เศรษฐกิจเยอรมนีเดือนมีนาคมเติบโตเกินคาด มีส่วนจากนโยบายภาษีของสหรัฐ

อัตราการผลิตภายในสหพันธรัฐเยอรมนีเพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบ 3 ปีครึ่ง จากรายงานสำนักงานสถิติกลางเยอรมนี อัตราการผลิตรวมกันในภาคอุตสาหกรรม ก่อสร้าง และพลังงาน เพิ่มขึ้นกว่าเดือนก่อนหน้าถึง 3.0% โดยก่อนหน้านี้คาดการณ์ไว้เพียงแค่ 0.8% เท่านั้น เนื่องจากยอดการผลิตในเดือนกุมภาพันธ์ที่ลดลง 1.3% ซึ่งการเติบโตในเดือนมีนาคมนี้เป็นการเติบโตสูงสุด นับตั้งแต่เดือนตุลาคม 2564

 

อัตราการผลิตในไตรมาสแรกของปี 2568 เพิ่มขึ้น 1.4% เมื่อเทียบกับปี 2567 ซึ่งถือว่าเป็นอัตรารายไตรมาสที่เพิ่มขึ้นสูงที่สุดที่มีมาตั้งแต่ต้นปี 2565 ในส่วนของภาคอุตสาหกรรมเพียงอย่างเดียวผลิตสินค้าเพิ่มขึ้น 3.6% ในเดือนมีนาคมเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า โดยมีการเติบโตอย่างชัดเจนในอุตสาหกรรมเภสัชกรรม (+19.6%) อุตสาหกรรมยานยนต์ (+8.1%) และผู้ผลิตเครื่องจักร (+4.4%) อย่างไรก็ตาม การผลิตพลังงานลดลงจากเดือนก่อนหน้า 1.8%

 

อัตราการสั่งซื้อสินค้าระหว่างประเทศเพิ่มขึ้น 4.7% โดยเฉพาะการสั่งซื้อจากประเทศภายในสหภาพยุโรป (Eurozone) ที่เพิ่มขึ้นถึง 2.0% โดยประเภทสินค้าที่สั่งซื้อเป็นส่วนใหญ่ ได้แก่ สินค้าจากอุตสาหกรรมที่ทำรายได้หลักให้แก่ประเทศเยอรมนี ได้แก่ อุตสาหกรรมยานยนต์และเครื่องจักร นอกจากนี้สินค้าที่มีการสั่งซื้อเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด คือ อุปกรณ์ไฟฟ้า (+14.9%) และเภสัชกรรม (+17.3%)

 

กระทรวงเศรษฐกิจเยอรมนี ระบุว่าการขยายตัวในครั้งนี้มีส่วนมาจากนโยบายภาษีของประเทศสหรัฐอเมริกา เนื่องจากการระงับการเก็บภาษีชั่วคราวของประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ทำให้เกิดการ “เร่งการผลิตล่วงหน้า” ส่งผลกระทบเชิงบวกให้แก่เศรษฐกิจในประเทศ อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจของเยอรมนียังคงมีความไม่แน่นอน เนื่องจากนโยบายการค้าของสหรัฐ ซึ่งสร้างความกดดันให้แก่ภาคส่วนธุรกิจและการส่งออก และอาจส่งผลให้ภาคอุตสาหกรรมของเยอรมนีอ่อนแอลงอีกครั้งในช่วงหลังจากนี้

 

นักเศรษฐศาสตร์ Jörg Krämer จาก Commerzbank เตือน การเติบโตในครั้งนี้ถือเป็นข่าวดีเพียงระยะสั้น โดยผลกระทบจากนโยบายภาษีของประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ อาจทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจยังคงอ่อนแอ รวมถึงการเริ่มต้นนโยบายเศรษฐกิจใหม่ที่อาจเป็นไปได้ยากในเร็ว ๆ นี้ และคาดว่า GDP ทั้งปี 2568 ของประเทศเยอรมนีจะคงตัว และไม่มีการเปลี่ยนแปลงมากนัก

 

ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะของ สคต.

1)  ตามความคิดเห็นและการคาดการณ์ของผู้เชี่ยวชาญ การขยายตัวของอัตราการผลิตและการส่งออกในเดือนมีนาคม คาดว่าเป็นการเจริญเติบโตเพียงแค่ชั่วคราวเท่านั้น ไม่ใช่สัญญาณของการฟื้นตัวอย่างยั่งยืน เนื่องจากเศรษฐกิจเยอรมนียังคงเผชิญกับความไม่แน่นอนในหลายด้าน โดยเฉพาะในมิติการเมืองและนโยบายภาครัฐที่ยังไม่มีข้อสรุปชัดเจน

 

2)  การจัดตั้งรัฐบาลใหม่ในประเทศเยอรมนีหลังการเลือกตั้ง อาจส่งผลต่อความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ เนื่องจากคะแนนเสียงสนับสนุนของพรรคร่วมรัฐบาลอยู่ในระดับที่ค่อนข้างต่ำ สะท้อนให้เห็นถึงความแตกต่างทางความคิดเห็นภายใน ซึ่งอาจนำไปสู่ความล่าช้าในการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจที่สำคัญ ภาคเอกชนมีแนวโน้มความกังวลในการลงทุนและสั่งซื้อระยะยาว นอกจากนี้ ผู้ประกอบการยังมีความกังวลเกี่ยวกับความเป็นไปได้ของการปรับเปลี่ยนมาตรฐานการนำเข้า และข้อกำหนดทางภาษีในอนาคต ซึ่งอาจกระทบต่อแผนการส่งออกและห่วงโซ่อุปทานระหว่างประเทศ ด้วยเหตุนี้ ผู้ส่งออกไทยควรเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์ทางเศรษฐกิจและการเมืองของเยอรมนีอย่างใกล้ชิด รวมถึงความเคลื่อนไหวในระดับสหภาพยุโรป เพื่อให้สามารถปรับตัวได้ทันท่วงที และลดความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากความผันผวนของตลาด

 

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครแฟรงก์เฟิร์ต

แหล่งที่มา: Welt

www.welt.de

thThai