สำนักงานสถิติแห่งชาติเนเธอร์แลนด์ (CBS) รายงานว่า เศรษฐกิจของเนเธอร์แลนด์ขยายตัวเพียง 0.1% ในไตรมาสแรกของปี 2025 เมื่อเทียบกับไตรมาสสุดท้ายของปี 2024 มีการใช้จ่ายภาครัฐเป็นแรงขับเคลื่อนหลักของการเติบโตเล็กน้อยนี้ โดยมีการลงทุนที่เพิ่มขึ้นในภาคบริการ โดยเฉพาะด้านการดูแลสุขภาพและจำนวนข้าราชการที่เพิ่มขึ้น ซึ่งมีส่วนช่วยสนับสนุนกิจกรรมทางเศรษฐกิจให้ยังคงเติบโตแม้ในระดับที่จำกัดก็ตาม

การเติบโตเพียงเล็กน้อยในไตรมาสแรกของปีนี้ถือเป็นไตรมาสที่สี่ติดต่อกันที่การเติบโตทางเศรษฐกิจของเนเธอร์แลนด์ชะลอลง โดยในช่วงต้นปี ภาคครัวเรือนมีการใช้จ่ายที่ลดลง แม้แต่ในหมวดสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็น เช่น อาหาร นอกจากนี้ ภาคธุรกิจต่างๆ ก็มีการลดการลงทุน โดยเฉพาะการจัดซื้อยานพาหนะสำหรับการขนส่งสินค้า และมูลค่าการส่งออกก็ปรับตัวลดลงเช่นกัน อย่างไรก็ตาม CBS ระบุว่าข้อมูลดังกล่าวยังเป็นเพียงการประมาณการเบื้องต้น และจะมีการจัดทำประมาณการครั้งที่สองโดยอิงจากข้อมูลที่ละเอียดมากขึ้นในช่วงปลายเดือนมิถุนายน

CBS ยังรายงานเพิ่มเติมว่า จำนวนตำแหน่งงานว่างลดลง 7,000 ตำแหน่งในช่วงสามเดือนที่ผ่านมา ขณะที่จำนวนผู้ว่างงานเพิ่มขึ้น 16,000 คน โดยตำแหน่งงานว่างส่วนใหญ่ที่ลดลงอยู่ในภาคอุตสาหกรรมและภาคการค้าปลีก จำนวนตำแหน่งงานทั้งหมดในระบบเศรษฐกิจลดลงเล็กน้อย ถือเป็นการสิ้นสุดของแนวโน้มการขยายตัวของการจ้างงานที่ดำเนินมาอย่างต่อเนื่องตลอดกว่า 4 ปีที่ผ่านมา ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผลมาจากการลดลงของจำนวนงานและการจ้างงานสำหรับผู้ประกอบอาชีพอิสระ ธุรกิจต่างๆ มีแนวโน้มลดการจ้างแรงงานอิสระหรือฟรีแลนซ์น้อยลง เนื่องจากรัฐบาลเนเธอร์แลนด์ได้เริ่มบังคับใช้กฎระเบียบใหม่ที่มุ่งเน้นการควบคุมและปราบปรามผู้ประกอบอาชีพอิสระที่มีการหลอกหลวงหรือปลอมแปลงเอกสาร หรือการจ้างแรงงานอิสระในลักษณะที่อาจหลีกเลี่ยงภาระตามกฎหมายแรงงาน

หนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการลดลงของตำแหน่งงาน คือการที่ภาคธุรกิจมีแนวโน้มลดการจ้างแรงงานอิสระหรือฟรีแลนซ์ เนื่องจากรัฐบาลเริ่มบังคับใช้กฎระเบียบใหม่ที่มุ่งควบคุมการจ้างแรงงานอิสระในลักษณะที่อาจหลีกเลี่ยงภาระตามกฎหมายแรงงาน ปัจจุบัน เนเธอร์แลนด์มีอัตราการว่างงาน 3.8% เพิ่มขึ้น 0.1%  เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า

 

บทวิเคราะห์และความเห็น สคต.

จากภาวะเศรษฐกิจของเนเธอร์แลนด์ที่ขยายตัวเพียงเล็กน้อยในไตรมาสแรกของปี 2025 และการชะลอตัวของเศรษฐกิจเป็นเวลา 4 ไตรมาสติดต่อกัน สะท้อนให้เห็นถึงการฟื้นตัวที่ยังมีความเปราะบางของหนึ่งในตลาดส่งออกหลักของไทยในสหภาพยุโรป โดยเฉพาะเมื่อการบริโภคภาคครัวเรือนยังคงชะลอตัว แม้แต่ในกลุ่มสินค้าที่มีความจำเป็น เช่น อาหารและของใช้พื้นฐาน ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อความต้องการนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคจากไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แม้ภาครัฐจะมีบทบาทในการกระตุ้นและพยุงเศรษฐกิจผ่านการลงทุนและการจ้างงาน แต่การหดตัวของการลงทุนภาคเอกชนและการส่งออกของเนเธอร์แลนด์สะท้อนภาวะความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งอาจส่งผลกระทบทางอ้อมต่อสินค้าทุนและวัตถุดิบจากไทยที่เกี่ยวข้องกับห่วงโซ่อุปทาน

ขณะเดียวกัน สัญญาณอ่อนแรงของตลาดแรงงาน โดยเฉพาะในภาคอุตสาหกรรมและภาคการค้าปลีก อาจเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการจัดจำหน่ายสินค้า นำไปสู่การเลือกซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์หรือร้านค้าที่จำหน่ายสินค้าราคาถูกหรือร้านค้าต้นทุนต่ำมากขึ้น ท่ามกลางความท้าทายเหล่านี้ ผู้ส่งออกไทยควรมองหาแนวทางและกลยุทธ์ในการเพิ่มศักยภาพและความน่าสนใจของสินค้าไทย พัฒนาสินค้าให้สอดรับกับพฤติกรรมผู้บริโภคที่ให้ความสำคัญกับ “ความคุ้มค่าและฟังก์ชันที่ตอบโจทย์” ภายใต้ข้อจำกัดด้านรายได้ การสร้างความแตกต่างด้วยนวัตกรรม คุณภาพ หรือคุณสมบัติด้านสุขภาพ จะช่วยรักษาความได้เปรียบและเสริมศักยภาพการแข่งขันในตลาดเนเธอร์แลนด์ได้อย่างต่อเนื่องในระยะยาว

 

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงเฮก

thThai