เมื่อวันที่ 28 – 29 เมษายน 2568 ที่ผ่านมา ทุเรียนไทยจำนวน 6 ตู้คอนเทนเนอร์ได้ดำเนินการขนส่งทางบกจากไทยผ่านเวียดนาม และได้ผ่านการตรวจปล่อยที่ด่านหลงปัง เมืองระดับอำเภอจิ้งซี ภายใต้การกำกับดูแลของเมืองไป่เซ่อ เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง ประเทศจีน เป็นครั้งแรก โดยทุเรียนล็อตนี้มีน้ำหนักรวม 96 ตัน มูลค่ากว่า 4.2 ล้านหยวน หลังจากขนส่งมาที่หนานหนิงแล้ว ทุเรียนได้ถูกกระจายส่งต่อไปยังตลาดทั่วประเทศ การตรวจปล่อยทุเรียนไทยในครั้งนี้แสดงให้เห็นว่าด่านหลงปัง ได้นำเข้าผลไม้ไทยที่ได้รับอนุญาตให้นำเข้าสู่ตลาดจีนผ่านศุลกากรแห่งชาติจีนได้อย่างเป็นทางการ
พื้นที่ตรวจสอบและกักกันโรคสำหรับผลไม้นำเข้า
การนำเข้าทุเรียนครั้งนี้ ด่านหลงปังได้เปิดช่องทางพิเศษ (Green Lane) และขยายเวลาดำเนินการ รวมถึงมีการจัดเจ้าหน้าที่ที่มีประสบการณ์ประจำการ 24 ชั่วโมงเพื่อดำเนินกระบวนการตรวจสอบด้วยความรวดเร็วและอย่างประสิทธิภาพสูงสุด หลังจากการตรวจสอบเอกสารของยานพาหนะที่ไม้กั้นอย่างรวดเร็วแล้ว ทุเรียนทั้งหมดถูกขนส่งไปยังพื้นที่ตรวจสอบทันทีเพื่อดำเนินการตรวจสอบสินค้า ซึ่งช่วยลดเวลาการผ่านด่านให้สั้นที่สุดภายใต้เงื่อนไขของการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของด่าน เพื่อส่งผลให้เกิดกระบวนการ “ตรวจสอบทันทีที่ถึง และปล่อยทันทีที่ตรวจเสร็จ”
บริษัทโยโก่ หัวธง อินเตอร์เนชั่น (ไทยแลนด์) จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทนำเข้าทุเรียนล็อตนี้ได้ให้ข้อมูลว่า บริษัทได้ประสานงานอย่างแข็งขันกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ศึกษาศักยภาพของด่าน ขยายโอกาสทางธุรกิจ และช่วยประชาสัมพันธ์การใช้บริการผ่านด่านด่านหลงปังอย่างเต็มที่ ในองค์กรการค้าระหว่างประเทศและกลุ่มธุรกิจต่างๆ เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้ด่านหลงปังเป็นด่านการค้าข้ามพรมแดนระหว่างจีนกับอาเซียนที่มีศักยภาพ
การผ่านด่านของทุเรียนไทยในครั้งนี้แสดงให้เห็นถึงความสามารถและประสิทธิภาพของด่านหลงปังในด้านการนำเข้าผลไม้จากประเทศที่ 3 ซึ่งสามารถเปิดเส้นทางการขนส่งสินค้าผลไม้ที่มีประสิทธิภาพเพื่อเป็นอีกหนึ่งด่านทางเลือกในการขนส่งสินค้าผลไม้และผลิตภัณฑ์เกษตรจากไทยเข้าสู่ตลาดจีน
ด่านหลงปัง เป็น 1 ใน 5 ด่านสากลทางบกของเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงที่มีความสำคัญ ตั้งอยู่ตรงข้ามกับด่านจาลิงห์ (Tra Linh) จังหวัดกาวบั่ง (Cao Bang) ของเวียดนาม อยู่ห่างจากด่านทางบกโหย่วอี้กวนของเมืองฉงจั่วประมาณ 145 กิโลเมตร เป็นด่านที่มีความโดดเด่นในการนำเข้าสินค้าเกษตรเพื่อการแปรรูป โดยเฉพาะถั่วเปลือกแข็ง เช่น มะม่วงหิมพานต์ ผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำแช่เย็น แช่แข็ง เครื่องเทศและสมุนไพรจีน
เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2564 ด่านหลงปังลงนามได้พิธีสารฉบับย่อว่าด้วยข้อกำหนดในการกักกันโรคและตรวจสอบสำหรับการส่งออกและนำเข้าผลไม้ไทยผ่านประเทศที่ 3 ระหว่างประเทศจีนกับไทย
เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2566 ด่านหลงปังได้ยกระดับเป็นด่านสากลระหว่างประเทศ สามารถนำเข้าผลไม้จากไทยอย่างเป็นทางการ แต่ในเชิงปฏิบัติยังไม่มีผู้ประกอบการใช้บริการในการนำเข้าผลไม้ไทยผ่านด่าน
หลังจากนำเข้าทุเรียนไทยล็อตแรกนี้ ด่านหลงปังกลายเป็นด่านลำดับที่ 6 ที่สามารถนำเข้าผลไม้ไทยในเขตฯ กว่างซีจ้วง อีก 5 ด่าน ได้แก่ ด่านโหย่วอี้กวน ด่านตงซิง ด่านรถไฟผิงเสียง ด่านท่าเรือขินโจว และด่านสนามบินนานาชาติอู๋ซวีเมืองหนานหนิง
ด่านหลงปังมีโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความ สะดวกอย่างครบวงจร เช่น อาคารที่ทำการเชิงบูรณาการ คลังสินค้าห้องเย็น พื้นที่ตรวจสอบศุลกากร ห้องตรวจสอบคุณภาพสินค้าและกักกันโรค ฯลฯ มีช่องจอดรถบรรทุก จำนวน 26 ช่อง นอกจากนี้ ด่านหลงปังเป็นด่านที่มีความทันสมัย โดยมีการนำระบบ Smart Port และเทคโนโลยีหัวลากแบบไร้คนขับมาช่วยอำนวยความสะดวกด้านพิธีการศุลกากร สามารถรองรับรถบรรทุกผ่านด่านได้ถึงวันละ 1,000 คัน/วัน (ปัจจุบันปริมาณรถผ่านด่านประมาณ 300 คัน)
ความเห็นของ สคต. ณ เมืองหนานหนิง ด่านหลงปัง ซึ่งเป็นด่านทางบกที่ตั้งอยู่ในเมืองไป่เซ่อ โดยเมืองไป่เซ่อตั้งอยู่ภาคตะวันตกของเขตฯ กว่างซีจ้วง มีพื้นที่ติดกับมณฑลยูนหนาน มณฑลกุ้ยโจว จึงสามารถพูดได้ว่า ด่านหลงปังเป็นด่านที่ใกล้ที่สุดในการนำเข้าสินค้าจากประเทศอาเซียนเข้าสู่ภาคตะวันตกของจีน จึงเป็นจุดสำคัญในกรอบยุทธศาสตร์ระเบียงการขนส่งเชื่อมทางบกกับทางทะเลแห่งภาคตะวันตก (New Western Land and Sea Corridor หรือ NWLSC) ที่รัฐบาลจีนมุ่งเน้นการก่อสร้างเพื่อพัฒนาและเชื่อมโยงโครงข่ายการคมนาคมขนส่งสินค้าในภูมิภาคจีนตะวันตกให้สมบูรณ์มากยิ่งขึ้น หากขนส่งตรงไปยังนครฉงชิ่ง จากเมืองไป่เซ่อ – มณฑลกุ้ยโจว – นครฉงชิ่ง ระยะทาง 866 กิโลเมตร จะมีระยะทางสั้นกว่าการขนส่งผ่านด่านโหย่วอี้กวนถึง 200 กิโลเมตร (จากด่านโหย่วอี้กวาน มีระยะทาง 1,085 กิโลเมตร) หากขนส่งสินค้าจากไทยมายังด่านหลงปัง มีระยะทางไกลกว่าการขนส่งผ่านด่านโหย่วอี้กวน ประมาณ 145 กิโลเมตร และมีต้นทุนขนส่งเพิ่มขึ้นประมาณ 5,000 – 8,000 หยวน/ตู้ ถึงแม้ว่าด่านหลงปังจะมีระยะทางไกลกว่าด่านโหย่วอี้กวน ในการนำเข้าผลไม้ไทย แต่สามารถเป็นอีกหนึ่งด่านทางเลือกในกรณีการจราจรหนาแน่นที่ด่านทางบกเมืองอื่นๆ ในช่วงฤดูกาลผลไม้ไทย เช่น ด่านโหย่วอี้กวน ด่านโม่ฮาน และด่านตงซิง เป็นต้น เพื่อหลักเลี่ยงปัญหาความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นจากระยะเวลาการขนส่ง ทั้งนี้ หากผู้ประกอบการที่ประสงค์ข้อมูลเพิ่มเติมสามารถติดต่อได้ที่ สคต. ณ เมืองหนานหนิง ทาง Email: thaitcnanning@ditp.go.th
—————————————————————-
แหล่งที่มา
https://mp.weixin.qq.com/s/Y_RuHJYhdqcPW6DyPNedWg
https://mp.weixin.qq.com/s/Thp129MRaj34-1Is3t0qTQ
https://mp.weixin.qq.com/s/BQ3WHGTYUoEl6RYCdtOZ7Q
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองหนานหนิง
วันที่ 7 พฤษภาคม 2568