กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เปิดเผยรายงานแนวโน้มเศรษฐกิจโลก (World Economic Outlook) ฉบับเดือนเมษายน 2568 ซึ่งระบุว่า อินเดียจะก้าวขึ้นมาเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 4 ของโลกในปี 2568 แซงหน้าญี่ปุ่นได้เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ ด้วยผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) คิดเป็นมูลค่า 4,187 พันล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งสูงกว่าญี่ปุ่นที่มีมูลค่าประมาณ 4,186 พันล้านเหรียญสหรัฐ
ข้อมูลการจัดอันดับประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุด 10 อันดับแรกของโลก ปี 2568
ประเทศ | มูลค่า GDP (พันล้านเหรียญสหรัฐ) |
สหรัฐอเมริกา | 30,507.217 |
จีน | 19,231.705 |
เยอรมัน | 4,744.804 |
อินเดีย | 4,187.017 |
ญี่ปุ่น | 4,186.431 |
สหราชอาณาจักร | 3,839.18 |
ฝรั่งเศส | 3,211.292 |
อิตาลี | 2,422.855 |
แคนาดา | 2,225.341 |
บราซิล | 2,125.958 |
แหล่งข้อมูล: IMF World Economic Outlook April 2025
จากรายงานยังระบุว่าเศรษฐกิจของอินเดียยังคงเติบโตในอัตราที่สูงกว่าประเทศเศรษฐกิจหลักอื่น ๆ โดยคาดว่าอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของอินเดียจะเติบโตอยู่ที่ร้อยละ 6.2 ในปี 2568 แม้ว่าจะเป็นการปรับลดการคาดการณ์ลงจากเดิมที่ประเมินไว้ร้อยละ 6.5 เมื่อเดือนมกราคม 2568 อันเนื่องมาจากความไม่แน่นอนในเศรษฐกิจโลกและความตึงเครียดทางการค้า โดย IMF ยังได้คาดการณ์ว่าอินเดียจะมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจอยู่ที่ ร้อยละ 6.3 และร้อยละ 6.2 ในปี 2569 และปี 2570 ตามลำดับ
สำหรับกลไกสำคัญที่ขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจของอินเดียเกิดการเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง ได้แก่ การบริโภคภายในประเทศ โดยเฉพาะในพื้นที่ชนบท สัดส่วนประชากรวัยทำงานที่มีจำนวนมาก และการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานอย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้ IMF ยังคาดว่าเศรษฐกิจของอินเดียจะเติบโตถึง 5,580 พันล้านเหรียญสหรัฐ ภายในปี 2570 และกลายเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลก ภายในปี 2571 แซงหน้าเยอรมนี ซึ่งขณะนี้ประสบภาวะชะลอตัวจากผลกระทบของความตึงเครียดทางการค้าในยุโรป
บทสรุปและข้อเสนอแนะ
จากสถานการณ์ของเศรษฐกิจโลกในภาพรวมที่ยังคงมีความไม่แน่นอน IMF ได้คาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ ดังนี้
สหรัฐอเมริกา: แม้ยังเป็นเศรษฐกิจอันดับหนึ่ง แต่คาดการณ์ว่าจะชะลอตัวลง เหลือการเติบโตเพียงร้อยละ 1.8 ในปี 2568 และร้อยละ 1.7 ในปี 2569
จีน: อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจจะชะลอตัวลงเหลือประมาณร้อยละ 4 เนื่องจากประสบความท้าทายจากภาคอสังหาริมทรัพย์และประชากรสูงวัย
ญี่ปุ่น: มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจร้อยละ 0.6 ในปี 2568
ยุโรป: เศรษฐกิจหลายประเทศในยุโรป เช่น เยอรมนี ฝรั่งเศส และสหราชอาณาจักร เติบโตช้า โดยเฉพาะเยอรมนีที่คาดว่าจะไม่มีการขยายตัวเลยในปี 2568
ซึ่งเหล่านี้เป็นสัญญาณที่สะท้อนให้เห็นถึงแนวโน้มการชะลอตัวทางเศรษฐกิจในประเทศพัฒนาแล้วหลายแห่ง
