ขาดแคลนเศษวัสดุเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าจากชีวมวล

ปริมาณไม้ซุงที่ใช้ในการผลิตเศษไม้ลดลงเหลือครึ่งหนึ่งในช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมา ส่งผลให้ราคาจัดหาพุ่งสูงขึ้นประมาณร้อยละ 30 ถึง 50
การผลิตไฟฟ้าจากชีวมวล คือ การนำความร้อนที่ได้จากการเผาเศษไม้จากการตัดแต่งป่า ขยะ และน้ำมันใช้แล้ว มาใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้า จากข้อมูลของสำนักงานทรัพยากรและพลังงานประเทศญี่ปุ่น โรงไฟฟ้าชีวมวลไม้ที่ใช้เชื้อเพลิงจากไม้มีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา โดย ณ เดือนกันยายนปี 2567 มีมากกว่า 300 แห่งทั่วประเทศ เนื่องจากสามารถดำเนินการได้โดยไม่ขึ้นกับสภาพอากาศ ต่างจากพลังงานลมหรือแสงอาทิตย์ ทำให้บริษัทขนาดใหญ่จำนวนมากเริ่มเข้าสู่ตลาดนี้อย่างต่อเนื่องขาดแคลนเศษวัสดุเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าจากชีวมวล
สิ่งที่กำลังส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานของโรงไฟฟ้าเหล่านี้คือ ปัญหาการขาดแคลนเศษไม้ที่จะนำมาเป็นเชื้อเพลิง และราคาที่พุ่งสูงขึ้น จากการสำรวจโดยสมาคมพลังงานชีวมวลไม้แห่งประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเก็บข้อมูลจากโรงไฟฟ้าชีวมวลทั่วประเทศ พบว่า ณ เดือนกันยายน 2567 ราคาจัดหาเศษไม้สำหรับใช้เป็นเชื้อเพลิง (ในสภาพไม่มีความชื้น) อยู่ที่ 23,042 เยน (ประมาณ 5,100 บาท) ต่อหนึ่งตัน เพิ่มขึ้น 16% เมื่อเทียบกับเดือนมิถุนายน 2560 โรงไฟฟ้าชีวมวลในทุกพื้นที่กำลังประสบปัญหาในการจัดหาไม้ซุงอย่างต่อเนื่อง

สาเหตุของปัญหานี้คือ ภาวะซบเซาของตลาดที่อยู่อาศัย ความต้องการบ้านใหม่ลดลง ทำให้มีการตัดไม้เพื่อสร้างบ้านไม้ลดลงไปด้วย ไม้ที่ถูกตัดนั้นจะถูกคัดเลือกตามขนาดและตำแหน่งของลำต้นเพื่อนำไปใช้ทำวัสดุก่อสร้าง เช่น ไม้แปรรูปหรือไม้อัด ส่วนที่เหลือจากการตัดจะกลายเป็นเศษไม้ที่ใช้เป็นเชื้อเพลิง อย่างไรก็ตาม เนื่องจากจำนวนเครื่องจักรสำหรับตัดไม้ลดลง จึงทำให้เศษที่เหลือจากการตัดไม้มีปริมาณน้อยลงตามไปด้วย
โรงไฟฟ้าที่ไม่สามารถจัดหาเศษไม้ภายในประเทศได้ ต้องหันไปพึ่งเศษไม้นำเข้า ซึ่งมีราคาสูงเนื่องจากค่าเงินเยนอ่อน ส่งผลให้ต้นทุนเพิ่มขึ้นอย่างมาก ระหว่างเดือนพฤศจิกายน 2567 ถึงกุมภาพันธ์ 2568 มีโรงไฟฟ้า 5 แห่งต้องหยุดดำเนินการ

ผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย
ประเทศไทยเป็นประเทศผู้ผลิตเศษไม้ จากสถิติการค้าของกระทรวงการคลังญี่ปุ่น พบว่า ในปี 2567 ญี่ปุ่นนำเข้าเศษไม้ (HS4401.22-000 ที่ไม่ใช่ไม้สน) จากไทยจำนวน 1.2 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่า 30,508 ล้านเยน (ประมาณ 6,900 ล้านบาท) ขณะที่ในปี 2566 นำเข้าอยู่ที่ 1.1 ล้านตัน มูลค่า 27,924 ล้านเยน (ประมาณ 6,300 ล้านบาท) ปริมาณการนำเข้าที่เพิ่มขึ้นสะท้อนให้เห็นถึงการลดลงของเศษไม้ที่ผลิตในประเทศญี่ปุ่นตามที่กล่าวไว้ในบทความนี้
สำหรับการนำเข้าเชื้อเพลิงชีวมวลประเภทเม็ดไม้อัดแท่ง (wood pellets) จากไทย ญี่ปุ่นนำเข้าน้อยกว่าเศษไม้ โดยในปี 2566 นำเข้า 7,808 ตัน คิดเป็นมูลค่า 226 ล้านเยน (ประมาณ 50 ล้านบาท) และในปี 2567 เพิ่มขึ้นเป็น 35,077 ตัน คิดเป็นมูลค่า 1,147 ล้านเยน (ประมาณ 259 ล้านบาท) จะเห็นได้ว่ามีการเติบโตอย่างรวดเร็วภายในหนึ่งปี อย่างไรก็ตาม ยังไม่สามารถระบุได้ชัดเจนว่าการขยายตัวนี้เป็นผลจากความต้องการเชื้อเพลิงสำหรับโรงไฟฟ้าชีวมวลที่เพิ่มขึ้นหรือไม่

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น
แปลและเรียบเรียงจาก
หนังสือพิมพ์ Nikkei Shimbun ฉบับวันที่ 9 เมษายน 2568

 

thThai