เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2568 ประธานาธิบดีโดนัลด์ เจ ทรัมป์ ได้ลงนามในประกาศ (Proclamation) ของทำเนียบขาว ให้วันที่ 4 ถึงวันที่ 10 พฤษภาคม 2568 เป็น “สัปดาห์ธุรกิจขนาดย่อมแห่งชาติของสหรัฐอเมริกา” (National Small Business Week) โดยอาศัยอำนาจรัฐธรรมนูญ และกฎหมายแห่งสหรัฐอเมริกาในการมอบหมายอำนาจให้ประธานาธิบดี และได้เรียกร้องให้ชาวอเมริกันทุกคนร่วมกันตระหนักถึงบทบาทความสำคัญของผู้ประกอบการธุรกิจ และเจ้าของธุรกิจขนาดย่อมซึ่งเป็นพลังขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจที่สำคัญ และเป็นพลังผลักดันในการเกิดนวัตกรรมการคิดค้นผลิตภัณฑ์ที่ทำให้สหรัฐอเมริกามีความแข็งแกร่ง และมีความสามารถในการแข่งขัน และความมั่นคง และในสัปดาห์ธุรกิจขนาดย่อมแห่งชาติของสหรัฐอเมริกา ขอให้ชาวอเมริกันร่วมกันเฉลิมฉลองความคิดสร้างสรรค์ และความมานะอุตสาหะในการทำงานอย่างหนักของผู้ประกอบการธุรกิจขนาดย่อม
ในประเทศสหรัฐฯ มีจำนวนธุรกิจขนาดย่อมร่วม 33 ล้านราย และมีการจ้างงานชาวอเมริกันเป็นจำนวน 61.7 ล้านคน ซึ่งเกือบครึ่งหนึ่งเป็นแรงงานในภาคเอกชน และเป็นการสร้างงานใหม่เกือบ สองในสามของตลาดแรงงานทั้งหมดในประเทศ
แต่ที่ผ่านมา เจ้าของธุรกิจขนาดย่อมต้องเผชิญกับความท้าทายที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนทั้งสถานการณ์เงินเฟ้อที่สูงเป็นประวัติการณ์ การใช้จ่ายงบประมาณอย่างประมาทของรัฐบาลกลาง และความยุ่งยากของกฎระเบียบทางราชการ อีกทั้งธุรกิจขนาดย่อมทั่วประเทศสหรัฐฯ ยังต้องแบกรับภาระบบการค้าระหว่างประเทศที่ไม่เป็นธรรมจากคู่แข่งขันจากต่างประเทศ ที่ทุ่มสินค้าราคาถูกเข้าไปจำหน่ายในตลาดสหรัฐฯ
ทั้งนี้ ประธานาธิบดีทรัมป์ได้ประกาศการใช้มาตรการภาษีเพื่อปกป้องธุรกิจของชาวอเมริกันจากการค้าที่ไม่เป็นธรรมในวันปลดปล่อยเสรีภาพ (Liberation Day) ของสหรัฐฯ ในวันที่ 2 เมษายน 2568 ที่ผ่านมา เพื่อเป็นการเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับห่วงโซ่อุปทานภายในประเทศ และเพื่อเป็นการให้ความสำคัญกับประชาชนชาวอเมริกันเป็นอันดับแรก อีกทั้งเป็นการให้ความช่วยเหลือภาคแรงงานและผู้ประกอบการชาวอเมริกัน และเป็นการเปิดศักราชใหม่แห่งโอกาสสำหรับธุรกิจขนาดย่อม ด้วยนโยบายที่สร้างขึ้นเพื่อเสริมสร้างการเติบโต โดยการให้ความสำคัญต่อตลาดแรงงาน และการสร้างงานเป็นอันดับแรก รวมทั้งการลดขั้นตอนความล่าช้าของระบบราชการ การลดหย่อนภาษี การส่งเสริมการค้า และการปฏิบัติการค้าต่างตอบแทนที่เป็นธรรม และเพื่อการต่อสู้สำหรับพลเมืองชาวอเมริกัน
โดยริเริ่มการผลิตในอเมริกา (Made in America Manufacturing Initiative) ที่กำลังสร้างงานที่มีรายได้ดี และเสริมสร้างความมั่นคงด้านห่วงโซ่อุปทานของสหรัฐฯ พร้อมทั้งการลดขั้นตอนกฎระเบียบที่เป็นข้ออุปสรรคต่อธุรกิจขนาดเล็กและผู้ผลิต คิดเป็นมูลค่าถึง 100 พันล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งเป็นการช่วยเสริมสร้างกำลังให้ภาคธุรกิจได้มุ่งมั่นเดินหน้าในการดำเนินธุรกิจต่อไปได้