ขณะที่อินเดีย IMF ประเมินว่าเศรษฐกิจจะเติบโตถึงร้อยละ 6.2 – 6.3 ในปี 2568 – 2570 ซึ่งนับว่าสูงกว่าประเทศอื่นๆ และการที่อินเดียได้ก้าวขึ้นเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่อันดับ 4 ของโลกในปี 2568 ถือเป็นก้าวสำคัญในเส้นทางสู่การเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจระดับโลกในอนาคต
ข้อเสนอเชิงกลยุทธ์สำหรับผู้ประกอบการไทย: เตรียมความพร้อมรุกตลาดอินเดีย
เพื่อเตรียมความพร้อมในการเจาะตลาดอินเดียซึ่งกำลังก้าวขึ้นมาเป็นหนึ่งในตลาดเศรษฐกิจที่มีความสำคัญอย่างยิ่งบนเวทีโลก ผู้ประกอบการไทยอาจพิจารณาวางกลยุทธ์การขยายตลาดโดยใช้แนวทางต่อไปนี้:
- จับตากลุ่มผู้บริโภคยุคใหม่
อินเดียมีกลุ่มชนชั้นกลางและคนรุ่นใหม่ที่เพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยมีพฤติกรรมบริโภคที่ใกล้เคียงกับผู้บริโภคในเขตเมืองของไทย สินค้าไทยที่มีศักยภาพสูงในตลาดนี้ ได้แก่: สินค้าอาหารและเครื่องดื่ม เครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ สินค้าไลฟ์สไตล์ เช่น แฟชั่น ของตกแต่งบ้าน และสินค้าทางวัฒนธรรม
- ขยายสู่เมืองรอง ร่วมมือกับพันธมิตรท้องถิ่น
การเข้าถึงตลาดอินเดียไม่ควรจำกัดอยู่เฉพาะในมหานครหลักอย่างนิวเดลี มุมไบ หรือเจนไนเท่านั้น เมืองรองที่กำลังเติบโตเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจใหม่ก็มีความน่าสนใจมากเช่นกัน อาทิ เมืองโคอิมบาตอร์ (Coimbatore) เมืองวิศาขปัตนัม (Visakhapatnam) เมืองโคชิ (Kochi) เมืองอาห์เมดาบัด (Ahmedabad) เมืองปูเน่ (Pune) เมืองลักเนาว์ (Lucknow)
การจับมือกับพันธมิตรทางธุรกิจในท้องถิ่นจะช่วยลดความเสี่ยงจากความซับซ้อนด้านกฎระเบียบการค้า และเพิ่มโอกาสเข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคได้อย่างมีประสิทธิภาพ
- ใช้ประโยชน์จากข้อตกลงการค้าเสรี
อินเดียเป็นคู่ค้าสำคัญของไทยภายใต้กรอบความร่วมมือระดับภูมิภาค ผู้ประกอบการควรใช้ประโยชน์จากความตกลงทางการค้าต่อไปนี้:
– ความตกลงการค้าเสรีไทย–อินเดีย (Thai-India FTA)
– ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน–อินเดีย (ASEAN–India FTA)
– กรอบความร่วมมือ BIMSTEC
- ศึกษานโยบายเศรษฐกิจของอินเดีย
อินเดียมีนโยบายเศรษฐกิจใหม่ที่ส่งเสริมการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ได้แก่:
โครงการ “Make in India” สนับสนุนการผลิตภายในประเทศ
โครงการ “Digital India” สนับสนุนเศรษฐกิจดิจิทัลและการเข้าถึงเทคโนโลยี
- ความเข้าใจวัฒนธรรมท้องถิ่นและสร้างแบรนด์ให้เข้าถึงใจผู้บริโภค
ความสำเร็จในตลาดอินเดียไม่ได้ขึ้นอยู่กับคุณภาพสินค้าเพียงอย่างเดียว แต่รวมถึงความเข้าใจในบริบททางวัฒนธรรม เช่น ค่านิยม ศาสนา พฤติกรรมการซื้อ และภาพลักษณ์ของแบรนด์ ผู้ประกอบการอาจพิจารณา:
– ลงทุนในการสร้างแบรนด์ที่ผสมผสานอัตลักษณ์ของสินค้าไทยกับความเป็นมิตรต่อวัฒนธรรมอินเดีย
– ใช้ช่องทางออนไลน์และอินฟลูเอนเซอร์ท้องถิ่นเพื่อสร้างการรับรู้และความเชื่อมั่น
แหล่งข้อมูล
- Big achievement! India to become 4th largest economy in 2025 overtaking Japan; will be 3rd largest by 2028, Times of India, May 5, 2025
- IMF’s April Outlook projects India to become fourth largest in 2025, The Hindu, May 6, 2025
- India’s GDP is projected to marginally peak past Japan, which is presently the fourth largest economy, Mint, May 6, 2025
- India To Surpass Japan As 4th Largest Economy In 2025, IMF Projects, News18.com, May 6, 2025
- World Economic Outlook April 2025, IMF, www.imf.org