ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2025 ผู้ประกอบการสาธารณรัฐเช็กได้ทำลายสถิติการเติบโตอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน มีการจดทะเบียนธุรกิจใหม่แซงหน้าการเติบโตตลอดทั้งปีที่ผ่านมา โดยมีจำนวนผู้ประกอบการรายใหม่ถึง 23,106 ราย ซึ่งเพิ่มขึ้นกว่า 8 เท่า เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ กรุงปรากเป็นเมืองที่มีผู้ประกอบการมากที่สุด โดยมีการจดทะเบียนธุรกิจใหม่ จำนวน 4,429 ราย ตามมาด้วยภูมิภาคโบฮีเมียกลาง จำนวน 3,123 ราย และภูมิภาคโมราเวียใต้ที่มีผู้ประกอบการใหม่ จำนวน 2,587 ราย โดยภาคการก่อสร้าง อุตสาหกรรมการผลิต งานด้านวิชาชีพ วิทยาศาสตร์ และเทคนิค เป็นภาคส่วนที่เป็นแรงขับเคลื่อนหลักของการเติบโตนี้ สำหรับภาคอุตสาหกรรมที่มีการเติบโตโดดเด่นที่สุดคือ อุตสาหกรรมด้านการทำเหมืองและการสกัด รองลงมาคือ ภาคส่วนวัฒนธรรมและสันทนาการ
ตามรายงานค่าจ้างฉบับใหม่จากระบบข้อมูลและสถิติรายได้เฉลี่ย (Information and Statistics on Average Earnings System: ISPV) เผยให้เห็นความแตกต่างในอัตราค่าตอบแทนของสาธารณรัฐเช็ก ไม่เพียงแต่ระหว่างภาคเอกชนและภาครัฐเท่านั้น แต่ยังรวมถึงประเภทงานและภูมิภาคด้วย แม้ว่าเงินเดือนโดยรวมจะเติบโตขึ้นในปีที่ผ่านมา แต่บางอาชีพและบางภูมิภาคยังคงมีรายได้มากกว่าอาชีพอื่นๆ อย่างมาก ทั้งนี้ ตำแหน่งผู้บริหารยังคงเป็นผู้มีรายได้สูงสุดทั้งในภาครัฐและเอกชน โดยภาคเอกชน ผู้บริหารบริษัทมีรายได้เฉลี่ย 89,280 เช็กคราวน์ต่อเดือน ในขณะที่ผู้บริหารในภาครัฐมีรายได้เฉลี่ย 74,210 เช็กคราวน์ต่อเดือน ผู้บริหารระดับสูงในกรุงปรากมีรายได้รวมต่อเดือนอยู่ที่ 167,460 เช็กคราวน์ สำหรับตำแหน่งทางเทคนิคและผู้เชี่ยวชาญมีเงินเดือนสูงเช่นกัน ในส่วนของภาคเอกชนที่มีการจ้างพนักงานมากกว่า 3 ล้านคน มีการเติบโตของเงินเดือนโดยเฉลี่ยสูงถึงร้อยละ 7.9 เมื่อเทียบกับภาครัฐอยู่ที่ร้อยละ 3.4 อย่างไรก็ตาม ความแตกต่างของเงินเดือนระหว่างภูมิภาคยังคงชัดเจน ค่าจ้างเฉลี่ยในกรุงปรากอยู่ที่ 63,106 เช็กคราวน์ ซึ่งสูงกว่าค่าจ้างเฉลี่ยในเมืองคาร์โลวี วารี ถึงร้อยละ 56 นอกจากนี้ นักเศรษฐศาสตร์คาดว่าค่าจ้างเฉลี่ยในปี 2025 จะเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.5 – 6 รวมถึงข้อมูลจากการสำรวจของธนาคาร ČSOB พบว่าธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก 4 ใน 10 แห่ง ตั้งใจที่จะเพิ่มเงินเดือนในปีนี้ โดยการเติบโตของค่าจ้างที่มากที่สุดเกิดขึ้นในภาคส่วนต่างๆ เช่น ไอที วิศวกรรม โลจิสติกส์ อีคอมเมิร์ซ และการเงิน ซึ่งมีความต้องการแรงงานที่มีทักษะสูง ทั้งนี้ ผู้เชี่ยวชาญได้คำนวณค่าใช้จ่ายรายเดือนต่อคนออกเป็นหมวดหมู่ต่างๆ ได้แก่ ค่าที่อยู่อาศัยพร้อมสาธารณูปโภค จำนวน 14,373 เช็กคราวน์ ค่าอาหาร จำนวน 8,199 เช็กคราวน์ ค่าเสื้อผ้าและรองเท้า จำนวน 1,496 เช็กคราวน์ และส่วนที่เหลือเป็นการจัดสรรเพิ่มเติมสำหรับการขนส่ง สุขภาพ โทรคมนาคม กิจกรรมสันทนาการ และการออม
ข้อคิดเห็น/เสนอแนะของ สคต.
จากข้อมูลที่กล่าวข้างต้น แสดงให้เห็นถึงการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ และกำลังซื้อของผู้บริโภคเช็กที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงถือเป็นโอกาสอันดีของผู้ประกอบการไทยในการขยายการส่งออกมายังสาธารณรัฐเช็กเพิ่มเติม ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยควรติดตามนโยบายการค้าของยุโรปอย่างใกล้ชิดเพื่อสามารถปรับตัวได้ทันตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงในอนาคต รวมถึงศึกษาแนวโน้มตลาด กฎระเบียบทางการค้า และพฤติกรรมผู้บริโภค เพื่อลดอุปสรรคทางการค้าและเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงตลาดได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ ปี 2567 สาธารณรัฐเช็ก นำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ คิดเป็นมูลค่า 231,767 ล้านเหรียญสหรัฐ จากประเทศเยอรมนี จีน โปแลนด์ สโลวาเกีย เนเธอร์แลนด์ อิตาลี ออสเตรเลีย ฝรั่งเศส ฮังการี และเบลเยียม ตามลำดับ โดยนำเข้าจากประเทศไทย คิดเป็นมูลค่า 1,036.86 ล้านเหรียญสหรัฐ