทางบก หรือในรูปแบบ Multimodal จากประเทศไทยผ่านเข้าสู่ประเทศจีนไปยังยุโรป เป็นโอกาสและทางเลือกใหม่สำหรับการขนส่งและกระจายสินค้าไทยสู่ตลาดจีนและยุโรปอย่างมีประสิทธิภาพต่อไป

 

————————————————–

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครเฉิงตู

พฤษภาคม 2568

แหล่งข้อมูล :

https://mp.weixin.qq.com/s/NGPEfEZrYAop5OX4hEt8bw

https://index1520.com/en/news/v-2024-godu-mezhdu-kitaem-i-evropoy-budet-kursirovat-bolee-19-000-gruzovykh-poezdov-sredi-kotorykh-l/

https://www.seetaoe.com/details/244333.html

Xi ‘an Statistics

Global Trade Atlas

[1] นโยบายเก่าแลกใหม่ เป็นการสนับสนุนจากรัฐบาลจีนเพื่อการปรับปรุงอุปกรณ์/เครื่องจักรกล และการแลกเปลี่ยนสินค้าอุปโภคบริโภค นโยบายนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อกระตุ้นอุปสงค์ในประเทศ เป็นการจูงใจให้ผู้บริโภคขายผลิตภัณฑ์เก่าเพื่อซื้อผลิตภัณฑ์ใหม่ด้วยเงินอุดหนุนจากรัฐ

thThai