ในตอนท้ายของคำประกาศ ประธานาธิบดีทรัมป์ ได้กล่าวยกย่อง ผู้ประกอบการธุรกิจซึ่งถือเป็นรากฐานความเจริญรุ่งเรืองของชาติ และเป็นเครื่องจักรที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของสหรัฐฯ และเป็นผู้มีความเชื่อมั่นในพลังแห่งความฝันแบบอเมริกันชน (American Dream) จากระดับท้องทุ่งนาไปจนถึงระดับโรงงาน และถึงความเป็นแนวหน้าด้านเทคโนโลยี
ธุรกิจขนาดย่อมของสหรัฐฯ คือ ภาพสะท้อนของจิตวิญญาณแบบอเมริกันชน การขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจ และสร้างโอกาสในการจ้างงานใหม่ สหรัฐฯ มีประวัติศาสตร์แห่งการคิดค้นประดิษฐ์ ความมุ่งมั่น การสนับสนุนธุรกิจขนาดย่อมอย่างต่อเนื่อง การสร้างครอบครัวชาวอเมริกันให้มีความแข็งแรง และการนำพาประเทศสหรัฐฯ และโลกใบนี้ เพื่อเข้าสู่ยุคทองสมัยใหม่
ข้อคิดเห็น
นับตั้งแต่การประกาศมาตรการภาษีเมื่อวันที่ 2 เมษายน 2568 ได้สร้างความสับสนต่อการเปลี่ยนแปลงระเบียบการค้าระหว่างประเทศ ตลอดจนเสียงคัดค้านจำนวนมากต่อผลกระทบทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ และเศรษฐกิจโลก รวมทั้งห่วงโซ่อุปทานโลก แต่ที่ผ่านมาจะเห็นว่า มาตรการภาษีดังกล่าวเป็นกลยุทธ์ของประธานาธิบดีทรัมป์ที่จะนำไปสู่โต๊ะเจรจาการค้าระหว่างประเทศเป็นรายประเทศ
จากมาตรการภาษีที่กำลังอยู่ในขั้นตอนเจรจา ธุรกิจขนาดย่อมของสหรัฐฯ ซึ่งถือเป็นกระดูกสันหลังที่สำคัญของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังคงมีความวิตกกังวลต่อผลกระทบด้านต้นทุนสินค้าที่มีราคาแพงขึ้น ความกดดันในการปรับขึ้นราคาสินค้า ซึ่งจะมีผลต่อกำลังซื้อของผู้บริโภคที่มีแนวโน้มหดตัว ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดโดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการสินค้าของเล่นในสหรัฐฯ ซึ่งร้อยละ 96 เป็นผู้ประกอบการธุรกิจขนาดย่อม และเกือบครึ่งหนึ่ง คาดจะได้รับผลกระทบอย่างหนักจากมาตรการภาษีนำเข้าสินค้าจากจีน ด้วยร้อยละ 80 ของกลุ่มสินค้าของเล่นเป็นการนำเข้าจากจีน รวมทั้งปัญหาการบริหารจัดการด้านห่วงโซ่อุปทาน หากการเจรจาการค้ากับจีนยังไม่บรรลุผล
ทั้งนี้ ห้าง Walmart ห้างค้าปลีกรายใหญ่ ได้ขานรับการให้ความช่วยเหลือ การสนับสนุนกลุ่มธุรกิจขนาดย่อมของสหรัฐฯ ให้ก้าวเติบโตไปด้วยกัน ด้วยการเปิดตัวโครงการ “Grow With US”
อย่างไรก็ดี การประกาศสัปดาห์ธุรกิจขนาดย่อมแห่งชาติของสหรัฐอเมริกา น่าจะเป็นอีกหนึ่งสัญญาณที่ช่วยสะท้อนให้ภาครัฐ และภาคเอกชนรายใหญ่ของไทยได้ตระหนักถึงความสำคัญ การสมานความร่วมมือให้ความช่วยเหลือสนับสนุนอย่างจริงจัง และอย่างต่อเนื่องแก่ธุรกิจขนาดย่อมของไทย เพื่อเป็นพลังในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย และความสามารถในการแข่งขันในเวทีโลก